GC_MultiCover_memoria.jpg

ในกล้วยไม้และวงกลมมีอะไรซ่อนอยู่? คุยกับ ปูนปั้น–กมลลักษณ์ สุขชัย ถึงเบื้องหลังการออกแบบโปสเตอร์ภาพยนตร์ Memoria

Post on 15 March

หลังจากไปคว้ารางวัล Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งล่าสุดมาได้สำเร็จ ในที่สุดก็ถึงคิวของเหล่าซีเนไฟล์ชาวไทยที่จะมีโอกาสได้รับชม Memoria ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของ เจ้ย–อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับมากความสามารถในโรงภาพยนตร์กันสักที 

และเพื่อต้อนรับการเข้าฉายในครั้งนี้ ทางทีมงานจึงมีการจัดทำโปสเตอร์โปรโมทภาพยนตร์ในเวอร์ชั่นไทยที่สวยงาม แต่ลึกลับ การันตีฝีมือโดย ปูนปั้น–กมลลักษณ์ สุขชัย ศิลปินสาวสุดมาแรงที่หลาย ๆ คนอาจจะจดจำกันได้จากผลงานสุดจัดจ้านจากนิทรรศการศิลปะภาพถ่าย 'บัวแดง' (Red Lotus) เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา GroundControl จึงขอใช้โอกาสนี้พูดคุยกับปูนปั้นถึงแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบโปสเตอร์ภาพยนตร์ Memoria เวอร์ชั่นไทยกันเสียเลย

ปูนปั้น–กมลลักษณ์เล่าให้เราฟังว่า แม้เธอจะได้รับอิสระในการสร้างสรรค์เต็มร้อย แต่เธอก็ต้องใช้เวลาทำการบ้านอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน “เราไม่ได้อยากเอาจากความรู้สึกหลังจากดูหนังจบจากฝั่งของเราคนเดียว แต่เราอยากรู้ด้วยว่า พี่เจ้ยรู้สึกยังไงกับมัน เราก็เลยไปนั่งอ่านบทสัมภาษณ์ที่เขาพูดหนัง รวมถึงไปค้นคว้าหาข้อมูลมาอ่านเพิ่มเติมด้วย หลังจากรวบรวมและปะติดปะต่อทุกสิ่งทุกอย่างได้ ภาพที่เกิดขึ้นในหัวเรามันเลยเป็นภาพของกล้วยไม้และวงกลม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏขึ้นบ่อยครั้งในหนัง”

ภาพของกล้วยไม้อาจจะไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับคนที่คุ้นเคยกับผลงานของเจ้ย–อภิชาติพงศ์มาก่อน ดอกไม้พันธุ์โปรดที่มีความทรงจำมากมายร่วมผู้กำกับชนิดนี้ปรากฏขึ้นอีกครั้งใน Memoria ซึ่งนอกจากตัวละครเอกอย่าง เจสสิกา (นำแสดงโดย ทิลดา สวินตัน) จะทำธุรกิจฟาร์มกล้วยไม้แล้ว ตัวของปูนปั้น–กมลลักษณ์เองก็มองว่า รูปทรงที่สวยงามแต่ลึกลับของมันเป็นภาพแทนที่สื่อถึงความเป็นหญิงได้ดีเช่นกัน อีกทั้งมันยังเป็นดอกไม้ประจำชาติโคลอมเบีย สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ในครั้งนี้ด้วย 

ส่วนรูปทรงวงกลม อีกหนึ่งองค์ประกอบหลักที่เธอเลือกหยิบมาใช้ ก็เป็นสิ่งที่เธอตีความได้หลังจากสังเกตสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏในภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นเสียง ‘ปัง!’ ที่ดังขึ้นในหัวของเจสสิกา การขยายตัวของเชื้อรา หรือแม้กระทั่งรูเจาะบนหัวกะโหลก

เมื่อไอเดียเริ่มผลิดอกออกผล ก็ถึงเวลาของการจัดการกับชุดภาพถ่ายเบื้องหลังภาพยนตร์ที่เธอได้รับมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งกระบวนการทำงานในรูปแบบนี้ค่อนข้างจะแตกต่างกับวิธีการทำงานที่ผ่านมาของเธออยู่ไม่น้อย “ต่างมาก เพราะภาพที่ได้จากเขามามันสะอาดมาก (หัวเราะ) ซึ่งมันจะต่างจากภาพในหัวของเราที่ดันไปนึกถึงเชื้อรา ร่องรอยของกาลเวลา และเสียง ดังนั้น โจทย์ของเราคือจะนำเสนอเสียงให้ดังออกมาจากภาพได้ยังไง เราก็เลยอยากทำให้โปสเตอร์ชิ้นนี้ให้มีพื้นผิวที่สามารถสะท้อนเสียงได้ในภาพ”

ด้วยความที่ปูนปั้น–กมลลักษณ์ทำงานกับภาพถ่ายจากม้วนฟิล์มมาโดยตลอด และมักจะเริ่มต้นการทำงานด้วยการถ่าย ล้าง แล้วถึงค่อยนำมาสแกนเข้าคอมพิวเตอร์ แต่กระบวนการทำงานในครั้งนี้กลับเป็นการทำงานกลับด้าน เปลี่ยนไฟล์ดิจิทัลให้กลายเป็นภาพถ่ายฟิล์มอีกครั้งด้วยการนำกล้องฟิล์มมาถ่ายภาพซ้อนจากหน้าจอคอมพิวเตอร์อีกครั้ง โดยตั้งใจตั้งค่า ISO สูง ๆ เพื่อสร้างเม็ดเกรนในภาพให้ได้เป็นพื้นผิวหยาบ ดิบ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว 

นอกจากนั้น หลังจากผืนฟิล์มเหล่านี้ถูกนำไปล้างเป็นฟิล์มเนกะทิฟแล้ว เธอยังปล่อยให้มันเกิดร่องรอยเปรอะเปื้อนจากฝุ่นและสิ่งต่าง ๆ ตามธรรมชาติของกระบวนการทำงาน บางส่วนก็ถูกเจาะรูให้เป็นรูปวงกลม แล้วจึงค่อยนำไปคอลลาจให้ดูคล้ายกับเป็นไดอารี่บันทึกความทรงจำของตัวละครหลักพร้อมกับดอกกล้วยไม้ ทั้งแบบสดและแบบแห้ง ซึ่งเมื่อวัตถุที่มีสีจริงตามตาเห็นเหล่านี้ถูกสแกนกลับด้านสีด้วยเลนส์มาโครไปพร้อม ๆ กับฟิล์มเนกะทิฟ จึงทำให้สีของดอกและเส้นกลีบเกิดสีสันแปลกตา สไตล์วิทยาศาสตร์ ดูคล้ายหลุดมาจากโลก Sci-Fi ก็ไม่ผิดนัก

หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเธอถึงไม่สร้างพื้นผิวเหล่านี้ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สุดแสนจะสะดวกสบายและทันสมัย แต่ศิลปินสายอนาล็อกอย่างปูนปั้น–กมลลักษณ์ก็ยังคงยืนหยัดในกระบวนการทำงานในแบบที่เธอถนัดมากกว่า “เราอาจจะเป็นคนไม่เก่งการทำพื้นผิวหลอกใน Photoshop ด้วยมั้ง แต่เราชอบจัดการอะไร ๆ ด้วยมือมากกว่า” เธอบอกเราอย่างนั้น

ซึ่งก็จริงอย่างที่เธอว่า เพราะเมื่อเรามองไปที่ภาพกระบวนการทดลองจัดวางองค์ประกอบหลายสิบภาพที่เธอเปิดให้ดูก็จะสามารถสัมผัสได้ถึง ‘ความเรียล’ จากการหยิบจับของศิลปินที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว แบบที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ไหน ๆ ก็ทำไม่ได้

แม้จะมีเพียงไม่กี่ภาพที่ถูกนำไปใช้เป็นโปสเตอร์อย่างเป็นทางการของภาพยนตร์เรื่อง Memoria แต่ GroundControl ก็อดเสียดายภาพกระบวนทดลองระหว่างทางของเธอไม่ได้ เลยขอแอบถือวิสาสะนำภาพบางส่วนออกมาแบ่งปันให้ทุกคนได้ดูเพื่ออุ่นเครื่องก่อนเข้าชมในโรงภาพยนตร์ไปพร้อม ๆ กัน 3 มีนาคม 2565