(Spoil Alert: มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยรตร์)
ถ้าจะกล่าวถึงภาพยนตร์สยองขวัญที่กำลังมาแรงสุด ๆ ในวินาทีนี้คงจะหนีไม่พ้น Incantation ‘มนตรา’ จาก Netflix โดยผู้กำกับมากฝีมืออย่าง เควิน โค ที่นำเอาคติชนความเชื่อต่างๆ ของไต้หวันและเอเชียมาสร้างสรรค์ความสยองขวัญผ่านการเล่าเรื่องแบบฟาวนด์ฟุตเทจ ที่เล่าเรื่องราวของ ‘หลีรั่วหนาน’ หญิงสาวที่โดนคำสาปจากการฝ่าฝืนกฎเข้าไปในอุโมงค์ต้องห้ามของหมู่บ้านที่บูชาเทพเจ้าลึกลับ พร้อมกับ ‘อาตง’ แฟนของเธอ และเพื่อนอีกคนที่ชื่อว่า ‘อาหยวน’ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เธอมีอาการป่วยทางจิตจนไม่สามารถเลี้ยงดู ‘ตั่วตัว’ ลูกสาวที่เธอคลอดหลังจากเหตุการณ์นั้นไม่นานนัก
6 ปีต่อมา เมื่อรั่วหนานได้รับการบำบัดจนอาการดีขึ้น จึงไปรับตั่วตัวกลับมาเลี้ยงดู ทว่าเรื่องราวแปลก ๆ กลับเกิดขึ้นกับลูกสาวและตัวเธอ จนทำให้รั่วหนานเริ่มเชื่อว่าคำสาปที่เธอได้รับเมื่อ 6 ปีก่อนกำลังกลับมาเล่นงานเธอกับลูก ทำให้เธอต้องหาวิธีเพื่อแก้คำสาป ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป…
ใน Incantation ตัวละครสำคัญนอกจากจะเป็นนักแสดงหญิงผู้รับบทแม่ที่ต้องคำสาปแล้ว คติความเชื่อต่าง ๆ ทั้งจากฝั่งพุทธฝ่ายมหายาน วัชรยาน รวมไปถึงความเชื่อท้องถิ่นของไต้หวันที่ถูกนำมาผสมผสานกันไว้ในเรื่อง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเอกสำคัญที่ทำให้ Incantation กลายเป็นความสยองรสชาติคุ้นลิ้น ที่คนเกิดในเมืองพุทธและคุ้นเคยกับการไหว้เจ้าไหว้ศาลอย่างเราแอบขนลุกชันตลอดทั้งเรื่อง
ใครที่เดินทางลงไปในอุโมงค์ต้องห้าม และได้สัมผัสความสยองของเรื่องราวคนล่าผีแต่ผีล่ากลับเรื่องนี้มาแล้ว GroundControl ขอชวนทุกคนวนกลับไปในอุโมงค์เฮี้ยนอีกครั้ง เพื่อไปร่วมกันส่องสัญญะและนัยซ่อนเร้นของสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกซ่อนไว้ใน Incantation ถ้าอยากรู้ว่ามีอะไรบ้าง ก็เลื่อนไปดูกันเลย
แต่ก่อนไป… ท่องในใจพร้อมกัน โหโฮซิวอี ซีเซ้อู่มา…
Incantation… มนตรา
”ช่วยฉันด้วย มาท่องพร้อม ๆ กัน หรือจะท่องในใจก็ได้’ นี่เป็นประโยคแรก ๆ ที่ เราได้ยินจากรั่วหนาน ก่อนที่เธอจะท่องมนตราบทหนึ่งออกมา นั่นก็คือ โหโฮซิวอีซีเซ้อู่มา (火佛修一心薩嘸哞) ที่เธอขอร้องให้ผู้ที่กำลังชมวิดีโอตัวนี้อยู่ (หรือก็คือผู้ชมอย่างเรา ๆ นั่นแหละ) ช่วยกันท่องคาถาบทนี้ เพื่อขอพรและช่วยคุ้มกันภัยให้ลูกสาวของเธอ
‘มนตรา’ กลายเป็นแกนสำคัญของหนังสยองขวัญจากไต้หวันเรื่องนี้ (คำว่า Incantation ในชื่อเรื่อง ก็แปลเป็นไทยว่า ‘มนต์) การสวดมนต์คืออีกหนึ่งกิมมิกที่ผู้สร้างหนังหยิบมาจากพุทธศาสนาโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาสนาพุทธฝ่ายมหายานและวัชรยานที่มนตรามีบทบาทสำคัญอย่างมากและมีเป็นร้อย ๆ บททั้งสั้นและยาว เชื่อกันว่ามนตราเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถทำให้ผู้สวดเกิดความรู้แจ้งและเป็นสิริมงคลในชีวิต ทั้งยังเชื่อว่าการภาวนามนตรานั้นไม่เพียงสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองแต่หากยังเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น โดยยิ่งสวดมนตรามากเท่าไหร่ สิ่งดีงามก็จะเเพร่กระจายไปสู่เพื่อนมนุษย์มากขึ้นเท่านั้น
ชาวทิเบตจึงใช้คอนเซปต์ตรงนี้สร้างไอเทมชิ้นหนึ่งขึ้นมา นั่นก็คือ ‘ธงมนต์’ ซึ่งเป็นแผ่นผ้าที่เขียนมนตราทั้งบทสั้นและบทยาวเอาไว้ ชาวทิเบตจะนำธงมนต์ไปแขวนไว้ตามภูเขาสูงเพื่อให้สายลมที่พัดผ่านอักขรมนตร์กลายเป็นสายลมศักดิ์สิทธิ์หอบเอาพรจากมนตราบทต่าง ๆ ไปยังผู้คนด้านล่าง มนตราในมิติทางศาสนาพุทธเป็นสิ่งที่ดี แต่ในหนังนั้นได้นำคอนเซปต์นี้มาแปรเปลี่ยนจากการแพร่กระจายของพรให้กลายเป็นการแพร่กระจายของความทุกข์ เห็นได้จากตอนท้ายของเรื่องที่เฉลยให้เรารู้ว่า โหโฮซิวอีซีเซ้อู่มา แท้จริงไม่ใช่คำอวยพร แต่เป็นคำสาป
ความหมายของมนตราบทนี้คือ ‘ข้าพเจ้าเต็มใจแบ่งปันคำสาปนี้และถวายนาม’ ยิ่งพวกเราสวดกันมากเท่าไหร่คำสาปก็จะถูกแบ่งปันออกไปมากเท่านั้น รั่วหนานทราบความจริงข้อนี้จากพระภิกษุที่ยูนนานว่าคำสาปของเจ้าแม่ดำไม่สามารถลบล้างได้ มีเพียงแต่ทำให้เจือจางลง เธอเลยหลอกให้คนดูอย่างเราสวดมนตราเพื่อให้พวกเราช่วยรับคำสาปกันไปคนละเล็กละน้อย
ชาวทิเบตจึงใช้คอนเซปต์ตรงนี้สร้างไอเทมชิ้นหนึ่งขึ้นมา นั่นก็คือ ‘ธงมนต์’ ซึ่งเป็นแผ่นผ้าที่เขียนมนตราทั้งบทสั้นและบทยาวเอาไว้ ชาวทิเบตจะนำธงมนต์ไปแขวนไว้ตามภูเขาสูงเพื่อให้สายลมที่พัดผ่านอักขรมนตร์กลายเป็นสายลมศักดิ์สิทธิ์หอบเอาพรจากมนตราบทต่าง ๆ ไปยังผู้คนด้านล่าง มนตราในมิติทางศาสนาพุทธเป็นสิ่งที่ดี แต่ในหนังนั้นได้นำคอนเซปต์นี้มาแปรเปลี่ยนจากการแพร่กระจายของพรให้กลายเป็นการแพร่กระจายของความทุกข์ เห็นได้จากตอนท้ายของเรื่องที่เฉลยให้เรารู้ว่า โหโฮซิวอีซีเซ้อู่มา แท้จริงไม่ใช่คำอวยพร แต่เป็นคำสาป
ความหมายของมนตราบทนี้คือ ‘ข้าพเจ้าเต็มใจแบ่งปันคำสาปนี้และถวายนาม’ ยิ่งพวกเราสวดกันมากเท่าไหร่คำสาปก็จะถูกแบ่งปันออกไปมากเท่านั้น รั่วหนานทราบความจริงข้อนี้จากพระภิกษุที่ยูนนานว่าคำสาปของเจ้าแม่ดำไม่สามารถลบล้างได้ มีเพียงแต่ทำให้เจือจางลง เธอเลยหลอกให้คนดูอย่างเราสวดมนตราเพื่อให้พวกเราช่วยรับคำสาปกันไปคนละเล็กละน้อย
เจ้าแม่ที่ใครก็ตาม….. ห้ามมองหน้า
อีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับหนังเรื่องนี้ คือ เจ้าแม่ดำ ผู้เป็นที่เคารพสักการะของตระกูลเฉินและเป็นต้นกำเนิดของคำสาปชั่วร้ายที่บุคคลต่าง ๆในเรื่องได้รับ
ในหนัง ผู้สร้างหนังไม่ได้เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าแม่แห่งความอาฆาตผู้นี้มากนัก นอกจากเล่าว่าลัทธิการนับถือเจ้าแม่นี้ได้ถูกเผยแพร่เข้ามาจากดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ยูนนาน ก่อนจะไปถึงตระกูลเฉินในไต้หวัน ซึ่งตระกูลนี้ได้สืบทอดความเชื่อจากรุ่นสู่รุ่น และจัดพิธีสักการะเจ้าแม่ทุก ๆ สิบปี ดังที่เราได้เห็นว่า ในพิธีมีการถวายชื่อให้กับเจ้าแม่เพื่อให้เจ้าแม่คุ้มครอง
แต่แล้วในตอนท้ายเรื่อง พระภิกษุยูนนานเฉลยให้รั่วหนานและคนดูได้ทราบว่า แท้จริงแล้ว เจ้าแม่องค์นี้เป็นเทพเจ้าแห่งความชั่วร้าย สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเจ้าแม่นั้นเต็มไปด้วยคำสาป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญลักษณ์ของมนตราที่ใช้เป็นตัวกลางในการเผยแพร่คำสาปไปสู่คนอื่น ยิ่งจ้องลึกเข้าไปในสัญลักษณ์นั้นมากเท่าไหร่ คำสาปก็จะยิ่งแรงมากเท่านั้น แต่ส่วนที่แรงที่สุดทุ่เป็นต้นกำเนิดของพลังคำสาปทั้งหมด คือใบหน้าของเจ้าแม่ นั่นทำให้คนตระกูลเฉินปิดหน้าของเจ้าแม่ไว้และไม่ไปมองเด็ดขาด แต่เขียนสัญลักษณ์รูปหน้าไว้บูชาแทน
แต่ๆ…..ใครที่ได้เห็นหน้าเจ้าแม่ในตอนท้ายสุดก็ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนคำสาปนะ เพราะเจ้าแม่เป็นเทพที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาในหนัง แต่ในการสร้างตัวละครเจ้าแม่ขึ้นมานั้น ผู้สร้างหนังก็ได้อ้างอิงรูปพรรณสันฐานของเจ้าแม่จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธหลาย ๆ องค์ นำมาผสมรวมกันเป็นแกงโฮะฉบับพระแม่ เห็นได้ชัดจากภาพวาดและเทวรูปเจ้าแม่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบทิเบต เด็กน้อยในตักเจ้าแม่เป็นลักษณะสำคัญของพระนางหาริตี ซึ่งเป็นพระธรรมบาล (เทพเจ้าผู้คอยปกป้องพระธรรมและศาสนิกชน) ในยุคแรกเริ่มของศาสนาพุทธ รูปเคารพของพระนางจะมีเด็กน้อยนั้งอยู่บนตักอยู่เสมอ เพราะเดิมที นางเป็นยักษ์ที่มีลูก 500 ตน และคอยจับชาวเมืองราชคฤห์กินเป็นอาหาร จนชาวเมืองต้องไปเชิญให้พระพุทธเจ้ามาปราบ ทำให้นางยักษ์หาริตีกลายร่างเป็นหญิงสาวสวยงามและปฏิญาณตนว่าจะขอปกป้องศาสนาพุทธ วัดวาอาราม และพุทธศาสนิกชนทุกคนตลอดไป นางและลูก ๆ ทั้ง 500 ตนจึงได้รับการบูชาในฐานะ ‘แม่’ ของศาสนิกชนนับแต่นั้นเป็นต้นมา
สิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกหนึ่งองค์ที่คาดว่าน่าจะเป็นต้นแบบของเจ้าแม่ดำคือ เจ้าแม่กาลี ของศาสนาฮินดู เห็นได้จากแขนขวาของเจ้าแม่ดำที่ถือหัวของมนุษย์ กับถ้วยที่รองรับเอาเลือดจากหัวด้านบน ส่วนท่านั่งที่ยื่นเท้าออกมาข้างหนึ่งน่าจะเป็นท่านั่งของพระโพธิสัตว์ตาราซึ่งได้รับการนับถืออย่างมากในศาสนาพุทธวัชรยาน ท่านั่งนี้เป็นท่านั่งของพระโพธิสัตว์ที่เรียกว่า ลลิตาสนะ เป็นท่านั่งแบบลำลอง โดยมากแล้วมักปรากฏกับเทพ เทวี และพระโพธิสัตว์ต่างๆ เพื่อเสริมคุณลักษณ์ของความเป็นกษัตริย์หรือชนชั้นสูง ลักษณะทั้งหมดนี้เป็นสิ่งละอันพันละน้อยของสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์ต่าง ๆ ที่ผู้กำกับนำมาประกอบสร้างใหม่จนกลายเป็นปีศาจน่าเกลียดน่ากลัวอย่างเจ้าแม่ดำได้อย่างแยบยล
大黑佛母…ชื่อนั้นสำคัญไฉน
ยังอยู่กันที่เจ้าแม่ดำ ถ้าสังเกตชื่อเจ้าแม่ในภาษาจีนแล้วจะพบว่าการเรียกนางว่า ‘เจ้าแม่’ คงไม่ถูกนัก เพราะชื่อภาษาจีนสถาปนายศนางไว้สูงมาก โดยใช้ชื่อว่า 大黑佛母 ซึ่งมาจากการผสมคำระหว่างคำว่า 大黑 ( dàhēi ) แปลว่า มหากาฬ และ 佛母 (fómǔ) ที่แปลว่า พุทธมารดา คำว่า大黑 (dàhēi) หรือ มหากาฬนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมีที่มาจากชื่อ มหากาฬ หรือ 大黑天(dàhēitiān)ซึ่งเป็นธรรมบาลของศาสนาพุทธวัชรยาน พระองค์เป็นตัวแทนของสภาวะที่อยู่เหนือกาลเวลาและความตาย ทั้งยังเป็นตัวแทนของการเอาชนะอวิชชาและกิเลส ถึงแม้รูปลักษณ์ของพระองค์ในทิเบตจะดูดุร้ายมีไฟออกจากตัว แต่พอศาสนาพุทธแพร่เข้าไปในญี่ปุ่น พระองค์ก็ถูกเปลี่ยนรูปลักษณ์ให้กลายเป็นเทพแก่ ๆ หน้าตาใจดี ถือถุงทองไว้ในมือ รู้จักกันในนาม ‘เอบิซึ’
อีกคำที่ปรากฏในชื่อเจ้าแม่ดำคือคำว่า 佛母 fómǔ ซึ่งแปลว่า พุทธมารดา เมื่อกล่าวถึง พุทธมารดา เราจะนึกถึง พระนางสิริมหามายาผู้เป็นมารดาของพระพุทธเจ้า แต่คอนเซปต์ ‘พุทธมารดา’ ในมหายานและวัชรยานนั้นบียอนด์ไปมากกว่านั้น และไม่ได้มองว่าพุทธมารดาเป็นแค่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากมีการผสานแนวคิดทางปรัชญาและสัญญะเข้าไปในคำดังกล่าว โดยเชื่อกันว่า พุทธมารดา คือ ผู้ให้กำเนิดพระพุทธเจ้าจำนวนนับไม่ถ้วน เช่น พุทธมารดาหนึ่งองค์อาจจะเป็นผู้ให้กำเนิดพระพุทธเจ้าหลายล้านพระองค์ การให้กำเนิดในที่นี้อาจจะไม่ได้มีนัยยะถึงการคลอดออกมา แต่หมายถึงการให้คำสั่งสอนที่นำพามนุษย์นับไม่ถ้วนไปสู่การบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า นั่นทำให้คำว่า พุทธมารดา อีกนัยหนึ่งก็เป็นคอนเซปต์ที่หมายถึง ปัญญาและกรุณา ซึ่งเป็นสิ่งนี้ทำให้คนคนหนึ่งเลือกที่จะทำประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์จนได้เป็นพระพุทธเจ้า
พุทธมารดาในความเชื่อของมหายานและวัชรยานมีอยู่หลายองค์มาก เช่น พระจุณฑีพุทธมารดา พระสิตาตปัตรพุทธมารดา พระปรัชญาปารมิตาพุทธมารดา แต่องค์ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะมีอิทธิพลต่อรูปลักษณ์ของเจ้าแม่ดำ คือ พระอุษณีษวิชัยพุทธมารดาผู้ประทานอายุยืนยาวแก่มวลมนุษย์ เนื่องจากจำนวนแขนและการวางมือที่คล้ายกัน โดยที่ผู้กำกับอาจจะจับลักษณะของท่านมาพลิกแพลงให้มีความน่ากลัว เช่นเปลี่ยนสิ่งของในมือให้กลายเป็นเส้นผม คางคก โถที่มีหนอนยั้วเยี้ย และศีรษะมนุษย์ มาประกอบสร้างคอนเซปต์ใหม่จนเกิดเป็นเจ้าแม่ดำผู้เป็นปีศาจที่น่ากลัวในที่สุด จากคอนเซปต์พุทธมารดา จะเห็นได้ว่าหนังเรื่องนี้เล่นประเด็นกับคำว่า ‘แม่’ อย่างหนักหน่วงมากผ่านทั้งตัว รั่วหนาน ที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อลูกคู่ขนานไปกับเจ้าแม่ดำที่เป็นถึงพุทธมารดาแต่กลับไม่มีความเมตตาปราณี หนังเรื่องนี้จึงเป็นการทวิสต์ความหมายที่ดีงามทั้งหมดให้กลายความหมายในแง่ลบ จนสามารถสร้างความสะพรึงให้กับผู้ชม
มุทรา…อย่าทำสุ่มสี่สุ่มห้า ระวังจะหาเรื่องเข้าตัว
ในหลาย ๆ ฉาก เราจะเห็นว่าทั้งนางเอกและคนในหมู่บ้านตระกูลเฉินทำสัญลักษณ์มือบางอย่างที่เป็นการกรีดนิ้วแล้วหันหลังมือให้ชนกัน พวกเขาใช้สัญลักษณ์นี้ทั้งในการทักทาย สวดมนต์ และในพิธีกรรม ซึ่งในภายหลัง พ่อ (บุญธรรม) ของตั่วตัวก็ได้ค้นพบว่า ท่าทางการทำมือเช่นถูกนี้ดัดแปลงมาจากท่าปาฟางเทียน ที่เป็นการเอานิ้วหันเข้าหากันจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการรับพร แต่เมื่อหันกลับอีกด้านมันย่อมเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม จากการรับก็กลายเป็นการกระจาย จนในตอนท้ายของเรื่องปมนี้ก็ถูกเฉลยว่า ท่ามือนี้ใช้เพื่อการกระจายคำสาปให้แพร่ออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นั่นทำให้เวลานางเอกหรือคนในหมู่บ้านสวดมนตรา โหโฮซิวอีซีเซ้อู่มา พวกเขาต้องทำท่านี้ไปด้วย เพื่อกระจายคำสาปออกไปจากตัวนั่นเอง
จริง ๆ แล้วการทำท่ามือแบบนี้มีชื่อเรียกจริง ๆ ว่า การทำมุทรา ซึ่งเป็นการใช้นิ้วทั้งสิบทำสัญลักษณ์ต่าง ๆโดยแต่ละสัญลักษณ์จะแฝงความหมายอันเป็นมงคลเอาไว้ การทำท่ามือนี้ถือเป็นวัฒนธรรมของอินเดียโบราณที่ปรากฏทั้งในศาสนาพุทธและฮินดู เชื่อกันว่ามุทราแต่ละท่ามีพลังศักดิ์สิทธิ์และมีความหมายเชิงนัยซ่อนอยู่ เช่น ท่าพนมมือที่เราใช้กันก็เป็นหนึ่งในมุทราที่มีความหมายว่า ขอแสดงความเคารพ เรียกว่า อัญชลีมุทรา อย่างไรก็ตามท่ามือในหนังไม่ใช่มุทราที่มีการใช้จริง เป็นเพียงการประกอบสร้างเท่านั้น แต่ถือได้ว่าเป็นการนำเอาทางคติชนวิทยามาพลิกแพลงใช้ได้อย่างสร้างสรรค์เลยและน่าขนลุกมาก ๆ
‘ฮู้’ อาญาสิทธิ์แห่งสรวงสวรรค์
กระดาษสีเหลืองและสีแดงที่มีตัวอักษรจีนเขียนหวัด ๆ เป็นสิ่งที่เราเห็นได้ตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากพิธีกรรมที่รั่วหนานพาตั่วตัวไปเข้ารับพิธีกรรมที่ศาลเจ้า กระดาษเหล่านี้เรียกว่า ฮู้ หรือ ยันต์ในภาษาจีน ฮู้ แปลตามศัพท์ได้ว่า ‘สัญลักษณ์ลับ’ เนื่องจากสิ่งที่เขียนลงไปมักจะเป็นพระนามของเทพเจ้าและคำมงคลต่าง ๆ เช่น เจ้าแม่ A ขอสั่งให้บ้านหลังนี้มีแต่ความสุขความเจริญ เป็นต้น
ฮู้มีหลายประเภท ทั้งในแง่ของความหมายและการใช้งาน ส่วนใหญ่แล้วฮู้มักจะถูกเขียนขึ้นด้วยร่างทรงของเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ นั่นทำให้ชาวจีนเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นอาญาสิทธิ์จากสวรรค์ และเป็นคำอวยพรจากเทพเจ้าโดยตรง พวกเขามักจะพกฮู้ติดตัวหรือติดไว้ตามบ้านเรือน เพื่อให้ฮู้อวยพรและปกป้องจากสิ่งชั่วร้าย ในหนังเราจึงได้เห็นความสำคัญของฮู้ในฐานะวัตถุที่ถูกใช้สยบกล้องอาถรรพ์ ที่ตัวละครใช้ฮู้พันรอบกล้อง (แต่ยัยรั่วหนานก็ดันไปแกะฮู้ออกจากกล้อง หาทำมากหญิง)
กระจก….สะท้อนปีศาจ
ในฉากอุโมงค์ต้องห้ามที่ประดิษฐานรูปเคารพเจ้าแม่ดำ เราจะเห็นกระจกบานใหญ่ตั้งเรียงรายอยู่ตามทาง จนทำให้คนดูอย่างเราเข้าใจว่า กระจกต้องมีอานุภาพหรือพลังงานบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับคำสาปหรือเจ้ามาแน่ ๆ
ตามคติของชาวจีน ระจกถือเป็นวัตถุที่มีพลังอำนาจในการขับไล่ปีศาจ นักพรตในลัทธิเต๋าใช้กระจกในการสะท้อนสิ่งชั่วร้าย ซึ่งในตอนท้ายของเรื่อง เมื่อรั่วหนานกลับเข้าไปทำพิธีในอุโมงค์ เธอก็ได้ทำลายกระจกทุกบานให้แตก เพื่อให้พลังอำนาจของกระจกที่สะกดความชั่วร้ายของเจ้าแม่เสื่อมลง (เอิ่ม..ที่ผ่านมาก็ดูเหมือนว่าจะไม่ช่วยเท่าไหร่) ก่อนที่เธอจะกลับไปทำพิธี และเปิดหน้าเจ้าแม่เพื่อให้คำสาปแพร่กระจายออกไปโดยไม่มีอะไรมากั้น
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ก็เป็นสิ่งที่ Incantation ได้หยิบยกเอามาจากคติความเชื่อทางศาสนาของดินแดนแถบเอเชียมาประกอบสร้างจนสามารถสร้างความหลอนที่สั่นประสาทคนดูได้อย่างสร้างสรรค์และแยบยล อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ดังนั้นก็ไม่ต้องกังวลไปว่าจะโดนคำสาปจากการดูหนังเรื่องนี้ แต่.. แอบกระซิบว่า ผู้กำกับได้แรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นที่เมืองเกาสง ประเทศไต้หวัน โดยเมื่อปี 2005 ครอบครัวหนึ่งที่มีสมาชิกหกคน อ้างว่าพวกเขาถูกเทพเจ้า ทั้งเทพนาจา พระโพธิสัตว์กวนอิม เจ้าแม่เจ็ดนางฟ้า และเง็กเซียนฮ่องเต้เข้าสิงจนทำให้เริ่มมีพฤติกรรมปะหลาดคือทำร้ายร่างกายกันเอง เอาธูปจี้ตามผิวหนัง และประทังชีวิตด้วยน้ำผสมผงธูปจนทำให้พี่คนโตสุดของบ้านขาดใจตาย อย่างไรก็ตามครอบครัวนี้ไม่เชื่อว่าที่ตายไปคือพี่สาวแต่กลับเป็นปีศาจที่สิงอยู่ในร่างต่างหาก คดีนี้ถือเป็นคดีที่สร้างความสะพรึงให้กับชาวไต้หวันอยู่ไม่น้อย และอินสไปร์ให้ผู้กำกับ เควิน โค นำเรื่องราวมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในที่สุด
อ้างอิง