ถ้านับวันเวลาตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน พื้นที่ศิลปะทางเลือกอย่าง Speedy Grandma ดำเนินงานมาครบสิบปีแล้ว
จากวันแรกท่ี ‘ลี–อัญชลี อนันตวัฒน์’ และผองเพื่อนเริ่มต้นสถานที่โคตรเท่แห่งนี้ในตึกห้องแถว คุณยายสปีดต้อนรับศิลปินให้ได้ปลดปล่อยตัวตนและสร้างงานเรื่อยมา แม้ปัจจุบัน Speedy Grandma จะย้ายเข้ามาสู่ตึกใหม่และไม่ได้มีพื้นที่เท่าเดิม แต่ลีก็ยังคงผลักดันศิลปะตามแนวทางของตัวเอง
และเนื่องในโอกาสวาระ 10 ปีนี้ GroundControl จึงเดินทางไปสนทนากับลีถึงเรื่องราวตลอดรอยทางที่ผ่านมา แต่ไหนๆ คุยกันทั้งที เราจึงพาเธอไปไกลถึงภาพรวมที่กว้างกว่านั้น ว่าในมุมของลีการทำพื้นที่ศิลปะในประเทศนี้มันเป็นไปได้มาก-น้อยแค่ไหน และความห่วยแตกที่ผ่านมาของรัฐนั้นส่งผลเสียอย่างไรบ้าง
ตีตั๋วขึ้นยานท่องไปในจักรวาลพื้นที่ศิลปะไทยพร้อมกันเลย
คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าตอนเด็กตัวเองเรียนเก่ง อยากเป็นหมอ แล้วทำไมถึงเปลี่ยนมาทางศิลปะ
(หัวเราะ) คือตอนเด็กเราเรียนดี ได้เกรดสี่หมด เลยคิดไปเองว่าเรียนเก่งขนาดนี้งั้นต้องเป็นหมอแล้ว ได้ช่วยคนด้วย แต่ฝันเรามาสลายตอนเข้าเรียนต่อม.ปลายที่รร.เตรียมอุดม เพราะที่นั่นเรียนยากเหี้ยๆ แม่งบ้าคลั่ง ตกแม่งทุกวิชา เลยมาคิดกับตัวเองต่อว่างั้นอยากทำอะไร ชอบอะไร ก็ได้คำตอบว่าชอบหนัง แต่ด้วยความเข้าใจผิดว่าถ้าเป็นเด็กฟิล์มต้องซื้อกล้องถ่ายหนังเอง เราเลยเบนเข็มไปทางการออกแบบโปสเตอร์ สุดท้ายก็จบที่การเรียนกราฟิกดีไซน์ ซึ่งถือเป็นความโชคดีนะ เพราะนั่นเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตแรกที่เข้ามาเปิดโลกศิลปะ
ทีนี้หลังเรียนจบ พอทำงานไปสักพักก็เริ่มรู้แล้วว่าตัวเองชอบงานภาพประกอบ เราเลยวางแผนเรียงต่อ แต่คิดกับตัวเองว่าภาพประกอบอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องทำให้ขยับได้ด้วย เราจึงเบนเข็มอีกครั้งไปไปเรียนต่อโมชั่นกราฟิกที่ออสเตรเลียแทน เรียนจบก็กลับมาทำงานที่ไทยจนถึงตอนนี้”
ย้อนความให้ฟังหน่อย ว่าช่วงนั้นซีนและพื้นที่ศิลปะในไทยเป็นอย่างไร แล้วพอไปเห็นความแตกต่างที่ออสเตรเลีย มันส่งผลต่อคุณยังไงบ้าง
ช่วงเราเรียนมหาลัยคือปี 2000-2004 ซึ่งถ้าถามถึงพื้นที่ศิลปะในตอนนั้น หนึ่งที่ที่ต้องพูดถึงเลยคือ About Cafe ตรงวงเวียน 22 งานที่เขาจัดแสดงน่าสนใจมาก บวกกับช่วงปีนั้นเป็นยุคที่วงการศิลปะคึกคักสุดๆ เป็นยุครุ่งเรืองของความเป็นอัลเทอร์เนทิฟทุกอย่าง ตั้งแต่ Fat Fest ไปจนถึงเทศกาลหนังสือทำมือที่มาบุญครอง ด้วยความเป็นเด็กอยากรู้อยากเห็นเราเลยไปมาเกือบหมด ยอมรับว่าไม่ได้เข้าใจทุกอย่างหรอก แต่เราชอบความไม่รู้เรื่องนี้ มันดึงดูดให้อยากไปดูอยู่ตลอดเวลา
ทีนี้พอมาเรียนต่อที่ออสเตรเลีย ด้วยความเป็นประเทศโลกที่หนึ่ง พื้นที่ศิลปะทางเลือกของเขาเยอะกว่าเรามาก เพื่อนที่นั่นเลยพาเราไปดูหลายที่ แต่เราก็ยังไม่เข้าใจงานส่วนใหญ่อยู่ดี จนเราถามเพื่อนไปว่า ‘งานศิลปะนี่ต้องดูยังไงนะ ต้องเข้าใจยังไง’ เพื่อนก็ตอบเราว่า ‘ไม่ต้องเข้าใจหรอก แต่ถ้าทำงานศิลปะน่ะ อยากทำอะไรก็ทำเลย’
ไม่รู้ทำไมแต่เราชอบไอเดียตรงนี้ที่เพื่อนตอบมาก งานศิลปะที่ได้ไปดูก็ยิ่งย้ำ มันส่งผลให้พอเรียนจบกลับมา เมื่อได้พื้นที่ที่เหมาะสม เรากับเพื่อนเลยอยากทำแกลลอรี่ดูบ้าง แม้ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องศิลปะร่วมสมัยในไทยแต่ก็อยากทำ ซึ่งนั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของ Speedy Grandma เมื่อปี 2012”
Speedy Grandma ในขวบปีแรกๆ เป็นอย่างไรบ้าง
เราว่ามันดำเนินไปแบบมวยวัด ทำไปด้วยความสนุก ชอบงานคนไหนก็ติดต่อให้มาแสดง อย่างปีแรกนี่แทบเป็นเพื่อนทั้งหมดเลย เหมือนกูมีพื้นที่ มึงอยากทำอะไร ทำ
แต่เอาจริงถ้าพูดถึงความตั้งใจแรกเริ่ม เรากับเพื่อนเคยคุยกันนะ ว่าก็อยากให้พื้นที่และการทำงานดูทางการกว่านี้ แต่มันติดปัญหาตรงไม่มีตังค์ (หัวเราะ) แต่สุดท้ายข้อจำกัดตรงนั้นมันก็นำมาซึ่งข้อดี ความไม่เป็นทางการของสเปซทำให้คนไม่เกร็ง ศิลปินอยากทำอะไรก็กล้าทำ บวกกับเราพยายามทำให้คนที่เข้ามาผ่อนคลายโดยการทำตัวเองให้เมาตลอดเวลาด้วย (หัวเราะ) สุดท้ายเวลาเขาดูงาน เขาก็ข้ามเรื่องความเข้าใจไปสู่การเสพงานภายใต้บรรยากาศแบบนี้ได้น่ะ
ปัจจุบันยังเชื่อในวิธีการนี้อยู่
ใช่ ถึงตอนนี้ก็ 10 ปีแล้ว
แต่ในแง่ของความยั่งยืนล่ะ 10 ปีที่ผ่านมาคุณทำยังไงให้ Speedy Grandma และความเชื่อตรงนี้ยังคงอยู่
ต้องยอมรับว่าถ้าในแง่ของเม็ดเงิน Speedy Grandma ควรปิดไปนานแล้ว แต่ในความเป็นจริงคือมันมีความช่วยเหลือมากกว่าที่เห็น อย่างยุคแรกก็เป็นการหุ้นตังค์กันของสมาชิก ยุคปัจจุบันก็มีผู้สนับสนุนอย่างคุณศักดา เขาเห็นสิ่งที่เราทำมาเลยเข้ามายื่นข้อเสนอจ่ายค่าเช่าห้องแถวให้ อะไรเหล่านี้แหละที่ทำให้รอด เพราะถ้ายึดตามสิ่งที่ทำอย่างเดียว ตลอด 10 ปีมานี้มันไม่ได้กำไรเลย อย่างเราเองก็รอดได้เพราะมี Privilage จากเงินเดือนในการเป็นอาจารย์ด้วยซ้ำ
แปลว่าจริงๆ แล้วไม่ได้ยั่งยืนขนาดนั้น
ในมุมเรานะ ใช่ เพราะที่ผ่านมามีข้อจำกัดเยอะ อย่างมีช่วงหนึ่งที่เราต้องดำเนินงานในสเปซด้วยตัวคนเดียวอยู่ 2-3 ปี มันโดดเดี่ยวและเหนื่อย แค่ทำนิทรรศการก็ไม่ไหวแล้ว ดังนั้นเวลาในการคิดเรื่องหาเงินก็ไม่มีหรอก
แต่ที่พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเราอยากให้คนมาสงสารนะ เราพูดเพื่อให้คนเข้าใจสภาพความเป็นจริงมากกว่า ว่าการทำพื้นที่ศิลปะทางเลือกในไทยน่ะ ถ้าทำแค่นิทรรศการโดยมีรายได้จากการขายงานน่าจะเป็นไปได้ยาก จัดเวิร์กชอปหรืออีเวนต์อาจพอช่วยได้ แต่สุดท้ายมันต้องหาวิธีที่มากกว่านั้น ซึ่งจนถึงทุกวันนี้เราก็ยังเชื่อว่ามันพอมีทาง เพียงแค่เรายังหาไม่เจอเท่านั้นเอง
แล้วปัจจุบันของ Speedy Grandma เป็นอย่างไรบ้าง
หลังจากย้ายเข้ามาตึกใหม่ Speedy Grandma ก็เปลี่ยนรูปแบบ ตอนนี้เราไม่มีสเปซสำหรับแสดงงานแล้ว ถ้าต้องแสดงเราก็จะไปใช้ของเครือข่ายที่รู้จัก แต่กับตรงนี้เราปรับให้เป็นพื้นที่สำหรับจัดอีเวนต์หรือเวิร์กชอป เพราะเราเชื่อว่ามันไปต่อได้มากกว่า และตัวเราเองก็เปลี่ยนความสนใจในแง่ของการสื่อสารไปในทางนี้แล้วด้วย เพราะพอทำงานมาจนถึงวัยนี้ เราตั้งคำถามว่าไอ้ที่เคยอยากสื่อสารนักหนาเวลาทำงาน จริงๆ มันสื่อถึงคนดูหรือเปล่า ส่งผลให้ตอนนี้เราอยากพูดคุยกับผู้ชมตรงๆ มากกว่า”
ไม่ได้มองว่าเป็นการลดช่องทางสื่อสารศิลปะ
ไม่ๆ คือถ้าใครอยากสื่อสารแบบแสดงงานอยู่ก็ไม่ผิด ทำไปเลย เราสนับสนุนด้วยซ้ำ เพราะยังคงชอบไปดูงานดีๆ และสนใจการผลิตอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ตอนนี้ตัวตนและความสนใจในฐานะผู้สร้างของเรามันอยากเคลื่อนไหวกับคนมากกว่าแล้ว เราอยากเห็นผลลัพธ์ชัดๆ มากกว่า
อย่างถ้าเปรียบเทียบเรื่องนี้กับการเมือง เราว่าในปัจจุบันการลงไปเรียกร้องบนถนนไปไกลกว่างานศิลปะเยอะ หลายคนพูดตรงประเด็น ชัดเจนและสื่อสารกับคนหมู่มาก ไม่เหมือนกับงานของศิลปินที่หลายครั้งก็มีแค่คนกันเองไปดู เราว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้แหละที่เปลี่ยนความสนใจเรา”
เหมือนด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นและวัย คุณให้คุณค่ากับศิลปะหรือการสื่อสารที่ส่งผลต่อสังคมมากกว่า
ไม่ใช่ (ตอบทันที) จริงอยู่ที่เราให้คุณค่ากับสิทธิเสรีภาพและคิดว่าทุกคนควรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่เราไม่เคยคิดว่าศิลปะต้องไปเกี่ยวกับสังคมการเมืองในทุกกรณีนะ เรายืนยันว่าศิลปินทุกคนไม่จำเป็นต้องทำงานการเมือง ใครคิดแบบนั้นคือไร้สาระ มึงแค่ทำอะไรที่มึงชอบก็พอ เพียงแค่ตอนนี้เราแค่ชอบแบบนี้ ส่วนคนอื่นจะทำอะไรก็ทำไปเถอะ
ขอย้อนกลับไปถึงงาน Bangkok Biennial ที่คุณทำในฐานะ Speedy Grandma เมื่อปี 2018 สักหน่อย ดูเหมือนงานนี้จะสะท้อนถึงการใส่ใจของภาครัฐได้ดีทีเดียว ในความเป็นจริงนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง
นั่นน่าจะเป็นงานใหญ่สุดแล้วที่ Speedy Grandma เคยจัด มันเกิดจากการที่เรากับเพื่อนตั้งคำถามว่าทำไมไทยไม่มีงาน Biennale สักที สุดท้ายเราลงความเห็นกันว่าอ่าว ถ้าไม่มีหน่วยงานไหนทำ ก็ไม่เห็นต้องแคร์เลย จะรอให้ใครมาอนุมัติหรือไงวะ งั้นจัดกันเองแม่ง
เรากับเพื่อนวางแผนให้งานนี้เป็นแบบ Decentralize คือไม่มีคิวเรเตอร์กลาง ทุกคนเป็นคิวเรเตอร์ของตัวเอง อยากทำอะไร ทำ รับผิดชอบตัวเอง เราจะเป็นแค่ศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลแค่นั้น เราไปชวนคนในวงการศิลปะเยอะมาก เล่าไอเดียให้ฟังว่าอยากทำแบบไหน สุดท้ายก็ได้ศิลปินเข้าร่วมหลักร้อย แกลลอรี่อีกเพียบ โดยรวมคือสนุกดี”
แต่ทั้งที่เป็นงานใหญ่ขนาดนี้ งานกลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ
ขอแล้วนะ แต่ไม่ได้ (หัวเราะ) ซึ่งก็รู้อยู่แล้วแหละ ว่าขอไปก็ไม่ได้หรอก ถึงเอาชื่อศิลปินกางให้ดูขนาดไหน เขาก็ไม่รู้เรื่อง มันเป็นแบบนี้มานานแล้ว”
มันสะท้อนถึงปัญหาได้ชัดเหมือนกัน ในมุมมองคุณเรื่องนี้มีทางแก้ไหม
เราว่าควรรื้อระบบราชการออกทั้งยวงเลย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าคนในระบบเขามีความคิดความเชื่อที่ไม่ยอมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ต่อให้ความเคลื่อนไหวใหม่ๆ เกิดขึ้นมากแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าคนที่มีอำนาจเป็นแบบนี้ มันก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี”
มันไม่มีตรงกลางเลยเหรอ เพราะถ้ายึดตามนั้น มันก็ดูไร้ความหวังพอสมควร
ใช่ ก็ไร้ความหวังนั่นแหละ แต่เรายืนยันนะ ว่าปัญหาอยู่ที่ระบบจริงๆ
เอาง่ายๆ ว่าในปัจจุบันนี้ ศิลปินไทยโดยมากยังต้องขอทุนจากต่างประเทศอยู่เลย แม้กระทั่ง Speedy Grandma เองก็เพิ่งได้ทุนจากต่างประเทศ ทำไมทุกคนถึงโหยหาล่ะ ทั้งที่ทุนในเมืองไทยแม่งมี คำตอบคือพวกเขาให้ทุนกับศิลปะแค่จำพวกใดจำพวกหนึ่งเท่านั้นไง ดังนั้นถามจริง ทางตรงกลางของสิ่งนี้คืออะไร เรานึกไม่ออกน่ะ ถ้าไม่เอาก้อนปัญหานี้ออกก็คงทำอะไรไม่ได้
แต่ (เน้นเสียง) ที่เราบอกว่าไม่มีความหวังเนี่ย ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ทำต่อนะ
ถ้ารัฐดูน่าสิ้นหวังขนาดนี้ อะไรทำให้คุณทำงานด้านศิลปะต่อ
เพราะเรายังเชื่อว่าวงการศิลปะบ้านเรายังขยับได้ด้วยวิธีอื่น ไม่ใช่แค่รอให้รัฐเปลี่ยนอย่างเดียว อย่างเราเองเอาจริงที่ยังทำ Speedy Grandma อยู่ก็คงเพราะเหตุนี้ด้วย เราเชื่อว่าพื้นที่ศิลปะยังสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ เรามองเป็นเกมยาวค่ะ ค่อยๆ ทำกันต่อไป ค่อยๆ ช่วยกันไป เช่นเดียวกับที่ต้องด่ารัฐต่อไป
ในอีกบทบาทหนึ่งคุณก็เป็นอาจารย์ คุณเห็นความหวังจากคนรุ่นใหม่ขนาดไหน
เยอะมาก และเชื่ออย่างใจจริงด้วยว่าพวกเขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
เราสอนเด็กมาหลายปี แต่ยอมรับเลยว่ายุคหลังๆ เจเนอเรชั่นของเด็กมีความเปลี่ยนแปลงในแง่ของการแคร์สังคมมากขึ้นอย่างน่าสนใจ สังเกตได้จากหัวข้อธีสิสในช่วง 3-4 ปีหลังที่เด็กส่วนใหญ่เลือกทำเรื่องสังคม การเมืองและความเหลื่อมล้ำทั้งนั้น ซึ่งเราว่ามันก็มีที่มาจากปัญหาที่เขาเห็นนั่นแหละ
แต่ในอีกมุมเราก็อยากบอกเสริมพวกเขาให้ทุกคนอดทนนะ มันเยี่ยมอยู่แล้วที่ทุกคนมาร่วมสู้แต่ก็อยากให้ทุกคนใจเย็น เพราะความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในประเทศนี้มันไม่เคยเกิดจากผั่วะเดียวแล้วได้ผลลัพธ์น่ะ
สุดท้ายถ้าให้สรุป ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ถ้ายึดตามคำของคุณคือ ‘หมดหวัง’ ขนาดนี้ คุณว่าศิลปะยังจำเป็นอยู่ไหม
จำเป็น (ตอบทันที) เพราะในมุมหนึ่งศิลปะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จรรโลงจิตใจได้จริงๆ ดังนั้นถ้าไม่มีศิลปะในสภาพสังคมเหี้ยห่าแบบนี้ เราว่าคนคงเป็นบ้าตายไปแล้ว
และอีกอย่างคือถ้าเราหล่อเลี้ยงศิลปะให้อยู่รอดจนถึงวันที่ประเทศชาติกลับมาดีได้ เราว่าศิลปะนี่แหละจะเป็นแหล่งพักพิงใหญ่ให้ทุกคนมุ่งมาหา เพื่อกลับหล่อเลี้ยงตัวเองอีกครั้ง
ภาพถ่ายโดย : ก้อง พันธุมจินดา