สนทนากับฮอสเซนและแอปเปิล ฟาร์มาซี กว่าจะเป็น House of Lucie & Samui Art Center แลนด์มาร์กภาพถ่ายแห่งใหม่ของสมุย

Post on 19 February

เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวดังแห่งวงการศิลปะไทย หลังจากที่เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้มีการประกาศเปิดตัว ‘House of Lucie & Samui Art Center’ แลนด์มาร์กศิลปะแห่งใหม่บนเกาะสมุย ที่มาพร้อมกับการเชิญตัวศิลปินภาพถ่ายระดับโลกถึงสองคนอย่าง สตีฟ แม็คเคอร์รี่ (Steve McCurry) และเจมส์ นาคท์เวย์ (James Nachtwey) เจ้าของรางวัลระดับโลกลูซี อะวอร์ด (Lucie Awards) มาจัดนิทรรศการ ‘ISLAND’ เพื่อเปิดตัวหอศิลป์อย่างเป็นทางการ

ทันทีที่ทราบข่าวงานเปิดตัว GroundControl ก็รีบเดินทางไปเยือนหอศิลป์แห่งนี้ทันที และในขณะที่เรากำลังชมภาพถ่ายที่บอกเล่าเรื่องราวความงดงามของธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชนบนเกาะทั่วโลกผ่านภาพถ่ายหลากหลายมิติ พร้อมสังเกตผู้คนที่มาเยือนงานเปิดตัวที่ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนจนเติมเต็มทุกพื้นที่แห่งนี้ ก็มีเสียงกระซิบเบา ๆ จากทีมงานสุดน่ารักว่าถึงเวลาสัมภาษณ์ฮอสเซน ฟาร์มานี่ (Hossein Farmani) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิลูซี่ และแอปเปิ้ล ฟาร์มานี่ (Apple Farmani) รองประธานกลุ่มบริษัท ฟาร์มานีกรุ๊ป ที่เราได้ตั้งใจนัดหมายไว้ล่วงหน้า

หลังจากได้พบปะทักทายและพูดคุยกันแบบสบาย ๆ เราก็ชวนคุณฮอสเซนและแอปเปิ้ล ฟาร์มานี่เข้าสู่บทสนทนาที่จะพาทุกคนไปสำรวจเบื้องหลังแนวคิด จุดเริ่มต้น และอนาคตของของ House of Lucie & Samui Art Center หอศิลป์ที่ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่แสดงงานภาพถ่าย แต่ยังถูกออกแบบให้เป็นจุดนัดพบระหว่างศิลปะกับชุมชน ที่เชื่อมโยงศิลปินระดับโลก ชุมชน และศิลปินท้องถิ่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมในหอศิลป์แห่งนี้ไปด้วยกัน

ถ้าพร้อมแล้วก็ตามมาอ่านบทสนทนาและเรื่องราวของ House of Lucie & Samui Art Center แลนด์มาร์กศิลปะ หอศิลป์แห่งภาพถ่าย และหมุดหมายแห่งใหม่ของโลกศิลปะร่วมสมัยในประเทษไทยไปด้วยกันได้เลย

จุดเริ่มต้นของ House of Lucie & Samui Art Center

GC:ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะว่า House of Lucie เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ฮอสเซน ฟาร์มานี่: “House of Lucie เป็นส่วนหนึ่งของ Lucie Foundation และ Lucie Awards ที่เราจัดขึ้นที่นิวยอร์ก จริง ๆ แล้ว Lucie Foundation ก่อตั้งขึ้นที่ลอสแอนเจลิสในปี 2003 และที่น่าสนใจคือ House of Lucie แห่งแรกอยู่ที่กรุงเทพฯ เราดำเนินงานที่นั่นมาหลายปีจนกระทั่งอาคารถูกขายไป และตอนนี้เรากำลังสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง”

“ตั้งแต่นั้นมา House of Lucie ก็ขยายไปทั่วโลก แต่แนวคิดดั้งเดิมเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ เป้าหมายของเราคือผลักดันให้การถ่ายภาพเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และนำเสนอผลงานของทั้งช่างภาพระดับปรมาจารย์และศิลปินท้องถิ่น”

GC: เวลาขยายไปยังเมืองต่าง ๆ อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่คุณใช้ในการเลือกสถานที่?

แอปเปิ้ล ฟาร์มานี่: “จริง ๆ แล้วก่อนจะมี House of Lucie ที่กรุงเทพฯ ฮอสเซนเคยเปิดแกลเลอรีในเมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิสและนิวยอร์กมาก่อน แต่พอเขาย้ายมาอยู่ไทย เราเห็นว่าคนไทยมีแพสชันด้านการถ่ายภาพมาก จึงตัดสินใจเปิด House of Lucie ที่นี่อีกครั้ง”

“ตอนนี้เป้าหมายของเราเลยเป็นการขยายไปยังเมืองเล็ก ๆ มากขึ้น เราเริ่มต้นที่คาชาน เมืองเก่าแก่ในอิหร่าน และเปิดแกลเลอรีในเมืองออสตูนี่ ประเทศอิตาลี ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ตอนนี้เรากำลังทำโครงการที่เกาะสมุย และกำลังจะเปิดที่เมืองเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ตามด้วยนอร์เวย์”

“ทุกที่ที่เราไปเป็นเมืองที่ไม่มีแกลเลอรีเฉพาะสำหรับภาพถ่ายเลย และเพราะเราไม่ต้องพึ่งพาการขายงานศิลปะเพื่อทำกำไร เราจึงสามารถจัดนิทรรศการโดยมุ่งเน้นที่ศิลปะและวัฒนธรรมล้วน ๆ”

**แอปเปิ้ล ฟาร์มานี่ (Apple Farmani) รองประธานกลุ่มบริษัท ฟาร์มานีกรุ๊ป**

แอปเปิ้ล ฟาร์มานี่ (Apple Farmani) รองประธานกลุ่มบริษัท ฟาร์มานีกรุ๊ป

**ฮอสเซน ฟาร์มานี่ (Hossein Farmani) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิลูซี่**

ฮอสเซน ฟาร์มานี่ (Hossein Farmani) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิลูซี่

บทบาทของ Samui Art Center ที่เป็นมากกว่าหอศิลป์จัดแสดงภาพถ่าย แต่เป็นจุดเชื่อมใจของการพัฒนาคน ชุมชน และศิลปินท้องถิ่น

GC: ทำไมโปรเจกต์นี้ถึงมีทั้ง House of Lucie และ Samui Art Center อยู่ในที่เดียวกัน?

ฮอสเซน ฟาร์มานี่: “ที่นี่เป็น House of Lucie แห่งเดียวในโลกที่รวมทั้งศูนย์ศิลปะและ House of Lucie เข้าไว้ด้วยกัน เดิมทีเราตั้งใจสร้างศูนย์ศิลปะเพื่อชุมชนท้องถิ่น แต่ต่อมาเราตัดสินใจเพิ่มชั้นที่สองให้เป็นพื้นที่ของ House of Lucie ส่วนชื่อ Lucie มาจากคำว่า lux ซึ่งเป็นภาษาละตินที่แปลว่าแสง เพราะหากไม่มีแสง เราก็จะไม่มีการถ่ายภาพ ไม่มีการมองเห็น นี่คือแนวคิดเบื้องหลังชื่อนี้

GC: ทำไมถึงเลือกขยาย House of Lucie มาที่สมุย?

ฮอสเซน ฟาร์มานี่: “หลายปีก่อน ผมมาเกาะสมุยเพื่อบรรยายร่วมกับสถานทูตอเมริกันและองค์กรในไทย คราวนั้นผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมศูนย์ศิลปะแห่งหนึ่งและรู้สึกประทับใจมาก หลายปีต่อมา ผมพบว่าศูนย์นั้นปิดตัวไปแล้ว ผมจึงให้คำมั่นว่าผมจะนำบางสิ่งกลับมาที่นี่ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่แอปเปิ้ลค้นหาสถานที่และเริ่มสร้างศูนย์แห่งนี้ขึ้นมาใหม่”

แอปเปิ้ล ฟาร์มานี่: "ที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงการสานต่อศูนย์ศิลปะเดิม แต่เราต้องการพัฒนาความสามารถของเยาวชนให้มากที่สุด แต่ก่อนพวกเขาจะมีการจัดเวิร์กช็อปปีละครั้ง คัดเลือกนักเรียนมาเข้าคอร์สสามวัน แต่เราต้องการให้พวกเขาได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสามารถเป็นมืออาชีพได้"

GC: มีความท้าทายอะไรบ้างที่พวกคุณเจอ หลังจากตัดสินใจมาสร้างพื้นที่แห่งนี้ขึ้นที่เกาะสมุย

แอปเปิ้ล ฟาร์มานี่: “เยอะมากเลยค่ะ โดยเฉพาะการก่อสร้างในช่วงโควิด ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น และธุรกิจต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากเราใช้เงินทุนจากธุรกิจของตัวเองในการสร้างโครงการนี้ จึงเป็นภาระทางการเงินที่หนักมาก

ฮอสเซน ฟาร์มานี่: “แต่ด้วยการสนับสนุนจากชุมชนท้องถิ่นและเพื่อน ๆ ระดับนานาชาติ เราก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ หลายคนไม่เคยได้ยินชื่อเกาะสมุยมาก่อน แต่ตอนนี้มันอยู่บนแผนที่ของวงการศิลปะแล้ว”

แอปเปิ้ล ฟาร์มานี่: “ตอนแรกเราตั้งใจให้อาคารแห่งนี้เป็นแค่ศูนย์ศิลปะเล็ก ๆ ขนาด 50-60 ตารางเมตร แต่สุดท้ายมันกลายเป็นพื้นที่ 800 ตารางเมตรไปแล้วในตอนนี้”

เพราะภาพถ่ายก็เป็นศิลปะ และทุกคนก็สามารถเป็นศิลปินได้

GC: ทำไมถึงเลือกสร้างหอศิลป์ภาพถ่าย จากมุมมองของทั้งสองคน การถ่ายภาพช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเชื่อมโยงผู้คนจากหลากหลายชุมชนได้อย่างไร?

ฮอสเซน ฟาร์มานี่: “ผมขอตอบข้อนี้นะครับ ผมมองว่าปัจจุบันการถ่ายภาพถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารมาโดยตลอด แต่ในอดีตมันไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปะขนาดนั้น และหอศิลป์หลายแห่งทั่วโลกไม่เคยจัดแสดงผลงานถ่ายภาพมาก่อน”

“ปัจจุบันการถ่ายภาพกลายเป็นส่วนสำคัญของศิลปะทัศนศิลป์ และหอศิลป์ชั้นนำทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับมัน ในช่วง 10–15 ปีที่ผ่านมา วงการถ่ายภาพมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ผมเลยมองว่าการมีศูนย์ศิลปะและสถานที่แห่งนี้จะช่วยให้คนในท้องถิ่นเข้าใจว่าการถ่ายภาพเป็นศิลปะที่แท้จริง”

“ดังนั้น แนวคิดหลักของเราคือการนำภาพถ่ายไปสู่ผู้คนในวงกว้าง โดยเฉพาะเมืองเล็ก ๆ ที่ผู้คนอาจไม่มีโอกาสเข้าถึงแกลเลอรีศิลปะ หลายคนถ่ายภาพสวย ๆ เช่น พระอาทิตย์ตกหรือทิวทัศน์ แต่ไม่รู้ว่าจะนำเสนอภาพเหล่านั้นเป็นศิลปะได้อย่างไร แต่เมื่อพวกเขาเห็นผลงานของช่างภาพระดับโลกอย่าง สตีฟ แม็คเคอร์รี่ หรือ เจมส์ นาคท์เวย์ พวกเขาก็เริ่มเข้าใจว่าการถ่ายภาพเป็นมากกว่าการกดชัตเตอร์”

“เราหวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของร้านค้า คนทำขนมปัง คนขายเนื้อ หรือแม้แต่นักเรียน โดยการนำเสนอภาพถ่ายในบริบทที่เป็นมืออาชีพ”

ความคาดหวังและอนาคตอันใกล้ที่ไม่ไกลเกินหวังของ House of Lucie & Samui Art Center

GC: ทั้งสองคนมองอนาคตของ House of Lucie & Samui Art Center ไว้อย่างไร?

ฮอสเซน ฟาร์มานี่: “สำหรับสมุย เราอยากเห็นคนในท้องถิ่นมาใช้งานสถานที่นี้จริง ๆ ได้รับการฝึกฝนจากมืออาชีพระดับโลก และเติบโตไปในเส้นทางศิลปะ”

แอปเปิ้ล ฟาร์มานี่: “สมุยเป็นจุดหมายปลายทางที่พิเศษ แต่ค่าเดินทางและที่พักค่อนข้างสูง ฉันอยากเห็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการโรงแรมช่วยสนับสนุนพื้นที่นี้ให้เข้าถึงคนไทยได้มากขึ้น”