“การออกแบบคืออะไร?” คำถามนี้ยังคงเป็นคำถามปลายเปิดที่หาคำตอบตายตัวได้ไม่ง่ายนัก แต่ถ้าถามว่า “อยากจะเล่าเรื่องอะไร?” บทสนทนาที่เคยเริ่มต้นไม่ง่าย ก็น่าจะเปลี่ยนเป็นการพูดคุยอันแสนยาวนานได้อย่างรวดเร็วกว่าที่คิด
ข้อความข้างต้นคงเป็นข้อสรุปสั้น ๆ ที่เราพยายามออกแบบมาให้ฟังดูกระชับมากที่สุด เพื่ออธิบายถึงบรรยากาศในห้องเรียน ‘Leave your mark 03’ จาก ‘PRACTICAL School of design’ คอร์สการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการระยะสั้นสำหรับคนที่อยากออกแบบอะไรสักอย่างให้เป็นรูปเป็นร่างดูสักที ซึ่งไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อายุเท่าไร เรียนจบด้านไหน ก็สามารถเข้าเรียนคลาสนี้ได้อย่างเข้าใจโดยไม่มีช่องว่างระหว่างกัน
ด้วยคำเชิญชวนที่ว่านี้ ก็ทำให้ช่วงบ่ายวันหนึ่งของกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา คนแปลกหน้า 11 คนผู้อยากลองออกแบบอะไรดูสักอย่าง ก็ได้มารวมตัวกันที่ร้าน ‘Mana Craft’ เพื่อเรียนรู้เรื่องการออกแบบร่วมกันตลอดสี่อาทิตย์ และถ้าคุณกำลังคิดว่าพวกเขาทั้งหมดจะต้องเรียนแต่ทฤษฏีการออกแบบ เรียนวาดภาพหรือฝึกทำงานศิลปะอะไรสักอย่างอยู่ล่ะก็ ก็คงต้องบอกเลยว่า ‘ไม่ใช่’ เพราะวิธีการเรียนรู้ทั้งหมดในห้องเรียนนี้เริ่มต้นจากบทสนทนาประจำวันง่าย ๆ อย่าง “คุณมีอะไรที่ยังไม่เคยทำหรือเปล่า?” ต่างหาก
Leave your mark 03 จึงไม่ได้เป็นเพียงห้องเรียน แต่ยังเป็นห้องสนทนาสุดพิเศษที่รวมผู้คนจากต่างศาสตร์ ต่างประสบการณ์มาทำความรู้จักตัวตนของตัวเอง และในขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังช่วยกันและกันไขกุญแจสู่ความมุ่งหมายของคนอื่นไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งในฐานะที่ GroundControl มีโอกาสร่วมเรียนในคลาสนี้ด้วยเลยถือโอกาสเก็บรวบรวมประสบการณ์ที่พบเจอตลอดทั้งสี่สัปดาห์กลับมาแชร์ให้ทุกคนได้ฟัง พร้อมพาไปสำรวจกระบวนการทำงานของแต่ละคน และปิดท้ายด้วยการพาทัวร์นิทรรศการ ‘Leave your mark 03 Exhibition’ แบบย้อนหลัง ให้รู้จักผลงานของผู้เรียนทั้ง 11 คน ผู้ลอง ‘Leave’ รอย ‘Mark’ ของตัวเองเอาไว้อย่างตั้งใจไปด้วยเสียเลย ตามมาดูกันเลยดีกว่า!
ลอง ‘Leave’ ตัวตน
“กรุณาเตรียม Portfolio ของตัวเองให้กับพวกเราด้วยนะคะ” คือโจทย์ข้อแรกที่ ‘PRACTICAL School of design’ มอบให้กับผู้เข้าเรียน ‘Leave your mark 03’ แม้จะชวนสงสัยในคราวแรก แต่เมื่อได้เข้าไปนั่งเรียนในห้องพร้อมกันจริง ๆ แล้วก็พบว่าสิ่งนี้สำคัญมาก เพราะก่อนที่เราจะรู้ว่าตัวเองอยาก ‘Leave’ อะไร ก็ต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าเคยอยู่ตรงจุดไหนกันมาบ้าง
การได้นั่งฟังประวัติความเป็นมาและชมความถนัดของเพื่อนร่วมชั้นเรียนแต่ละคน ก็ทำให้ค้นพบว่าในห้องเรียนนี้มีคนมาจากหลากหลายสาขาอาชีพจริง ๆ ทั้ง นักออกแบบ, นักเขียน, นักวาดภาพประกอบอิสระ, คนที่เรียนด้านวิศวกรรม, คนที่เรียนด้านจิตวิทยา, คนที่เรียนด้านกฏหมายและเคยเป็นอดีตนักการทูต ไปจนถึงเด็กน้อยอายุเจ็ดขวบเท่านั้นเอง เรียกว่าถ้าเปรียบห้องเรียนนี้ให้กลายเป็นเมนูน้ำปั่น คนก็อาจจะคิดว่าไม่เข้ากันจนกว่าจะได้ลองเอามาผสมกันดูจริง ๆ ซึ่งหลังจากได้ลองลิ้มชิมบรรยากาศในวันนั้นด้วยตัวเองดูแล้ว ก็ต้องบอกว่าเมนูนี้อร่อยมาก เพราะความแตกต่างทางประสบการณ์และการใช้ชีวิตของแต่ละคน สามารถช่วยเติมเต็มความไม่รู้ของคนอื่น ๆ อีกหลายคนได้อย่างพอดิบพอดี
การ ‘สำรวจตัวเอง’ ของคนในคลาสจึงเริ่มต้นด้วยบทสนทนาง่าย ๆ แบบนั้น แต่ภายในระยะเวลาไม่นาน บทสนทนาระหว่างคนที่เพิ่งรู้จักกันก็สามารถต่อเนื่องและลื่นไหลได้อย่างรวดเร็วจนน่าแปลกใจ และกว่าจะรู้ตัวอีกทีแต่ละคนก็คงค้นพบแล้วว่า ในขณะที่เราคิดว่าไม่มีอะไรอยากทำหรืออยากแก้ไข แต่จริง ๆ แล้วพวกเรามีไอเดียเหล่านั้นมากมายเพียงแต่ยังไม่มีโอกาสได้ลองทำเท่านั้นเอง
จากตรงนี้ การสำรวจตัวตนว่าเราเป็นใคร อยากทำอะไร ไม่อยากทำอะไร อยากลองทำเรื่องไหน และมีอะไรติดค้างอยู่บ้าง พร้อมกับทำความรู้จักศิลปินที่มีอะไรคล้าย ๆ เราและนำสิ่งที่ว่านั้นไปดัดแปลงเป็นงานอะไรสักอย่างในวันนั้น ก็เลยเป็นฟอร์มแรกของคำว่า ‘หาไอเดีย’ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแรก ๆ ของการออกแบบ แน่นอนว่าเพื่อนร่วมชั้นหลาย ๆ คน (รวมถึงตัวเรา) ในวันนั้นคงยังไม่รู้ว่า การพูดคุยธรรมดา ๆ และการสำรวจกันและกันของพวกเราในวันนั้น แท้จริงแล้วเป็นการก้าวขาข้างหนึ่งสู่เส้นทางการออกแบบ ที่แต่ละคนต่างก็เริ่มออกสตาร์ทกันมาตั้งนานแล้วโดยที่ไม่เคยรู้ตัวเลย
สามารถอ่านบันทึกการเรียนครั้งที่หนึ่งอย่างละเอียดได้ที่: https://www.practicalschoolofdesign.com/leave-your-mark-03-2024-class-note-1/
กระเทาะเปลือกให้เป็นคอนเซปต์
ห้องเรียน ‘Leave your mark 03’ ยังคงมีบทสนทนาเป็นพระเอกหลัก และหลังจากเริ่มสำรวจตัวตนในคลาสแรกผ่านไปแล้ว ก็ถึงเวลาของการกระเทาะเปลือกให้กับไอเดียฟุ้ง ๆ ของทุกคนให้กลายเป็นรูปเป็นร่าง บทสนทนาในครั้งที่สองจึงเป็นเรื่องราวที่ลึกซึ้งขึ้นกว่าครั้งแรก เพราะเราต่างมีเรื่องราวของตัวเองที่อยากเล่ากันออกมา โดยความน่าสนใจในครั้งนี้คือการที่ทุกคนมาพร้อมกับสิ่งที่อยากทำกันเต็มมือ และเรื่องราวของแต่ละคนก็ไม่มีใครซ้ำใครเลย
บางคนก็มาพร้อมกับเรื่องราวส่วนตัวที่อยากจะถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงาน บางคนก็ได้ไอเดียมาจากนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนเพอร์เฟกต์ชันนิสต์ บางคนก็มาพร้อมกับความรู้สึกตรงกันข้ามกับชีวิตประจำวัน เช่น จากเดิมเป็นคนชอบทำอะไรซับซ้อน ก็อยากเปลี่ยนเป็นทำในเรื่องราวที่ตรงกันข้ามกับตัวเองไปเลย เป็นต้น พอผลของการหาไอเดียออกมาหลากหลายแนวทางแบบนี้ บทสนทนาในครั้งที่สองจึงออกรสออกชาติมากเป็นพิเศษ เพราะทุกคนต่างช่วยกันเสนอความเห็นและมุมมองของตัวเองที่มีต่อแนวคิดของเพื่อนร่วมคลาส เพราะทุกคนทราบกันดีว่าในพื้นที่นี้ไม่มีคำว่าผิดหรือถูก มีแต่คำว่า “ลองดูเถอะ” ให้ได้เก็บความเป็นไปได้กลับไปลองทำด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงได้เข้าสู่ขั้นตอนต่อมาของการออกแบบโดยไม่รู้ตัวอีกครั้งว่า “ถึงเวลาของการทดลองทำแล้ว”
สามารถอ่านบันทึกการเรียนครั้งที่สองอย่างละเอียดได้ที่:https://www.practicalschoolofdesign.com/leave-your-mark-03-2024-class-note-2/
ถึงเวลาสร้างรอย ‘Mark’
รู้ตัวอีกทีจากคำว่า “ไม่รู้เลยว่าเราจะทำอะไรดี” หรือ “เราจะมีอะไรไปจัดแสดงจริง ๆ หรือ” ของเพื่อนร่วมชั้นเรียนหลาย ๆ คน ก็เปลี่ยนเป็นชิ้นงานที่นำมาวางกันเต็มโต๊ะไปหมดแล้ว และนั่นคือภาพจำเกี่ยวกับบรรยากาศในคลาสเรียนครั้งที่สามของ ‘Leave your mark 03’ ในความทรงจำของเรา
อาจจะเพราะบรรยากาศที่กระตุ้นให้พวกเราแอคทีฟ หรือจริง ๆ แล้วอาจจะเป็นเพราะตัวตนของแต่ละคนเองที่อยากจะทำมันอย่างตั้งใจมากกว่า ทำให้วันนำเสนอผลงานเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งความกังวลขั้นต่อมาที่ทุกคนรู้สึกกันกลับไม่ใช่ตัวชิ้นงานอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของการ ‘ติดตั้ง’ เพราะภารกิจครั้งสำคัญที่พวกเราต้องมุ่งหน้ากันต่อไป ก็คือการรับฟังเสียงจากคนภายนอกห้องเรียนบ้างนั่นเอง
และโดยไม่รู้ตัวอีกครั้ง หลังจากที่พวกเราเฝ้าคิดกันว่าจะติดตั้งมันออกมาอย่างไร หัวใจหลักของการคิดครั้งนี้ก็คือ “จะเล่า” เรื่องราวของตัวเองออกมาแบบไหนให้คนอื่นเข้าใจมากกว่า ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่งานออกแบบจะขาดไปไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ออกแบบให้ตัวเองเข้าใจเพียงคนเดียว แต่คนอื่นก็ต้องเข้าใจในสิ่งที่เราอยากบอกด้วย การสื่อสารนั้นถึงจะสัมฤทธิ์ผล การพยายามสร้างรอย ‘Mark’ ของทุกคนในครั้งนี้ แท้จริงแล้วจึงเป็นการทำให้ร่องรอยเหล่านั้นมีรูปแบบที่ชัดเจนมากพอที่คนอื่นจะเข้าใจไปกับเราด้วยให้ได้ตามไปด้วย
สามารถอ่านบันทึกการเรียนครั้งที่สามอย่างละเอียดได้ที่:https://www.practicalschoolofdesign.com/leave-your-mark-03-2024-class-note-3/
ปักหมุดร่องรอยลงความทรงจำ ใน ‘Leave your mark 03 Exhibition’
ช่วงสายของวันเสาร์ที่ 9 มีนาคม ก็ถึงเวลาที่ความพยายามของทุกคนออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ผลงานของทุกคนได้ถูกจัดวางเอาไว้ยังที่ทางที่ตั้งใจ และหลังจากผ่านพาร์ทของการเสวนาหัวข้อ PS±D Talk Series
EVERYTHING EVERY DESIGN เรื่องเล่าของการออกแบบจากหนังสือ HOW DESIGN MAKES THE WORLD โดย Scott Berkun เรียบร้อยแล้ว ในช่วงบ่ายก็ถึงเวลาการนำเสนอผลงานอันน่าตื่นเต้นของทุกคน
เริ่มต้นกันที่ผลงาน ‘Our House, it’s a very very very fine house.’ ของ ‘สันติ ลอรัชวี’ หรือที่รู้จักกันในนามอาจารย์ติ๊ก ที่หยิบยกเรื่องของพ่อกับตัวเองที่มักมีความไม่ลงรอยอะไรบางอย่างอยู่เสมอ โดยเฉพาะประโยคที่ได้ยินประจำอย่าง “ฟังก่อนซี่” ที่ยิ่งได้ยินก็ยิ่งไม่อยากหยุดฟัง ซึ่งเขาคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาเรื่อย ๆ ในระหว่างลงมือทำ ‘บล็อกสกรีน’ ที่ต้องอาศัยความสมดุลหลาย ๆ อย่าง การ ‘Leave’ ของอาจารย์ติ๊ก เลยเป็นการกลับไปลองฟังสิ่งที่พ่อของอาจารย์อยากจะบอก ผ่านการทำเป็นสารคดี ซึ่งเป็นการออกแบบการสื่อสารระหว่างเขากับพ่อขึ้นมาใหม่ให้เป็นร่องรอยที่น่าจดจำ จึงมีการจัดแสดงในรูปแบบศิลปะจัดวาง ที่มีวีดิทัศน์สารคดีและบล็อกสกรีนให้เราได้สำรวจเรื่องราวของเขากัน
ผลงานชิ้นถัดมาคือ ‘Highlight (2024)’ ผลงานของ ‘เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์’ ที่ออกตัวมาตลอดว่าเป็นคนชอบคิดอะไรซับซ้อนมาก ๆ และเวลาลงมือทำอะไรก็มักจะทำสิ่งที่มีความยากสูงอยู่เสมอ การ ‘Leave’ ของเบญ จึงเป็นการทำอะไรแบบไม่ต้องคิดเยอะ หรือหาความหมายให้ปวดหัวมากอีกต่อไป และไอเดียที่ว่านั้นก็ได้กลายมาเป็นภาพวาดสิ่งของใส ๆ ที่วางอยู่บนโต๊ะ โดยเธอได้เลือกใช้สีชอล์กน้ำมันสะท้อนแสง (Fluorescent Oil Pastels) ที่ไม่ค่อยถนัดมาลองลงมือวาดดู ร่องรอยที่เราเห็นบนงานชิ้นนี้ เลยเป็นร่องรอยแห่งความสุขที่เธอได้มองเห็น ณ เวลาที่วาดนั่นเอง
เชื่อว่าใคร ๆ ต่างก็เคยมีลิสต์ที่อยากทำมากมายในหัว เหมือนกับ ‘ศุภากร กะตะศิลา’ เขาได้ออกตัวว่าเป็นคนที่ชอบจดบันทึกสิ่งที่อยากทำอยู่ตลอด แต่ก็ไม่เคยลงมือทำได้สักที และการเลือกเข้าร่วมชั้นเรียนในครั้งนี้ ก็นับว่าเป็นการ ‘Leave’ อย่างหนึ่งของเขาแล้ว ความผูกพันธ์กับเดดไลน์ เวลา ตาราง และลิสต์กิจกรรมที่อยากทำยาวเป็นหางว่าว ทำให้เขาเลือกถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านั้นออกมาเป็น ‘2024’ ปฏิทินที่ศุภากรออกแบบ Typography ให้แต่ละวันขึ้นมาเอง และตรงข้ามกับการที่บอกว่าเขาเป็นคนลงมือทำอะไรได้น้อยกว่าสิ่งที่อยากทำ เพราะเหมือนว่าทั้งนิทรรศการนี้ ผลงานของศุภากรจะมีจำนวนชิ้นมากที่สุด และเป็นร่องรอยที่มองเห็นได้ชัดเจนจากทุกคนเลยทีเดียว
เพอร์เฟคชันนิสต์เป็นได้ทั้งของขวัญและบทลงโทษ เพราะการที่เราชอบทำอะไรให้เป๊ะตลอดเวลา หมายความว่าผลงานของเราจะต้องดีมาก แต่ในขณะเดียวกัน มันอาจเป็นการกดดันให้เราต้องเหนื่อยยากและลำบากกว่าคนอื่น ‘พนัสดา วิไลเลิศพงศ์พันธ์’ ก็เป็นคนที่ยึดติดตัวเองเข้ากับความเพอร์เฟคอยู่เสมอ ชนิดที่ว่าถ้างานออกมาไม่ดีเธอก็จะไม่กล้าให้ใครดู การตัดสินใจ ‘Leave’ ของเธอ เลยเป็นการกล้าที่จะ ‘ลบ’ และเหลือร่องรอยความผิดพลาดของตัวเองเอาไว้อย่างไม่อาย จนกลายมาเป็น ‘( - )’ ผลงานที่มองเห็นร่องรอยการลบหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการทำเป็นตัวหนังสือที่ตั้งใจเขียนให้ไม่ผิด แต่ถึงจะผิดก็ไม่เป็นไรอีกต่อไปแล้วเช่นกัน นอกจากนี้เธอยังทำการเพอร์ฟอร์มานซ์ในวันเปิดเพื่อเขียนถ้อยความว่าจะไม่ทำผิดพลาดต่อหน้าทุกคนด้วย
ภาพนามธรรมชิ้นหนึ่งกับสีสันสด ๆ และโน้ตเพลง คือ ‘Work in Progress’ ผลงานที่เกิดจากการกลั่นกรองมาอย่างดีของ ‘ปุณยาพร ยิ้มเศรษฐี’ อดีตนักเรียนกฎหมาย เคยทำงานด้านการทูต และปัจจุบันเป็นนักธุรกิจดูแลแบรนด์เครื่องเสียงนำเข้า เธอมีความคิดอยากจะเรียนด้านศิลปะ และเกือบจะได้เรียนแล้ว เพียงแต่ต้องถอนตัวกลางคันจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เธอยังค้นพบว่าตัวเองมีความผูกพันกับศิลปะและดนตรีมากกว่าที่คิด และการได้เข้ามาเรียนใน Leave your mark 03 ก็ทำให้เธอเลือก ‘Leave’ ด้วยการทำสิ่งที่เธอเคยทิ้งมาแล้วให้เป็นร่องรอยครั้งใหม่ อันเกิดจากการปล่อยให้ตัวเองได้เผชิญกับคำถามส่วนตัว ยอมให้ตัวเองอ่อนแอ ปล่อยให้ตัวเองได้แสดงความรู้สึก และเลือกสิ่งที่เติมเต็มตัวตนได้อย่างแท้จริง
ข้าง ๆ กันคือ ‘Speech’ ผลงานของ ‘ชิตวัน เพชรรัตน์’ ที่เริ่มต้นจากการมองย้อนกลับไปว่างานศิลปะและการออกแบบเป็นอะไรสำหรับตัวเอง แล้วก็พบว่ามันคือวิธีการที่เธอใช้ ‘พูด’ เป็นตัวกลางในการส่งสารระหว่างเธอไปถึงคนอื่นเธอเลยตั้งใจทำทุกงานให้มีความหมายจนกลายเป็นกับดักในการทำงาน เธอจึงอยากก้าวข้ามในจุดนี้ ด้วยการลองโฟกัสไปที่สีสันเพียงอย่างเดียวดูบ้าง เพราะแม้ว่าจะยังไม่ถูกผูกกับความหมายอะไร แต่สีก็ส่งสารบางอย่างให้เธอรู้สึกถึงอะไรบางอย่างได้ด้วยตัวมันเอง และนั่นก็เป็นวิธีพูดแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน
ผลงานของ ‘ลลิตา กิจจาชาญชัยกุล’ ชื่อ ‘Landscape of eternity’ ก็เป็นผลงานที่ทุกคนลงความเห็นว่าละมุนใจ สมกับที่เธออธิบายว่ามีศิลปะเป็นสถานพักใจที่คอยปลอบประโลมกันและกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกแตกสลายมากแค่ไหนก็ตาม งานของเธอคือการใช้ดินสอกดสีน้ำเงินในการวาดภาพวิวทิวทัศน์อย่างบรรจงบนกระดาษหลากหลายแบบ เช่น กระดาษไข และโคมไฟ เป็นต้น เธอมองว่าการได้วาดภาพเหล่านี้เป็นวิธีการที่เธอได้อนุญาตให้ตัวเองรู้สึก และร่วมมีประสบการณ์กับมวลความรู้สึกเหล่านั้นได้อย่างเต็มเปี่ยม โดยเธอได้ออกแบบการจัดวางให้ผู้ชมสามารถใช้เวลาเดินดูงานของตัวเองได้อย่างรอบด้าน
ถัดจากผลงานของลลิตาไม่ไกล ก็ยังมี ‘คำ ที่อยากได้ยิน’ ผลงานของ ‘ปรียานุช งามโรจนวณิชย์’ วางอยู่ ประกอบไปด้วยถุงขยะสีดำ เก้าอี้ตัวเล็ก ๆ กระดาษโน้ต และปากกาหลากสีที่แค่มองก็รู้ว่าเธอต้องการให้ผู้เข้าชมได้ลองมาขีดเขียนอะไรบางอย่างร่วมกับเธอ ซึ่งการขีดเขียนที่ว่านี้ก็มาจากการที่เธอตั้งโจทย์กับตัวเองว่า อยากเห็นตัวเองในแบบที่ไม่เคยเห็น ทำให้เกิดไอเดียเต็มไปหมด แต่สิ่งที่เด่นชัด คือ ‘ความคิดลบ (Negative Thoughts)’ เธอจึงเอามาทำเป็นงานชิ้นนี้ โดยถุงดำคือตัวแทนความคิดมากมายของเธอที่เป็นดั่งขยะที่แบกไปไหนมาไหนด้วยตลอด เธอเลยอยากหรี่เสียงที่ว่านี้ลงด้วยการ ‘แปะ’ คำที่อยากได้ยินทับมันลงไปแทน เพื่อเป็นร่องรอยของการขยับออกจากความคิดแบบเดิม
ต่อด้วยผลงานของ ‘ณิชา จิรธนานันท์’ อย่าง ‘House of Dream’ ที่เปรียบเทียบความฝันของตัวเองเข้ากับการจัดบ้าน เธอมองว่าชีวิตนั้นเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง เต็มไปด้วยอารมณ์ เต็มไปด้วยความทรงจำ และที่สำคัญที่สุดคือเต็มไปด้วยความฝัน งานชุดนี้จึงนำเสนอผ่านกล่องกระดาษลังแห่งความฝัน แยกเป็นความฝันที่มีในแต่ละช่วงของชีวิต เช่น ความฝันของนักประดิษฐ์ ความฝันของนักรัก ความฝันของนักดนตรี แต่ละกล่องใส่ของที่ใช้เพื่อทำตามความฝันนั้น ๆ ให้ผู้เข้าชมสามารถลองมาคุ้ย หาของ ดูว่ามีอะไรบ้าง โดยของทั้งหมดนี้ตอนจบนิทรรศการจะถูกเก็บเข้าลัง เพื่อเป็นการเก็บพับความฝันที่ไม่ได้มีเวลาทำไว้ในตู้เก็บของ เพื่อให้บ้านมีพื้นที่ให้กับความฝันใหม่ ๆ วันนึงที่เธอกลับมามีพื้นที่ให้กับความฝันเหล่านี้ กล่องเหล่านั้นก็จะถูกเปิดออกมาอีกครั้ง
ยังมีผลงาน ‘Mana First Project’ ของ ‘มานะ เดชะ’ น้องเล็กของห้องที่มีอายุเพียงเจ็ดขวบเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่น้องมานะอยากจะ ‘Leave’ ก็คือการออกจากกรอบการทำงานแบบเดิม ๆ มาลองใช้สีที่แตกต่าง วาดบนกระดาษที่แปลกไป รวมถึงการลองจับแคนวาสที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม เรียกได้ว่าตลอดทั้งสี่สัปดาห์ของการเรียน คนที่ขยันสร้างงานมากที่สุด คงไม่พ้นน้องมานะที่กระตุ้นให้พี่ ๆ ไม่ย่อท้อต่อการทำงานของตัวเองไปด้วยกัน
และปิดท้ายด้วยงานของเรา (นักเขียนคนนี้) เอง ที่ต้องการพูดถึงเรื่องความทรงจำ ความตาย การเกิดใหม่ และการจดจำ โดยมีเสียงในรูปแบบต่าง ๆ เข้ามาเป็นสื่อกลางระหว่างตัวเรากับผู้ชม โดยมาจากเรื่องราวของ ‘โชค’ แมวข้างบ้านที่เราอนุมานว่าเขาได้หนีออกจากบ้านมาอย่างมีแผน แต่ก่อนที่จะได้เขียนถึงโชคด้วยตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เราก็ต้องสูญเสียเขาไปเสียก่อน จึงเป็นที่มาของผลงาน ‘การหนีออกจากบ้านของแมวโชค’ ที่จัดแสดงในครั้งนี้ในรูปแบบของวิดีโอ เพอร์ฟอร์แมนซ์ และงานเขียนบทแรกของหนังสือในชื่อเดียวกัน โดยส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจก็มาจากการไม่กล้าพูดถึงเรื่องนี้ ที่นำไปสู่การพยายาม ‘Leave’ และทิ้งรอย ‘Mark’ เอาไว้ในรูปแบบหนังสือนิยาย (ที่ยังไม่จบ) บนความทรงจำของทุกคนแทน
บทบาทของ ‘Note Taker’ ที่เป็นมากกว่าคนจดบันทึก
การมี ‘Note Taker’ ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณสำคัญที่บ่งบอกมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ห้องเรียน ‘Leave your mark 03’ จาก ‘PRACTICAL School of design’ รวมถึงห้องเรียนอื่น ๆ ของพวกเขามีบทสนทนาเป็นเครื่องนำทางหลัก การที่ได้คุณ ‘หนูนา - พนิดา วสุธาพิทักษ์’ มาทำหน้าที่บันทึกทุกอย่างที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เพียงการจดโน้ตทั่วไป แต่ยังเป็นการบันทึกบรรยากาศ กระบวนการความคิด และความรู้สึกของทุกคนเอาไว้อย่างครบถ้วน ราวกับเป็นบทสรุปขนาดสั้นที่สามารถบอกขอบเขตการเรียนรู้ในแต่ละครั้งได้อย่างชัดเจน ดังนั้นทุกคนจึงสามารถพูดคุยทุกอย่างได้อย่างสบายใจ และสามารถย้อนกลับมาทบทวนทุกอย่างได้ง่ายมากขึ้น
เหมือนกับในตอนนี้ที่เราได้สลับบทบาทจากผู้เรียนกลับมาเป็นนักเขียนอีกครั้ง และได้ลองย้อนกลับไปบันทึกเรื่องราวทุกอย่างไว้อีกชั้นหนึ่งด้วยตัวเอง ทำให้เราค้นพบว่า ท่ามกลางบทสนทนาที่ดูธรรมดาและเรียบง่ายตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับเต็มไปด้วยร่องรอยการเรียนรู้ที่ค่อย ๆ ปรับให้ทุกคนในห้องเข้าใกล้คำว่า ‘เข้าใจ’ ในเรื่องของการออกแบบได้อย่างเป็นธรรมชาติ จนสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเอง และคนที่ช่วยตีกรอบความเข้าใจของผู้เรียนในชั้นให้ออกมาเป็นเนื้อหาที่เข้าใจง่ายในไม่กี่บรรทัดได้แบบนี้ ก็คือ ‘Note Taker’ นั่นเอง ดังนั้น ‘Note Taker’ สำหรับห้องเรียน ‘Leave your mark 03’ แล้ว จึงเป็นเหมือนเพื่อนใจดีนักแจกโน้ต ที่ช่วยให้คนในห้องทุกคนเข้าใจทุกอย่างได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยไม่ต้องเสียเวลาไปกับการคัดแยกสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองเลย ทำให้ทุกเวลาที่มีถูกใช้ไปกับการทำสิ่งที่อยากทำได้อย่างคุ้มค่านั่นเอง
แม้ว่าในตอนนี้ ห้องเรียน ‘Leave your mark 03’ จะจบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ในอีกหนึ่งปีข้างหน้า ห้องเรียนนี้จะวนกลับมาอีกครั้งหนึ่งแน่นอน หากใครสนใจก็สามารถติดตามรายละเอียดคอร์สครั้งใหม่ได้ทางเพจ @Practicalschoolofdesign หรือในเร็ว ๆ นี้ ทาง PRACTICAL School of design เขาก็กำลังจะเปิด ‘Everyone-O-One’ ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ Practical School of Design
หรืออ่านรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับคอร์สได้ที่:
https://www.practicalschoolofdesign.com/.../everyone-o-one/