The Studio Apollo ผู้ผลิตฟิลเตอร์ชุดนักเรียนทิพย์ที่อยากเห็นวงการออกแบบขับเคลื่อนไปข้างหน้า

Post on 24 January

หลังจากที่มีข้อเสนอจากข้าราชการบางท่านให้โรงเรียนและสถานศึกษาต่าง ๆ ออกระเบียบมาตรการให้เหล่านักเรียนต้องใส่ชุดนักเรียนระหว่างชั้นเรียนออนไลน์จากที่บ้าน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเชื่อว่าจะทำให้ผลการเรียนดีขึ้น ก็เกิดเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ให้ชาวเน็ตได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่สมเหตุสมผลของแนวคิดดังกล่าว 

ด้วยความชำนาญในงานออกแบบกราฟฟิก และสื่อ New Media ทั้งงานสามมิติ อนิเมชั่น และ Interactive Art รวมไปถึง AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว The Studio Apollo จึงไม่รอช้า เร่งเครื่องผลิตฟิลเตอร์ชุดนักเรียนทิพย์ออกมาเพื่อหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเหล่านักเรียนออนไลน์ที่ต้องทำตามระเบียบมาตรการดังกล่าว แต่นอกจากฟิลเตอร์ชุดนักเรียนทิพย์นี้จะถูกนำไปใช้งานจริงแล้ว มันยังไปไกลจนไวรัลในสื่อโซเชียลมีเดียในชั่วข้ามคืนและมีคนแชร์ออกไปร่วมสามหมื่นกว่าครั้ง!

GroundControl ร่วมพูดคุยกับ ‘โอ-ชิษณพงศ์ ธนาธีรสวัสดิ์’ และ ‘พอล-ธีรธัช ธรรมธัชอารี’ สองผู้ก่อตั้ง The Studio Apollo ที่แม้จะเพิ่งเปิดตัวไปสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ก็มีแนวคิดและผลงานที่น่าสนใจจนเราอดไม่ได้ที่จะคว้าตัวมาร่วมพูดคุยกันในสัปดาห์นี้ มาร่วมหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน ว่าด้วยงานออกแบบที่เป็นได้มากกว่าความสวยงาม แต่ยังสามารถกระตุ้นความคิดและเปลี่ยนแปลงสังคมได้

จุดเริ่มต้นของโปรเจ็คต์ฟิลเตอร์ชุดนักเรียน

แม้โพสต์ฟิลเตอร์ชุดนักเรียนจะไวรัลจนมีคนแชร์ไปกว่าสามหมื่นครั้ง แต่เบื้องหลังความสำเร็จของมันกลับเริ่มต้นมาจากไอเดียสนุก ๆ เพียงแวบเดียวเท่านั้น เมื่อนำไอเดียนี้มาต่อยอดกับความรู้ด้านการออกแบบสื่อ New Media ซึ่งเป็นความชำนาญ The Studio Apollo อยู่แล้วจึงยิ่งปัง!

โอ-ชิษณพงศ์: มันไม่ได้เกิดจากการที่เรามานั่งวิเคราะห์ข่าวหรือพยายามจะหาวิธีแก้ปัญหาอะไร แต่มันเกิดจากการที่เรามีไอเดียพวกนี้อยู่ในหัวอยู่แล้ว พอข่าวมันมาก็ไปสะท้อนและเชื่อมต่อกันทันทีเลย จำได้ว่าตอนนั้นเราพิมพ์ไปหาพอลว่าอยากทำอันนี้ ตอนนั้นพอลติดทำงานส่งประกวดอยู่ แต่ก็สนับสนุนให้เราลงมือทำเลย ซึ่งทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก ไม่มีการมานั่งคิดหรือถกอะไรกันมากมาย

พอล-ธีรธัช: จริง ๆ เราทดลองทำงานกับสื่อ New Media ในหลาย ๆ แบบอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่งานกราฟิก เราทำทั้งงานสามมิติ งานอนิเมชั่น รวมทั้งงาน AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) ด้วย สิ่งนี้ก็ทำให้เราซึมซับมาเรื่อย ๆ กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เราเลือกใช้มาตลอด ซึ่งมันเหมือนเป็นหนึ่งในเป้าหมายของสตูดิโอเราอยู่แล้วที่พยายามจะเรียนรู้และก้าวข้ามข้อจำกัดเดิม ๆ ของงานออกแบบ และหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะขยายขอบเขตของการสื่อสารว่ามันจะไปได้ถึงขนาดไหน เพราะว่าที่ผ่านมาเราก็เห็นว่า มันสามารถอยู่บนกระดาษ มันสามารถอยู่บนหน้าจอ แต่เราจะผลักมันออกไปให้มันไกลกว่านั้นได้ยังไง

สถิติจากผู้ใช้งานจริงที่ยังต้องพัฒนาต่อ

ไม่ว่าจะด้วยการใช้งานหรือการติดตั้ง แต่พอเราไปดูสถิติการใช้งานก็จะพบว่า คนที่นำฟิลเตอร์ชุดนักเรียนไปใช้ก็ยังกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มคนทำงานมากกว่าเด็กนักเรียนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักอยู่ดี

โอ-ชิษณพงศ์: ใน Snapchat จะมีสถิติแบ่งตามกลุ่มอายุ เพศ และประเทศที่ใช้งาน พอเราไปดูก็เห็นว่าตั้งแต่วัยมัธยมไปจนถึงวัยกลางคนจะเป็นกลุ่มที่มีการใช้งานเยอะที่สุด แต่จะไปกระจุกตัวอยู่ที่วัยทำงาน First Jobber เยอะมากที่สุด โดยถ้านับเป็นเปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด กลุ่มที่เป็นเด็กมัธยมจริง ๆ จะอยู่แค่ที่ประมาณ 20% เท่านั้นเอง ถือเป็นจำนวนน้อยมาก ซึ่งพอดูจากตรงนี้ เราก็วิเคราะห์คร่าว ๆ เองว่า มันน่าจะยังไปไม่ถึงตัวคนที่เราอยากให้เขาใช้งานจริง ๆ อาจจะเป็นเพราะว่ามันยังไม่มีใครทำให้ฟิลเตอร์นี้ถูกเอาไปใช้อย่างเป็นทางการ สามารถเอาไปใช้เรียนออนไลน์กันทั้งคลาสได้จริง ๆ แต่เราก็คาดหวังว่ามันจะถูกกระเพื่อมต่อไปอีกชั้นหนึ่ง จนสุดท้ายแล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเขาได้จริง ๆ

พอล-ธีรธัช: ส่วนหนึ่งเรามองว่าอาจจะเป็นเพราะเรื่องการติดตั้งด้วย ถึงเราจะมีเขียนวิธีการแนะนำไว้ แต่มันอาจจะซับซ้อน อ่านแล้วเข้าใจยากสำหรับบางคนได้ เร็ว ๆ นี้ก็เลยจะทำเป็นวิดีโอสอนวิธีติดตั้งลง YouTube ออกมาด้วย คนจะได้เข้าถึงได้ง่าย ๆ

การแต่งกายไม่สำคัญเท่าคุณภาพการศึกษา

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเด็นเรื่องกฎข้อบังคับการแต่งกายของเด็กนักเรียนไทยยังคงเป็นกระแสที่ถูกนำมาพูดถึงอยู่เสมอ แต่สำหรับทั้งสองคนแล้ว สิ่งที่ประเทศไทยควรก้าวข้ามมากไปกว่าแค่ชุดนักเรียน ควรเป็นเรื่องคุณภาพของการศึกษามากกว่า

โอ-ชิษณพงศ์: ถ้าเรามองไปที่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เราก็จะเห็นว่า เขาไม่มานั่งคุยกันเรื่องการแต่งกายกันแล้ว แต่เขาจะคุยกันเรื่องหลักสูตรหรือวิธีการสอน เราเองก็อยากให้เรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงกันมากกว่า เราเห็นการโต้แย้งเรื่องการแต่งกายกันมานานมากแล้ว มีมาตั้งแต่สมัยเรายังเป็นเด็ก จนถึงทุกวันนี้มันก็ยังไม่ขยับไปไหนเลย เราเลยรู้สึกว่ามันควรที่จะก้าวข้ามไปได้แล้ว ซึ่งตัวฟิลเตอร์ชุดนักเรียนที่ทำนี้ เราก็หวังว่ามันอาจจะเป็นตัวเร่งให้มันก้าวไปได้ไกลขึ้น

พอล-ธีรธัช: จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยมีโอกาสได้ไปเรียนต่างประเทศ เรามองว่า ไม่ใช่ว่าต่างประเทศไม่ใส่ชุดนักเรียนกันแล้ว หลายประเทศอย่างนิวซีแลนด์ อังกฤษ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เขาก็ยังใส่ แต่เขาก้าวข้ามเรื่องนี้และหันมาถกเถียงกันเรื่องคุณภาพการศึกษามากกว่า อย่างล่าสุดที่อังกฤษก็มีปัญหาเรื่องระบบการสอบ ขนาดเราคิดว่าระบบการศึกษาของเขาดีแล้ว แต่มันก็ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อบกพร่องอยู่เรื่อย ๆ เรามองว่า สิ่งที่เราควรจะถกกันต่อควรเป็นคำถามว่า เราจะสามารถพัฒนาให้การศึกษามันออกมาเป็นแบบไหน จะขยายไปในวงกว้างกว่านี้ได้ยังไง และจะทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมได้ยังไง มากกว่าเรื่องชุดนักเรียน

พื้นที่ของนักออกแบบที่ลดน้อยลงในภาวะวิกฤต

ไม่ใช่แค่นักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิดจนต้องเรียนออนไลน์ แต่วงการออกแบบก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ตอนนี้ไม่ต่างกัน แม้ตอนที่ The Studio Apollo เปิดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาสถานการณ์หลาย ๆ อย่างดูจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นและธุรกิจก็กำลังไปได้สวย แต่เมื่อต้องมาเจอกับการระบาดครั้งใหม่ที่มีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม โอ-ชิษณพงศ์มองว่ามันแทบจะกวาดอาชีพนี้ทิ้งไปเลย

โอ-ชิษณพงศ์: ในการทำธุรกิจ ถ้าจะต้องตัดงบอะไรออกไปเป็นงบแรก ส่วนใหญ่จะเป็นงบด้านศิลปะและการออกแบบ เรากลายเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่โดนตัดออกจากแผนธุรกิจของหลายเจ้า แม้แต่พื้นที่แสดงออกก็มีน้อยลง เอาจริง ๆ ในภาวะปกติตั้งแต่ก่อนที่จะมีโควิดมันก็ยากอยู่แล้ว พื้นที่สาธารณะสำหรับให้ศิลปินหรือนักออกแบบได้จัดแสดงมันมีน้อยและขออนุญาตยากเหลือเกิน อย่างหอศิลป์เองก็โดนมาตลอดว่าจะปิดแหล่ไม่ปิดแหล่ แต่พอมาเป็นปัจจุบันคือมันต้องปิด 100% เพราะฉะนั้น พื้นที่ของเราก็ยิ่งเหลือน้อยลงไปอีก ตัวผลงานก็มีน้อยลงไปอีก แต่ก็ในความยากทั้งหมดนี้ก็ทำให้เราต้องดิ้นรนมากขึ้น ซึ่งก็ถือว่าเรายังโชคดีที่มาได้โอกาสและพื้นที่โลกออนไลน์ตรงนี้ให้ได้แสดงออก

เพราะคุณค่าของงานกราฟฟิกไม่ได้อยู่แค่ที่ผลลัพธ์

คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่างานกราฟฟิกดีไซน์เป็นแค่ โลโก้ นามบัตร หรือโปสเตอร์ แต่จริง ๆ แล้วในฐานะนักออกแบบ ทั้งคู่มองว่ามันมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาองค์กรหรือประเทศ ทั้งในด้านการสื่อสารหรือและการแสดงออก

พอล-ธีรธัช: กราฟฟิกดีไซน์มันสำคัญและใกล้ตัวกว่าที่หลายคนคิด การใช้ชีวิตในหนึ่งวันของเราต้องเจอกราฟฟิกดีไซน์ตลอด มันอยู่ในทุกที่ที่ตาเรามองเห็น อย่างช่วงโควิดที่ผ่านมา เราก็จะเห็นว่า มันมีการใช้ป้ายประชาสัมพันธ์เพื่อบอกให้คนรู้วิธีป้องกันและรับมือ หรือแม้แต่ป้ายบนฉลากยาก็ยังใช่ สิ่งเหล่านี้คือหน้าที่ของกราฟฟิคดีไซเนอร์ที่ต้องช่วยเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ให้ประชาชนเข้าใจสารได้ครบถ้วนและถูกต้อง เรามองว่ากราฟฟิกดีไซเนอร์เป็นเหมือนนักแปลข้อมูลให้ออกมาเป็นภาพให้คนเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น

พอล-ธีรธัช: นอกจากมันจะมีความสำคัญแล้ว มันยังมีมูลค่ามากกว่าที่หลายคนคิด บางคนอาจจะคิดว่า ในโลโก้ที่ดูเรียบง่าย ใครก็ทำได้ แต่ก่อนที่มันจะมาจบเป็นตรงนี่ มันผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนมาเยอะมาก มีการหาข้อมูล การทดลอง และการแก้ปัญหามาหลายอย่าง อย่างที่เราเรียนต่างประเทศ เขาดูกระบวนการที่มาของความคิดมากกว่าผลลัพธ์ซะอีก ตรงนี้คือคุณค่าของผลงานที่แท้จริง

โอ-ชิษณพงศ์: ซึ่งสิ่งนี้ตัวดีไซเนอร์บางคนเองก็มองข้าม ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันมากพอ หรือไม่ได้เอาไปเป็นส่วนหนึ่งของการขายงานด้วยซ้ำ มันก็เลยกลายเป็นว่ามูลค่าของผลงานเรามันมีแค่ผลลัพธ์ตอนจบที่ดูแปบเดียวก็เสร็จ ไม่ได้มีคุณค่าอะไรไปมากกว่านั้น

เวทีสำหรับเหล่านักสร้างสรรค์

เพราะศักยภาพของคนไทยยังมีอะไรให้ต่อยอดอีกมาก ยังมีคนไทยที่มีความสามารถและได้รับการยอมรับในระดับสากลอีกมากที่แม้แต่คนไทยเองก็ยังไม่รู้จัก ทั้งคู่จึงอยากเห็นพื้นที่ให้เหล่านักสร้างสรรค์ได้แสดงออกและโชว์ของมากขึ้น

โอ-ชิษณพงศ์: เราอยากให้เมืองไทยเป็นแหล่งรวมความคิดสร้างสรรค์ คือไม่ใช่แค่คนไทย แต่ดึงความคิดสร้างสรรค์จากทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทยเลย อย่างพวกนักออกแบบดัง ๆ ในประเทศไทยนี่ต่างประเทศเขาติดตามและยกย่องกันหลายคนเลย ซึ่งจริง ๆ มันก็ไม่ใช่แค่นักออกแบบเท่านั้น ถ้าเรามองไปในสาขาอื่น ๆ ก็จะพบว่ามันมีหลายคนที่เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น สาขาภาพยนตร์ เราก็มีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่ได้ไปฉายต่างประเทศ หรือสาขาโฆษณา เราก็จะเห็นว่าโฆษณาไทยไปคว้ารางวัล Cannes มาตลอดเลย แต่ที่น่าเศร้าคือเรามีคนที่มีศักยภาพสูงในระดับโลกมากขนาดนี้ แต่คนไทยเองกลับไม่ค่อยรู้จัก มันเหมือนกับว่าเรามีทรัพยากรที่ดีมาก แต่กลับไม่มีพื้นที่ให้กับคนเหล่านี้เท่านั้นเอง

พอล-ธีรธัช: ทรัพยากรบ้านเรามีเยอะมากและควรไปได้ไกลกว่านี้ แต่มันน่าเสียดายที่เราไม่มีพื้นที่ตรงนี้ให้เขาได้โชว์ของ เราอยากให้คนเห็นถึงความสำคัญของงานศิลปะหรือกราฟฟิกมากกว่านี้ว่ามันสามารถช่วยแก้ปัญหาอะไรหลายหลายอย่างได้เยอะมาก ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่คุณภาพชีวิต

การสร้างมูลค่าของงานออกแบบโดยรัฐ

นอกจากภาคเอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วมและผลักดันวงการออกแบบแค่ไหน แต่ก็ยังต้องพึ่งการสนับสนุนและต่อยอดจากรัฐด้วย

โอ-ชิษณพงศ์: อย่างแรกเลย รัฐสามารถนำศาสตร์ของการออกแบบเข้าไปใช้เอง ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม กราฟฟิก หรือสื่อโฆษณา เรามีนักสร้างสรรค์คุณภาพระดับโลกอยู่แล้ว ให้พื้นที่และดึงเขาเข้าไปทำร่วมกับรัฐเท่านั้นเอง ถ้ามันเกิดขึ้นได้จริง ภาคเอกชนทั้งหมดก็จะสามารถเข้ามาหยิบจับตรงนี้ได้เพิ่มขึ้นเอง แต่ในปัจจุบันมีแต่เอกชนที่จับ พอจะไปทำงานร่วมกับรัฐปุ๊บก็โดนเบรกหมดเลย ซึ่งจริง ๆ ตอนนี้มันเป็นเหมือนช่วงที่กำลังเปลี่ยนแปลงและขยับไปข้างหน้า มีภาคเอกชนบางส่วนเริ่มได้เข้าไปทำงานพัฒนาร่วมกับรัฐบ้างแล้ว เราคิดว่ามันจะเป็นการเคลื่อนไหวที่ดีที่จะช่วยให้มูลค่าของงานออกแบบเยอะขึ้นด้วย เพราะถ้าคนเข้าใจว่างานออกแบบมันมีกระบวนการแบบไหน มีมูลค่ายังไง แล้วมันสร้างประโยชน์กลับมาได้ขนาดไหน ในภาพรวม การลงทุนมันในส่วนนี้ก็จะน่าลงทุนมากขึ้นด้วย

พอล-ธีรธัช: เรามองว่า ตัวของรัฐเองในหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน มีสิ่งหนึ่งที่สามารถพัฒนาได้เหมือนกันคือเรื่องการประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร บางหน่วยงานมีสิ่งที่ดีแล้วเขาก็พยายามอยากจะให้ประชาชนเข้าใจ แต่ว่าในวิธีการสื่อสารของเขา บางครั้งมันทำให้คนเข้าใจผิด ซึ่งจริง ๆ สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นในทุก ๆ รัฐบาลเลย สิ่งเหล่านี้กราฟฟิกดีไซเนอร์หรือคนในวงการครีเอทีฟสามารถเข้าไปช่วยได้ถ้าเขายื่นมือให้โอกาส เราค่อนข้างเชื่อว่า มันจะสามารถสื่อสารสิ่งที่ทางหน่วยงานต่าง ๆ อยากจะบอกประชาชนไปได้ดีขึ้น

โอ-ชิษณพงศ์: นอกจากการเพิ่มมูลค่าของงานออกแบบเพื่อสังคมและวงการในองค์รวมแล้ว มันยังเพื่อตัวดีไซเนอร์ในเชิงปัจเจกด้วย อย่างที่เราเห็นมาตลอดคือเรื่องของความมั่นใจในตัวดีไซน์เนอร์แต่ละคนทีพอเขาเรียนจบมาและต้องออกไปสู่การทำงานจริง การที่เขาจะเรียกตัวเองว่าเป็นดีไซน์เนอร์มันแปลเป็นเงินเดือนกลับมาแค่ 20,000 บาท ความมั่นใจมันหดหายไปเลย ยิ่งถ้าเราไปฟังรุ่นพี่ดีไซเนอร์ที่เขาทำงานมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว เขาก็จะบอกว่า เงินเดือนเขาเริ่มต้นที่ 8,000 บาทเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราไปเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ 20 ปีผ่านไป จากเงินเดือน 8,000 มันขึ้นไปถึงแค่ประมาณ 10,000 หรือ 20,000 บาทต่อเดือนเท่านั้นเอง ซึ่งแซงอัตราเงินเฟ้อไปนิดเดียวเอง จริง ๆ แล้วเท่ากับว่า คุณค่าของนักออกแบบมันไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยมันสะท้อนให้เห็นว่า ใน 20 ปี เราไม่มีพัฒนาการในด้านมูลค่างานออกแบบเลยเหรอ

คอมมินิตี้ของนักสร้างสรรค์เพื่อนักสร้างสรรค์

แม้ตอนนี้ทั้งคู่จะยังไม่ได้วางแผนถึงโปรเจ็คต์ใหม่ในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก เพราะกำลังมุ่งพัฒนาและผลักดันให้ฟิลเตอร์ชุดนักเรียนถูกนำไปใช้งานจริงมากกว่า แต่สุดท้ายก็ยังแอบมีความคิดที่จะต่อยอดจะสร้างคอมมินิตี้ของเหล่านักสร้างสรรค์ เพื่อช่วยเหลือกันเองในภาวะวิกฤต และพัฒนาสังคมให้สามารถขับเคลื่อนไปต่อได้

โอ-ชิษณพงศ์: ในระหว่างทาง มันก็เกิดไอเดียเรื่องการรวมคนสร้างเป็นการเคลื่อนไหวขึ้นมาในระดับหนึ่ง ยิ่งในภาวะแบบนี้ เราอยากให้คนในกลุ่มดีไซเนอร์มาช่วยกันคิดว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง คือเราทุกคนได้รับผลกระทบแรงมากจริง ๆ ถึงสิ่งนี้อาจจจะไม่ได้เลี้ยงปากท้องเรา แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้สังคมดีขึ้น ทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้น และทำให้ความหวังมันกลับมา ที่ตอนนี้คิดกันคร่าว ๆ อาจจะเป็นกิจกรรมเวิร์คช็อปหรือทอล์ค ก็เป็นไอเดียที่เรายังต้องพัฒนาต่อ

พอล-ธีรธัช: เรามองว่าสิ่งนี้มันก็อาจจะไปเสริมหรือขยายพื้นที่ให้พวกเราได้แสดงออกเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อยด้วย มันเหมือนกับว่าเรากำลังช่วยกันดิ้นรนและทำให้วงการนี้หรือตัวดีไซเนอร์แบบเรากันเองไปต่อได้มากกว่า