ย้อนกลับไปสู่ยุค 60s ในวันที่โปรแกรมแต่งภาพอย่าง Photoshop ยังไม่ถือกำเนิด เหล่าศิลปินนักออกแบบยังคงต้องสร้างสรรค์ผลงานด้วยระบบแมนวลจากมือเป็นหลัก เทรนด์การออกแบบปกอัลบั้มในสมัยนั้นยังก้าวไม่พ้นการถ่ายภาพพอร์ตเทรตที่เน้นแสดงภาพของศิลปินนักร้องเจ้าของอัลบั้มอย่างตรงไปตรงมา แต่จู่ ๆ ก็มีกลุ่มศิลปินนักออกแบบรุ่นใหม่ไฟแรงชาวอังกฤษที่เรียกตัวเองว่า Hipgnosis ปรากฏตัวขึ้น และเข้ามาพลิกโฉมวงการดนตรีร็อคไปตลอดกาล
ในปี 1967 Hipgnosis ได้ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวกันของสองเพื่อนรักอย่าง Storm Thorgerson และ Aubrey Powell ที่ขณะนั้นยังเป็นเพียงบัณฑิตหนุ่มจบใหม่ไฟแรง ซึ่งในอีกไม่กี่ปีต่อมาหลังการก่อตั้งของกลุ่ม พวกเขาก็ได้ Peter Christopherson มาช่วยเสริมทัพให้ทีมนักสร้างสรรค์นี้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยชื่อ Hipgnosis เองก็มีที่มาจากการที่พวกเขาไปเจอกราฟฟิตี้คำดังกล่าวที่บริเวณหน้าประตูอพาร์ตเมนต์จนเกิดความประทับใจที่มันทั้งพ้องเสียงกับคำว่า “hypnosis” และยังเป็นการผสมผสานระหว่างคำว่า “hip” และ “gnostic” ซึ่งเป็นสองคำที่มีความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ผลงานชิ้นแรกของกลุ่ม Hipgnosis ไม่ได้มาจากคนอื่นคนไกล แต่เป็นการออกแบบปกอัลบั้มเต็มชุดที่สองให้แก่ Pink Floyd วงโพรเกรสซิฟ-ไซคีเดลิคร็อคในตำนานที่ถือเป็นเพื่อนรักสนิทสนมกับพวกเขามาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยเรียน ซึ่งนี่เองก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการทำงานร่วมกันของทั้งคู่ที่ไม่ว่าต่อมา Pink Floyd จะออกมากี่อัลบั้ม ส่วนปกอัลบั้มก็จะเป็นผลงานการออกแบบของ Hipgnosis แทบทั้งสิ้น
นอกจากผลงานที่พวกเขาออกแบบให้กับ Pink Floyd แล้ว Hipgnosis ยังรังสรรค์ผลงานให้กับอีกหลายวงร็อคชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น Led Zeppelin, AC/DC, Black Sabbath, T. Rex, the Pretty Things, UFO, 10cc, Scorpions, The Nice, Genesis, Peter Gabriel หรือแม้แต่ Paul McCartney & Wings เองก็ตาม โดยการออกแบบของพวกเขามีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยการใช้ภาพถ่ายองค์ประกอบสวยจากกล้องมีเดียมฟอร์แมตที่ให้ภาพในสัดส่วน 1:1 นำมาคอลลาจและตกแต่งเพิ่มเติมด้วยเทคนิคระบบแมนวลในห้องมืด โดยมักจะมีสไตล์ที่เรียบง่าย แต่กลับให้ความรู้สึกน่าตื่นเต้น มีการใช้สัญลักษณ์มาเล่าเรื่องและสื่อความหมายจากเนื้อเพลงและชื่ออัลบั้มจนดูเซอร์เรียลล้ำจินตนาการ รวมทั้งยังมีกลิ่นอายของความสนุกและอารมณ์ขันสอดแทรกอยู่เสมอ ซึ่งนอกจากสไตล์เหล่านี้จะปรากฏในผลงานการออกแบบปกอัลบั้มของพวกเขาแล้ว หลังปลายยุค 70s ที่พวกเขาเริ่มหันมาจับงานที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งงานโฆษณา และภาพเคลื่อนไหวอื่น ๆ สไตล์เหล่านี้ก็ไม่ได้จากไปไหน ยังคงสะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดเสมอมา
แม้ภายหลังในปี 1982 ทั้งสามคนจะประกาศยุบกลุ่ม Hipgnosis และแยกย้ายกันไปทำงานในแบบของตัวเอง แต่พวกเขาก็ยังคงคลุกคลีและสร้างสรรค์ผลงานอยู่ในวงการดนตรีไม่เปลี่ยนแปลง เริ่มตั้งแต่ Thorgerson ที่ยังคงเน้นทำงานออกแบบปกอัลบั้มมาตลอดจนถึงปี 2013 ที่เขาเสียชีวิต Powell ที่แม้จะทำงานให้ศิลปินมากมาย แต่จนถึงปัจจุบันเขาก็ยังคงยึดมั่นทำงานเป็น Creative Director ให้กับวง Pink Floyd และผลงานเดี่ยวของ David Gilmour และสุดท้าย Christopherson ที่หันมาจับงานสายดนตรีเต็มตัวด้วยการเป็นทั้งนักดนตรีและผู้กำกับมิวสิควีดีโอคุณภาพเยี่ยมกว่า 40 ตัว
ด้วยตำนานความสำเร็จตลอดระยะเวลา 15 ปีของ Hipgnosis นี้เอง GroundControl จึงอยากพาทุกคนไปย้อนดูผลงานเด่นที่พวกเขาทิ้งไว้เป็นมรดกอันทรงคุณค่าให้กับทั้งวงการออกแบบและวงการดนตรีของโลก เพราะด้วยผลงานเหล่านี้เอง จึงทำให้ศิลปินและนักออกแบบรุ่นใหม่หลายคนมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่แหกขนบและสร้างปรากฏการณ์ข้ามยุคข้ามสมัยแบบพวกเขา
แหล่งอ้างอิง:
https://www.rollingstone.com/music/music-lists/hipgnosis-life-in-15-album-covers-pink-floyd-led-zeppelin-and-more-110213/pink-floyd-atom-heart-mother-1970-110254/
https://www.dw.com/en/hipgnosis-the-studio-that-turned-album-covers-into-art/a-45677227
https://www.theguardian.com/artanddesign/gallery/2017/apr/18/70s-album-cover-art-hipgnosis-in-pictures
https://ultimateclassicrock.com/hipgnosis-album-covers/
http://www.hipgnosiscovers.com/home.html