GC IN FOCUS_โอ๊ต -01.jpg

ประสบการณ์ Artist in Residency ของ โอ๊ต มณเฑียร ในซอยพัฒน์พงศ์

Post on 29 June

ถ้าอธิบายอย่างสั้น, กว่า 2 เดือนที่ผ่านมา โอ๊ต มณเฑียรได้ไปใช้ชีวิตในฐานะ Artist in Residency ที่ Patpong Museum ในซอยพัฒน์พงศ์ ที่ตรงนั้นเขาได้ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ของพื้นที่และกลั่นกรองออกมาเป็นงานศิลปะ

แต่อย่างที่รู้กันว่าภายใต้คำอธิบายข้างต้น มันไม่อาจครอบคลุมเรื่องราวที่โอ๊ตได้ค้นพบทั้งหมด เช่นเดียวกับซอยพัฒน์พังศ์ที่ภายใต้ภาพจำของคนทั่วไป ที่นี่ยังเต็มไปด้วยผู้คน ประวัติศาสตร์และความทรงจำที่มากกว่านั้น ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เองที่ประสานกันจนเกิดเป็นงานศิลปะอันหลากหลายในปัจจุบัน ตั้งแต่นิทรรศการภาพชุด TWILIGH FEVER DREAM ไปจนถึงอีกมากมายในอนาคตที่น่าจับตามอง

และด้วยโอกาสทั้งหมดนี้เอง GroundControl จึงเดินทางไปสนทนากับโอ๊ตถึงช่วงเวลาและผลงานดังกล่าว ก่อนที่เราจะลงลึกถึงเบื้องหลังและความเป็นไปทั้งหมดที่เขาได้ค้นเจอ อะไรที่ทำให้พัฒน์พงศ์เป็นพัฒน์พงศ์ หาคำตอบได้ผ่านบทสัมภาษณ์นี้


 

จุดเริ่มต้นจาก The Patpong Museum และโอ๊ต มณเฑียร

“อาจเป็นความบังเอิญก็ได้ แต่การมาที่ The Patpong Museum ครั้งแรก เรามาในฐานะของนักเขียนที่เข้ามาเขียนบทความเฉยๆ แต่พอมาถึงเรากลับชอบมาก หลังจากนั้นเราเลยมาจนเป็นลูกค้าประจำ และได้เริ่มอ่านประวัติศาสตร์ของพัฒน์พงศ์ที่บันทึกไว้ จนพอถึงวันหนึ่ง เราก็เริ่มตั้งคำถามว่าภายใต้บันทึกเหล่านี้ ทำไมไม่มีการพูดถึงเรื่องราวของเกย์ไว้เลย

“เพราะในฐานะเกย์คนหนึ่ง เรารู้สึกว่าที่แห่งนี้เป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับเจเนอเรชั่นมากๆ ที่นี่มีซอยที่มีบาร์อะโกโก้ผู้ชายเต็มไปหมด ใครอยากเที่ยวแนวนี้ต้องมาตรงนี้ คนบินมาจากทั่วเอเชีย มันโด่งดังจนสามารถพูดได้เลยว่าที่ตรงนี้คือแหล่งเกย์ แต่ทำไมล่ะ เรื่องเหล่านี้ถึงไม่มีบันทึกไว้

“จากตรงนั้ เราเลยคุยกับคุณไมเคิล (Michael Messner - ผู้ก่อตั้ง The Patpong Museum) ว่ามันจะพอเป็นไปได้ไหม ถ้าเราอยากมาเป็น Artist Residency (ศิลปินในพำนัก) ที่นี่ เพราะนอกจากประเด็น LGBTQI+ แล้ว  ด้วยความที่เราโตมาโดยเป็นคนกลางคืนเราเลยชอบประวัติศาสตร์พื้นถิ่นของที่นี่ด้วย รู้สึกผูกพันจนอยากมาหาข้อมูลและบอกเล่า ซึ่งสุดท้ายก็ได้รับอนุญาตให้มาอยู่โดยแลกกับการที่เรารีเสิร์ชข้อมูลให้กับมิวเซียมเพื่อสร้างเป็น Gay Section หลังจากนั้น

“หรือพูดง่ายๆ ว่าที่นี่กับเรามีความชอบที่เหมือนกันนั่นแหละ เรามีจุดประสงค์เดียวกันในการบอกเล่าาเรื่องราวของพื้นที่แห่งนี้ มากกว่าการไปตัดสินว่าพัฒน์พงศ์เป็นเขตโลกีย์ สุดท้ายเลยได้มาทำงานร่วมกัน”


 

Patpong In the Time of Cold War

"พอได้ลองมาศึกษาค้นคว้า เราได้ค้นพบว่าแท้จริงแล้วซอยพัฒน์พงศ์นั้นเริ่มมาจากตระกูลพัฒน์พงศ์พานิช โดยเดิมทีบริเวณดังกล่าวเป็นที่ที่มีปูนขาวเยอะ พวกเขาเลยเริ่มทำบริษัทปูนซีเมนต์ ซึ่งตรงกับช่วงที่กรุงเทพกำลังเริ่มก่อสร้างเมืองพอดี ธุรกิจเลยรุ่งเรื่องมาก จนได้รับนามสกุลพระราชทานจากรัชกาลที่ 7 ว่า ‘พัฒน์พงศ์พานิช’

"แต่ทีนี้จุดเปลี่ยนแรกคือหนึ่งในลูกหลานของตระกูลพัฒน์พงศ์พานิช นั่นคือคุณอุดม พัฒน์พงศ์พานิช เขาได้ไปเรียนที่อเมริกาและร่วมขบวนการเสรีไทยในการทำงานกับ CIA ทำให้ช่วงปี 60s ที่คุณอุดมปลดระวางกลับมาอยู่ไทย เขาได้มาพัฒนาพื้นที่ตรงนี้โดยเน้นการเอาธุรกิจจากอเมริกามาเปิดสาขา

"ออฟฟิศ IBM แรกในไทยเกิดขึ้นที่นี่ ร้านพิซซ่าร้านแรกในไทยเกิดขึ้นที่นี่ หรือแม้กระทั่งบริษัทอย่าง Caltex และ Air America ก็พื้นที่ตรงนี้ คนต่างประเทศเข้ามาเปิดกิจการเยอะมาก ทำให้ถนนเส้นแรกๆ ในกรุงเทพฯ ก็ตัดผ่านพัฒน์พงศ์ หรืออย่างถ้าลองย้อนกลับไปดูโฆษณาที่เชิญชวนให้มาเที่ยวประเทศไทยในสมัยนั้น เขาก็จะชวนให้มาพัฒน์พงศ์นี่แหละ แต่นอกจากภาคธุรกิจที่คุณอุดมชวนมาแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังเกี่ยวข้องกับภาวะสงครามในช่วงปี 60s ด้วย

"ตอนนั้นเป็นช่วงที่เรียกกันว่า Secret War ในประเทศลาว คือเป็นสงครามในช่วงที่ชาติคอมมิวนิสต์กำลังแผ่ขยายอำนาจมายึดลาว ทำให้อเมริกาต้องส่งทหาร CIA มาช่วยฝึกชาวม้งหรือชนเผ่าเพื่อต่อต้าน แต่ทีนี้สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือมันทำให้ฐานที่มั่นของอเมริกาต้องตั้งอยู่ที่ไทย ยิ่งต่อเนื่องมาจนถึงช่วงปี 70s ที่มีสงครามเย็นอีก พัฒน์พงศ์เลยกลายเป็นแหล่งที่พักของ CIA ชั้นดี และรอยทางในประวัติศาสตร์ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดบาร์ขึ้น เพราะนั่นเป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนความลับมากที่สุดแล้ว

"โดยเฉพาะสงครามเวียดนามที่วงจรชีวิตทหารเอื้อต่อการเกิดสิ่งนี้มากขึ้นไปอีก เพราะพวกเขาต้องไปรบ 6 เดือน ส่วนอีก 6 เดือนก็กลับมาอยู่ไทย มันเลยเกิดภาวะการบำเรอตัวเองอย่างฟุ้งเฟ้อ ทั้งเหล้า ยา และผู้หญิง จากตรงนั้นเองซอยพัฒน์พงศ์เลยกลายเป็น Red Light District ในที่สุด”


 

Twilight In Thai Gay World 

“หลังจากได้ค้นคว้าประวัติศาสตร์คร่าวๆ ของพัฒน์พงศ์แล้ว หลังจากนั้นเราจึงเริ่มลงลึกเข้าไปในส่วนของ ‘เกย์’ กับพื้นที่ตรงนี้มากขึ้น

"โดยเราเริ่มศึกษาจากภาพกว้างก่อน เราได้เจอว่าคำว่า ‘เกย์’ ถูกใช้ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดือนตุลาคม ปี 1965 โดยตีพิมพ์ครั้งแรกในคดีฆาตรกรรมชาวต่างชาติคนหนึ่ง เป็นการพาดหัวข่าวว่า ‘กะเทยลักเพศแก่ถูกยิงในรถ โดยถูกดึงกางเกงลงมาที่ข้อเท้า สภาพเปลือยประตูหลัง’ … ฟังดูในบริบทตอนนี้ถือว่ามีอดติมากเนอะ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือหลังจากข่าวนั้น ตลอด 15 วันต่อมาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็ทำข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงหน้าหนึ่งทุกวันโดยการพาดหัวในแบบต่างๆ

"‘เปิดโปงโลกเกย์’, ‘ไม่น่าเชื่อว่าจะมีโลกแบบนี้ในกรุงเทพ’ ไปจนถึง ‘ชมรมเกย์รวมตัวกันในบ้านหรูย่านสุขุมวิท’ ไทยรัฐไปสุดมาก แต่นั่นแหละคือครั้งแรกที่ใช้คำว่าเกย์ในวงกว้าง ไม่ใช่กะเทยอย่างที่ก่อนหน้านี้ใช้กัน ซึ่งมันก็ส่งผลในแง่การบันทึกมาเรื่อยๆ อย่างปี 1966 ก็มีการบันทึกอย่างเป็นทางการครั้งแรกเลยว่ามีบาร์อะโกโก้เกย์ชื่อ Twilight ในซอยพัฒน์พงศ์

“ในบันทึกนั้นเล่าไว้ว่าบาร์ Twilight เป็นบาร์เล็กๆ ที่จะมีผู้ชายใส่กางเกงในขึ้นไปบนเวทีครั้งละ 4 คน รันบาร์โดยกะเทยชื่อยศวดี ซึ่งพอ 4-5 ทุ่มจะมีการให้สัญญาณให้ผู้ชายบนเวทีเปลี่ยนเป็นถอดเปลือยหมด และเรายังได้ข้อมูลจากคำบอกเล่าของคนที่เคยเข้าร่วมได้ว่าตอนนั้นบาร์ Twilight จะไม่มีเก้าอี้ แขกทุกคนยืน เพื่อให้ผู้ชายของทางร้านลงมาหาและทำ ‘Twilight Shake Hand’ หรือการเอาอวัยวะเพศไปใส่มือน่ะแหละ


 

“ต้องลองนึกภาพตามนะ ว่าสิ่งที่เราเล่านี้เกิดขึ้นในปี 60s ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่บาร์ Twilight กลายเป็นสถานที่ยูโทเปียของเกย์  บาร์แห่งนี้ไม่ธรรมดาและดำเนินมาต่อเนื่องยาวนาน

"จนกระทั่งมาถึงอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนในปี 1971 บาร์ Twilight ได้ย้ายมาอยู่ตรงหัวมุมซอยประตูชัย โดยถือเป็นบาร์แรกๆ ที่ย้ายมาอยู่ซอยนี้ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นคือบาร์ Twilight ใช้เวลา 20 ปีในการทำทั้งซอยประตูชัยกลายเป็นบาร์เกย์ทั้งหมด จนซอยนี้ไม่ได้ถูกเรียนว่าซอยประตูชัยอีกแล้ว แต่ถูกเรียกว่าซอยทไวไลท์แทน

"ช่วงเกือบ 40 ปีบนซอยนี้ พื้นที่ของเกย์รุ่งเรืองถึงขีดสุดเลยนะ เรียกได้ว่าถ้ามาเมืองไทยแล้วอยากมาเที่ยวผู้ชาย ทุกคนต้องมารวมกันที่นี่ เพราะมีบาร์เกย์ประมาณสิบกว่าร้านได้

"แต่พอถึงปี 2019 ด้วยเหตุผลบางอย่าง กลายเป็นว่าทั้งซอยก็ถูกขาย ประจวบเหมาะกับการมาถึงของโควิดพอดี กลายเป็นว่าความรุ่งเรืองที่เคยมีนั้นตายกันหมดในเวลาอันรวดเร็ว ภาพรวมของพัฒน์พงศ์เองก็ล้มระเนระนาด ทำให้จนถึงตอนนี้เหลือบาร์เกย์แค่ 3 ร้านเท่านั้น คือ Hotmail, Dream Boy และ Fresh Boy

"กับ 3 ร้านนี้ ผู้ชายในร้านจะต่างกัน อย่าง  Dream Boy ร้านเขาจะอยู่มานาน เลยมีอายุหน่อย เป็นคนไทยโดยส่วนมาก, Hotmail ก็เป็นคนไทยบ้าง ทรงตัวใหญ่ๆ หน้าเกาหลี ตอบโจทย์ลูกค้าคนไทย แต่ Fresh Boy เนี่ยเป็นเด็กต่างด้าวหมดเลย 

"ซึ่งงานนิทรรศการ TWILIGH FEVER DREAM ของเราก็เลือกวาดผู้ชายจาก Fresh Boy เนี่ยแหละ โดยเฉพาะผู้ชายลาว เพราะเรารู้สึกอยากเชื่อมโยงกับเรื่องราวของ Secret War ช่วงปี 60s นั่นเอง”


 

ในฐานะศิลปิน เราต้องปะติดปะต่อเรื่องราว

"ตั้งแต่ได้รู้ว่าจะมาเป็น Artist Residency ที่นี่ มันเป็นความตั้งใจแรกของเราอยู่แล้วที่อยากทำงานกับความทรงจำของผู้คน 

"จากตรงนั้น พอเราได้ศึกษาข้อมูลของเกย์ในพัฒน์พงศ์มากขึ้นเรื่อยๆ เราเลยเลือกตั้งชื่อนิทรรศการว่า Twilight  Fever Dream เราอยากอุทิศคำว่า Twilight ให้กับซอยทไวไลท์ที่ปิดตัวไป เพราะในฐานะ LGBTQI+ คนหนึ่ง การได้เห็นพื้นที่ของเราถูกปิดและหายไปโดยไม่มีการถูกบันทึกเก็บไว้ มันเจ็บปวดนะ ทั้งที่มันเป็นหมุดหมายสำคัญในชีวิตเกย์หลายคน เคยมีคนตกหลุมรัก มีเซ็กส์ ไปจนถึงอกหักครั้งแรกก็ที่นี่ ดังนั้นเราเลยอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อสดุดีความทรงจำเหล่านี้ไว้

"อย่างรูปที่วาดอันนี้คือน้องเจเจ น้องเป็นคนลาว ส่วนอีกรูปก็เป็นชาวพม่าที่เรื่องราวน่าสนใจ คือตอนอยู่พม่าน้องเป็นครูสอนบัลเลต์มาก่อน โดยทั้งหมดมาจากการที่เราจ้างน้องมา วาดรูป และนั่งสัมภาษณ์กัน ซึ่งมันดีมาก สิ่งที่ได้ยินดึงดูดเรามากเลย เพราะนอกจากการศึกษาประวัติศาสตร์ในพื้นที่แล้ว กระบวนการนี้ยังทำให้เราได้เห็นชีวิตคนด้วย

"จริงอยู่ที่พัฒน์พงศ์เองก็มีด้านดาร์ก เราไม่ปฏิเสธ แต่ในฐานะที่ได้สัมผัสและสัมภาษณ์ผู้คนตลอดเกือบสองเดือนที่ผ่านมา เรายังไม่เคยเจอใครที่ทำงานโดยไม่สมัครใจนะ ทุกคนตั้งใจมาเอง เขาเลือกแล้ว ถ้าวันไหนไม่อยากอยู่เขาก็แค่ไป  ทำให้พอยิ่งคลุกคลี เรายิ่งเคารพพวกเขามากขึ้นไปอีก เหมือนเราแวดล้อมด้วยแรงบันดาลใจเต็มไปหมดจนสามารถกลั่นกรองออกมาเป็นงานศิลปะได้

"ในฐานะศิลปินคนหนึ่ง เราคงมีหน้าที่แบบนั้น นั่นคือการนำเอาความทรงจำ ผู้คนและประวัติศาสตร์มาปะติดปะต่อในพื้นที่แห่งนี้ ผ่านการวาด การเขียนหรือแม้แต่วิดีโอ อย่างตอนนี้มีนิทรรศการภาพชุดออกมาแล้ว แต่ในอนาคตจะมีอะไรอีก คงต้องรอดูกันต่อไป เพราะพอเปิดโชว์และพื้นที่ กลายเป็นว่าเราได้รับข้อมูลมากกว่าเดิมอีกจากคนที่เคยมีประสบการณ์ร่วมกับพัฒน์พงศ์ เหมือนโปรเจกต์ค่อยๆ ถูกพัฒนาไปพร้อมกับความทรงจำและความผูกพันของคนต่อที่นี่

"ดังนั้นต่อจากนี้คงเป็นหน้าที่ของเราแล้วที่ต้องทั้งหมดมาเรียบเรียงและนำเสนอออกไปให้ดีที่สุด”


 

New Patpong 

“ถ้าถอยออกมาประเด็นใหญ่กว่านั้น ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่เราสนใจมากๆ เกี่ยวกับพัฒน์พงศ์นะ นั่นคือการผลักดันให้ Sex Worker กลายเป็นเรื่องถูกกฏหมาย

“สำหรับเรา มันมีหลายเหตุผลมากเลยที่ควรส่งเสริมเรื่องนี้ และหลายคนก็พูดถึงไปหมดแล้วจนแทบไม่ต้องพูดอีก แต่โอเค อาจมีบางคนแย้งว่าอ้าว งั้น Sex Worker ก็ต้องจ่ายภาษีนะ ซึ่งเราก็อยากตอบว่าขอโทษนะคะ รู้ไหมว่าตอนนี้อาชีพ Sex Worker จ่ายส่วยแพงกว่าภาษีอีกค่ะ แถมจ่ายไปแล้วยังต้องถูกกดศักดิ์ศรีความเป็นอีก ดังนั้นทำให้ถูกกฏหมายเถอะ เพราะในความเป็นจริงนี่คืออาชีพที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเยอะมาก พัฒน์พงศ์เองก็ดังระดับโลก หรือแม้แต่พัทยาก็ตาม จะมีเหตุผลอะไรที่ไม่ควรทำให้เรื่องนี้ถูกกฏหมายล่ะ 

“ดังนั้นในอีกแง่ เราก็หวังให้สิ่งที่กำลังทำอยู่ช่วยเปิดบทสนทนาเรื่องนี้ให้กับใครหลายคนเหมือนกันนะ เราอยากเชิญชวนคุณมามีประสบการณ์ร่วมกันในซอยพัฒน์พงศ์แห่งนี้ เพื่อให้คุณได้เห็นว่าธุรกิจกลางคืนไม่ได้มีแค่ความเมามายหรือโลกีย์ แต่มันมีคน ศิลปะ และวัฒนธรรมแทรกซึมอยู่เสมอ เป็นประวัติศาสตร์ชายขอบที่มีพื้นที่ในถนนเส้นนี้

“และกับในอนาคต ด้วยความที่โควิดทำให้เกิดการเปลี่ยนมือในซอยพัฒน์พงศ์จำนวนมาก เราก็ยิ่งเชื่อว่าคนใหม่ที่เข้ามาจะสามารถเปลี่ยนให้ที่ตรงนี้เป็น Art and Creative Zone ได้มากขึ้น ดูจาก The Patpong Museum ที่คุณไมเคิลทำก็ได้ หรืออย่างสิ่งที่เราเองก็ถือเป็นหมุดหมายบางอย่าง เราว่าทั้งหมดนี้สะท้อนถึงยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี เราเลยอยากเชิญชวนให้เข้ามาสัมผัสซอยพัฒน์พงศ์ในมุมมองนี้กัน ที่นี่จะเป็นย่านที่น่าจับตามองใน 5-10 ปีข้างหน้ามากๆ เลยล่ะ”