3 เรื่องจริงในประวัติศาสตร์ที่กลายมาเป็น House of the Dragon

Post on 17 June

(มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง)

ทุกคนรู้ แฟนคลับยิ่งรู้ดีว่า จอร์จ อาร์.อาร์. มาร์ติน ผู้แต่งลำนำน้ำแข็งและอัคนี ‘The Song of Ice And Fire’ ที่กลายมาเป็นซีรีส์ที่มียอดผู้ชมสูงสุดตลอดกาลอย่าง Game of Thrones นั้นได้แรงบันดาลใจในการแต่งเรื่องราวศึกชิงอำนาจมาจากบันทึกประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงในอดีตกาล

ในขณะที่มาร์ตินเคยเผยว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งศึกชิงบัลลังก์เหล็ก Game of Thrones มาจากเหตุการณ์ ‘สงครามดอกกุหลาบ’ (War of the Roses) สงครามแย่งชิงราชบัลลังก์ในช่วง ค.ศ. 1455 - 1485 ระหว่างสองตระกูลใหญ่ของอังกฤษอย่าง แลงคาสเตอร์ (House of Lancaster) และ ยอร์ก (House of York) ในส่วนของเนื้อหาภาค Prequel (ในฉบับนวนิยายคือภาค Fire & Blood) ที่กลายมาเป็นซีรีส์ House of the Dragon ซึ่งกำลังมาแรงสุด ๆ ณ ขณะนี้ มาร์ตินก็เผยว่า เขายังคงดึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจากประวัติศาสตร์จริงเช่นเคย

เหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์เรื่องใดที่กลายมาเป็น House of the Dragon บ้าง เราไปสำรวจกันเลย

The Anarchy สงครามยุคกลางที่เกิดขึ้นจากการไม่ยอมรับ ‘รัชทายาทหญิง’

จอร์จ อาร์.อาร์ มาร์ติน เคยอธิบายว่า แม้ว่าเขาจะได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้หยิบเหตุการณ์นั้นมาใช้แบบตรง ๆ แต่ในสงครามแย่งชิงบัลลังก์ที่เกิดขึ้นใน House of the Dragon มาร์ตินยอมรับว่าเขาหยิบ ‘บุคคลจริง’ ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มาสร้างเป็นตัวละครด้วย ซึ่งเหตุการณ์ที่มาร์ตินหยิบมาเป็นแรงบันดาลใจและเค้าโครงของ House of the Dragon ก็คือสงคราม Anarchy อันมีต้นเหตุมาจากการไม่ยอมรับรัชทายาทแห่งบัลลังก์ที่เป็นผู้หญิง! เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นใน House of the Dragon!

‘The Anarchy’ คือหนึ่งในสงครามกลางเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ แม้ว่าสงครามจะปะทุขึ้นในปี 1138 และกินเวลาถึงปี 1153 แต่เชื้อไฟของความขัดแย้งเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นมายาวนาน

ในปี 1120 เจ้าฟ้าวิลเลียม อเดลิน พระโอรสและรัชทายาทองค์เดียวของพระเจ้าเฮนรีที่ 1 ทรงสิ้นพระชนม์ในเหตุการณ์เรือล่มที่ช่องแคบอังกฤษ ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินกลับจากแคว้นนอร์มังดีมายังอังกฤษ ด้วยความที่พระชายาของพระองค์ก็เสด็จสวรรคตก่อนหน้าพระโอรสไปไม่นาน พระเจ้าเฮนรีที่ 1 จึงทรงไร้ทั้งชายาและรัชทายาท

เมื่อไร้ผู้สืบทอดบัลลังก์ พระเจ้าเฮนรี่จึงทรงมีตัวเลือกอยู่เพียงแค่ 2 ทาง คือ 1) แต่งตั้งพระธิดาเพียงองค์เดียวที่เหลืออยู่อย่าง เจ้าหญิงมาธิลดา ให้เป็นองค์รัชทายาท (ในขณะนั้นทรงเป็น จักพรรดินีมาทิลดา จากการอภิเสกสมรสกับพระสวามีองค์แรกคือ พระสวามีองค์แรกของพระองค์คือ เฮนรีที่ 5 จักรพรรดิแห่งโรมัน) หรือ 2) อภิเสกสมรสใหม่โดยหวังว่าพระชายาองค์ใหม่จะให้กำเนิดโอรสเพื่อมาสืบทอดบัลลังก์ตามราชประเพณี

แม้ว่าพระเจ้าเฮนรีที่ 1 จะทรงตัดสินใจอภิเสกสมรสใหม่กับ อเดลลิซาแห่งลูแวง แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็ไม่มีพระราชโอรสหรือธิดาด้วยกัน สุดท้ายแล้วพระเจ้าเฮนรีที่ 1 ก็ทรงตัดสินพระทัยแต่งตั้งเจ้าหญิงมาทิลดาเป็นรัชทายาท โดยให้ข้าราชบริพารและขุนนางทั้งหมดสาบานตนว่าจะจงรักภักดีกับว่าที่พระราชินีองค์แรกของตน พร้อมทั้งรับสั่งให้เจ้าหญิงมาธิลดาอภิเสกสมรสใหม่กับ จอฟฟรีย์แห่งอันจู ดยุคผู้ครองแคว้นนอร์มังดี เพื่อผนึกกำลังกับดินแดนทางตอนใต้ หลังจากที่พระสวามีองค์แรกของพระองค์สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้านี้

แต่ในตอนที่พระเจ้าเฮนรีที่ 1 สิ้นพระชนม์ เจ้าหญิงมาทิลดาประทับอยู่ที่แคว้นนอร์มังดี จึงเป็นโอกาสให้เหล่าขุนนางที่ไม่ยอมรับรัชทายาทหญิงลุกขึ้นก่อกบฏ แม้ว่าจะเคยได้เอ่ยคำสาบานว่าจะสวามิภักดิ์ต่อพระราชินี พร้อมทั้งช่วยกันดันให้ สตีเฟนแห่งบลัว ลูกพี่ลูกน้องของเจ้าหญิงมาทิลดา ขึ้นเป็นพระเจ้าสตีเฟนแห่งอังกฤษ และครองบัลลังก์ที่ว่างลง

เหตุการณ์หลังจากนั้นคือช่วงเวลาแห่ง ‘กลียุค’ อันเกิดจากการห้ำหั่นกันระหว่างฝั่งผู้สนับสนุนเจ้าหญิงมาทิลดาผู้ได้ชื่อว่าเป็นองค์รัชทายาทโดยชอบธรรม กับฝั่งของพระเจ้าสตีเฟนซึ่งไม่ต้องการให้อำนาจของบัลลังก์ตกอยู่กับเพศหญิง นักประวัติศาสตร์บันทึกว่านี่คือหนึ่งในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ เพราะสงครามที่ยืดเยื้อและการผลัดกันชนะผลัดกันแพ้ระหว่างสองฝ่ายนำมาสู่ภาวะทุกข์ยากของประชาชน ที่ดินต้องถูกทิ้งร้างเพราะทั้งลอร์ดและชาวนาผู้ชายถูกเกณฑ์ไปรบ ทั่วทั้งดินแดนตกอยู่ใต้ความมืดมนถึงขนาดที่ประชาชนเริ่มพูดกันว่า นี่คือช่วงเวลาที่พระเจ้าและนักบุญหลับใหลและทอดทิ้งพวกเขา

หลักฐานความโกลาหลอันมาจากการผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะระหว่างเจ้าหญิงมาทิลดาและพระเจ้าสตีเฟนเห็นได้จากเว็บไซต์ราชวงศ์อังกฤษที่ระบุนามผู้ครองบัลลังก์อังกฤษในช่วงเวลานั้นว่า ‘มาทิลดาและสตีเฟน’ โดยมาทิลดาสามารถชนะชัยและขึ้นครองตำแหน่ง ‘พระนางแห่งอังกฤษและนอร์มังดี’ (Lady of England and Normandy) ได้เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่กี่เดือนในปี 1141 แต่สุดท้ายก็ต้านแรงทัพของพระเจ้าสตีเฟนไม่ไหวจนต้องล่าถอยกลับมายังนอร์มังดีในปี 1148

ผลสุดท้าย การสู้รบอันยาวนานก็เริ่มทำให้ทั้งสองฝั่งอ่อนล้าจนค่อย ๆ เลิกราและสงบศึกกันได้ในที่สุด เจ้าหญิงมาทิลดาทรงรู้พระองค์ดีว่าเวลาที่ผ่านไปทำให้พระองค์ชราลง แล้วพระองค์ก็รามือจากการทวงบัลลังก์ไปในที่สุด ฝ่ายพระเจ้าสตีเฟนเองก็สูญเสียพระโอรสของตนไป สุดท้ายแล้วพระองค์จึงแต่งตั้ง เจ้าชายเฮนรีที่ 2 พระราชโอรสองค์โตของเจ้าหญิงมาทิลดาให้เป็นรัชทายาทสืบบัลลังก์ต่อจากตน และเมื่อพระเจ้าสตีเฟนสวรรคต เจ้าชายเฮนรีที่ 2 ก็ขึ้นเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 2 และครองราชย์อยู่นาน 35 ปี

เหตุการณ์หลังจากนั้นคือช่วงเวลาแห่ง ‘กลียุค’ อันเกิดจากการห้ำหั่นกันระหว่างฝั่งผู้สนับสนุนเจ้าหญิงมาทิลดาผู้ได้ชื่อว่าเป็นองค์รัชทายาทโดยชอบธรรม กับฝั่งของพระเจ้าสตีเฟนซึ่งไม่ต้องการให้อำนาจของบัลลังก์ตกอยู่กับเพศหญิง นักประวัติศาสตร์บันทึกว่านี่คือหนึ่งในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ เพราะสงครามที่ยืดเยื้อและการผลัดกันชนะผลัดกันแพ้ระหว่างสองฝ่ายนำมาสู่ภาวะทุกข์ยากของประชาชน ที่ดินต้องถูกทิ้งร้างเพราะทั้งลอร์ดและชาวนาผู้ชายถูกเกณฑ์ไปรบ ทั่วทั้งดินแดนตกอยู่ใต้ความมืดมนถึงขนาดที่ประชาชนเริ่มพูดกันว่า นี่คือช่วงเวลาที่พระเจ้าและนักบุญหลับใหลและทอดทิ้งพวกเขา

หลักฐานความโกลาหลอันมาจากการผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะระหว่างเจ้าหญิงมาทิลดาและพระเจ้าสตีเฟนเห็นได้จากเว็บไซต์ราชวงศ์อังกฤษที่ระบุนามผู้ครองบัลลังก์อังกฤษในช่วงเวลานั้นว่า ‘มาทิลดาและสตีเฟน’ โดยมาทิลดาสามารถชนะชัยและขึ้นครองตำแหน่ง ‘พระนางแห่งอังกฤษและนอร์มังดี’ (Lady of England and Normandy) ได้เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่กี่เดือนในปี 1141 แต่สุดท้ายก็ต้านแรงทัพของพระเจ้าสตีเฟนไม่ไหวจนต้องล่าถอยกลับมายังนอร์มังดีในปี 1148

ผลสุดท้าย การสู้รบอันยาวนานก็เริ่มทำให้ทั้งสองฝั่งอ่อนล้าจนค่อย ๆ เลิกราและสงบศึกกันได้ในที่สุด เจ้าหญิงมาทิลดาทรงรู้พระองค์ดีว่าเวลาที่ผ่านไปทำให้พระองค์ชราลง แล้วพระองค์ก็รามือจากการทวงบัลลังก์ไปในที่สุด ฝ่ายพระเจ้าสตีเฟนเองก็สูญเสียพระโอรสของตนไป สุดท้ายแล้วพระองค์จึงแต่งตั้ง เจ้าชายเฮนรีที่ 2 พระราชโอรสองค์โตของเจ้าหญิงมาทิลดาให้เป็นรัชทายาทสืบบัลลังก์ต่อจากตน และเมื่อพระเจ้าสตีเฟนสวรรคต เจ้าชายเฮนรีที่ 2 ก็ขึ้นเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 2 และครองราชย์อยู่นาน 35 ปี

อากับหลาน: การแต่งงานภายในครอบครัว และราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค

เมื่อพูดถึง House of the Dragon หนึ่งในประเด็นที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดก็หนีไม่พ้นเรื่องการสังวาสระหว่างคนในครอบครัว หรือที่เรียกว่า ‘Incest’ ซึ่งก็เป็นประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่ Game of Thrones แล้ว จากความสัมพันธ์เร้นรักระหว่างคู่แฝดพี่น้อง เซอร์ซี และ เจมี แลนนิสเตอร์

ประเด็นเรื่อง Incest กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งจากการนำเสนอความสัมพันธ์อา-หลาน ระหว่าง เจ้าหญิงเรนีรา ทาแกเรียน กับผู้เป็นอาอย่าง เดมอน ทาแกเรียน ที่ในเวลาต่อมาจะกลายมาเป็นคู่รักและร่วมสู้ในศึกชิงบัลลังก์มังกรด้วยกัน

กลับมาที่เรื่องการร่วมประเวณีระหว่างสมาชิกในครอบครัวราชวงศ์ อย่างที่รู้กันดีว่าการแต่งงานระหว่างสมาชิกในราชวงศ์นั้นเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมายาวนาน ในยุโรป ว่ากันว่าการแต่งงานระหว่างสมาชิกในครอบครัวนั้นมีมาตั้งแต่ยุคกลาง และเพิ่งซาลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เท่านั้น (เจ้าชายฟิลิปป์ก็เป็นญาติลำดับที่ 3 ของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 เช่นกัน) โดยเรื่องราวการร่วมประเวณีระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่โด่งดังที่สุดในฝั่งยุโรปย่อมหนีไม่พ้นเรื่องราวของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คแห่งสเปน โดยมีการวาดแผนผังตระกูลแล้วพบว่า สมาชิกในตระกูลนี้มีการแต่งงานกันจนทำให้แผนผังเป็นรูปวงกลม!

หนึ่งในผลลัพธ์ของการแต่งงานระหว่างสมาชิกร่วมสายเลือดที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดคือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งสเปน ซึ่งเป็นผลผลิตจากการแต่งงานระหว่างคู่ พระเจ้าฟิลลิปที่ 4 แห่งสเปน และ เจ้าหญิงมาเรียนาแห่งออสเตรีย โดยที่พระเจ้าฟิลลิปที่ 4 ทรงมีศักดิ์เป็นพระปิตุลาหรือลุงของเจ้าหญิงมาเรียนนา (พระมารดาของเจ้าหญิงเป็นพระขนิษฐาหรือน้องสาวแท้ ๆ ของพระเจ้าฟิลลิปส์)

ความตลกร้ายก็คือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการรักษาสายเลือดบริสุทธิ์และการรักษาเครือข่ายอำนาจผ่านการแต่งงานกันเองในครอบครัว กลับกลายเป็นจุดสิ้นสุดของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค เพราะผลลัพธ์ของการร่วมประเวณีในครอบครัวกว่า 185 ปีได้ส่งผลให้กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เกิดมาพร้อมกับสุขภาพที่ย่ำแย่ ถึงขนาดที่มีการบันทึกว่า นับตั้งแต่วันที่พระองค์ประสูตร ผู้คนก็นับวันสวรรคตรอไว้แล้ว

มีการบันทึกรูปลักษณ์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งสเปนว่าทรงเตี้ย ทุพลภาพ และนอกจากจะมีอาการประชวรในเรื่องของลมชัก และสภาพร่างกายแก่ขราก่อนวัย (พระเกศาร่วงหมดพระเศียรก่อนอายุได้ 35 พรรษา) พระองค์ยังทรงมีปัญหาด้านสติปัญญา ซึ่งอาจมาจากอาการสมองคั่งน้ำแต่กำเนิด

และหนึ่งในลักษณะที่โดดเด่นของพระองค์ซึ่งเป็นหลักฐานการสืบสายเลือดระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่ชัดเจนที่สุดก็คือ พระหนุ (คาง) ของพระองค์ที่ยื่นออกมาจนเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่สืบทอดกันมาผ่านสมาชิกของราชวงศ์ แต่มาปรากฏเด่นชัดที่สุดในพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 จนถึงขนาดที่พระหนุของพระองค์ยื่นออกมาจนไม่สามารถปิดพระโอษฐ์ได้ แม้กระทั่งยามเสวยก็ทรงเสวยอาหารโดยพระโอษฐ์ที่เปิดกว้าง จนถึงขนาดที่การแพทย์สมัยใหม่เรียกอาการของผู้ป่วยที่คางยื่นออกมาจนไม่สามารถปิดปากได้ว่า ‘Habsburg Jaw’

แม้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 จะทรงอภิเสกสมรสถึง 2 ครั้ง แต่ด้วยอาการประชวรของพระองค์ จึงทำให้พระองค์ไม่มีทายาท (ว่ากันว่าแม้กระทั่งในวันอภิเสกสมรสของพระองค์เอง พระองค์ก็ประชวรเกินกว่าจะมาร่วมพิธีอภิเสกสมรสของตัวเองได้ จนต้องให้ขุนนางคนหนึ่งไปยืนแทน) สุดท้ายแล้วผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ก็คือหลานย่าของพี่สาวต่างมารดาของพระองค์ จบสิ้นราชวงศ์ที่ยึดถือการสืบสายเลือดบริสุทธิ์ แต่สุดท้ายก็สิ้นสูญเพราะผลจากความพยายามรักษาเลือดแท้นั่นเอง

ใน The Song of Ice And Fire มาร์ตินก็ได้สะท้อนความฉิบหายที่เกิดจากการสืบสายเลือดชิดระหว่างสมาชิกในราชวงศ์ ไม่ว่าจะเป็นคิงเด็กหน้าปัดกะโหลกอย่าง จอฟฟรีย์ ที่เกิดจากการสมสู่กันระหว่างคู่แฝดเจมีและเซอร์ซี โดยที่ในเนื้อเรื่องเองก็มีฉากที่เซอร์ซีสงสัยว่าความโหดร้ายป่าเถื่อนของจอฟฟรีย์อาจเป็นผลมาจากการที่เขาเกิดจากพ่อแม่ที่เป็นพี่น้องกัน แม้ว่าในเรื่อง เซอร์ซีจะมองว่าความผิดปกติของลูกชายนั้นเป็นผลจากบาป แต่เราอาจมองความผิดปกติทางจิตของจอฟฟรีย์เป็นความป่วยทางสติปัญญา เช่นเดียวกับ พระราชาแอริสที่ 2 แห่งราชวงศ์ทาแกเรียน ผู้สั่งเผาคิงส์แลนดิง จนได้สมญานามว่า ‘Mad King’ ที่มาร์ตินเองก็อธิบายว่าความผิดปกติของพระองค์นั้นเป็นผลมาจากการแต่งงานกันเองระหว่างคนในตระกูล ซึ่งเป็นธรรมเนียมขึ้นชื่อของตระกูลทาแกเรียน

ปอมเปอีและวาเลเรีย - มหันตภัยภูเขาไฟและการสิ้นสลายของนครอันเจริญ

‘วาเลเรีย’ คือชื่อที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยครั้งตั้งแต่ Game of Thrones จนถึง House of the Dragon นั่นก็เพราะใน The Song of Ice And Fore วาเลเรียคือหนึ่งในจักรวรรดิที่มีอารยธรรมรุ่งเรือง ที่สุดในประวัติศาสตร์ของ ‘Known World’ หรือโลกเท่าที่ชาวเวสเทอรอสรู้จักในเรื่องราวของ The Somg of Ice And Fire

ใน House of the Dragon ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวในช่วงเวลาเกือบ 200 ปีก่อนที่ แดเนรีส ทาแกเรียน จะเกิด ผู้ชมได้ทำความรู้จักวาเลเรียมากขึ้นผ่านตัวละครจาก ‘ตระกูลวาเลเรียน’ เช่น คอริส วาเลเรียน หรือ ‘อสรพิษทะเล’ ประมุขของตระกูลและพระสวามีของ เจ้าหญิงเรนีส ทาแกเรียน (หรือในสมญานาม The Queen Who Never Was) , เลนอร์ วาเลเรียน ลูกชายของคอริส พระสวามี (คนแรก) ของเจ้าหญิงเรนีรา และ เลนา วาเลเรียน ผู้ขี่ ‘เวการ์’ มังกรที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งตัวละครที่ว่ามานี้ล้วนสืบเชื้อสายมาจากหนึ่งในตระกูลของเจ้าผู้ครองอำนาจใน Valyrion Freehols เมืองที่เป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิวาเลเรีย ซึ่งเคยแผ่อำนาจทั่วทั้งทวีปเอสซอสนั่นเอง (ในขณะทีืเรื่องราวใน Game of Thrones จะเกิดขึ้นที่ทวีปเวสเทอรอสเป็นส่วนใหญ่)

ในตอนหนึ่ง ลอร์ดคอริสได้กล่าวกับเดมอน ทาร์แกเรียนว่า “ตระกูลวาเลเรียนสืบเชื้อสายไปได้ถึงยุควาเลียเก่า บางตำรากล่าวว่าเราเก่าแก่เสียยิ่งกว่าตระกูลทาร์แกเรียนด้วยซ้ำ แต่พวกเราไม่ได้มีมังกรเหมือนทาร์แกเรียน ตระกูลข้าจึงต้องออกไปแสวงหาที่ทางของตัวเองในทะเล โดยอาศัยแค่การกัดฟันสู้และโชคเท่านั้น”

แล้ววาเลเรียอยู่ที่ไหน? และเกิดอะไรขึ้นกับวาเลเรีย?

ดังที่กล่าวมาตลอดว่าจอร์จ อาร์.อาร์. มาร์ติน เป็นเนิร์ดประวัติศาสตร์ตัวกลั่น และเขาก็หยิบเอาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาเล่าใหม่ในโลกของลำนำน้ำแข็งและอัคนี ซึ่งดินแดนเก่าแก่อย่างวาเลเรีย ก็ได้ต้นเค้าแรงบันดาลใจมาจากหนึ่งในเมืองที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตอาณาจักรโบราณอันยิ่งใหญ่ นั่นก็คือ ‘ปอมเปอี’ ที่เคยเป็นหนึ่งในเมืองภายใต้การปกครองของอาณาจักรโรมันนั่นเอง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แฟน ๆ หลายคนฟันธงว่า ต้นแบบของวาเลเรียมาจากเรื่องราวของนครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์โลกอย่างปอมเปอี (เสริมด้วยเค้าโครงจากตำนานของทวีปที่สาปสูญอย่างแอตแลนติส) ก็มาจากจุดจบของทั้งสองนครที่ล้วนสาปสูญไปด้วยภัยจากภูเขาไฟเช่นเดียวกัน เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า ปอมเปอีสูญสลายหายไปจากแผนที่อาณาจักรโรมันด้วยแรงระเบิดของภูเขาไฟวิสซูเวียสที่ปะทุขึ้นอย่างฉับพลันในปี ค.ศ. 79 จนทำให้หนึ่งในนครที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยและรุ่งเรืองที่สุดของอาณาจักรโรมันสูญสลายหายไปในคืนเดียว ใน The Song of Ice And Fire มาร์ตินก็ได้บรรยายว่าวาเลเรียคืออาณาจักรรุ่งเรืองเก่าแก่ที่สูญสิ้นด้วยภัยจากภูเขาไฟในเวลาเพียงชั่วข้ามคืนเช่นเดียวกัน และในยุคที่เป็นช่วงเวลาของ House of thhe Dragon นั้น มาร์ตินก็บรรยายว่า นครรัฐวาเลเรียยังคงจมอยู่ใต้เถ้าถ่าน ซึ่งก็ตรงกับสภาพของปอมเปอีที่แม้เวลาจะผ่านไปหลายพันปี แต่ก็ยังคงจมอยู่ใต้เถ้าภูเขาไฟ

แฟน ๆ หลายฝ่ายยังวิเคราะห์ว่า วาเลเรียยังมีความข้องเกี่ยวกับจักรวรรดิโรมัน ในแง่ที่ว่าวาเลเรียเป็นศูนย์กลางอารยธรรมแห่งทวีปเอสซอสและโลกโบราณ และเป็นแม่แบบให้กับความเชื่อ ศาสนา และการปกครองของอาณาจักรอื่น ๆ ในเวลาต่อมา เช่นเดียวกับโรมในยุคก่อน นอกจากนี้ยังมีการบรรยายว่าในยุครุ่งเรืองที่สุด อำนาจของวาเลเรียได้แผ่ปกคลุมไปถึงครึ่งหนึ่งของ Known World ซึ่งก็มีความคล้ายคลึงกับอาณาจักรโรมันเช่นเดียวกัน

ย้อนกลับไป 5,000 ปีก่อน วาเลเรียเป็นเพียงชุมชนเล็ก ๆ ที่ยังชีพด้วยการเลี้ยงแกะ กระทั่งพวกเขาค้นพบว่ามีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘มังกร’ อาศัยอยู่ในแถบวงแหวน 14 ภูเขาไฟ พวกเขาจึงนำมันมาเลี้ยงและฝึกเพื่อใช้ในการรบ จนสามารถใช้มังกรเข้ายึดศูนย์กลางอำนาจเดิมของเอสซอสอย่างจักรวรรดิ Ghiscari และขับไล่ชาว Ghiscari ออกไปได้สำเร็จ

ลักษณะการขึ้นสู่อำนาจของชาววาเลเรียก็ทำให้มีแฟน ๆ The Song of Ice And Fire หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อนำประวัติศาสตร์จริงมาเปรียบเทียบ ชาววาเลเรียนก็มีลักษณะที่มาที่ไปคล้ายคลึงกับชาวโรมันที่ค่อย ๆ ขยายอำนาจจากนครรัฐมาสู่สาธารณรัฐโรมัน จนกลายเป็นจักรวรรดิโรมัน ก่อนขับไล่กลุ่มชนชาติอำนาจใกล้เคียง ‘คาร์เธจ’ (ที่เคยตั้งรกรากอยู่ในบริเวณที่เป็นประเทศตูนิเซียในปัจจุบัน) ได้สำเร็จ

วาเลเรียกลายมาเป็นศูนย์กลางความเจริญของโลกโบราณทั้งในด้านวิทยาการ ศาสนา และการค้าขาย โดยมีมังกรเป็นปัจจัยหลักที่ค้ำจุนความมั่นคงของอาณาจักรมาได้ถึง 5,000 ปี กระทั่งการมาถึงของวันแห่งหายนะที่ภูเขาไฟทั้ง 14 ลูกซึ่งเป็นจุดที่ชาววาเลเรียนค้นพบมังกรเกิดปะทุขึ้นมา เมื่อนั้นเองที่หลักฐานการมีอยู่ของอารยธรรมวาเลเรียนอันตรธานหายไปในเวลาเพียงข้ามคืน จนผู้คนในยุคต่อมาได้เรียกขานเหตุการณ์การล่มสลายของวาเลเรียในครั้งนั้นว่า ‘The Doom’

ว่ากันว่าในวันที่ภูเขาไฟแห่งมังกรคำรามลั่น ผืนดินทั้งคาบสมุทรสั่นสะเทือน มหาสมุทรทั้งผืนกลายเป็นทะเลแห่งควัน ทุกสิ่งบนแผ่นดินวาเลเรียสูญสลายหายไปในพริบตา ไม่ว่าจะเป็นผู้คน อารยธรรม วิทยาการ บันทึกประวัติศาสตร์ เวทมนตร์ แม้กระทั่งมังกร ก็สลายหายไปในเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งในบรรดาตระกูลใหญ่ที่ครอบครองอำนาจในวาเลเรียนั้น มีเพียงตระกูลทาร์แกเรียนเพียงตระกูลเดียวที่เหลือรอดมาได้พร้อมกับมังกร เพราะทาร์แกเรียนได้ย้ายไปตั้งรกรากที่ดรากอนสโตรในอีกฟากฝั่งของทะเลหลายปีก่อนที่จะเกิดมหันตภัยครั้งนี้

แม้ว่าในประวัติศาสตร์จริงจะมีหลายอารยธรรมและหลายดินแดนที่สูญสลายไปเพราะมหันตภัยภูเขาไฟระเบิด แต่ด้วยประวัติศาสตร์พื้นหลังของเมืองปอมเปอีที่อยู่ใต้การปกครองของหนึ่งในจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในในโลกอย่างจักรวรรดิโรมัน บวกกับหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงความก้าวหน้าและวิทยาการขั้นสูงของนครแห่งนี้ แฟน ๆ ของนวนิยานยางส่วรจึงเชื่อว่าปอมเปอีน่าจะมีความเป็นไปได้ในการเป็นต้นแบบของวาเลเรีย

ยิ่งไปกว่านั้น หลักฐานจากการขุดค้นซากเมืองปอมเปอีที่ยังคงสภาพเกือบสมบูรณ์ใต้เถ้าถ่านภูเขาไฟก็ทำให้พบว่า ชาวปอมเปอีเคยบูชาภูเขาวิสซูเวียสในฐานะพญางูตัวใหญ่ โดยปรากฏหลักฐานเป็นภาพสีปูนเปียกที่นำเสนอภาพงูตัวใหญ่เคียงข้างกับภาพภูเขาไฟวิสซูเวียต พร้อมคำจารึกว่า ‘วิสซูเวียตคืองู’ ซึ่งงูที่ชาวปอมเปอีเคารพบูชา ก็อาจเป็นมังกรของชาววาเลเรียได้เช่นกัน