กอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา กว่าจะมาเป็น Ghost Lab ฉีกกฎทดลองผี... การเดินทางของผู้กำกับที่ต้องพิสูจน์ตัวเองเสมอ

Post on 24 January

ชื่อของ ‘กอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา’ คงจะไม่ใช่ชื่อใหม่นักสำหรับคอหนังในบ้านเรา เพราะที่ผ่านมาเขาได้ฝากฝีไม้ลายมืออันเป็นเอกลักษณ์ผ่านผลงานภาพยนตร์ภายใต้การดูแลของค่ายหนังอารมณ์ดีอย่าง GDH มาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์สยองขวัญอย่าง ‘บอดี้..ศพ #19’ ภาพยนตร์รวมตอนสั้นอย่าง ‘สี่แพร่ง’ และ ‘ห้าแพร่ง’ หนังรักฟีลกู๊ดฉลองครบรอบ 7 ปีของบริษัทอย่าง ‘รัก 7 ปี ดี 7 หน’ หรือแม้แต่ล่าสุดกับผลงานซีรี่ส์กระแสแรงอย่าง ‘เด็กใหม่’ ซีซัน 2 ตอน ‘ห้องสำนึกตน’ ที่ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากสไตล์อันแสนจัดจ้าน

ครั้งนี้ เขากลับมาอีกครั้งกับภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่จะมาท้าทายทุกความเชื่อ ‘Ghost Lab ฉีกกฎทดลองผี’ จะพาเราไปร่วมสำรวจและค้นหาคำตอบเกี่ยวกับโลกหลังความตายผ่านตัวละครของหมอหนุ่ม 2 คนที่ใช้ตรรกะและวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์การมีอยู่ของผี ซึ่งไม่ว่าผลลัพธ์ของทั้งคู่จะเป็นยังไง แต่เชื่อได้เลยว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้เราได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่ไม่เคยคิดจะตั้งคำถามมาก่อนแน่นอน

ก่อนที่ Ghost Lab ฉีกกฎทดลองผีจะถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการพร้อมกันทั่วโลกผ่าน Netflix ในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ GroundControl ขอพาทุกคนไปร่วมพูดคุยกับผู้กำกับสุดล้ำคนนี้ถึงชีวิต ตัวตน และผลงานที่ผ่านมาของเขา รวมถึงเจาะลึกเบื้องหลังของ Ghost Lab ฉีกกฎทดลองผีในฐานะภาพยนตร์ Netflix Original เรื่องแรกของ GDH ว่าจะมีจุดเริ่มต้น แนวคิด และกระบวนการที่น่าสนใจยังไงบ้าง

จุดเริ่มต้นในวงการภาพยนตร์

“เราเป็นคนชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็ก คุณพ่อจะพาไปดูหนังในโรงทุกอาทิตย์ พอได้มาเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ก็ยิ่งเจอตัวตนและสิ่งที่ชอบจริง ๆ ช่วงเป็นนิสิต เราเสนอตัวทำกิจกรรมเยอะมาก ทั้งหนังสั้น และก็โฆษณา ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นการฝึกการทำงานมาเรื่อย ๆ บวกกับยุคนั้นเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกมาดิจิตัล ซึ่งโดยพื้นฐานเราเป็นคนสนใจเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว เลยเริ่มศึกษาการตัดต่อด้วยคอมพิวเตอร์ของตัวเองมาเรื่อย ๆ ซึ่งมันยังใหม่มากในยุคนั้น ทำให้เราได้เรียนรู้เยอะมาก

เราเริ่มต้นอาชีพสายนี้จากการกำกับมิวสิควีดีโอก่อน แล้วจึงย้ายไปทำวงการโฆษณา แต่ลึก ๆในใจเรายังอยากทำหนังยาวมาโดยตลอด ตอนนั้นโปรเจ็คที่เคยพัฒนาไว้และตั้งใจว่าจะได้ทำก็โดนยกเลิกไป ระหว่างนั้นเราเห็นว่าพี่ ๆในคณะได้ทำ ‘แฟนฉัน’ กันแล้ว โต้ง (บรรจง ปิสัญธนะกูล) และโอ๋ (ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ) ก็ได้ทำ ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ กันแล้ว ซึ่งโปรเจ็คเหล่านี้มันประสบความสำเร็จมาก ตอนหลังพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ก็เรียกเราเข้าไปคุย ก็เลยได้ทำหนังกับ GTH จนถึงปัจจุบัน”

โอกาสในการทำภาพยนตร์เรื่องแรกได้มาเพราะส้มหล่น

“นอกจาก ‘รัก 7 ปี ดี 7 หน’ แล้ว คนเห็นเราทำแต่หนังผีหรือหรือหนังระทึกขวัญมาตลอด ตั้งแต่ ‘บอดี้..ศพ #19’ จนถึงเรื่องล่าสุดอย่าง ‘เด็กใหม่ 2’ ตอน ‘ห้องสำนึกตน’ เขาก็คิดว่าเราชอบอยู่แนวเดียว แต่จริง ๆ แล้วเราชอบดูหนังทุกแนว ไม่ใช่เฉพาะหนังผี แต่ด้วยเหตุบังเอิญหลาย ๆ อย่างทำให้เราได้มาทำหนังผีเรื่อย ๆ

อย่างหนังยาวเรื่องแรกที่ได้ทำคือบอดี้..ศพ #19 จริง ๆ มันเป็นโปรเจ็คของพี่ผู้กำกับอีกคนหนึ่งที่ GTH แล้วพอทางบริษัทต้องไปเดินสายขายหนังตามเทศกาลต่างประเทศ เขาก็อยากได้ตัวอย่างหนังสั้น ๆ ของบอดี้..ศพ #19 เอาไปขายให้ลูกค้าดูว่าเนื้อเรื่องจะออกมาในทิศทางแบบไหน แล้วตอนนั้นทางพี่ผู้กำกับเจ้าของโปรเจ็คเขาไม่ว่างทำพอดี พี่สิน (ยงยุทธ ทองกองทุน) เลยให้เราเข้ามาทำแทน ซึ่งตอนที่ทำตัวอย่างหนัง เรายังไม่ได้เห็นเลยว่าบทภาพยนตร์ว่าจะออกมาเป็นยังไง เรารู้แค่ภาพรวมคอนเซ็ปต์เรื่องเท่านั้น ทีนี้พอเขาเอาไปขายในเทศกาลต่างประเทศก็มีคนสนใจซื้อโปรเจ็คนี้ ซึ่งพอทางพี่ผู้กำกับเจ้าของโปรเจ็คเขามาดูก็บอกว่า ที่เขาตั้งใจไว้มันจะไม่ใช่แนวนี้ เขาทำหนังแบบนี้ไม่ได้ สุดท้ายเราก็เลยส้มหล่นได้มาทำแทน ซึ่งตอนนั้นเราไม่ได้อยากทำหนังผี เพราะโต้งและโอ๋ทำชัตเตอร์ กดติดวิญญาณไว้ดีมาก ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าจะทำยังไงให้มันใหม่และแตกต่างไม่เหมือนเขา สุดท้ายเลยออกมาเป็นบอดี้..ศพ #19 หนังผีอีกรสชาติหนึ่งที่มีความเป็นจิตวิทยามาผสมผสาน บวกกับการที่เราสนใจในงานเทคโนโลยี CG (Computer Graphics) ต่าง ๆ อยู่แล้ว มันก็เลยกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้หนังของเราแตกต่างจากหนังของคนอื่นได้ ซึ่งนอกจากบอดี้..ศพ #19 แล้ว หนังเรื่องแรก ๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘สี่แพร่ง’ หรือ ‘ห้าแพร่ง’ เราก็เป็นคนกำกับเอง ตัดต่อเอง และทำ VFX (Visual Effects) บางอย่างเองด้วย”

เพราะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดจึงได้พิสูจน์ตัวเองใหม่อีกครั้ง

“เราเติบโตขึ้นทุกวันตามวัยและประสบการณ์ชีวิต ผ่านการลองผิดลองถูกมาเยอะมาก เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่คนที่เก่งทุกด้าน แต่เป็นคนที่ถ้าได้ลงมือทำจริงแล้วจะได้เรียนรู้จากสิ่งนั้นมากกว่า ซึ่งในชีวิตของเราก็มีบทเรียนในการทำงานอยู่หลายครั้งเหมือนกัน อย่างตอนทำบอดี้..ศพ #19 เสร็จ เราก็มีโอกาสได้เข้าไปกำกับหนังหนึ่งในสี่ตอนของสี่แพร่ง ชื่อตอน ‘ยันต์สั่งตาย’ ด้วยความที่มันเป็นหนังตอนแยกออกจากกัน ความรู้สึกเราตอนนั้นก็คิดแค่ว่าอยากทำให้มันแตกต่าง ได้ทดลองอะไรใหม่ ๆ ฉีกเป็นหนังผีสไตล์การ์ตูนล้ำ ๆ ไปเลย ซึ่งมันเป็นความอยากส่วนตัวที่ไม่ได้สนใจองค์ประกอบอื่น ๆ เลย สุดท้ายก็เลยทำแบบสไตล์จัดจ้านมาก หลุดโลกไปเลย ซึ่งตอนทำเราก็ว่ามันสนุกดีที่ได้กำกับหนังแบบนี้ แต่ผลลัพธ์ออกมาคือคนดูเขาดูไปเอาตีนก่ายหน้าผากไป สิ่งที่เราจำได้และเป็นความเจ็บปวดเลยคือ ตอนที่งานของผู้กำกับทั้งสี่คนถูกตัดรวมกันแล้วเอาไปทดลองฉายภายในบริษัท เราจำสีหน้าของคนในบริษัทได้เลย แต่ละคนคือหน้าเครียดมาก หลายคนก็บอกเราว่าเขาดูไม่ไหว มันปวดหัวไปหมด หรือแม้แต่ตอนที่สี่แพร่งถูกเข้าฉายจริง เราก็เห็นฟีดแบคคนดู บางคนก็บอกว่าควรตัดเหลือสามตอน ถ้าเอาตอนนี้ออกไปภาพรวมของสี่แพร่งน่าจะดีกว่านี้ ซึ่งแม้สุดท้ายหนังมันจะประสบความสำเร็จและได้เงินมหาศาล ได้ไปฉายในเทศกาลหนังหลายที่มาก แต่ตอนนั้นเราก็รู้สึกแย่มากที่ทำให้บริษัทผิดหวัง จำได้ว่า มันก็มีเทศกาลหนังในประเทศญี่ปุ่นที่เลือกยันต์สั่งตายไปฉายแค่ตอนเดียวเหมือนกัน เรายังงเลยว่าเขาเลือกตอนผิดรึเปล่า แต่เขาบอกว่าเขาชอบ เพราะไม่เคยเห็นหนังในสไตล์และพล็อตแบบนี้มาก่อน ความจัดจ้านและกลิ่นอายความการ์ตูนของมันอาจจะไปถูกใจเขา อย่างไรก็ดี การทำงานในครั้งนี้เองมันก็เป็นบทเรียนให้เราได้มามองย้อนตัวเอง ซึ่งเราก็พบว่าเราทำหนังแบบเอาแต่ใจตัวเองมากเกินไป โดยไม่ได้สนปัจจัยเรื่องอื่น ๆ เลย ในการทำหนังสักเรื่อง เราต้องทำงานที่มันสื่อสารกับคนอื่นด้วย ไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเอง

หลังจากความผิดพลาดครั้งนั้น โชคดีมากที่เรายังได้โอกาสจากบริษัทให้กลับมาทำห้าแพร่งอีกครั้ง สิ่งที่เราคิดตอนนั้นมีอย่างเดียวเลยคือ เราจะต้องแก้ตัวและพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าเราทำหนังแบบอื่นที่คนทั่วไปดูรู้เรื่องได้ มันก็เลยกลายมาเป็นหนังห้าแพร่งตอน ‘หลาวชะโอน’ ซึ่งหลาย ๆ คนก็ดูจะชอบมัน แต่เขาก็ผิดคาด ไม่คิดว่าเราจะสามารถทำหนังสไตล์นี้ออกมาได้ คนดูหลายคนก็ไม่นึกว่าผู้กำกับยันต์สั่งตายกับหลาวชะโอนจะเป็นคนเดียวกันด้วยซ้ำ”

ความขัดแย้งของผีและวิทยาศาสตร์ใน Ghost Lab

“ไม่ว่าจะเป็นจากที่ผ่านมาหรือปัจจุบัน เราว่าหนังผีของเราจะค่อนข้างแตกต่างจากหนังผีทั่วไป แม้แต่สไตล์หนังผีที่ประสบความสำเร็จของ GDH เองเราก็ไม่อยากไปซ้ำแนวทางกับเขา พอมาถึงหนังเรื่องล่าสุดอย่าง Ghost Lab เราก็ยังมีความคิดแบบนี้อยู่ บวกกับการที่เราชอบตั้งคำถามกับเรื่องโลกหลังความตาย สวรรค์ นรกมานานแล้ว เราสงสัยว่าทำไมมันถึงไม่มีการพิสูจน์ที่สมเหตุสมผลเลย มีแต่คำบอกเล่าจากความเชื่อ โดยส่วนตัว เรามองว่าเรื่องโลกหลังความตายมันน่าเชื่อถือน้อยกว่าเรื่องมนุษย์ต่างดาวเสียอีก

พล็อตของ Ghost Lab มันเริ่มต้นมาจากแนวคิดตรงนี้แหละ ตอนนั้น GTH พาคนในบริษัทไปเวิร์คช็อปกัน โดยเขามีโจทย์ว่าให้ลองคิดพล็อตหนังคู่หูที่มีซันนี่ (สุวรรณเมธานนท์) และเต๋อ (ฉันทวิชช์ ธนะเสวี) เป็นดารานำ เราได้จับคู่ทำร่วมกับเต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) ซึ่งก็เคยเขียนบทหนังรัก 7 ปี ดี 7 หนมาด้วยกัน จริง ๆ แนวทางการทำหนังของเราสองคนก็แตกต่างกันมาก พอได้มาทำงานคู่กัน เราก็เกิดไอเดียที่ว่า ถ้าเราทำหนังผีเกี่ยวกับคนที่ไม่กลัวผีเลยมันจะเป็นยังไง ในทางกลับกัน ตัวละครนี้กลับอยากรู้และพิสูจน์มันอย่างมีเหตุมีผลด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ก็เลยเกิดเป็น Ghost Lab ที่เป็นเรื่องราวของหมอกล้าและหมอวี หมอ 2 คนที่สงสัยและอยากพิสูจน์เกี่ยวกับเรื่องโลกหลังความตาย ซึ่งปกติตัวละครหมอจะเป็นสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกับหนังผีมาก ๆ เพราะเขาจะไม่เชื่อในเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้และจะมองทุกอย่างในมุมของเหตุและผลหมด แล้วถ้าวันหนึ่งคนแบบนี้ต้องมาเจอผีจะเป็นยังไง ในหนังของเรามันก็จะมีการโต้แย้งกันระหว่างความเป็นวิทยาศาตร์และไสยศาสตร์ตลอด ผ่านมุมมองของตัวละครสองตัวที่มองเรื่องโลกหลังความตายต่างกัน”

ไม่ได้มาเพื่อหักล้าง แต่มาเชื่อมโยงโลกสองใบเข้าด้วยกัน

“พอเราได้ไอเดียตั้งต้นมาจากเวิร์คช็อปวันนั้น เราก็ต้องไปทำงานอื่นก่อน ก็ได้แต่เก็บโปรเจกต์นี้ไว้ในลิ้นชัก แต่พอเวลามันผ่านมาเกือบ 10 ปี สังคมเริ่มตั้งคำถามกับความเชื่อเดิม ๆ ที่เคยมีมานานมากขึ้น เราเลยเอาโปรเจ็คนี้ออกมาปัดฝุ่นใหม่และพัฒนาบทต่อ ซึ่งเรามองว่าตอนนี้เป็นช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้วที่จะนำเสนอประเด็นนี้ ถ้าเราทำหนังเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน ประเด็นหลาย ๆ อย่างอาจจะไม่สามารถถ่ายทอดและเชื่อมโยงกับคนดูได้เท่านี้ บริบทของสังคมและเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้เราสามารถเล่าประเด็นหลาย ๆ อย่างในหนังได้ ทำให้บทมันสมเหตุสมผลมากขึ้นได้ แต่ตอนเขียนบทมันก็มีความไม่มั่นใจเหมือนกันว่าเราจะสามารถนำเสนอประเด็นบางอย่างในหนังได้ไหม เพราะด้วยพื้นฐานแล้ว คนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าผีมีจริง เราไม่แน่ใจว่าการนำเสนอของเราจะถูกมองว่าเป็นการหักล้างความเชื่อตรงนั้นรึเปล่า ซึ่งการจะเซ็ทโลกใบใหม่และทำบทหนังให้คนดูเชื่อและคล้อยตามกับเราเป็นความท้าทายที่สุดในการทำหนังเรื่องนี้ แต่สุดท้ายแล้ว เราพบว่า ในฐานะคนทำ เราไม่จำเป็นจะต้องไปหักล้างความเชื่อตรงนั้นของเขาก็ได้ เราเพียงแต่มีหน้าที่เชื่อมโยงโลกสองใบนี้เข้าด้วยกันก็พอแล้ว เราไม่ได้มีหน้าที่ไปตอบคำถามตรงนั้น เพราะมันตอบไม่ได้แน่ ๆ”

การมาถึงของคู่หูพิสูจน์ผี

“ตอนแรกเราแคสต์นักแสดงที่จะมาเล่นบทนำเยอะมาก เราเคยเกือบจะเอาโจทย์ตอนเวิร์คช็อปครั้งแรกอย่างซันนี่และเต๋อกลับมาเล่นด้วย แต่สองคนนี้มันแก่เกินไปแล้ว (หัวเราะ) เราคิดว่าตัวละครที่ยังหมกมุ่นกับการพิสูจน์เรื่องผีมันไม่น่าอายุเกิน 30 ปี ถ้าเกินจากนี้คงไม่มานั่งตั้งคำถามอะไรพวกนี้แล้ว พอเราลองมองอีกทีก็เห็นว่า ต่อ (ธนภพ ลีรัตนขจร) กับไอซ์ (พาริส อินทรโกมาลย์สุต) น่าจะเหมาะกับบทนี้ แล้วด้วยความที่เป็นมันหนังคู่หู ต่อกับไอซ์เองเขาก็สนิทกัน ทำให้เคมีมันดี ทำงานด้วยกันง่าย ซึ่งต่อเองเขาก็เป็นคนที่มีฝีมือในการแสดงและชอบรับบทบาทที่ได้ท้าทายตัวเองอยู่แล้ว ตอนมาแคสต์บทหมอวี เขาก็เล่นดีเหมือนจองบทนี้ไม่ให้ใครได้ไปแล้ว ส่วนไอซ์นี่จริง ๆ เขาไม่เคยเล่นหนังใหญ่มาก่อน เคยเล่นแต่ซีรีส์บทวัยรุ่นมาโดยตลอด เขาก็ต้องปรับตัวเยอะ ทั้งรูปลักษณ์ หน้า ผม น้ำหนัก เพื่อเปลี่ยนจากคนอายุ 23 ปีมาเป็นคนอายุ 28 ปีให้ได้ ซึ่งก็เป็นงานหนักของเขาอยู่เหมือนกัน”

ภาพยนตร์ที่เกิดจากความร่วมมือของคนรุ่นใหม่ไฟแรง

“ด้วยคอนเซ็ปต์ของหนังเรื่องนี้ที่นำสองสิ่งที่ไม่เข้ากันอย่างผีกับวิทยาศาาตร์มารวมกัน เราเลยใช้ตรงนี้มาเป็นไอเดียในการสร้างหนังทั้งเรื่องเลย ตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนถึงโปรดักชั่นดีไซน์ สีโทนเย็นหรือวัสดุมันวาวอย่างเหล็กจะเป็นตัวแทนของวิทยาศาสตร์ สีโทนอุ่นหรือวัสดุธรรมชาติอย่างไม้จะเป็นตัวแทนของความเชื่อ กล้องที่ใช้ถ่ายเป็นกล้องดิจิตัล แต่กลับใช้ร่วมกับเลนส์โบราณ เพื่อให้ภาพที่ออกมามีความไม่ชัดเจนคมกริบ ให้ความรู้สึกคลุมเครือ หรือแม้กระทั่งเพลงประกอบก็ตาม เราเอาดนตรีสองประเภทมารวมกัน คือเพลงบรรเลงออร์เคสตราซึ่งเป็นตัวแทนของความเชื่อแบบเก่า และดนตรีซินธิไซเซอร์ซึ่งเป็นตัวแทนของความเชื่อแบบใหม่ เพื่อสร้างบรรยากาศของความขัดแย้งในหนัง

ซึ่งเราโชคดีมาก ๆ ที่ได้คนรุ่นใหม่ที่มีความสารถมาร่วมงานเยอะมาก อย่างผู้กำกับภาพเราก็ได้ ‘ปั๊บ (ภิไธย สมิตสุต)’ มาช่วยถ่ายให้ ซึ่งเขาเคยถ่ายหนังอย่าง ‘แสงกระสือ’ และ ‘Da 5 Bloods’ ของสไปค์ ลี (Spike Lee) มาก่อน ตอนนี้ก็กำลังถ่ายกล้อง 2 ให้หนังของมาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) อยู่ที่อเมริกาด้วย ส่วนเพลงประกอบ เราได้ ‘บิล (ปิยทัศน์ เหมสถาปัตย์)’ ที่เป็นคนไทยที่ทำดนตรีในแผนก Music Department ให้บริษัท PlayStation ที่อเมริกา เคยทำดนตรีให้เกมอย่าง God of War, Ghost of Tsushima และ Demon's Souls ซึ่งเป็นเกมดัง ๆ ที่เราเล่นทั้งนั้น นอกจากนั้น บิลยังเป็นคนแนะนำดีแลน (Dylan C. Jones) นักทำเพลงประกอบตัวอย่างหนังให้มาร่วมงานกับเราในครั้งนี้ด้วย ซึ่งจริง ๆ มันก็เป็นความรู้ใหม่ของเราเหมือนกันว่าในฮอลลีวูด เวลาทำเพลงประกอบตัวอย่างหนัง เขาจะใช้ทีมแยกจากทีมของหนังหลัก เพราะสองสิ่งนี้มันจะมีศาสตร์วิธีคิดและการสร้างอารมณ์ร่วมที่ไม่เหมือนกันไม่เหมือนกัน อย่างตัวดีแลนเองเขาก็เป็นมืออาชีพที่เคยทำเพลงประกอบตัวอย่างหนังของ ‘Star Wars’, ‘Aquaman’ และ ‘Soul’ ซึ่งเป็นหนังที่เราชอบหมดเลย การได้ร่วมงานกับคนที่ทำงานในระดับนานาชาติทำให้เราได้เอาประสบการณ์ของเขามาช่วยยกระดับให้หนังของเรามันไปได้ไกลขึ้นด้วย ซึ่งเราก็มีความสุขมากที่ได้ร่วมงานกับคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถขนาดนี้”

กว่าจะมาเป็นภาพยนตร์ Netflix Original เรื่องแรกของ GDH

“จริง ๆ ทาง GDH กับ Netflix ก็เป็นพาร์ทเนอร์กันมานานแล้ว หนังไทยของ GDH เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มของเขามาตลอด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการคุยเรื่องคอนเทนต์ Netflix Original ร่วมกันมาสักพักแล้วแต่แค่มันยังไม่สบโอกาสเหมาะ ๆ สักที ในระหว่างการถ่ายทํา Ghost Lab ทาง Netflix เขาได้เข้ามาเห็นก็รู้สึกว่ามันสามารถเป็น Netflix Original ได้ด้วยเงื่อนไขหลาย ๆ อย่างที่ลงตัวพอดี โดยนอกจากทาง Netflix จะสนใจซื้อหนังเรื่องนี้ไปฉายในแพลตฟอร์มของเขาแล้ว เขาก็ยังมีความตั้งใจที่พามันไปสู่ระดับโลกด้วย ไม่ได้ฉายแค่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบบที่ผ่านมาแล้ว ครั้งนี้สิ่งที่พิเศษมาก ๆ เลยคือนอกจากเขาจะทําซับไตเติลทุกภาษาแล้ว เขายังจะทําเสียงพากย์ในหลากหลายภาษาด้วย”
.

คนทำหนังจะปรับตัวยังไงในวันที่พฤติกรรมผู้ชมเปลี่ยนไป

“ถึงแม้มันจะไม่ได้ฉายในโรงหนัง แต่ในฐานะผู้กํากับ สุดท้ายแล้วการที่คนได้ดูหนังเราเยอะขึ้นมันคือรางวัลที่เราต้องการที่สุดแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็มีคนถามเรามาเยอะเหมือนกันว่าการที่เราทําภาพยนตร์สเกลใหญ่ขนาดนี้เสียใจไหมที่มันจะไม่ได้ถูกฉายในโรงหนัง สําหรับเรามองว่าไม่ได้เสียใจแค่เสียดายนิดหน่อยมากกว่าที่จะไม่ได้เห็นบรรยากาศแบบที่คุ้นเคย แต่ในปัจจุบันโลกมันเปลี่ยน พฤติกรรมคนดูก็เปลี่ยนตาม ดังนั้น ไม่ว่ามันจะผ่านสื่อกลางแบบไหนก็ไม่สําคัญแล้ว สําหรับเราขอแค่หนังของเราได้ไปอยู่ในที่ ๆ เหมาะสมกับมันที่สุดและมีคนดูที่พร้อมจะรับชมก็พอ

แต่ถึงจะเป็นการฉายผ่านแพลตฟอร์มของ Netflix จริง ๆ กระบวนการทําหนังขอเราก็ไม่ได้แตกต่างไปจากตอนที่เราทําหนังใหญ่ในโรงเลย เรายังคงมิกซ์เสียงเป็นแบบรอบทิศทาง 5.1 เหมือนเดิม และที่ยิ่งพิเศษไปกว่าครั้งไหน ๆ คือเราทําหนังเรื่องนี้ในระบบ Dolby Vision ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดของทาง Netflix และยังไม่เคยมีหนังไทยเรื่องไหนทํามาก่อน โดยระบบ Dolby Vision ที่ว่าก็คือการทําภาพแบบ HDR (High Dynamic Range) ที่จะทําให้สีแสงในหนังออกมาสวยอิ่มมากขึ้น สีดําก็จะเห็นเข้มสุด ยิ่งถ้าบ้านใครมีโทรทัศน์ที่เป็นระบบ 4K หรือ Full HD ที่รับรอง Dolby Vision ด้วย ก็จะยิ่งได้รับประสบการณ์ของงานภาพแบบสมบูรณ์สูงสุดเลย แต่ถ้าบ้านใครไม่มีก็ยังสามารถดูในแบบธรรมดาได้ เพียงแต่อาจจะไม่เห็นสีแสงจัดเต็มเท่าแค่นั้นเอง ซึ่งจริง ๆ แล้วแม้แต่โรงหนังในประเทศไทยเอง ตอนนี้ก็ยังไม่มีที่ไหนสามารถรองรับระบบนี้ได้เลย”

เพราะไม่ใช่แค่ดูจบ แต่ยังสนุกที่ได้ตีความต่อ

“นอกจากความบันเทิงที่เราอยากให้คนดูแล้ว มันก็ยังมีกิมมิคหรือ Easter Egg อีกมากมายที่เราแอบใส่ไว้ในหนัง ในฐานะผู้กำกับ เราก็อยากเห็นการตีความจากคนดูในหลาย ๆ แง่มุม เพราะ Ghost Lab มันไม่ใช่หนังผีแบบขนบที่คุ้นชินกันมาเลย มันเป็นหนังผีรสชาติใหม่ที่มีจุดหักมุมอยู่หลายจุด อยากให้ทุกคนดูจบแล้วรู้สึกว่า เราพาเขามาถึงจุดนี้ได้ยังไง”

ดูตัวอย่างภาพยนตร์ Ghost Lab ได้ที่นี่: