ไม่ว่าจะด้วยความคิดสร้างสรรค์หรือการแสวงหาผลกำไรมหาศาล แต่ในโลกทุนนิยมของวงการแฟชั่น การจับมือกันระหว่างสองแบรนด์เพื่อออกแบบคอลเลกชั่นเสื้อผ้าหน้าตาเก๋ไก๋ร่วมกันคงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่นัก เพราะที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างของการคอลแลบระดับแมทช์หยุดโลกเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งที่ประสบความสำเร็จแบบถล่มทลายจนกลายเป็นภาพชินตาที่จะได้เห็นเหล่าคนสายแฟฯ ต่อคิวยาวเหยียดหน้าช็อปหรู เพื่อจะได้เป็นคนแรก ๆ ที่ได้จับจองไอเทมสุดฮอตของฤดูกาล
แต่สำหรับสองแฟชั่นดีไซเนอร์หัวหอกแห่งยุคอย่าง อเลสซานโดร มิเคเล (Alessandro Michele) จาก GUCCI และ ดีมนา กวาซาเลีย (Demna Gvasalia) จาก BALENCIAGA ความร่วมมือสร้างสรรค์คอลเลกชั่นแบบบ้าน ๆ คงจะธรรมดาเกินไปสำหรับสองบิ๊กเนมแห่งโลกแฟชั่น พวกเขาจึงผุดไอเดียการขโมยตัวตนและภาพจำของอีกแบรนด์มาผนวกเข้ากับการออกแบบของตัวเองแบบมัน ๆ ทั้งในแง่ลวดลายและโครง Silhouette เรียกได้ว่า เห็นแค่ปราดเดียวก็มองออกว่านี่คือเอกลักษณ์ของ GUCCI และ BALENCIAGA หากการ ‘คอลแลบ’ หมายถึงการจับมือกันสร้างสิ่งใหม่ร่วมกัน สิ่งที่มิเคเลและกวาซาเลียทำจึงเป็นเหมือนการ ‘แฮก’ เพื่อขโมยเอกลักษณ์ของกันและกันเสียมากกว่า เกิดเป็นสิ่งที่กวาซาเลียให้นิยามไว้ว่าเป็น ‘การฉกฉวยที่ถูกกฎหมาย (Legal Appropriation)’ ...และแน่นอนว่า ไอเดียสุดล้ำนี้ก็เกิดขึ้นได้ เพราะทั้ง GUCCI และ BALENCIAGA ต่างก็ถูกดูแลอยู่ภายใต้ร่มเงาของเครือ Kering ทั้งคู่นั่นเอง
สัญญาณแรกของโปรเจกต์ The Hacker Project ปรากฏให้เห็นครั้งแรกใน Aria Collection คอลเลกชั่นฉลองครบรอบ 100 ปีของ GUCCI ในช่วงเดือนเมษายน 2021 โดยมีการนำโลโก้ BALENCIAGA มาพิมพ์พาดลงบนหลายต่อหลายลุค อีกทั้งยังมีการดึงโครง Silhouette เอกลักษณ์ของแบรนด์หัวขบถมาใช้ในการออกแบบคอลเลกชั่นด้วย ถัดมาไม่นาน ในช่วงเดือนมิถุนายน BALENCIAGA ก็กลับมาพร้อมกับคอลเลกชั่น Spring 2022 Clones Collection ที่ไปหยิบเอาภาพจำของแบรนด์สัญชาติอิตาลีอย่างตัว Double G มาใช้ในการออกแบบ ทั้งในส่วนหัวเข็มขัดสุดฮิต (ฮิตไม่ฮิตก็มีเพลง “GUCCI BELT งูมันเลื้อยเข้ามาอยู่ที่เอว” มาแล้ว) รวมถึงลวดลายโมโนแกรมบนกระเป๋า Tote Bag ที่สาว ๆ ทั่วทั้งโลกต้องมีติดบ้าน มองเผิน ๆ ไอเทมเหล่านี้ดูเหมือนถูกส่งตรงมาจากช็อปของ GUCCI ยังไงยังงั้น แต่เมื่อเข้าไปสังเกตรายละเอียดใกล้ ๆ ก็จะพบว่า ตัว Double G ที่ BALENCIAGA นำมาใช้ในครั้งนี้ กลับกลายเป็นตัว Double B ตามชื่อแบรนด์ของตัวเองแทน นอกจากนั้น ยังมีการพ่นคำว่า ‘This is not a GUCCI bag’ หรือที่แปลเป็นไทยว่า ‘นี่ไม่ใช่กระเป๋า GUCCI’ ลงบนกระเป๋าโมโนแกรมใบเดิม
ไม่เพียงแค่เสื้อผ้าและเครื่องประดับเท่านั้นที่มีการแฮกตัวตนและภาพจำของอีกแบรนด์มาใส่ แต่เมื่อสินค้าใน The Hacker Project ก็ถูกนำมาลงขายจริงในช็อปกว่า 74 สาขาทั่วโลก ทั้งป็อปอัพและสแตนด์อโลน เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา BALENCIAGA ก็ยังแปลงโฉมช็อปทั่วโลกให้เหมือนถูกบุกยึดโดย GUCCI จริง ๆ ทั้งการนำลวดลายโมโนแกรมมาใช้บนม่านและพรมกำมะหยี่ รวมไปถึงมีการพ่นคำว่า GUCCI ที่บริเวณผนังนอกร้านเคียงคู่กับชื่อ BALENCIAGA ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า การนำศิลปะกราฟฟิตี้มาใช้ผสมผสานในการออกแบบคอลเลกชั่นนี้ ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำจุดยืนความแหกขนบของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
สิ่งที่เกิดขึ้นใน The Hacker Project ในครั้งนี้ ไม่ได้มุ่งหมายเพียงเพื่อสร้างเสื้อผ้าและเครื่องประดับสุดฮิปที่มีทั้งกลิ่นอายความย้อนยุคแต่มีสไตล์แบบ GUCCI และความกล้าบ้าบิ่นแบบ BALENCIAGA เท่านั้น แต่มันยังต้องการจะจุดประกายและตั้งคำถามถึง ‘ความจริงแท้’ ของสินค้าแฟชั่น รวมไปถึงกระแสคลั่งไคล้ลวดลายโลโก้ (Logomania) มิเคเลและกวาซาเลียเชื่อว่า ตราบใดที่ยังมีแบรนด์แฟชั่นหรูหราราคาแพงอยู่ สินค้าปลอมแปลงก็จะไม่มีวันหายไปไหน พวกเขาสนใจวิธีการที่ของลอกเลียนแบบเหล่านั้นก็มีวิธีการสร้างสรรค์ในแบบของตัวเอง ทั้งการนำภาพจำของหลาย ๆ แบรนด์มามัดรวมกันในชิ้นเดียว หรือแม้แต่การตั้งใจพิมพ์ชื่อแบรนด์ต้นแบบผิด เพื่อหลีกเลี่ยงการฟ้องร้องที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น ลวดลายโมโนแกรมและรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ปรากฏอยู่ใน The Hacker Project จึงเป็นเหมือนการล้อเลียนและปั่นหัวเหล่าแฟชั่นนิสต้าทั่วโลกเสียมากกว่าว่า พวกเขาจะกล้าควักเงินหลักหมื่นหลักแสนเพื่อเป็นเจ้าของไอเทมแฟชั่นที่ดูเหมือนของก็อปราคาไม่กี่ร้อยที่สามารถหาซื้อได้ตามตลาดนัดหรือไม่
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ BALENCIAGA ออกมาล้อเลียนเหล่าแฟชั่นนิสต้าคนคูลที่มีรสนิยมสูงส่ง แต่ก่อนหน้านี้ แบรนด์ดังก็เคยเปลี่ยนของสุดเชยที่ทุกคนหยามเหยียดอย่างถุงสายรุ้งที่คนไทยสามารถพบเห็นได้ชินตาตามตลาดสำเพ็งมาเป็นไอเทมชิค ๆ ที่ทุกคนต้องกรีดร้องในคอลเลกชั่น Fall/Winter 2016 หรือแม้แต่ในคอลเลกชั่น Spring 2018 แบรนด์หัวขบถนี้ก็ยังปั่นไม่หยุดด้วยการไปจับมือกับ Crocs แบรนด์รองเท้าแตะสวมใส่สบายที่เหล่าคนสายแฟฯ ต่างก็เคยลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นรองเท้าหน้าตาอัปลักษณ์ที่ไม่ว่าจะถูกนำไปแมทช์กับเสื้อผ้าชุดไหนก็ทำให้ลุครวม ๆ ดูเฉิ่มขึ้นมาได้ในพริบตา แต่ความย้อนแย้งก็เกิดขึ้น เมื่อรองเท้าคู่เดิมถูกแปะป้ายแบรนด์ BALENCIAGA ก็กลับดูเก๋กู๊ดขึ้นมาทันตาจนกลายเป็นไอเทมยอดฮิตที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเป็นลำดับต้น ๆ ของฤดูกาลนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามว่า สุดท้ายแล้ว คุณค่าของแฟชั่นอยู่ที่อะไร หน้าตาและวัสดุที่ใช้ในการออกแบบ หรือความนิยมของตัวแบรนด์กันแน่
เช่นเดียวกับใน The Hacker Project มันตั้งคำถามกับสังคมบริโภคนิยมที่มูลค่าของสรรพสิ่งถูดวัดจากแบรนดิ้งและการทำตลาดที่ชาญฉลาดมากกว่าคุณค่าที่แท้จริงของตัวมันเอง หลาย ๆ คนถึงกับกล่าวว่า โปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ของสองแบรนด์ดังในครั้งนี้สามารถวิพากษ์สังคมได้อย่างเจ็บแสบ และยังทำลายแนวคิดและโครงสร้างการผลิตผลงานแฟชั่นแบบเดิม ๆ จนแทบไม่ต่างจากวิธีคิดในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะยังไงยังงั้น
แหล่งข้อมูล:
https://www.esquiresg.com/features/hacker-project-gucci-balenciaga-collection-alessandro-michele-demna-gvasalia/
https://www.highsnobiety.com/p/gucci-balenciaga-hacker-project-bags/
https://www.femalemag.com.sg/gallery/fashion/balenciaga-gucci-the-hacker-project-merchandise-collaboration-accessories/
https://www.vogue.co.uk/news/article/gucci-balenciaga-aw21
https://www.nylon.com/fashion/where-to-buy-gucci-balenciaga-collab-hacker-project