1.jpeg

กฤติยา กาวีวงศ์, ผอ. The Jim Thompson Art Center ผู้ผลักดันวงการศิลปะมาตลอด 30 ปี

Post on 21 March

จะ ‘พี่เจี๊ยบ’ หรือ ‘อ.เจี๊ยบ’ ก็แล้วแต่ แต่เราเชื่อว่าในวงการศิลปะไทยร่วมสมัย ทุกคนต่างรู้จัก ‘เจี๊ยบ–กฤติยา กาวีวงศ์’ เป็นอย่างดี

จะเป็นบทบาทในปัจจุบันอย่างผู้อำนวยการ The Jim Thompson Art Center ไปจนถึงบทบาทในอดีตอย่างผู้ก่อตั้ง Project 304 พื้นที่ศิลปะทางเลือกในยุค 90s เจี๊ยบถือเป็นหนึ่งในกำลังหลักที่คอยผลักดันวงการศิลปะไทยร่วมสมัย และเป็นคนที่มองเห็นความเป็นไปของวงการเรื่อยมา ตั้งแต่การเคลื่อนไหวของศิลปินไปจนถึงพื้นที่ศิลปะ

และเนื่องในโอกาสที่ The Jim Thompson Art Center เปิดตึกใหม่เมื่อเดือนก่อน GroundControl จึงเดินทางไปสนทนากับเจี๊ยบถึงวาระดังกล่าว แต่ไหนๆ คุยกันทั้งที เราจึงพาเธอย้อนกลับและถอยกลับไปมองภาพรวมที่กว้างกว่านั้น ว่าในอดีตและปัจจุบัน ศิลปะไทยร่วมสมัยมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง มีอะไรที่เป็นปัญหาไหม และทำไมชีวิตของเเธอถึงอยู่ในเส้นทางนี้มาโดยตลอด

ตีตั๋วขึ้นยาน ท่องไปในจักรวาลของเจี๊ยบพร้อมกันผ่านบทความ

จากเชียงใหม่ ถึงแกลเลอรี

 

“เราเป็นเด็กเชียงใหม่ โตมาในบ้านที่พี่ๆ เรียนศิลปะ มีพี่สาวเรียนออกแบบ พี่ชายเรียนศิลปกรรม ทำให้ในบ้านมีโปสเตอร์หนังหรือรูปเขียนติดอยู่เต็มไปหมด ยิ่งช่วงประถมเราได้ฟังครูประวัติศาสตร์เล่าว่าอาชีพภัณฑารักษ์คืออะไร ฟังแล้วเราก็ยิ่งสนใจศิลปะมากขึ้น รู้ตัวอีกทีการทำงานในวงการศิลปะก็กลายเป็นความฝันไปแล้ว

“แต่ทีนี้พอเข้าสู่ช่วงมัธยมฯ ด้วยความที่เราก็ชอบภาษา มันเลยมีจุดที่ต้องเลือกในการเรียนต่อ ซึ่งสุดท้ายเราเลือกเข้าเรียนสายศิลป์-ภาษาเยอรมันแทน แต่ระหว่างทางในการเรียน ความอยากเข้าไปทำงานในวงการศิลปะยังคงมีอยู่เต็มเปี่ยม ส่งผลให้พอเรียนจบ พอได้ข่าวว่ามีแกลเลอรีกำลังเปิดใหม่ที่กรุงเทพแล้วเขาอยากได้คนที่พูดภาษาอังกฤษได้และสนใจศิลปะ เราเลยสมัครเข้ามาทำงานอย่างไม่ลังเล

“ตอนนั้นคือปี 1991 เป็นช่วงที่ประเทศไทยบูมมาก มีเด็กรุ่นใหม่หลายคนที่ร่ำรวยจากตลาดหุ้น ประจวบเหมาะกับค่านิยมที่ว่าใครรวยต้องซื้อและสะสมงานศิลปะเข้ามาพอดี จากงานที่ทำเลยทำให้เราได้สัมผัสกับเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งมันส่งผลให้เราเริ่มตั้งคำถามกับงานและความเป็น Object ของศิลปะในที่สุด และความสงสัยที่อยู่ในใจนี้ก็ตกค้างจนเราได้ไปเดินเล่นในมิวเซียมที่ออสเตรเลีย ด้วยบรรยากาศรอบตัวมันทำให้เราตอบสิ่งที่ตัวเองคิดได้ว่า 'งั้นอาจต้องเป็นที่แบบนี้แหละ ที่ฉันอยากทำงานด้วย'

"ตอนนั้นเองที่อาชีพภัณฑารักษ์กลับเข้ามาในหัว แต่ด้วยความที่ไม่ได้เรียนมา เราเลยต้องหาที่เรียนต่อ จนไปเจอว่าที่ชิคาโกมีการเรียนในสาขา Art Administration ที่เน้นการจัดการ non-profit organization หรือมิวเซียมเป็นหลักอยู่

“อ้าว ก็ไปเรียนสิคะ รออะไรล่ะ (ยิ้ม)”

จากชิคาโก ถึง Project 304

 

“เราเรียน Art Administration อยู่ 2 ปี ลงเรียนเกินกว่าที่เขากำหนดด้วย (หัวเราะ) แต่ทีนี้ช่วงทำธีสิส เราเลือกศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ในการเปิด non-profit organization เกี่ยวกับศิลปะในไทย เราได้สัมภาษณ์องค์กรที่เคยทำ Alternative Space มาก่อน ได้ศึกษาว่าทำยังไงถึงอยู่ได้ จนได้เห็นว่าแท้จริงแล้วช่วงยุค 60s ศิลปะและพื้นที่ศิลปะในไทยเบ่งบานมาก ทั้งหมดนั้นทำให้เราเห็นความเป็นไปได้จนอยากทำพื้นที่แบบนั้นบ้าง พอกลับไทยเรากับเพื่อนๆ เลยเปิด Alternative Space ชื่อว่า Project 304 ขึ้นมา

“Project 304 คืออพาร์ตเมนต์เก่าเราเอง แต่ด้วยความที่ห้องมันใหญ่มาก ขนาดสิบกว่าตร.ม. เราเลยมองว่าที่นี่น่าจะเป็นพื้นที่ที่ดี เรากับเพื่อนๆ จึงสร้างมันขึ้นมาเพื่อให้เป็นที่ปล่อยของ โดยตั้งใจว่าจะให้พื้นที่กับคนไทยที่เป็นเด็กหรือวัยรุ่นโดยเฉพาะ ซึ่งพอเปิดจริงคนที่ได้แสดงก็ตรงตามที่หวังไว้นะ เด็กปี 1 ปี 2 ได้มาแสดงงานคือเรื่องปกติ รวมถึงการจัดเทศกาลหนังทดลองด้วย

“เรารู้จักเจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ครั้งแรกช่วงที่เรียนไปชิคาโก ดังนั้นพอมาทำ Project 304 เราเลยลองให้เจ้ยจัดโปรแกรมฉายหนังครั้งแรกของตัวเอง เจ้ยก็ทำโปรแกรมชื่อว่า ‘Kick The Machine’ (ชื่อบริษัทของเจ้ยในปัจจุบัน) ขึ้นมา ครั้งนั้นก็มีทั้งเต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) ที่เป็นเด็กมัธยมมาดู รวมถึงเด็กประถมอย่างเข้ (จุฬญาณนนท์ ศิริผล) ที่มากับแม่ ก็เป็นเรื่องที่ดีใจที่อะไรเหล่านี้มันส่งต่อ แม้งานหนังทดลองนั้นจะมีคนมาไม่ถึง 10 คนก็ตาม

“(นิ่งคิด) จำได้ว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งระหว่างทำ Project 304 เราแทบไม่มีเงินเลย แม่เราก็โทรมาถามว่า ‘เมื่อไหร่จะกลับบ้าน ทำงานแล้วทำไมไม่ได้เงิน’ เราก็นั่งมองหน้ากับเพื่อนแล้วตั้งคำถามนะ ว่านี่เราทำอะไรกันอยู่วะ บางงานเปิดมาไม่มีคน บางวันคนมา 2-3 คนคือแทบกราบแทบเท้า ทำให้บางช่วงเราก็หลงทางว่านี่ฉันทำไปทำไม ทำเพื่ออะไร เราถึงกับเคยเขียนหาเจ้ยว่า “I don’t know how to spell the word ‘Happiness’” คือมันเป็นช่วงที่เหนื่อยและต้องต่อสู้อย่างมาก

“แต่จะเห็นว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราทำกับ Project 304 มันไม่ใช่ Art for All มันเกิดขึ้นเพราะความเฉพาะเจาะจงตั้งแต่แรก คือเราเอาแค่ศิลปินและชุมชนศิลปะเป็นตัวตั้ง ฉันอยากอยู่เพื่อพวกเธอ ฉันอยู่เพื่อให้พวกเธอมีพื้นที่ปล่อยของ และถ้าสิ่งที่ทำสามารถอิมแพ็กกับชีวิตใครสักคนได้ หรือทำให้คนรู้ว่าโลกนี้ยังมีทางเลือก (Alternative Choice) สำหรับเรามันคุ้มค่าแล้ว นั่นเลยเป็นเหตุผลที่สุดท้ายเรากัดฟันลุยต่อและทำงานแนวนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ที่แม้จะไม่มีพื้นที่ Project 304 แล้ว แต่เราก็ยังเก็บชื่อ Project 304 ไว้อยู่เพื่อจัดเทศกาลหนังทดลองต่อไป”

จากบ้านไทย ถึง The Jim Thompson Art Center

 

“จริงๆ หอศิลป์บ้าน Jim Thompson เปิดมาตั้งแต่ปี 2003 แล้วแต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ เพราะที่นี่อยู่ภายใต้ร่มเงาของมูลนิธิและบ้านไทยมาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ Art Center เป็นติ่งนิดเดียวที่ต้องขึ้นชั้นสองไปดู เลยมีแค่คนสายศิลปะฮาร์ดคอร์หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่รู้จัก ทำให้พอถึงจุดหนึ่งที่เราอยากทำตึกใหม่ เราจึงอยากปรับให้ที่นี่สื่อสารกับคนมากขึ้น

“จะเห็นว่าด้วยความตั้งใจ มันต่างกับตอนทำ Project 304 มากเอาการ ในอดีตเราอยากสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายที่เล็กและเฉพาะเจาจง เพราะเราในตอนนั้นไม่เคยคิดเลยว่าสามารถพาศิลปะไปหาคนวงกว้างได้ แต่กับตอนนี้นั้นต่างไปแล้ว เราเหมือนนางงาม รักทุกคนค่ะ (หัวเราะ) คือเราต้องการมิวเซียมที่ครอบคลุม เราอยากรวมทุกคนเข้าด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ส่งผลให้ที่นี่มีทั้งส่วนแสดงงานศิลปะ ห้องสมุด ร้านขายของ ไปจนถึงร้านกาแฟเพื่อให้คนมานั่งสังสรรค์ หรือนั่งทบทวนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

“เอาจริงสิ่งนี้เป็นเทรนด์ของมิวเซียมทั่วโลกนะ คือการออกแบบให้พื้นที่ไม่ให้คนมาดูงานอย่างเดียว เพราะถ้าเป็นแบบนั้นเขาก็จะมาแค่หนึ่งครั้ง แต่ถ้ามาทานกาแฟหรืออ่านหนังสือ เขาสามารถมาได้หลายรอบ ที่นี่จะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน คิดอะไรไม่ออกก็มา ซึ่งปัจจุบัน The Jim Thompson Art Center ก็เริ่มทำแบบนั้นได้ ตึกสามารถดึงคนมาได้เยอะมาก ทั้งวัยรุ่น นักศึกษา ผู้ใหญ่ ไปจนถึงคนที่เราไม่คิดว่าจะมา ตอนนี้เราเลยดีใจมาก และตั้งใจว่าในอนาคตจะขยายให้ไปไกลกว่าเดิมด้วย

“เราว่าสิ่งนี้สอดคล้องกับหลายๆ พื้นที่ศิลปะในปัจจุบัน มันมีความเปิดมากขึ้นทั้งในแง่การทำงานกับศิลปินและประชาชน ต่างกับเมื่อก่อนที่เราขาด Ecosystem คือมีศิลปินดีๆ เยอะแต่ขาดพื้นที่ สถานการณ์ตอนนี้มันไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว ทุกคนกำลังแข็งแรงขึ้น แนวคิดก็ตรงกันว่าเราควรไปในทิศทางไหน

“ดังนั้นสิ่งที่เรามองว่ายังขาด มันคือการนโยบายที่ดีมากกว่า”

จากศิลปะ ถึงนโยบายที่ดี

 

“มีหลายคนถามเรานะ ว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้ได้นโยบายศิลปะที่ดี แต่ในความเป็นจริงคือสิ่งนี้เป็นหน้าที่ของส่วนกลาง ดังนั้นถ้าให้ตอบในมุมตัวเอง เราว่าสิ่งแรกที่ทำได้เลยคือจุดธูปจุดเทียนให้เขาฟังเรา (หัวเราะ) ส่วนอย่างที่สองคือต้องเตรียมความพร้อม เราต้องรู้ว่าปัจจุบันวงการยังขาดและต้องการอะไรบ้างจากนโยบาย

“เราพูดมาตลอดว่าบ้านเราควรมี Art Council หรือสำนักร่วมสมัยเพื่อซัพพอร์ตศิลปินอย่างเหมาะสม เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้คือการซัพพอร์ตจากกระทรวงวัฒนธรรมที่ในความหมายของข้าราชการคือการใส่ชฎาอย่างเดียว ซึ่งในการทำงานแบบร่วมสมัยนี่ไม่ใช่สิ่งที่ควรเป็น คือคุณอนุรักษ์อดีตได้ แต่ต้องมีพื้นที่สร้างงานให้ปัจจุบันด้วย เพื่อในอนาคตเราจะได้มีงานให้อนุรักษ์ไง ไม่งั้นจะเอาอะไรมาให้อนุรักษ์ล่ะ

“แต่โอเค ถ้าพูดให้แฟร์คือในปัจจุบันการปรับก็มีมากขึ้น แต่กลายเป็นว่าปัญหาที่เราเจอตอนนี้คือการคนที่คนออกนโยบายไม่รู้หน้าที่ว่าตัวเองเป็นแค่คนออกนโยบาย เขาดันมาเป็นโปรดิวเซอร์ที่ทำหลายอย่างเองหรือจ้างบริษัทออแกไนซ์ที่ไม่รู้วิธีการทำ ทั้งหมดเลยส่งผลให้วงการไม่โตอย่างที่ควรสักที เพราะคนที่เขาถนัดเรื่องนี้จริงๆ อย่างคิวเรเตอร์ มิวเซียมหรือสถาบันการศึกษากลับไม่ได้มีส่วนร่วม มันรวนไปหมด

“ทีนี้ทางแก้ที่ดีคืออะไร อย่างแรกคือเราว่าคุณต้องปรับความคิดและนโยบายส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้เลย เช่น ทำให้การบริจาคเงินให้กับองค์กรศิลปะสามารถหักภาษีได้สิ หรือเอาเงินต่างๆ นานาที่คุณได้มาให้ทุนกับศิลปินอย่างโปร่งใสสิ ไม่ใช่แบบตอนนี้ที่ประกาศให้ส่งภายใน 15 วัน อย่างนั้นใครจะไปรู้ นี่ยังไม่พูดถึงการรับทุนมาแล้วต้องเอาใจอุดมการณ์ของรัฐอีกนะ คือถ้าไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกแล้วจะทำไปทำแป๊ะอะไร ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่เราควรจะต้องได้น่ะ

“ดังนั้นคำถามต่อมาคือแล้วถ้าในระหว่างนี้เราไม่ได้เงินจากรัฐอย่างที่ควรเป็น เราจะทำอย่างไร โดยส่วนตัวเราว่ามันอาจมีอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถทำได้ นั่นคือโมเดลเหมือนจาการ์ตาและตุรกี ที่นั่นเอกชนจะเข้ามาลงขันเอง อย่างที่ตุรกีจะมีโครงการชื่อว่า SAHA ที่เอกชนออกเงินให้บุคคลากรภายนอกเข้ามาศึกษาศิลปะหรือศิลปินในประเทศ รวมถึงสมทบทุนให้ศิลปินตุรกีเองได้ไปแสดงงานเมืองนอกโดยไม่ง้อรัฐ ดังนั้นในระหว่างที่รัฐเป็นอย่างนี้ นี่ก็อาจเป็นทางหนึ่งให้เราได้ไปต่อ เพราะเรามองว่ามันรอไม่ได้ เราต้องไปข้างหน้ากันได้แล้ว”

จากปัจจุบัน ถึงอนาคต

 

“ถ้าให้สรุปถึงวงการศิลปะไทยในปัจจุบัน โดยมุมมองส่วนตัวเราคิดว่ายังคงแห้งแล้งอยู่ เพราะ Ecosystem ของบ้านเรายังไม่สมบูรณ์อย่างแท้จริง แต่เราว่าอีกไม่นานหรอก เพราะคนเริ่มตระหนักรู้ถึงความสำคัญของศิลปะมากขึ้นแล้ว

“ด้วยความที่ประเทศเป็นอย่างนี้ในตอนนี้ มันยิ่งเร่งให้คนตระหนักมากขึ้นว่าศิลปะอาจเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราสามารถยึดถือมันไว้ได้ เพราะในสถานการณ์ที่ประชาชนโดนกดไม่ให้แม้แต่จะคิด พื้นที่แบบนี้นี่แหละที่สามารถปลดปล่อยความถูกกดทับ ศิลปะคือพื้นที่สุดท้ายแล้วท่ีมนุษย์จะยืนหยัดในความเป็นปัจเจกที่มีจินตนาการ เราถึงเคยให้สัมภาษณ์ในหลายๆ ครั้งไงว่าการที่งานศิลปะร่วมสมัยในประเทศนี้ไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือก็อาจเป็นเพราะเรื่องนี้มั้ง เขาไม่อยากให้คนมโน

“แต่บางคนก็อาจบอกนะ ว่าทำไมยังต้องมาชื่นชมศิลปะกันอยู่อีก ทั้งที่ประเทศเรากำลังเจอปัญหาทางด้านการเงินและติดกับดักรายได้ปานกลางขนาดนี้ ทำไมยังต้องให้ความสำคัญกับศิลปะอยู่ กับประเด็นนี้เราก็อยากบอกว่าก็ถ้าคุณอยากปรับให้ประเทศนี้เป็นประเทศรายได้สูง คุณยิ่งต้องซัพพอร์ตศิลปะเลยล่ะ เพราะในความเป็นจริงคือ We have nothing to sell. เราไม่มีอะไรจะขายแล้วค่ะ

“ลองนึกภาพตามก็ได้ ตอนนี้เศรษฐกินบ้านเราไม่สามารถดึงดูดประเทศอื่นให้เข้ามาลงทุนได้อีกต่อไป การท่องเที่ยวก็พังไปเพราะโควิด ดังนั้นต่อจากนี้เราจะขายอะไร ตรงนี้แหละที่ศิลปะและวัฒนธรรมจะเข้ามาเป็นทางออก เพราะถ้าคุณให้ค่ากับศิลปะและวัฒนธรรมมากพอ เม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากตรงนี้นั้นไม่ใช่ถูกๆ เราเชื่อว่าประเทศสามารถหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางเพราะศิลปะได้แน่ๆ

“โอเค จริงอยู่ที่นี่เป็นเกมยาว แต่เชื่อเถอะว่าศิลปะสามารถพาเราไปไกลกว่ากะลาได้จริงๆ นะ”

 

 

 

ภาพถ่ายโดย : ก้อง พันธุมจินดา