ศร-ศรภัทร & เทียน-ฐิติรัตน์ ควรอยู่หรือย้าย? ที่ทางของศิลปินไทยในต่างแดน

Post on 24 January

ไม่ว่าจะด้วยการจัดการรับมือกับโควิด-19 หรือความสิ้นหวังต่อสถานการณ์การเมือง แต่กระแสความต้องการย้ายประเทศของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยก็ยังมาแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ในปัจจุบัน จำนวนสมาชิกในกลุ่มเฟซบุคย้ายประเทศจะพุ่งทะลุสูงถึงหนึ่งล้านคน และมีเหล่าสมาชิกมากหน้าหลายตามาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์และขั้นตอนการย้ายประเทศ แต่เรื่องราวของวงการศิลปะในต่างประเทศกลับยังไม่ค่อยมีการพูดถึงกันมากนัก

ในประเทศที่มองไม่เห็นคุณค่าของงานศิลปะ ศิลปินไทยต้องดิ้นรนและพึ่งพาตัวเองมาโดยตลอด เกิดเป็นคำถามที่คาใจของใครหลาย ๆ คน ว่าคนไทยมีศักยภาพต่อการเป็นศิลปินในต่างแดนได้หรือไม่ แล้วหากโยกย้ายไปจริง ๆ เราจะกลายเป็นพลเมืองชั้นสองหรือไม่ 

GroundControl ขอพาทุกคนไปร่วมพูดคุยและหาคำตอบกับคู่รักศิลปินรุ่นใหม่ ‘ศร-ศรภัทร ภัทราคร’ สถาปนิกหนุ่มที่ผันตัวมาเป็นศิลปินผู้เปลี่ยนพื้นที่และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเป็นงานศิลปะจัดวาง และ ‘เทียน-ฐิติรัตน์ สกุลตันติเมธา’ ศิลปินที่ทำงานศิลปะเพื่อบอกเล่าเรื่องกาลเวลา การเปลี่ยนผ่าน และความทรงจำ ซึ่งในปัจจุบัน ทั้งคู่กำลังใช้ชีวิตและเรียนต่อในสาขาศิลปะสาธารณะ (Public Art) อยู่ที่มหาวิทยาลัยเบาเฮาส์ (Bauhaus-Universität) เมืองไวมาร์ ประเทศเยอรมนี มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในแวดวงศิลปะจากต่างแดน รวมถึงกลับมาสำรวจความต้องการย้ายประเทศของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ว่าจะเป็นเพียงกระแส หรือทางเลือกใหม่เพื่ออิสระการใช้ชีวิตของศิลปินไทย

ดียังไง ทำไมถึงต้องเป็นเยอรมนี

เทียน-ฐิติรัตน์: พอตัดสินใจจะมาเรียนต่อปริญญาโท เราก็หาข้อมูลหลายที่มาก ๆ แต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง สุดท้ายก็เลือกเยอรมนี เพราะมีคอร์สปริญญาโทสาขาศิลปะสาธารณะอยู่ที่มหาวิทยาลัยเบาเฮาส์ เมืองไวมาร์ที่เราทั้งคู่สนใจตรงกัน ซึ่งสาขานี้มันจะไม่ใช่แค่การทำงานศิลปะในห้องสี่เหลี่ยมของแกลเลอรี่ แต่จะเกี่ยวข้องกับบริบทของสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ แต่ละพื้นที่ด้วย มีความเป็นศิลปะเฉพาะที่ (Site Specific Art) งานจะต้องตั้งที่นี่เท่านั้น คอร์สที่เราเรียนเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ เลยทำให้เพื่อนในห้องก็จะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มาจากหลายประเทศมาก

ศร-ศรภัทร: นอกจากเรื่องคอร์สเรียนก็มีเรื่องสภาพบรรยากาศทางวัฒนธรรมด้วย เรามองว่าที่นี่มันมีหลายอย่างที่น่าสนใจเกิดขึ้น เป็นประเทศที่รุ่มรวยด้วยพื้นฐานทางปรัชญาและวัฒนธรรม มีศิลปินอย่าง ‘โจเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys)’ มีนักคิดอย่าง ‘ฟรีดริค นิทเช่ (Friedrich Nietzsche)’ หรือแม้แต่ ‘คาร์ล มาร์กซ (Karl Marx)’ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับโลกทั้งนั้น

การศึกษาที่ดีในประเทศคุณภาพ

ศร-ศรภัทร: หลักสูตรที่เราเรียนก็ค่าเทอมไม่แพง ประมาณ 200 ยูโร โดยที่รัฐให้ทุนสนับสนุนมหาวิทยาลัยเยอะมาก ห้องเวิร์คช็อปที่นี่มีเครื่องมือดี ๆ ให้นักศึกษาใช้ได้ฟรี แล้วในแต่ละโปรเจ็คเขาก็จะมีงบทำงานให้เราเพิ่มเติม ประมาณ 400 - 500 ยูโรซึ่งมากกว่าค่าเทอมที่เราเสียไปอีก ที่เยอรมันเขามองว่าการศึกษามันไม่ใช่การขายงานบริการ มันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องได้ ยิ่งพอช่วงนี้มีการระบาดของโควิด-19 นักศึกษาไม่สามารถเข้าไปทำงานในเวิร์คช็อปเองได้ ทางมหาวิทยาลัยก็จะจัดหาคนมาช่วยทำงานให้เราโดยไม่คิดค่าแรงเพิ่มอีก เรามีหน้าที่แค่เขียนแบบอธิบายให้ชัดเจนพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเกิดจากการที่รัฐเข้ามามีส่วนสนับสนุนด้วย เพราะเขาเห็นความสำคัญของศิลปะที่มีต่อสังคม

เทียน-ฐิติรัตน์: พอเรามาเรียนที่นี่ก็พบว่าเพื่อนเยอรมันที่รู้จักแต่ละคนฉลาดมาก สามารถพูดคุยเรื่องปรัชญาหรือทฤษฎีได้หมด แม้จะเป็นแค่เด็กมัธยมปลายก็ตาม เพราะระบบการศึกษาของเขาไม่ได้เน้นให้ต้องเรียนหนักมาก แต่เน้นการคิดวิเคราะห์และการสนทนาแลกเปลี่ยนกันมากกว่า ครูกับนักเรียนสามารถแลกเปลี่ยนถกเถียงกันอย่างดุเดือดเป็นเรื่องปกติ การเรียนที่นี่จะเน้นเรื่องนี้มากกว่าการสอนท่องจำ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่มีแต่ในห้องเรียนระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่มีมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กแล้ว โรงเรียนเขาเน้นให้ไปเล่นและเรียนรู้ตามพัฒนาการก่อน แต่พอมีการวัดระดับ เด็กเยอรมันกลับไม่ได้ด้อยกว่าเด็กประเทศอื่นเลย ซึ่งในภาพรวมแล้ว เรามองว่าการศึกษาของเขามันไม่หนักเท่าที่ไทย ทำให้เด็กมีเวลาไปใช้ชีวิต หางานพาร์ทไทม์ทำ มีงานอดิเรก และค้นหาตัวตน

รัฐสวัสดิการที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เทียน-ฐิติรัตน์: เรามาเรียนและถือวีซ่านักเรียนที่นี่ แต่เรากลับได้รับสิทธิ์ขั้นพื้นฐานและเงินชดเชยของรัฐแทบจะเท่ากับคนเยอรมันเลย การเป็นนักศึกษาที่นี่จะได้รับตั๋วเดินทางขนส่งสาธารณะได้ทั่วแคว้นนั้น ๆ และสามารถทำงานจ็อบเล็ก ๆ ได้ด้วย ภาษีที่รัฐเก็บมันออกมาอยู่ในรูปรัฐสวัสดิการที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ทั้งสาธารณสุข การศึกษา ความต้องการพื้นฐานพวกนี้รัฐมีรองรับให้ประชาชนหมด อย่างเรื่องการศึกษา เด็กที่นี่เขามีสิทธิ์ในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีอย่างเท่าเทียม ไม่มีการแบ่งว่าเป็นโรงเรียนคนรวยหรือคนจน ทำให้ทุกคนมีโอกาสเติบโตและก้าวหน้าทางสังคมเท่า ๆ กัน คนเยอรมันจึงไม่ต้องดิ้นรนทำงานเยอะ ๆ หลายจ็อบเพื่อจะอยู่รอดและไม่ต้องคิดมากเรื่องเก็บเงินเยอะ ๆ ไว้ใช้ตอนแก่ เพราะสิ่งที่มันจำเป็นต่อการใช้ชีวิตถูกรวมไว้ในรัฐสวัสดิการแล้ว นอกจากนั้น กฎหมายที่เยอรมนีก็จะปกป้องสิทธิ์ของคนตัวเล็กมากกว่าคนรวยด้วย เขาจะคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ถูกเอาเปรียบหรือถูกกดลงไปอีก

ศร-ศรภัทร: ที่เยอรมนีความเจริญมันกระจายไปสู่เมืองเล็ก ๆ ทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้ามาในเบอร์ลินถึงจะมีงานทำ เขาไม่ต้องมานั่งคิดว่าจะอยู่รอดได้ยังไง แต่เขาจะมานั่งคิดว่าอยากจะใช้ชีวิตแบบไหน อย่างเรื่องสาธารณสุข ประกันสุขภาพของรัฐก็ครอบคลุมเยอะมาก รวมแม้แต่ค่านักจิตวิทยา เวลาเจ็บป่วยไปโรงพยาบาลก็ง่ายมาก อย่างเราเคยต้องผ่าตัดก็เสียแค่ค่านอนโรงพยาบาลเพิ่มไม่เยอะ และนอกจากสวัสดิการที่เห็นได้ชัด ๆ แล้ว คุณภาพชีวิตที่ดีอีกอย่างหนึ่งเลยคือการที่นี่คนมีเวลามากกว่า กรุงเทพฯทำให้เราเครียดมาก ทั้งงาน ทั้งเวลาที่เสียไปกับการขับรถบนถนนหลายชั่วโมงต่อวัน ถ้าตัดเรื่องเวลาออก ความเครียดของเราก็จะลดน้อยลงไปด้วย สุขภาพจิตก็จะดีขึ้นตาม

ความแตกต่างทางสังคมเมื่อเทียบกับไทย

เทียน-ฐิติรัตน์: ไวย์มาร์เป็นเมืองเล็ก ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ แต่เขาก็มีความพยายามจะช่วยเหลือและสื่อสารกับเรา ค่าครองชีพหรือราคาของกินของใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ตก็แทบไม่ต่างกับไทย เพียงแต่การมาอยู่ที่นี่เราก็ต้องค่อย ๆ เรียนรู้ในระบบหรือวัฒนธรรมในสังคมหลายอย่างของเขา เพราะสังคมที่เยอรมนีจะมีความเป็นชุมชนรวมกลุ่มมากกว่าที่ไทยที่จะมีความต่างคนต่างอยู่มากกว่า เพื่อนบ้านที่นี่ยังมีการพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือกันเยอะ เขายังมีเว็บบอร์ดของคนในบ้านเดียวกันมาใช้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันอยู่ ในทุก ๆ เมืองก็จะมีกลุ่มในเทเลแกรมคอยประกาศแจกของ ซึ่งของบางอย่างเราก็คาดไม่ถึงเลยว่าจะมีคนคิดแจกหรือจะมีคนเดินทางไปเอาจริง ๆ เช่น แก้วน้ำ กล่องกระดาษ อาหารที่เหลือครึ่งหม้อ ฯลฯ

ศร-ศรภัทร: ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่แค่วิธีคิดเรื่องความประหยัดอย่างเดียว มันยังเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย เขามองว่าของถ้าใช้ไปแค่ครั้งเดียวแล้วทิ้งเลยมันก็เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร หรืออาหารที่กินไม่หมดแล้วเอาไปทิ้งก็กลายเป็นขยะอาหาร (Foood Waste) การแบ่งปันตรงนี้ก็จะดีกับสิ่งแวดล้อมในองค์รวมมากกว่า

ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง

ศร-ศรภัทร: เราเคยได้ยินเรื่องการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิวอยู่บ้าง โดยเฉพาะกับคนอินเดียหรือตะวันออกกลาง แม้โดยส่วนตัวเราทั้งคู่ยังไม่เคยประสบเอง แต่ฝ่ายขวาจัดของเยอรมนีที่ไม่เอาคนต่างชาติเลยก็ยังมีอยู่ ถึงจะไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ก็ไม่ได้น้อยจนสบายใจได้ตลอด แต่ก็ยังโชคดีที่ในสังคมก็ยังมีคนที่เขาตระหนักถึงเรื่องนี้และช่วยเป็นเสียงให้ด้วยเหมือนกัน

เทียน-ฐิติรัตน์: ประชาชนในเยอรมนีก็มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองมาก ๆ ไม่ว่าจะฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้ายก็ตาม การประท้วงในประเทศนี้ก็สามารถทำได้โดยอิสระ เพียงแต่ต้องทำเรื่องขออนุญาติกับทางการก่อน ตำรวจจะต้องรับรู้และมีหน้าที่คอยดูแลความสงบไม่ให้มีใครถูกทำร้าย เพราะกฎหมายเขาปกป้องทุกคน รัฐให้อิสระและให้ความเท่าเทียมเป็นมาตรฐานเดียว ไม่มีการทำตามดุลยพินิจ

โอกาสของศิลปินต่างชาติในเยอรมนี

เทียน-ฐิติรัตน์: ด้วยความเปิดกว้างของสังคม โอกาสที่ศิลปินต่างชาติจะเข้ามาทำงานในเยอรมนีก็ไม่ได้ยากจนเป็นไปไม่ได้เลย ที่นี่จะมีวีซ่าศิลปินที่เราสามารถยื่นได้ถ้ามีผลงานในระดับหนึ่ง งานด้านศิลปะที่นี่ก็มีรองรับไม่น้อย นอกจากเป็นศิลปินอิสระ ก็ยังมีโครงการศิลปินในพำนัก (Artist Residency) ให้ยื่นเยอะ ซึ่งงานตรงนี้ก็จะมีรายได้เป็นเงินเดือนเลย แม้แต่การเป็นผู้ช่วยศิลปิน คนทำงานในแกลเลอรี่หรือในสถาบันศิลปะต่าง ๆ ก็ยังมีลู่ทางและความเป็นไปได้อีกเยอะ

ศร-ศรภัทร: คนไทยที่เจอส่วนใหญ่มีศักยภาพพอที่จะทำงานที่นี่ได้โดยไม่ได้ด้อยไปกว่าคนเยอรมันเลย ภัณฑารักษ์ที่นี่ก็มีหลายคนที่เขาสนใจแวดวงศิลปะในไทย เพราะในมุมมองของเขา ประเทศไทยยังมีความน่าตื่นเต้นอะไรเกิดขึ้นอีกมาก ทั้งสภาพสังคมและเหตุการณ์บ้านเมือง ถ้าเป็นนักเรียนศิลปะหรือเคยทำงานในแวดวงศิลปะที่ไทยยังไงก็มาทำงานที่นี่ได้อยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวเลย

จะเลือกย้ายประเทศออกไปหรือจะเลือกพัฒนาให้มันดีขึ้น

ศร-ศรภัทร: คำว่าอยากย้ายประเทศมันตีความได้สองแง่ คือ แง่หนึ่งคือการอยากย้ายตัวเองออกไปจากประเทศนี้ กับอีกแง่หนึ่งคือการอยากย้ายประเทศหนึ่งเปลี่ยนให้มันไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเราคิดว่ามันคงจะดีกว่าถ้าเรามีทั้งสองวิธีคิดนี้อยู่ในตัว คือถ้าเราอยากออกไปจากประเทศ มันก็เป็นโอกาสในการขยายทัศนคติหรือประสบการณ์ เราอาจจะไปค้นพบว่าเราอาจจะเหมาะกับสังคมบางที่มากกว่า แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราจะสลัดความเป็นคนไทยทิ้งไป เรายังรู้สึกว่าเรายังอยากขยับประเทศไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้น บางคนอาจจะออกมาเพื่อที่จะหาวิธีที่จะกลับไปพัฒนาและทำให้ประเทศมันดีขึ้นก็ได้

อีกอย่างหนึ่งคือ เราต้องมาตกลงเรื่องนี้กันให้ชัดเจนก่อนว่า นิยามคำว่าชาติคืออะไร คือประชาชนทุกคนรึเปล่า ซึ่งถ้าประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of Ownership) ในประเทศนี้ เราคงมีความเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถมีส่วนร่วมและกำหนดทิศทางของประเทศได้ แต่เรามองว่าหลายคนกำลังสิ้นหวังกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จนทำให้ยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะแก้ไข เพราะในขณะนี้ ความเป็นเจ้าของของทุกคนมันจบแค่ที่รั้วบ้านหรือที่ตัวเอง เราไม่สามารถไปกำหนดอะไรข้างนอกได้เลยว่าบ้านเมืองมันจะไปต่อในทิศทางไหน ซึ่งถ้าการเมืองมันดีขึ้นและทุกคนรู้สึกได้ถึงความเป็นเจ้าของประเทศมากขึ้น เรามองว่าคนส่วนใหญ่ก็คงไม่ได้อยากย้ายประเทศหรอก ทุกคนย่อมอยากที่จะเห็นประเทศดีขึ้น

ไม่ใช่แค่จำนวนประชากรที่ลดลง แต่หมายถึงแรงงานที่หายไป

เทียน-ฐิติรัตน์: คนรุ่นใหม่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามาก ถ้าเด็ก ๆ อยากย้ายออกไปหมด ประเทศคงกระทบและขาดสมดุลย์มาก ทั้งในแง่แรงงานและภาษี อย่างที่เยอรมนี รัฐจะให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กมาก กฎหมายของเขาจะสนับสนุนให้คนมีลูก พอมีลูกแล้วจะได้เงินสนับสนุนจากรัฐจนบรรลุนิติภาวะ ทำให้คนเยอรมันมีลูกแล้วไม่ลำบาก ทุกครอบครัวสามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดีให้ลูกได้ กฎหมายที่นี่เขามองภาพใหญ่ อย่างรัฐสวัสดิการที่เขาให้ประชาชนก็ไม่ใช่การให้เปล่าเพียงอย่างเดียว แต่สุดท้ายรัฐก็จะได้รับแรงงานที่มีคุณภาพกลับมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศด้วย เป็นการสร้างวงจรที่ดี ในขณะที่ในไทย การมีลูกจะยิ่งทำให้พ่อแม่จนลงกว่าเดิม เพราะเราไม่มีรัฐสวัสดิการมารองรับตรงนี้ คุณภาพชีวิตของเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยก็จะไม่ดีตามไปด้วย ทำให้เขาอยากย้ายไปอยู่ที่อื่น ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้นจริง ต่อให้พวกนายทุนรวย ๆ อยู่รอดก็จะไม่มีคนซื้อสินค้าและบริการจากเขาอยู่ดี มันกระทบต่อไปเป็นวงจรหมด

ศักยภาพล้นเหลือในประเทศที่สิ้นหวัง

ศร-ศรภัทร: จริง ๆ ประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและความคิดสร้างสรรค์สูงมาก เรามีคนเก่งและมีศักยภาพอยู่เต็มไปหมด ถ้าถูกนำไปใช้ถูกที่ถูกทางจะไปได้ไกลกว่านี้มาก สมมติว่าคน ๆ หนึ่งมีพรสวรรค์เรื่องอากาศพลศาสตร์ (Aero Dynamic) สามารถไประดับอวกาศได้ ถ้าเขาเกิดในบางประเทศก็คงสามารถจะเติมเต็มความฝันของเขาไปได้สุดทาง แต่ในทางกลับกัน ถ้าเขาเกิดในไทย เขาจะสามารถเติมเต็มความฝันตรงนี้ได้ไหม หรือถ้าเขาสามารถทำได้ เขาจะได้ไปทำที่ประเทศไหน ใช่ที่ประเทศไทยรึเปล่า ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก

เทียน-ฐิติรัตน์: คนไทยไม่ได้ขี้เกียจ คนไทยเก่งและมีความอดทนสูงมาก พอเรามาอยู่ที่นี่ ในสายตาของคนชาติอื่นก็จะมองว่าเราทำงานหนักมาก ทั้งที่จริง ๆ แล้วตอนอยู่ไทยสิ่งนี้คือเรื่องปกติมาก เราแค่เกิดมาในสังคมที่ต้องสู้ ต้องดิ้นรน ถ้าไม่ทำก็อยู่ไม่รอดและดูไร้ค่าด้วย เราเคยคุยกับเพื่อนที่นี่ เคยมีคนบอกว่าไม่อยากรวย เพราะสังคมเขาถึงไม่รวยก็ยังสามารถได้รับความต้องการพื้นฐานในชีวิตได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยไม่ต้องดิ้นรนทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ ทุกคนสามารถเลือกได้ว่าอยากจะเป็นหรืออยากจะมีอะไร แต่ถ้าเป็นที่ไทย การที่คนอยากรวยอาจจะไม่ใช่เรื่องของจำนวนเงินเพียงอย่างเดียว แต่มันคือความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล ซึ่งรัฐไม่ได้รองรับสิ่งพื้นฐานตรงนี้ให้

ศร-ศรภัทร: ซึ่งเราสามารถเห็นสิ่งนี้สะท้อนได้จากสื่อโฆษณา ที่ไทยจะเจอคำว่า “Exclusive” หรือ “สิทธิพิเศษ” ในโฆษณาบ่อย ๆ ในขณะที่ในเยอรมนีมักจะใช้คำว่า “Solidarity” หรือ “ความสมัครสมาน” มากกว่า เพราะเขามองว่าคน ๆ หนึ่งจะอยู่อย่างมีคุณภาพได้ก็ต่อเมื่อสังคมดี ถ้าสังคมดี การจะปล่อยให้เด็ก 7 - 8 ขวบเรียนรู้การพึ่งพาตนเองและเดินกลับบ้านคนเดียวก็เป็นไปได้ ซึ่งสิ่งนี้มันไม่สามารถเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯได้เลย

เทียน-ฐิติรัตน์: แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม จะย้ายหรือไม่ย้ายประเทศ เราอยากให้คนรุ่นใหม่มองว่าเราไม่ได้เป็นแค่ประชากรไทย แต่อยากให้มองว่าเราเป็นประชากรโลกมากกว่า เป็นการมองภาพกว้างที่จะทำให้เห็นคุณค่าของเราที่มีต่อสังคมมากขึ้น