GC - Free Content บุพเพ.jpg

เปิดบันทึก ‘แม่หญิงการะเกด’ สำรวจ 4 เรื่องจริง-เรื่องแต่งที่ซ่อนอยู่ใน ‘บุพเพสันนิวาส 2’

Post on 8 August

ถ้าจะกล่าวถึงภาพยนตร์ที่เป็นกระแสกล่าวขานกันไปทั่วบ้านทั้วเมืองในขณะนี้ คงจะหนีไม่พ้นบุพเพสันนิวาส 2 ซึ่งเป็นภาคต่อของละครที่สร้างไวรัล ‘ออเจ้า - พี่หมื่น’ ที่เคยสร้างกระแส ‘อยุธยาฟีเวอร์’ ไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน

การกลับมาครั้งนี้ของบุพเพสันนิวาสเป็นเรื่องราวของ ‘เมธัส’ เด็กหนุ่มที่บังเอิญย้อนเวลาจากยุคปัจจุบันกลับไปช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนทำให้เขาพบกับ ‘เกสร’ หญิงสาวหัวก้าวหน้าเกินยุคที่กำลังวุ่นวายกับการอ่านบันทึกลึกลับของคุณหญิงการะเกดที่บอกเล่าเรื่องราวในอาคตของสยามประเทศ  และ ‘ภพ’ ช่างหนุ่มที่ตามขายขนมจีบให้กับเกสรไม่หยุดหย่อนเพราะเขาเชื่อว่าเธอคือผู้หญิงที่เขาฝันเห็นมาอย่างยาวนาน

สำหรับคนที่สนใจประวัติศาสคร์ หนึ่งในความสนุกของการชมบุพเพสันนิวาส 2 ก็คงจะเป็นการติดตามเมธัสไปพบกับบุคคลสำคัญที่เคยถูกกล่าวถึงในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ไม่ว่าจะเป็น นายหันแตร หมอบรัดเลย์ พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ และสุนทรภู่ ที่ถูกจับมาแต่งเติมสีสันและเพิ่มบทบาทให้เข้ามาพัวพันกับเหตุการณ์ระทึกขวัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของอาณาจักรสยาม

ด้วยความที่เราไม่อยากยกภาระให้ตัวละครในเรื่องอย่าง เมธัส เกสร และภพ ต้องเหนื่อยแกะรหัสในบันทึกของคุณหญิงการะเกดเพียงลำพัง ในบทความนี้ GroundControl จะขอชวนทุกคนไปพลิกบันทึกของคุณหญิงการะเกด สำรวจซ่อกแซ่กใต้เตียงประวัติศาสตร์ ช่วยตัวละครในเรื่องตามหาว่าเรื่องไหนจริงดังคุณหญิงว่า หรือเรื่องไหนเป็นเรื่องแต่งเสริมอรรถรส ถ้าอยากรู้แล้วก็พลิกไปดูกันเลยจ้า

จริงหรือไม่….ที่กำแพงวังเคยเกือบถูกยิงในสมัยรัชกาลที่ 3

ไม่จริงจ้า..เพราะเรื่องนี้เป็นการคาดคะเนของทางการจากพยานแวดล้อมเท่านั้น โดยความเป็นมาของเรื่องราวนี้เริ่มมาจากการที่ Robert Hunter หรือที่ชาวไทยเรียกว่า ‘นายหันแตร’ ฝรั่งสัญชาติสก็อต ได้เดินทางเข้ามาเปิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในสยาม โดยชื่อว่า ‘ห้างมอร์แกนและฮันเตอร์’ ในปี 1826 โดยเช่าตึกของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ที่หน้าวัดประยุรวงศาวาส เป็นที่ตั้งทำการ

ห้างของนานหันแตรจำหน่าจสินค้าจากต่างประเทศหลายอย่าง ทั้งผ้าจากยุโรป อินเดีย และยาฝรั่ง ในหนังสือ Residence in Siamของ F.A. Neale อธิบายว่า ห้างของนายหันแตรเป็นเรือนสองชั้นยาวไปตามแม่น้ำ มีระเบียงด้านหน้า ซึ่งถ้าหากมองจากสายตาของชาวสยามในสมัยนั้นห้างแห่งนี้คงยิ่งใหญ่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ต่อมาสยามก็เกิดข้อพิพาทระหว่างเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันท์ที่ต้องการก่อกบฏ นายหันแตรจึงนำปืนคาบศิลาจำนวนถึง 1000 กระบอกขึ้นทูลเกล้าถวายให้กับรัชกาลที่ 3 จนส่งผลให้เขาได้รับบรรดาศักดิ์ว่า หลวงอาวุธวิเศษประเทศพาณิช (และชื่อนี้ก็ได้ถูกสลักอยู่บนด้ามปืนที่เมธัสจะเอาไปขาย)

หลังจากได้รับยศ นายหันแตรก็เกิดอาการกร่างอย่างหนัก และสร้างวีรกรรมน่าปวดหัว โดยเขานำเรือกลไฟลำหนึ่งชื่อว่า เรือ Express เข้ามาในสยามเพื่อขายให้กับทางการในราคาถึง 50,000 เหรียญสหรัฐ บันทึกของหมอบรัดเลย์กล่าวว่า “เรือที่เอามาขายก็เป็นเรือเก่า ๆ ซื้อมาถูก ๆ แล้วมาโก่งราคาขายถึง 5 หมื่นเหรียญ” ด้วยสภาพเช่นนี้ทางการจึงปฏิเสธข้อเสนอของนายหันแตรไป ทำให้นายหันแตรขู่ว่าจะเอาเรือไปผูกไว้หน้าตำหนักน้ำ เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงทราบเรื่องก็ทรงรับสั่งให้ไล่นายหันแตรออกจากสยามทันที แต่นายหันแตรกลับไปขู่ทางการว่าจะเอาเรื่องไปฟ้องรัฐบาลอังกฤษให้นำเรือมาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อชำระความ

ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง นายหันแตรก็ได้ขออนุญาตทางการนำเรือออกไปกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อยิงสลุตเฉลิมฉลองวันเกิดของกัปตันบราวน์ (Peter Brown) ผู้เป็นกัปตันเรือ Express แต่รัฐบาลสยามกลับปฏิเสธเพราะกลัวว่านายหันแตรจะนำปืนไปยิงถูกพระบรมหาราชวัง ทางรัฐบาลจึงออกอุบายให้เจ้านายพระองค์หนึ่งเชิญหันแตรกับกัปตันบราวน์เข้าไปในวังเพื่อเจรจาการค้า พอทั้งสองไปถึง ทหารก็เข้าจับกุมตัวทั้งคู่ทันทีและตั้งเงื่อนไขให้ส่งดินปืนที่มีทั้งหมดแก่สยามเพื่อให้ไม่สามารถยิงปืนได้อีกแต่ไป ทั้งคู่ที่ถูกคุมขังตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นก็ยอมส่งมอบดินปืนให้แล้วก็ได้รับการปล่อยตัว

หลังจากเหตุการณ์นี้ นายหันแตรที่เดือดดาลก็ขู่รัฐบาลสยามต่อว่าจะนำเรือ Express ไปขายให้กับโคชินไชน่า (ต่อมาเป็นเวียดนาม) ซึ่งขณะนั้นเป็นอริกับสยาม มาถึงขั้นนี้ รัชกาลที่ 3 ไม่อาจนิ่งทนอีกต่อไป พระองค์รับสั่งให้นายหันแตรออกจากสยามประเทศทันที ปิดฉากนายห้างผู้มียศถาบรรดาศักดิ์เป็นถึงหลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิชเจ้าของห้างโก้หรูริมแม่น้ำเจ้าพระยาไปด้วยประการฉะนี้แล

จริงหรือไม่…พจนานุกรมไทย 4 ภาษาเล่มแรก ถูกเขียนขึ้นโดยบาทหลวงฝรั่งเศส

จริงจ้า…พจนานุกรมเล่มนี้มีชื่อเพราะ ๆ ว่า ‘สัพะ พะจะนะ พาสาไทย’ เป็นพจนานุกรมสี่ภาษาได้แก่ ไทย - ละติน - ฝรั่งเศส - อังกฤษ โดยมีผู้ที่เขียนพจนานุกรมเล่มนี้คือพระสังฆราชปาลเลอกัวซ์นั่นเอง (คนที่เกสรไปเรียนหนังสือด้วย) ท่านเป็นบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในสยามในช่วงรัชกาลที่ 3 - 4

ไม่เพียงพจนานุกรม ท่านปัลเลอกัวซ์ยังแต่งตำราที่เกี่ยวกับภาษาไทยและสยามจำนวนมาก เนื่องจากท่านมีความรู้เกี่ยวกับภาษาและไวยากรณ์ไทยอย่างมาก ทั้งยังพูดภาษาไทยได้อย่างแจ่มชัด เช่น ไวยากรณ์ภาษาไทย พจนานุกรมลาติน-สยาม  พรรณาเรื่องราชอาณาจักรไทยหรือสยาม และ คำศัพท์ภาษาอังกฤษ-สยาม โดยพระสังฆราชปาลเลอกัวซ์บันทึกไว้ว่า ท่านต้องใช้เวลานานถึง 10 ปีในการเรียบเรียงพจนานุกรมเล่มนี้ ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงความมานะบากบั่นและความอุตสาหะในการรวบรวมคำศัพท์จากทั้งสี่ภาษา ทั้งไทย ละติน อังกฤษ ฝรั่งเศส และนำมาแปล ถอดความให้ใกล้เคียงสัมพันธ์กันอย่างมากที่สุด

พจนานุกรมเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศส มีจำนวนหน้าทั้งหมด 897 หน้า แต่ละหน้าแบ่งเป็น 5 แถว แถวแรกเป็นคำศัพท์ภาษาไทย แถวที่สองเป็นการอ่านออกเสียง แถวที่สามเป็นคำศัพท์ภาษาละติน แถวที่สี่เป็นภาษาฝรั่งเศส และแถวที่ห้าเป็นภาษาอังกฤษ แต่ความพิเศษของพจนานุกรมเล่มนี้คือไม่ได้เรียงตามอักษร ก- ฮ แต่กลับเรียงตามตัวอักษรภาษาละตินจาก A-Z โดยมีคำศัพท์แรกในพจนานุกรมคือคำว่า อะ  

พจนานุกรมเล่มนี้เป็นต้นแบบในการทำพจนานุกรมเล่มสำคัญต่อมา เช่น พจนานุกรมของ น.อ. พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ ร.น. อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศส  นอกจากนี้นายเอเดียล กัลลัวส์ บรรณารักษ์ห้องสมุดสภาสูงประเทศฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 ยังเคยเขียนชมเชยพจนานุกรมของท่านปัลเลอกัวส์ไว้ว่า “ในจำนวน 4 ภาษาที่ท่านมีความรอบรู้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งท่านนำมาใส่ไว้ในผลงานสำคัญชิ้นนี้  3 ภาษา (ลาติน ฝรั่งเศส และอังกฤษ) ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้เป็นประโยชน์ต่อภาษาสยาม เป็นเพราะความรอบรู้เป็นอย่างดีของท่านทั้งในทวีปยุโรปและเอเชีย”  ต่อมาประมาณปี 1896 พจนานุกรมเล่มนี้ได้รับการปรับปรุงและพิมพ์ใหม่อีกครั้งตามความประสงค์ของพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ประมุขมิสซังสยาม แต่การปรับปรุงครั้งนี้ได้ตัดภาษาละตินออกและเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ศริพจน์ ภาษาไทย์”

นอกจากบทบาทสำคัญในการเขียนพจนานุกรม ท่านปัลเลอกัวซ์ยังมีมีความสำคัญในฐานะที่เป็นพระสหายสนิทของรัชกาลที่ 4 ในสมัยที่พระองค์ทรงผนวชอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาสในปัจจุบัน) ตอนนั้นพระองค์ทราบว่ามีบาทหลวงฝรั่งเศสที่สามารถพูดภาษาได้อย่างฉะฉานมาอาศัยอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญซึ่งอยู่ไม่ใกลนักจากวัดสมอรายเพียงข้ามคลองไปเท่านั้น ท่านจึงมีรับสั่งให้บาทหลวงปัลเลอกัวซ์เข้าเฝ้าเพื่อช่วยสอนภาษาละติน อังกฤษ และวิชาความรู้จำพวกวิทยาศาสตร์อย่าง ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ให้ท่านเนื่องจากท่านมองว่าวิชาความรู้เหล่านี้จะมีความจำเป็นอย่างมากต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และท่านก็ได้สอนภาษาไทยและข้อความเชื่อต่างๆในพระไตรปิฏกให้แก่พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์เป็นการแลกเปลี่ยน นั้นทำให้ทั้งสองกลายเป็นสหายสนิทของกันและกันตลอดมา กล่าวกันว่า เมื่อวันที่พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์เสียชีวิต รัชกาลที่ 4 ทรงเสียพระทัยอย่างยิ่งและรับสั่งให้จัดพิธีศพอย่างยิ่งใหญ่ 

จริงหรือไม่….แรกเริ่มเดิมที่ ชาวสยามไม่กล้าถ่ายรูป

จริงจ้า…ถ้าเราสังเกตจากฉากตอนท้ายของเรื่องเราจะเห็นว่า ขุนภพไม่กล้าถ่ายรูปเนื่องจากกลัวว่ากล้องจะดูดวิญญาน  สิ่งเหล่านี้สะท้อนความเชื่อของชาวสยามสมัยช่วงรัชกาลที่ 3 ได้อย่างดี เนื่องจากสมัยนั้นผู้คนมีความตื่นกลัวต่อเทคโนโลยีการถ่ายภาพที่เพิ่งเดินทางมาถึงสยามอย่างมาก  และผู้ที่พาสิ่งนี้เข้ามาก็เป็นใครไปไม่ได้เลยนอกจาก พระสังฆราลปัลเลอกัวซ์นั่นเอง

ในปี 1829 หลุยส์ ดาแกร์นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสสามารถประดิษฐ์กล้องถ่ายรูปที่เรียกว่า ดาแกร์เรโอไทป์ (Daguerréotype) ได้ ข่าวนี้ล่วงรู้ไปถึงท่านปัลเลอกัวซ์ที่คอยติดตามข่าวสารต่าง ๆ จากต่างประเทศอยู่เสมอ ท่านคิดว่าสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้น่าสนใจมากและอาจเป็นประโยชน์ต่อคนใหญ่คนโตในสยาม ท่านจึงฝากให้คุณพ่อลาร์โนดีซื้อกล้องจากปารีสและนำเข้ามาสยาม ซึ่งต้องใช้เวลารอนานถึง 2 ปีกว่าจะถึง

แต่พอนำกล้องเข้ามาแล้ว ท่านปัลเลอกัวซ์ก็พบว่าการถ่ายภาพชาวสยามในตอนนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก! เนื่องจากชาวสยามเชื่อว่าการถ่ายภาพจะทำให้วิญญานถูกดูดออกไปแล้วจะทำให้อายุสั้นลง บางคนก็กลัวว่ารูปของตนจะถูกนำไปทำคุณไสย กระนั้นก็มีชาวสยามคนแรกที่ยอมถ่ายรูปคือ พระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด) ที่ยอมเข้ากล้องตั้งแต่ยังเป็นมหาดเล็ก และต่อมารัชกาลที่ 4 ที่ค่อนข้างจะคุ้นชินกับวัฒนธรรมตะวันตกก็ทรงตัดสินพระทัยทรงเครื่องต้นสำหรับกษัตริย์ ประทับบนพระราชอาสน์เพื่อให้ฉายพระบรมสาทิสลักษณ์และส่งไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พร้อมกับเครื่องราชบรรณาการและพระราชสาสน์ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูตและเพื่อริเริ่มให้ประชาชนเลิกหวาดกลัวการถ่ายภาพ

และนับแต่นั้นเป็นต้นมาบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ก็เริ่มถ่ายรูปตามรัชกาลที่ 4 และแห่กันไปหาท่านปัลเลอกัวซ์เพื่อให้ถ่ายรูปให้ มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งพระศาสนจักรคาทอลิกเผชิญการเบียดเบียนจากพระยาศรีพิพัฒน์ ซึ่งเป็นขุนนางที่ต้องการทำลายวัดนักบุญยอแซฟที่อยุธยา แต่เมื่อพระยาศรีพิพัฒน์ทราบข่าวว่าท่านปัลเลอกัวซ์มีกล้อง ท่านก็มาขอร้องให้ถ่ายรูปให้ และเมื่อสมหวังตามประสงค์ ท่านก็ยกเลิกแผนที่จะทำลายวัด แถมยังยกที่ดินผืนหนึ่งให้มิสซังและยังให้ของกำนัลเล็ก ๆ น้อย ๆ แก่ท่านปัลเลอกัวซ์อีกด้วย จึงถือได้ว่ากล้องถ่ายรูปเป็นเครื่องมือที่ช่วยยับยั้งไม่ให้พระศาสนจักรถูกเบียดเบียนนั่นเอง

จริงหรือไม่…ที่หมอบรัดเลย์พิมพ์หนังสือพิมพ์เล่มแรกของสยาม

จริงจ้า…แต่ความจริงแล้วเทคโนโลยีการพิมพ์เข้ามาในสยามแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยสังฆนายกอาร์โนด์ อองตวน การ์โนลด์ ที่ได้นำเครื่องพิมพ์เข้ามาด้วย แต่เครื่องพิมพ์ในสมัยนั้นใช้วิธีแกะตัวพิมพ์จากบล็อกไม้หรือที่เรียกว่า Xylograph ทำให้เกิดข้อจำกัดในการพิมพ์ ใช้งานได้ไม่สะดวกนัก

ต่อมา หมอบรัดเลย์ หรือ Dan Beach Bradley มิชชันนารีชาวอเมริกันก็ได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่ข้างวัดประยุรวงศาวาส และสามารถหล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยได้สำเร็จ ความสำเร็จนี้สามารถลายข้อจำกัดด้านการพิมพ์ไป หมอบรัดเลย์จึงตัดสินใจวางแผนออกหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกขึ้น เรียกว่า หนังสือจดหมายเหตุ หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Bangkok Recorder ออกฉบับแรกในเดือนกรกฏาคมปี 1844 และออกเป็นรายเดือนเรื่อยมา

อย่างไรก็ตาม ชาวสยามในสมัยนั้นไม่ได้เรียกหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ว่าฉบับ แต่เรียกว่าใบ และแต่ละใบก็สนนราคาอยู่ที่ใบละ 1 เฟื้อง หรือประมาณ 25 สตางค์ครึ่ง  ต่อมาหมอบรัดเลย์ต้องการขยายฐานการตลาดให้คนมาอ่านหนังสือพิมพ์ของท่านมากขึ้นจึงออกโปรโมชั่น หากเป็นขุนนางและพระราชาคณะ พระสงฆ์ฐานานุกรม ถ้าต้องการอ่านหนังสือพิมพ์ก็มารับได้เลยไม่ต้องเสียเงิน แต่ถ้าเป็นประชาชนคนทั่วไปต้องเสียเงินปีละ 1 สลึง และต้องจ่ายให้ครบตั้งแต่ครั้งแรกที่มาสมัคร

บางกอกรีคอเดอร์นั้นนำเสนอข่าวสารบ้านเมืองทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางราชการ ข่าวดังในสังคม รวมไปถึงประกาศขายของของตัวหมอบรัดเลย์เอง เช่น “ข้าพเจ้าผู้เจ้าของหนังสือนี้ มีเครื่องสูบน้ำสำหรับล้างท้อง 12 สำรับ ได้ซื้อมาแต่เมืองอเมริกา มาถึงได้ 4 วัน 5 วันแล้ว สูบนั้นเป็นของอย่างดีไม่รู้เสียเลย ใส่ไว้ในหีบไม้ชื่อเมฮอโคนีงามนัก จะขายราคาสำรับละ 8 เหรียญ ถ้าผู้ใดจะต้องการ เชิญท่านมาซื้อโดยเร็ว ของนั้นมีน้อยดอกคงจะหมดเร็วแล้ว….ดูทรงแล้วลีลาการขายของของหมอบรัดเลย์ก็ปังอยู่ไม่น้อย สำนวนคล้ายแม่ค้าออนไลน์ในปัจจุบันที่ชอบพูดว่า ของมีจำนวนจำกัดรีบมา F กันนะคะ หมดแล้วหมดเลยน้า

อ้างอิง

พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ / ซิสเตอร์ซีมอนา สมศรี บุญอรุณรักษา

หมอปลัดเล / ส.พลายน้อย

ngthai.com

readthecloud.co/siamese-with-photography