history_of_guillotine2-01.jpg

History of Guillotine: ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของเครื่องประหารชีวิตสุดโหดที่ถือกำเนิดขึ้นจากเจตนาดี

Post on 25 April

แม้ว่าการคิดค้นเครื่องมือในการจบชีวิตนักโทษและศัตรูทางการเมืองจะสามารถพบเห็นได้ในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Planke ของเยอรมนีในช่วงยุคกลาง, Halifax Gibbet ของอังกฤษ, Scottish Maiden ของสกอตแลนด์ หรือแม้แต่ Mannaia ของอิตาลีที่ถูกใช้งานมาตั้งแต่ยุคกรุงโรม แต่ด้วยระยะเวลาการใช้งานนานร่วมสองศตวรรษ การตัดคอด้วยกิโยติน (Guillotine) ของฝรั่งเศสดูจะเป็นเป็นวิธีการประหารชีวิตที่เป็นที่รู้จัก และถูกนำมาใช้งานอย่างกว้างขวาง จนเรียกได้ว่าเป็น เครื่องประหารชีวิตที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในยุคสมัยหนึ่งก็ว่าได้

และเพื่อต้อนรับวันที่ 25 เมษายน วันที่กิโยตินถูกนำมาใช้ประหารชีวิตคนเป็นครั้งแรกในปี 1792 คอลัมน์ History of ประจำสัปดาห์นี้จึงอยากชวนทุกคนย้อนเวลากลับไปในยุคแห่งความหวาดกลัว (Reign of Terror) ด้วยประวัติศาสตร์ฉบับย่อของสัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ถูกนำมาใช้คร่าชีวิตคนไปหลายหมื่นคนทั่วประเทศฝรั่งเศส รวมถึงอีกหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนั้น มีบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์อย่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI), พระนางมารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) และ มักซีมีเลียง รอแบสปีแยร์ (Maximilien Robespierre) รวมอยู่ด้วย

เพราะการจบชีวิตไม่ได้หมายถึงความทรมาน

ก่อนการมาถึงของกิโยติน รูปแบบของการประหารชีวิตมักจะมาพร้อมกับการสร้างความเจ็บปวดทรมานอย่างช้า ๆ ให้แก่เหล่านักโทษและศัตรู ไม่ว่าจะเป็นการแขวนคอ การเผาทั้งเป็น การถ่วงน้ำ ไปจนถึงการจับมัดใส่กงล้อ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำในที่สาธารณะที่มีชาวเมืองมากมายคอยจับตามอง โดยมีเพียงกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้นที่จะได้อภิสิทธิ์ในการจบชีวิตอย่างรวดเร็วและไร้ความเจ็บปวดจากการตัดคอด้วยคมดาบ

แม้จะไม่เห็นด้วยกับการลงโทษด้วยการประหารชีวิต แต่เมื่อเห็นว่า แนวคิดคัดค้านดังกล่าวดูจะไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากสาธารณชน ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 นายแพทย์โจเซฟ-อีญัส กิโยติน (Joseph-Ignace Guillotin) จึงเสนอความคิดที่จะทำให้ความตายของนักโทษทุกคนเกิดขึ้นอย่างเสมอภาคและมีมนุษยธรรมมากที่สุด เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการประหารชีวิตอยู่ที่การจบชีวิตของบุคคลนั้น ๆ ไม่ใช่การทารุณกรรมหรือการสร้างความเจ็บปวดทรมานโดยไม่จำเป็น ซึ่งเขาเชื่อว่า การตัดคอน่าจะเป็นวิธีการประหารชีวิตที่รวดเร็วและเจ็บปวดทรมานน้อยที่สุด

การจบชีวิตนักโทษด้วยการตัดคออาจไม่ใช่ของแปลกใหม่ในสังคม แต่ในหลาย ๆ ครั้ง การบั่นคอด้วยขวานหรือดาบก็ไม่ได้สามารถทำให้คอมนุษย์ขาดได้ในครั้งเดียว จนทำให้ผู้ถูกลงทัณฑ์เหล่านี้ต้องทนทุกข์ทรมานอีกหลายครั้งกว่าจะสิ้นลมหายใจ สิ่งเหล่านี้เองทำให้เกิดแนวคิดที่จะพัฒนาเครื่องประหารชีวิตที่สะดวก รวดเร็ว เที่ยงตรง และสามารถจบชีวิตนักโทษได้โดยไร้ความเจ็บปวดให้มากที่สุด โดยนายแพทย์อองตวน หลุยส์ (Antoine Louis) ถือเป็นบุคคลแรกที่คิดค้นเครื่องมือชิ้นนี้ขึ้นมาได้สำเร็จ 

จุดกำเนิดเครื่องประหารชีวิตใบมีดพิฆาต

นายแพทย์หลุยส์ออกแบบเครื่องตัดคอเครื่องนี้ให้มีลักษณะเป็นโครงไม้สูงกว่า 2.3 เมตร ด้านบนแขวนใบมีดรูปสี่เหลี่ยมคางหมูที่มีลักษณะเฉียงลงเป็นคมและมีน้ำหนักร่วม 40 กิโลกรัม ด้านล่างเป็นที่วางศีรษะของผู้ถูกลงโทษ ซึ่งเมื่อเชือกที่ถูกเชื่อมอยู่ด้านบนได้ถูกปล่อยหรือตัดให้ขาด ใบมีดที่ทั้งหนักและอยู่สูงจะหล่นลงมาตามแรงโน้มถ่วงและตัดคอผู้ถูกลงทัณฑ์ในครั้งเดียว นี่เองคือการกำเนิดของกิโยติน เครื่องมือสังหารที่โด่งดังไปทั่วโลก

แม้ว่าแรกเริ่มเดิมที เครื่องมือดังกล่าวจะถูกเรียกว่า หลุยซง (Louison) หรือ หลุยเซท (Louisette) แต่สุดท้ายแล้ว มันกลับเป็นที่รู้จักในวงกว้างในชื่อ กิโยติน ตามชื่อของนายแพทย์กิโยติน ผู้นำเสนอแนวคิดการประหารชีวิตด้วยการตัดคอสู่สาธารณชน ซึ่งนี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้หลาย ๆ คนจะเข้าใจผิดคิดว่า เขาคือผู้คิดค้นและออกแบบกิโยตินเป็นคนแรกนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา ครอบครัวของนายแพทย์กิโยตินกลับรู้สึกไม่พอใจที่ชื่อของเขาถูกใช้เชื่อมโยงกับเครื่องมือที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย บรรดาเครือญาติของเขาจึงรวมตัวกันยื่นเรื่องขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสเปลี่ยนชื่อเรียกเครื่องมือสังหารชนิดนี้เพื่อไม่ให้กระทบกับชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล แต่สุดท้ายคำขอดังกล่าวก็ไม่เป็นผล ครอบครัวกิโยตินจึงจำใจเป็นฝ่ายยอมเปลี่ยนนามสกุลของตัวเองแทน

ความบันเทิงเปื้อนเลือด

หลังจากถูกทดลองกับสัตว์น้อยใหญ่และซากศพมนุษย์อยู่นาน ในที่สุด กิโยตินก็ถูกนำมาใช้จริงเป็นครั้งแรกในวันที่ 25 เมษายน ปี 1792 กับร่างกายของโจรดักปล้นตามเส้นทางสัญจรที่มีชื่อว่า นีกอลา ฌัก แปลตีแย (Nicolas Jacques Pelletier) ณ บริเวณศาลากลางกรุงปารีสในปัจจุบัน ซึ่งการประหารชีวิตในที่สาธารณะในครั้งนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จนทำให้กิโยตินกลายมาเป็นเครื่องประหารที่ถูกกฎหมาย และยังเป็นเครื่องมือหลักในการจบชีวิตผู้คนนับหมื่นรายตลอดช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 1789 - 1799

การตัดคอนักโทษด้วยกิโยตินไม่ได้เป็นเพียงการลงโทษของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ในยุคแห่งความหวาดกลัวในช่วงปี 1793 - 1794 มันยังกลายเป็นกิจกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจของชาวเมืองในขณะนั้นที่มักจะออกมารวมตัวกันรับชมการประหารชีวิตเหล่าปรปักษ์แห่งการปฏิวัติ เสมือนเป็นความบันเทิงสาธารณะในรูปแบบหนึ่ง นอกจากพวกเขาจะไม่รู้สึกขวัญผวากับภาพสุดสยองตรงหน้าแล้ว ยังมีบันทึกว่า หลาย ๆ คนรู้สึกไม่พอใจที่มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่สะใจพอ

กิโยตินกลายมาเป็นขวัญใจมหาชมชาวฝรั่งเศสในขณะนั้นที่ไม่เพียงสามารถพบเห็นได้ตามจัตุรัสกลางเมืองเท่านั้น แต่มันยังถูกย่อส่วนกลายเป็นของเล่นเด็กตัวน้อยที่ใช้มันชำแหละชิ้นส่วนตุ๊กตาและหนูตัวเล็กตัวน้อยภายในบ้าน แม้แต่บนโต๊ะอาหารของชนชั้นสูง กิโยตินจิ๋วก็ยังถูกนำมาใช้งานเพื่อหั่นผักและขนมปังด้วย ว่ากันว่า ขนาดเพชฌฆาตผู้ตัดเชือกสังหารผู้คนผ่านกิโยตินยังกลายมาเป็นคนดังที่มีผู้คนชื่นชมมากมาย แม้แต่เสื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่ก็ยังกลายมาเป็นเทรนด์แฟชั่นที่ผู้คนพากันหามาใส่ตามกันทั่วเมือง

หน้าที่เพชฌฆาตมักถูกสืบทอดกันในครอบครัว ซึ่งหนึ่งในตระกูลสำคัญที่ได้รับหน้าที่นี้มาอย่างยาวนานคือตระกูลซองซง (Sanson) ที่สืบทอดตำแหน่งนี้รุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ปี 1792 จนถึงปี 1847 พวกเขาได้ตัดเชือกสังหารผู้คนผ่านกิโยตินมากมาย ตั้งแต่ชนชั้นกระฎุมพี ขุนนาง นักการเมือง ชาวนา ชาวต่างชาติ และศัตรูของการปฏิวัติ โดย ชาร์ลส์ อองรี ซองซง (Charles Henri Sanson) ต้นตระกูลเพชฌฆาต คือผู้ที่ได้เกียรติในการบั่นคอของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระนางมารี อ็องตัวแน็ต รวมไปถึงมักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ ผู้นำการปฏิวัติหัวรุนแรงที่สั่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย

การทดลองสุดสยอง

แม้จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อยุติชีวิตของผู้คนอย่างรวดเร็วและเจ็บปวดน้อยที่สุด แต่ในหลายครั้งพบว่า แม้ศีรษะจะหลุดออกจากบ่าแล้ว แต่บุคคลดังกล่าวกลับยังสามารถตอบสนองได้อีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง ครั้งหนึ่งมีการทดลองตบหน้าของหญิงสาวหลังจากถูกบั่นคอจนขาดกระเด็น พบว่า แก้มของเธอกลับดูแดงก่ำเหมือนยังมีชีวิต หรืออีกครั้งที่ดวงตาของนักโทษยังสามารถกระพริบตาหรือขยับริมฝีปากต่อได้ในระยะเวลาสั้น ๆ

สิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้นายแพทย์ 3 คนที่สนใจในการทดลองนี้ตัดสินใจไปทำข้อตกลงกับชายคนหนึ่งที่กำลังจะได้รับโทษประหารชีวิตให้เป็นโจทย์ในการศึกษาครั้งนี้ หลังจากใบมีดตัดคอของชายคนนี้จนหลุด พวกเขาทั้งสามจึงเริ่มต้นการทดลองด้วยการตะโกนชื่อของเขา จิ้มเข็มลงไปบนใบหน้า รวมไปถึงเอาแอมโมเนียมาให้ดมใกล้จมูก แต่จนแล้วจนรอด การทดลองในครั้งนี้ก็ไม่ได้พิสูจน์อะไรเพิ่มเติม สรุปได้เพียงว่า ชายผู้นั้นมีสีหน้าชวนพิศวงเท่านั้น 

สิ้นสุดยุคสมัยแห่งความโหดร้าย

ความหลงใหลในกิโยตินเริ่มจางหายไปในช่วงศตวรรษที่ 18 อย่างไรก็ดี การประหารด้วยกิโยตินในที่สาธารณะก็ยังคงดำเนินต่อไปในประเทศฝรั่งเศสจนถึงวันที่ 17 มิถุนายน ปี 1939 โดยมี ออยเกน ไวด์มันน์ (Eugene Weidmann) ฆาตกร 5 ศพชาวเยอรมันเป็นศพสุดท้ายที่ถูกตัดคอต่อหน้าผู้คน ก่อนที่เครื่องสังหารเครื่องนี้จะถูกนำไปใช้งานในพื้นที่ปิดจนถึงการปลดระวางอย่างถาวรในช่วงยุค 70s โดยถือว่า อามีดา ฌองดูบี (Hamida Djandoubi) เป็นฆาตกรคนสุดท้ายในหน้าประวัติศาสตร์ที่ถูกจบชีวิตด้วยกิโยตินในวันที่ 10 กันยายน 1977

นอกจากความนิยมที่แพร่หลายในประเทศฝรั่งเศสแล้ว กิโยตินยังเคยถูกนำไปใช้โดยพรรคนาซีเยอรมันในยุคอาณาจักรที่สาม (Third Reich) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงยุค 30s อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) มีคำสั่งให้ใช้กิโยตินเป็นวิธีการประหารชีวิต และยังสั่งให้ติดตั้งกิโยตินกว่า 20 เครื่องทั่วประเทศเยอรมนี โดยมีการบันทึกว่า ตั้งแต่ปี 1933 จนถึงปี 1945 มีผู้เสียชีวิตจากใบมีดของกิโยตินร่วม 16,500 ราย ซึ่งโดยมากเป็นเหล่าผู้ต่อต้านที่เห็นต่างทางการเมืองกับพรรคนาซีนั่นเอง

อ้างอิง:

https://en.wikipedia.org/wiki/Guillotine
https://www.history.com/news/8-things-you-may-not-know-about-the-guillotine
https://www.historyhit.com/who-invented-the-guillotine/
https://www.forbes.com/sites/kionasmith/2020/11/03/the-rise-and-fall-of-the-guillotine/?sh=3b98008b4f6c
https://guillotine.dk/pages/history.html
https://www.theatlantic.com/technology/archive/2016/03/the-man-behind-the-guillotine-opposed-the-death-penalty/475431/
https://www.studentsofhistory.com/the-guillotine-during-the-french-revolution