ไม่ว่าจะรักล้น หรือหวานขม เชื่อเหลือเกินว่า ศิลปินและนักออกแบบในตำนานหลาย ๆ คนต่างก็เคยมีประสบการณ์ความรักที่น่าจดจำ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผลงานของพวกเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
บ้างก็อาจจะได้รับอิทธิพลจากความสัมพันธ์สุดลึกซึ้งจนเศษเสี้ยวของอีกฝั่งไปปรากฏอยู่ในผลงานโดยไม่รู้ตัว บ้างก็อาจจะจับมือกับคนรัก รวมทีมเป็นดูโอผลิตผลงานดี ๆ ที่มีเพียงเคมีของพวกเขาเท่านั้นที่จะสร้างสรรค์ออกมาได้
Christo and Jeanne-Claude
เปิดคู่รักศิลปินคู่แรกที่ Christo Vladimirov Javacheff และ Jeanne-Claude Denat de Guillebon หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักกันดีในชื่อดูโอ Christo and Jeanne-Claude คู่รักศิลปิน ‘นักห่อ’ ที่โด่งดังจากผลงานศิลปะจัดวางในพื้นที่เฉพาะขนาดบิ๊กเบิ้ม ไม่ว่าจะเป็นการขึงผ้าระหว่างช่องเขาบริเวณเทือกเขาร็อกกี้ในผลงาน Valley Curtain, การจัดวางแพลอยน้ำสีชมพูรอบ 11 เกาะทั่วอ่าวบิสเคย์ในผลงาน Surrounded Islands, การห่อหุ้มปงเนิฟ สะพานข้ามแม่น้ำแซนอันเก่าแก่ของปารีสในผลงาน The Pont Neuf Wrapped หรือผลงานสุดท้ายของทั้งคู่อย่าง L'Arc de Triomphe, Wrapped ที่แม้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหลังศิลปินทั้งสองล่วงลับไปแล้ว แต่ก็ยังได้หลานชายมาช่วยสานฝันให้การห่อหุ้มประตูชัยฝรั่งเศสในครั้งนี้เกิดขึ้นจริงในปีที่แล้ว
สิ่งที่ชวนว้าวสุด ๆ ของคู่ Christo and Jeanne-Claude ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ผลงานศิลปะที่พวกเขาเฝ้าสร้างสรรค์มาตลอดหลายทศวรรษเท่านั้น แต่ชีวิตส่วนตัวของพวกเขาก็ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจอยู่อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการที่พวกเขาทั้งคู่เกิดในวัน เดือน ปีเดียวกันเป๊ะ ๆ ต่างกันแค่ประเทศบ้านเกิดคือ Christo มาจากบัลแกเรีย ส่วน Jeanne-Claude มาจากโมร็อกโก แต่ก็เป็นศิลปะนี่เองที่ช่วยพัดพาให้พวกเขาได้มาพบเจอกันครั้งแรกในปารีสจากภาพวาดที่ Christo วาดให้กับแม่ของ Jeanne-Claude นอกจากนั้น แม้ว่าทั้งคู่จะทำงานเป็นดูโอ แต่เมื่อต้องเดินทางไปที่ไหนไกล ๆ พวกเขาจะเลือกโดยสารในเครื่องบินคนละลำ เพื่อลดความเสี่ยงในกรณีเกิดอุบัติเหตุ อารมณ์ประมาณว่า อย่างน้อยถ้าใครคนหนึ่งตายไป อีกคนก็ยังสามารถสานต่อโปรเจกต์ที่ตั้งใจไว้ได้!
Diego Rivera and Frida Kahlo
ชื่อของคู่รักศิลปินชาวเม็กซิกันในตำนานอย่าง Diego Rivera และ Frida Kahlo คงจะไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่สำหรับคนที่ติดตามโลกประวัติศาสตร์ศิลปะเท่าไหร่นัก เพราะน่าจะเรียกได้ว่า ความสัมพันธ์ทั้งรัก ทั้ง ‘ท็อกซิก’ นี้น่าจะโด่งดังไม่แพ้ผลงานจิตรกรรมอันทรงคุณค่าจากปลายพู่กันของทั้งคู่เลยก็ว่าได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่คำกล่าวอ้างของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะแม้แต่ตัว Frida เองก็เคยกล่าวไว้ว่า “ในชีวิตของฉันได้เผชิญกับอุบัติเหตุครั้งใหญ่ถึงสองหน หนแรกคือตอนที่โดนรถชน และหนที่สองคือตอนที่พบกับดิเอโก้ ผู้ซึ่งแย่กว่าอุบัติเหตุอื่นใดหลายขุม”
ตลอดชีวิตของ Frida เธอเคยคบหากับผู้คนมาแล้วมากหน้าหลายตา ทั้งชายและหญิง แต่ก็เป็นความรักกับ Diego นี่เองที่ดูจะลึกซึ้ง ยิ่งใหญ่ แต่ก็สร้างบาดแผลในใจให้กับเธอมากที่สุด เพราะแม้ว่าคนรักคนนี้จะมอบพลังและแรงบันดาลใจให้เธอมากมาย แต่ก็เป็นเขาคนเดียวกันที่นอกใจเธออยู่บ่อยครั้ง ไม่เว้นแม้แต่น้องสาวของเธอ!
อิทธิพลของ Diego ในชีวิตและตัวตนของ Frida ถูกถ่ายทอดออกมาให้เห็นได้จากผลงานจิตรกรรมหลาย ๆ ชิ้นของเธอที่มักจะมีใบหน้าของเขาปรากฏอยู่ในภาพด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็น Frieda and Diego Rivera (1931), Diego and I (1949) และ Diego on my Mind (1943) หรือแม้แต่ภาพวาด Frida สองคนอันโด่งดังอย่าง The Two Fridas (1939) เองก็ยังมีนัยแฝงถึงความสัมพันธ์ของเธอกับคนรักคนนี้ด้วย
Marina Abramović and Ulay
เพิ่งจะมาบรรยายให้ผู้สนใจในกรุงเทพฯ ได้ฟังกันแบบสด ๆ ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมาสำหรับพระมารดาแห่งศิลปะการแสดงสด (Performance Art) ชาวเซอร์เบียนอย่าง Marina Abramović ที่มาพูดถึงหัวข้อผลงานศิลปะที่กินระยะเวลายาวนานอันเป็นภาพจำของเธอ (อ่านต่อได้ที่: t.ly/dDnIo ) ซึ่งเมื่อมาดูกันดี ๆ ก็จะพบว่า ในบรรดาผลงานอันมากมายมหาศาลเหล่านั้น มีผลงานที่เธอทำร่วมกับ Ulay หรือชื่อจริง Frank Uwe Laysiepen ศิลปินชาวเยอรมัน อดีตคนรักของเธออยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
ผลงานศิลปะของ Marina และ Ulay มักพูดถึงความรักและความสัมพันธ์ของทั้งคู่ในแง่มุมต่าง ๆ โดยเฉพาะขีดจำกัดความอดทนของทั้งร่างกายและจิตใจ ในผลงาน Relation in Time (1977) พวกเขานั่งหันหลังชนกันโดยมีหางม้าที่ถูกถักอย่างแน่นหนาเป็นเส้นเดียวเป็นอุปสรรคให้พวกเขาไม่สามารถอยู่แยกออกจากกันได้, ในผลงาน Breathing In/Breathing Out (1977) พวกเขาส่งต่อลมหายใจผ่านปากให้แก่กันและกัน โดยรูจมูกของทั้งคู่จะถูกอุดไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเพียงคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้นที่จะสามารถเล็ดลอดเข้าไปในร่างกายได้ และในผลงาน Rest Energy (1980) Ulay ถือคันธนูชี้ตรงไปที่หัวใจของ Marina โดยมีเธอคอยช่วยออกแรงรั้งลูกธนูให้โน้มเอียงมาที่ตัวเองมากขึ้น และผลงานชิ้นสุดท้าย Lovers (1988) ผลงานที่เป็นที่โจษจันไปทั่วโลกเมื่อทั้งคู่ตัดสินใจออกเดินทางจากคนละฝั่งของกำแพงเมืองจีนเพื่อมายุติความสัมพันธ์นับ 10 กว่าปีกันที่ตรงกลางของกำแพง
โดยถึงแม้ว่าหลังจากนั้นทั้งคู่จะแยกย้ายกันไปทำงานศิลปะของตัวเอง แต่ในปี 2010 ก็ยังมีภาพความประทับใจเกิดขึ้นอีกครั้ง ในขณะที่ Marina กำลังทำการแสดงสดจ้องตากับผู้คนในผลงานชุด The Artist Is Present ที่ MoMA (Museum of Modern Art) ในนิวยอร์กอยู่นั้น จู่ ๆ Ulay ก็ได้ปรากฏตัวและร่วมจ้องตากับเธอจนทำให้เธอถึงกับต้องหลั่งน้ำตาออกมา
Robert Rauschenberg and Jasper Johns
ถึงแม้จะไม่ใช่ความลับของจักรวาลอันใด แต่เชื่อเหลือเกินว่า หลาย ๆ อาจยังไม่รู้ว่า ศิลปินชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ของลัทธิป็อปอาร์ตอย่าง Robert Rauschenberg และ Jasper Johns เองก็เคยมีช่วงเวลาคบหาดูใจกันมาก่อนเช่นกัน ไม่เพียงความรัก และแรงบันดาลใจที่ทั้งคู่มีให้แก่กันเท่านั้น แต่พวกเขายังเคยจับมือกันผลิตผลงานพาณิชย์ศิลป์ในชื่อดูโอ Matson Jones มาแล้วด้วย
แม้ผลงานของทั้งคู่จะมีสไตล์ที่โดดเด่นชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการคอลลาจปะติดวัสดุที่หลากหลายของ Robert หรือความนามธรรมในจิตรกรรมของ Jasper ที่ถูกจดจำจากภาพของธงชาติสหรัฐอเมริกาก็ตาม แต่ในการทำงานภายใต้ชื่อ Matson Jones นี้เองที่พวกเขาพาการออกแบบวินโดว์ดิสเพลย์ไปไกลมากยิ่งขึ้นจากการนำเทคนิคการพิมพ์ภาพด้วยแสงแดด (Cyanotype) มาใช้สร้างสีสันให้กับห้าง Bergdorf Goodman ในราวปี 1955
John Lennon and Yoko Ono
คงจะไม่เกินเลยหากจะบอกว่า John Lennon และ Yoko Ono คือคู่รักสุดไอคอนนิกที่ทั้งถูกสรรเสริญและก่นด่า (จากแฟนเพลง The Beatles) มากที่สุด อย่างไรก็ดี แม้ชีวิตของเขาจะแสนสั้น แต่ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ได้ครองรักกัน พวกเขาก็ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ดนตรี รวมไปถึงออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ
นอกจากความโดดเด่นในผลงานเดี่ยวของทั้งสองแล้ว อีกหนึ่งโปรเจกต์ของศิลปินคนคลั่งรักคู่นี้ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ Bed-In (1969) แคมเปญศิลปะการแสดงสดที่เชื้อเชิญให้ผู้คนขึ้นไปสังเกตการณ์มองดูพวกเขาเอนกายบนเตียงนอนของโรงแรมในกรุงอัมสเตอร์ดัม พร้อมข้อความ ‘HAIR PEACE’ และ ‘BED PEACE’ ที่ถูกติดไว้ด้านบนเพื่อแสดงออกถึงจุดยืนต่อต้านสงครามเวียดนามที่กำลังปะทุขึ้นในขณะนั้น ไม่เพียงเท่านั้น ภาพ WAR IS OVER ในตำนานของทั้งคู่ก็คือส่วนหนึ่งของแคมเปญต่อต้านสงครามนี้ด้วยเช่นกัน
Charles and Ray Eames
ในวันนี้ที่กระแสของเฟอร์นิเจอร์สไตล์มิดเซ็นจูรี่และอเมริกันโมเดิร์นนิสต์ถูกยกกลับมาพูดถึงและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางอีกครั้ง ชื่อของ Charles และ Ray Eames สองสามี-ภรรยานักออกแบบชาวอเมริกัน หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของวงการออกแบบของโลกมากที่สุด คงจะทำให้หลายคนรู้สึกคุ้นหูอยู่ไม่น้อย
เพราะ Charles และ Ray Eames นี่เองคือหนึ่งในนักออกแบบกลุ่มแรก ๆ ที่เริ่มบุกเบิกการใช้งานวัสดุจำพวกไม้อัด พลาสติก และไฟเบอร์กลาสในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ระดับอุตสาหกรรม รวมทั้งยังเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังผลงานการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ระดับไอคอนนิกขึ้นหิ้งมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ Eames Lounge & Ottoman (1956), Chaise Longue / La Chaise (1948) หรือ Eames Fiberglass Shell Armchair (1948-1950) ที่ในปัจจุบันก็ยังคงฮิตติดลมบนอยู่คู่สตูดิโอและห้างร้านสุดฮิปทั่วโลกแม้เวลาจะผ่านมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม
Viktor & Rolf
ไม่กี่สัปดาห์ก่อนก็เพิ่งสร้างเสียงฮือฮาจากชุดราตรีสไตล์โอต์กูตูร์ที่มีรูปแบบสวมใส่สุดหลุดโลกบนรันเวย์ของงานแฟชั่นวีค แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้เป็นพยานต่อวิสัยทัศน์อันแหลมคมและแปลกใหม่ของ Viktor & Rolf แฟชั่นเฮาส์สายเลือดดัทช์ที่ก่อตั้งโดย Viktor Horsting และ Rolf Snoeren คู่รักนักออกแบบแฟชั่นที่แม้ดูเผิน ๆ จะมีภาพลักษณ์คล้าย ๆ กันจนหลายคนหลงคิดว่าเป็นฝาแฝด จากทรงผมสั้นเกรียน และแว่นกรอบดำ เอกลักษณ์ของพวกเขาทั้งคู่
Viktor และ Rolf พบกันครั้งแรกขณะยังเป็นนักศึกษาแฟชั่นที่ Arnhem Academy of Art and Design ในเนเธอร์แลนด์ราวปี 1988 แต่ก็เป็นหลังเรียนจบนี่เองที่พวกเขาเริ่มคบหาดูใจกัน ก่อนจะเริ่มขยายขอบเขตการเดินทางในเส้นทางสายแฟชั่นไปพร้อมกันจากการประกวดออกแบบและก่อต่อแบรนด์ของตัวเอง ผลงานของทั้งคู่โดดเด่นด้วยการผสมผสานศิลปะเข้ากับแฟชั่น อีกทั้งยังเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน และสัญลักษณ์อีกมากมายที่รอคอยการตีความ จนหลาย ๆ ชิ้นก็แทบจะเข้าข่ายศิลปะที่สวมใส่ได้ (Wearable Art) มากกว่าจะเป็นแค่เสื้อผ้าที่มีหน้าที่ห่อหุ้มปิดบังร่างกาย
อ้างอิง:
https://www.bbc.com/culture/article/20171218-charles-and-ray-eames-the-couple-who-shaped-the-way-we-live
https://www.artsy.net/article/artsy-editorial-yoko-onos-5-iconic-works
https://christojeanneclaude.net/life-and-work/
https://www.artmarketmonitor.com/2020/11/30/robert-rauschenberg-and-jasper-johns-1950s-collaboration-for-department-store-will-sell-at-christies/
https://www.artnews.com/art-news/news/american-beauty-jasper-johns-robert-rauschenberg-and-the-case-of-the-missing-flag-6317/
https://fashionelite.com/profile/viktor-horsting-rolf-snoeren/