History of Post-Rock: ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของดนตรีที่ลอย? ลึก? หรืออาจจะนิยามไม่ได้เลย?

Post on 10 May

ประสบการณ์ตรึงใจของเราในเทศกาลดนตรีล่าสุดที่ไปมามีอยู่สองโมเมนต์ด้วยกัน โมเมนต์แรกคือ การปะทะพลังของผู้คนในหมู่วงมอชพิท ที่ชาวร็อกและอีโมพากัน (ถอดเสื้อ) ปล่อยพลังผลักกันไม่ยั้ง ส่วนอีกโมเมนต์คือตอนที่ทุกคนยืนนิ่งแต่ผงกหัวกันหงึก ๆ รับพลังสุดสั่นสะเทือนจากลำโพงที่ปล่อยมวลเบสหนัก ๆ ออกมาปลุกพลังงาน (ลึกลับ) ในตัวเรา

โมเมนต์แรกคือสิ่งที่เกิดในโชว์วง ‘พังก์ร็อก’ (Punk Rock) ในขณะที่อีกโมเมนต์หนึ่งเกิดขึ้นในโชว์ของวง ‘โพสต์ร็อก’ (Post Rock) คำถามที่ตามมาหลังจากที่โมเมนต์ทั้งสองเกิดจบลงก็คือ ‘ดนตรีร็อกมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? และจริง ๆ แล้ว ดนตรีร็อกคืออะไรกันแน่?’

เราพอจะทำความเข้าใจการระเบิดตัวตนออกมาของชาวพังก์ได้ เพราะมองย้อนไปในเส้นทางของดนตรีร็อก มันก็เต็มไปด้วยการแหกปากตะโกน แฟชั่นแบบแม่ไม่ปลื้ม เนื้อเพลงกวนเท้าชาวบ้าน หรือท่วงท่ายั่วเพศบนเวที แบบคำขวัญ ‘Sex, Drugs and Rock 'n' Roll’ ที่ดูจะครอบคลุมตั้งแต่เอลวิสไปยันโอเอซิส แต่โพสต์ร็อกกลับเป็นเหมือนการหักเลี้ยวครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ดนตรี (และวัฒนธรรมของชาว) ร็อก ด้วยจังหวะหลายครั้งที่ออกจะล่องลอยมากกว่ากระแทกกระทั้น และเนื้อเพลงที่ (ถ้ามี) ก็มักจะจับคำไม่ได้ว่าเขาร้องอะไรกัน

ปัจจุบันเมื่อพูดถึงโพสต์ร็อก เรามักจะนึกถึงซาวด์กีตาร์ใส ๆ เล่นโน้ตแต่ละสายกระจายออกจากกันอย่างงดงาม หรือไม่ก็เป็นเสียงแตกพร่ากดดันโสตประสาทให้ขนลุกทั้งร่างกาย แล้วทิ้งเราให้ลอยคว้างอยู่กลางอวกาศแห่งคลื่นเสียงทั้งหมดนั้น แต่สำหรับบาง คนโพสต์ร็อกก็คือเสียงกลองที่ตีเป็นจังหวะซับซ้อนแต่ก็ชวนโยก คล้ายกับดนตรีพื้นบ้านหรือบางทีก็คล้ายกับจังหวะเครื่องจักรในโรงงาน โพสต์ร็อกเป็นทั้ง ‘อะไรก็ได้’ ที่ไกลออกไปจากคำว่าร็อก แต่โพสต์ร็อกก็มีซาวด์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองเช่นกัน

แต่ ‘ซาวด์แบบโพสต์ร็อก’ คืออะไรกันแน่? แล้วมันมาจากไหน? คำตอบอาจอยู่ในประวัติศาสตร์ของดนตรีชนิดนี้ ที่เริ่มต้นปลายยุคของดนตรีแดนซ์คลับและชาวพังก์ จนกลายมาเป็นดนตรีประกอบหนัง ที่เปิดฟังประกอบการอ่านคอนเทนต์ออนไลน์ก็คงไม่ผิดอะไร

ถ้าพร้อมแล้ว ก็ใส่หูฟัง ลองแกล้ง ๆ เปิด ‘อุโมงค์เวลา’ แล้วดำดิ่งสู่ห้วงลึกของจิตวิญญาณไปด้วยกัน

ก่อนร็อกจะโพสต์

ช่วงปลายยุค 80 ซีนพังก์และฮาร์ดคอร์รวมตัวกันคึกคักขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับดนตรีนิวเวฟที่ทดลองออกแบบเสียงล้ำ ๆ ไปไกลกว่าวงกีตาร์-เบส-กลอง และช่วงต้นยุค 90 สองอัลบั้มที่เป็น ‘แม่แบบ’ ของดนตรีโพสต์ร็อกก็ถือกำเนิดขึ้น จากสองแนวดนตรีที่ต่างกันสุดขั้วนั่นแหละ

คุณอาจจะไม่ใช่นักฟังเพลงสายลึก หรือแฟนเดนตายของดนตรีโพสต์ร็อก แต่เราเชื่อว่าคุณต้องเคยเห็นภาพผู้ชายสี่คนโผล่หัวขึ้นมาจากน้ำนี้แน่นอน (อย่างน้อยก็ตามร้านขายเสื้อวงในตึกแดง จตุจักร) เพราะนี่เป็นหนึ่งใน (ปก) อัลบั้มที่สำคัญอัลบั้มหนึ่งของยุค 90s เลยทีเดียว

พวกเขาคือสมาชิกวง Slint กลุ่มเพื่อนวัยรุ่นจากซีนพังก์ย่านมิดเวสต์ สหรัฐอเมริกา (ที่โด่งดังด้านการส่งออกชาวอีโมแบบซึม ๆ) รากเหง้าของพวกเขามาจากดนตรีฮาร์ดคอร์ที่สาดพลังหนักหน่วง แต่ก็เช่นเดียวกับชาวอีโมจากย่านเดียวกัน พวกเขาผสมผสานจังหวะที่ซับซ้อนเหมือนไม่อยากให้คนโยกหัวตามได้แบบดนตรี Math Rock ที่ใช้เสียงประสานและคอร์ดที่ขัดหูคล้ายการขบถของชาวแจ๊ส หรือนักดนตรีอิมเพรสชันนิสต์ และเรียบเรียงเพลงด้วยโครงสร้างที่แปลกประหลาด แทนที่จะแหกปากสาดยับหนึ่งนาทีจบในแบบเพลงฮาร์ดคอร์ที่มุ่งระเบิดอารมณ์

ในอัลบั้ม ‘Spiderland’ ของพวกเขา ไบรอัน แมคมาฮาน นักร้องนำของวงใช้ทั้งเสียงพูดธรรมดาดังกำลังร่ายบทกวี สลับกับเสียงร้องเพลง และการตะโกน อัลบั้มนี้มียอดขายที่ไม่ดีนัก นักวิจารณ์ก็ไม่สนใจ แถมวงยังเลิกเล่นหลังอัลบั้มออกเผยแพร่ได้ไม่นานเพราะโรคซึมเศร้าของนักร้องนำเอง แต่มันกลายเป็นแม่แบบที่เราจะได้ยินอิทธิพลของพวกเขาชัดเจนในดนตรีโพสต์ร็อกที่รุ่นต่อ ๆ มาอย่าง Mogwai, Godspeed You! Black Emperor, Isis และ Explosions in the Sky

ในช่วงเวลาใกล้กันนั้นที่ฟากฝั่งอังกฤษ วงดนตรี Talk Talk ที่เริ่มด้วยการเป็นวงซินธ์ป็อปหน้าใสถูกใจวัยรุ่นในยุค 80 ก็ก้าวเข้าสู่ยุค 90 ด้วยอัลบั้ม ‘Spirit of Eden’ และ ‘Laughing Stock’ สองอัลบั้มที่ใครต่อใครยกให้อยู่บนหิ้งแห่งบิดาผู้ให้กำเนิดโพสต์ร็อกอยู่คู่กันกับอัลบั้ม Spiderland ของวง Slint

Spirit of Eden เป็นเสียงแห่งการด้นสดของกองทัพเพื่อนนักดนตรี (คลาสสิก) ที่วงบันทึกมาตัดหั่นต่อกันใหม่กับอุปกรณ์ดิจิทัลของพวกเขา ทำให้มันมีทั้งความร็อก แจ๊ส คลาสสิก ไปจนถึงแอมเบียนต์ ดนตรีแห่งการห่อหุ้มห้วงบรรยากาศ ทำให้อัลบั้มนี้เป็นประสบการณ์การส่งเราทะยานขึ้นไปลอยคว้างในอวกาศเฉย ๆ ซึ่งแน่นอนว่าการทดลองในห้องอัดแบบสุดขั้วเช่นนี้ ก็ตามมาด้วยการเล่นสดที่ทดลองให้ไม่เหมือนกับในอัลบั้มเข้าไปอีก และในอัลบั้มต่อมา Laughing Stock มันก็เต็มไปด้วยการทดลองแบบยิ่งกว่าที่ผ่านมา (ถึงอัลบั้มก่อนหน้าจะไม่ได้ขายออกขนาดนั้นก็ตาม) อัลบั้มนี้มีนักดนตรีรับเชิญกว่า 50 ชีวิตเข้ามาร่วมในตอนอัดด้วย โดยที่แต่ละคนเล่นอะไรไปตามที่พวกเขารู้สึก ทั้งที่ไม่ได้ฟังเพลงเต็ม ๆ เลย และก็อัดเสียงจากที่ไกล ๆ รวมทั้งสร้างบรรยากาศตอนอัดเสียงแบบมืด ๆ ด้วย ผลลัพธ์จึงเป็นบทประพันธ์ชิ้นยาว ที่แต่ละท่อนค่อย ๆ ผ่านไปกับความเข้มข้นทางอารมณ์ที่เพิ่มไปด้วย

ทั้งสองอัลบั้มเป็นทั้งหมุดหมายแห่งการริเริ่มแหกขนบไปจากดนตรีร็อกแบบเดิม ๆ ตามรากฐานที่แตกต่างกันของพวกเขา แต่ก็เป็นเรื่องตลกร้ายนิด ๆ ที่การทดลองออกไปจากแบบแผนของพวกเขา กลายเป็นแบบแผนที่ทำให้โพสต์ร็อกมี ‘ซาวด์’ ของตัวเองที่ชัดเจนเหมือนกัน

ฟัง Slint - Breadcrumb Trail https://www.youtube.com/watch?v=gBfoQjJ7guk

คลื่นที่สาดมาจากชิคาโก

ปลายยุค 90s ชิคาโกกลายมาเป็นเมืองหลวงของโพสต์ร็อกโดยสมบูรณ์ โดยมีวงอย่าง Bastro, Eleventh Dream Day, Gastr Del Sol, Poster Children และที่สำคัญที่สุด Tortoise เป็นหัวหอกของ ‘คลื่นลูกแรก’ แห่งดนตรีโพสต์พังก์

การฟังอัลบั้มของวง Tortoise เป็นเหมือนประสบการณ์การเดินทางที่ทำให้เราทั้งดำดิ่งจมลึกหรือล่องลอยไปลึกขึ้นเรื่อย ๆ ภายในจิตใจ แต่ก็เป็นการผจญภัยทางดนตรีเหมือนกัน ในช่วงหนึ่งเราอาจจะได้ยินจังหวะกลองที่หนักแน่นย้ำ ๆ ดังเครื่องจักรเยอรมันแบบเพลง krautrock ที่มักจะมีจังหวะที่สม่ำเสมอเรียบง่ายคงที่ทั้งเพลง แต่ผ่านไปไม่นานเราอาจจะโผล่มาอยู่ในหนังคาวบอยแบบสปาเกตตี้เวสเทิร์นโดยไม่รู้ตัว

Tortoise เป็นเจ้าแห่งการผสมผสาน เหมือนศิลปินที่ทำงานด้วยเทคนิคอะไรก็ได้ไม่จำกัด และในขณะเดียวกัน พวกเขาก็เป็นจุดศูนย์รวมที่เชื่อมต่อชาวโพสต์ร็อกชิคาโกไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น The Sea and Cake, Brokeback, Slint, Isotope 217, Chicago Odense Ensemble, Tar Babies, และ The Chicago Underground Duo ซึ่งต่างก็เกี่ยวข้องกับพวกเขาในทางใดทางหนึ่งด้วยกันทั้งนั้น

ความเข้าใจที่ว่า “โพสต์ร็อกไม่มีเนื้อ” ก็อาจเริ่มมาจากช่วงนี้เอง เมื่อวงต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการทดลองเสียงดนตรีและบรรยากาศโดยรวมของเพลง ทำให้หลาย ๆ วงก็ทำเพลงโพสต์ร็อกแบบมีแต่เครื่องดนตรีเท่านั้น ก่อนที่หลาย ๆ วงในเวลาต่อมาจะทำเช่นเดียวกัน แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น เราก็ยังจะเห็นวงที่ทำเพลงสไตล์โพสต์ร็อกมากมายทำเพลงที่มีเนื้อร้องอยู่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราเลยคงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเพลงโพสต์ร็อกจะต้องไม่มีเนื้อร้องเท่านั้น หรือเพลงที่ไม่มีเนื้อร้องทั้งหมดคือเพลงโพสต์ร็อก เพราะท้ายที่สุดแล้ว สปิริตของโพสต์ร็อกก็คือการ “โพสต์” หรือการไปให้พ้นความร็อกแบบเดิม ๆ ซึ่งอาจหมายถึงการตัดเสียงร้องออกไปเลยหรือไม่ก็ได้

ฟัง Tortoise - Swung From the Gutters https://www.youtube.com/watch?v=er_92FLRKsw

ดนตรีสำหรับฉากสะเทือนใจ

“คุณมีวงอย่าง Tortoise [ที่ถูกเรียกว่าโพสต์ร็อก] แต่พวกเราไม่มีอะไรเหมือนกับ Tortoise เลย เราโคตรต่างกัน มันเลยเป็นคำที่กำกวมมาก คำที่โคตรจะขี้เกียจ พวกสื่อขี้เกียจ”

ถ้อยคำของโดมินิก เอชือซัน มือเบสวง Mogwai คงเป็นสิ่งที่อธิบายความรู้สึกของวงดนตรีรุ่นถัด ๆ มาที่ถูกนิยามว่าเป็นโพสต์ร็อก ได้ดีที่สุด และทำให้เรากลับไปมองโพสต์ร็อกในแบบที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ใหม่ ๆ แบบเดียวกับตอนที่มันเกิดขึ้นช่วงยุค 90 ได้อีกครั้ง

แต่เราคงเอาวง Mogwai ออกไปจากประวัติศาสตร์ของดนตรีโพสต์ร็อกไม่ได้ เพราะพวกเขาเป็นหนึ่งในวงตระกูลนี้ที่ประสบความสำเร็จสุดขีดจริง ๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2000 จนถึงปัจจุบัน ซาวด์ของพวกเขามีโครงสร้างคล้ายวงร็อกทั่วไปที่กีตาร์เสียงแตกพร่าเขย่าแก้วหู สลับกับเสียงแหลมใส เบสกับกลองที่ย่ำจังหวะ และการหายไปอย่างมีนัยสำคัญของนักร้องนำ จุดเด่นในเพลงของพวกเขาคือความใหญ่และกว้างของเวทีเสียง ทำให้การเล่นกับความเบา-ดัง ยิ่งขยี้อารมณ์เข้าไปอีก และทำให้โพสต์ร็อกแบบพวกเขา เข้าสู่โลกของดนตรีประกอบภาพยนตร์และซีรีส์ทีวีจำนวนมาก และเป็นซาวด์ที่ดังเป็นนิยามหลักของโพสต์ร็อกตอนนี้

เช่นเดียวกับ Sigur Rós วงดนตรีจากไอซ์แลนด์ที่โด่งดังขึ้นในช่วงเดียวกัน ที่ทำให้โพสต์ร็อกก้าวเข้าสู่โลกกระแสหลักด้วยดนตรีที่ถูกนำไปประกอบซีรีส์และภาพยนตร์จำนวนมาก ตั้งแต่ Queer as Folk, หนังของผู้กำกับ เวส แอนเดอร์สัน, Skins, CSI: Miami, Black Mirror, Game of Thrones, ไปจนถึงการแข่งขันโอลิมปิก ดนตรีที่แค่ฟังก็สัมผัสได้ถึงภูมิอากาศหนาว ๆ แบบไอซ์แลนด์ของพวกเขามีความ ‘ซิเนมาติก’ หรือฟังดูแล้วเข้ากับภาพยนตร์สุด ๆ และถึงแม้งานของพวกเขาจะมีเนื้อร้อง แต่พวกเขาก็ร้องเป็นภาษาที่สร้างขึ้นมาใหม่ในชื่อ ‘Vonlenska’ หรือ Hopelandic ซึ่งให้ความสำคัญกับเสียงของแต่ละคำเหมือนกับเสียงจากเครื่องดนตรี ทำให้แต่ละคำไม่ได้มีความหมายอะไรโดยตรงเหมือนภาษาทั่วไป

ช่วงเดียวกันนี้เรายังมีวงอย่าง Explosions in the Sky, 65daysofstatic, This Will Destroy You, Do Make Say Think และ Godspeed You! Black Emperor ที่สำรวจพรมแดนใหม่ ๆ ของโพสต์ร็อกไปเรื่อย ๆ ในแนวทางของตัวเอง รวมทั้งวงญี่ปุ่นอย่าง Mono ที่พิสูจน์ว่าโพสต์ร็อกเป็นเสมือนดนตรีคลาสสิกในยุคของพวกเรา ด้วยการผสมผสานงานดีไซน์เสียงกีตาร์ที่ทั้งก้องและสะท้อนแบบที่เต็มไปด้วยรายละเอียดเล็ก ๆ ในพื้นผิว กับการแสดงสดงานประพันธ์ที่ขยี้อารมณ์ได้ถึงใจสุด ๆ ซึ่งคงทำให้วงญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยรับแรงบันดาลใจและสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์นี้มาพัฒนาต่อ รวมทั้งอีกประเทศเล็ก ๆ ในเอเชีย ที่มีซีนโพสต์ร็อกแข็งแกร่งไม่แพ้ใครเลยด้วย

ฟัง The Rains of Castamere เพลงที่ Sigur Rós แต่งสำหรับ Game of Thrones Season 4 https://www.youtube.com/watch?v=w3QW8PVyyNM

โพสต์ร็อกไทยไม่แพ้ใครในโลก

เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา Inspirative วงสัญชาติไทยวงแรกที่ทำให้ผู้เขียนได้รู้จักคำว่าโพสต์ร็อก เพิ่งประกาศไปทัวร์ที่ประเทศจีนแบบจุก ๆ เก้าเมือง เก้าโชว์ ซึ่งสำหรับเราแล้ว อย่างน้อยที่สุด นี่ก็เป็นสัญญาณที่บอกว่าโพสต์ร็อกยังไม่ตาย และยังไปได้อีกไกลด้วยทั้งในประเทศไทยและระดับโลก

Inspirative ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 ในยุคที่วงอินดี้โตขึ้นได้ด้วยแพล็ตฟอร์มออนไลน์อย่าง Myspace พวกเขาปล่อยอัลบั้มแรก Memories Come Rushing Up To Meet Me Now ในปี 2010 และทำให้เด็กไทยหลายคนได้รู้จักมวลกีตาร์ที่ล่องลอยแต่ก็หนักแน่นแบบโพสต์ร็อก และก็เช่นเดียวกันกับหลายวงโพสต์ร็อกในโลกตะวันตก พวกเขาได้ทำเพลงให้กับภาพยนตร์ ‘สมมติ : Supposed’ และ ‘มหาสมุทรและสุสาน’ และทำให้โลกของดนตรีนอกกระแสกับภาพยนตร์นอกกระแสมาบรรจบกัน

แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น พวกเขาเคยอยู่ในกลุ่ม ‘Finalkid’ ชุมชนศิลปินโพสต์ร็อกในไทยและเอเชียที่ริเริ่มโดย Merry Murk ศิลปินซาวด์ดีไซน์เจ้าของผลงานในภาพยนตร์มากมาย โดยนอกจากวง INSPIRATIVE แล้ว วงโพสต์ร็อกที่เรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกดนตรีแนวนี้ในไทยก็มีอย่างเช่น TRYMYSHOES , Away the Ways , afternoon และ Forgot Your Case ที่พวกเรายังคิดถึงอยู่เรื่อย ๆ

ตัดภาพมาที่ปัจจุบันเรายังมีค่ายเพลงอย่าง Newlights Production ที่มีอีกหนึ่งตำนาน (ที่น่าจะยังทำงานอยู่) ของโพสต์ร็อกไทยอย่าง Hope the Flowers คอยส่งคลื่นเสียงมาดูดกลืนเราอยู่ หรือผู้จัดคอนเสิร์ตอย่าง ‘ASiA Sound Space 亞洲聲音收藏計畫’ ที่คอยพาวงดี ๆ ทั้งจากไทยและต่างประเทศมาเล่นสดให้เราฟังอยู่เรื่อย รวมทั้งชุมชน ‘Thai Post-Rock Scenery’ ที่เรียกได้ว่าซัพพอร์ตกันและกันสุด ๆ ทั้งคนเล่นและคนฟัง (ซึ่งหลาย ๆ ครั้งก็เป็นคนเดียวกัน) เราก็เชื่อได้เลยว่า อนาคตของโพสต์ร็อกคงยังเต็มไปด้วยพื้นที่ที่น่าค้นหาและทดลองกันต่อไป เหมือนกับจักรวาลที่กว้างใหญ่พอให้เราลอยคว้าง และทิ้งอารมณ์ให้ดำดิ่ง ไปกับดนตรีตระกูลหนึ่ง ที่คำอธิบายคงไม่สำคัญเท่ากับความรู้สึก

ฟังเพลงประกอบภาพยนตร์ THE ISLAND FUNERAL (มหาสมุทรและสุสาน) โดยวง Inspirative ที่ https://www.youtube.com/watch?v=8IGWj6UhKbQ

อ้างอิง
https://web.archive.org/web/20030212012329/http://www.undertheradarmag.com/Issue%201/Interviews/Mogwai/mogwai.html
https://www.facebook.com/thaipostrockmovement/posts/pfbid02JacBA3WvG8hsktjAtRYnD6jJqz74hYTbm4rxtwHQ53kp1pt8NcpT9iJxx9i4Yau2l