ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยเกิดคำถามขึ้นมาระหว่างดูหนังหลาย ๆ เรื่องว่า “เพราะอะไรหนังที่เป็นเรื่องของ LGBTQ+ ถึงมักจะจบเศร้าเสมอ?”
ย้อนกลับไปเมื่อสักประมาณ 40 ปีที่แล้ว ความตาย ความเศร้า ตัวร้าย และหยาดน้ำตา คือภาพจำบนสื่อบันเทิงต่าง ๆ ที่เรามองเห็นเสมอเมื่อพูดถึงภาพยนตร์หรือบทเพลงที่เล่าเรื่องราวของ LGBTQ+ ทั้งเรื่องราวโศกนาฏกรรมของ ‘สมหญิง ดาวราย’ จากเรื่อง ‘เพลงสุดท้าย’ ที่ออกฉายในปี 2528 เด็กนักเรียนที่ควรถูกปรับพฤติกรรมและ ‘รักษา’ เพราะเป็นกะเทยในละครเรื่องสวัสดีคุณครู ปี 2521 และ วัยเรียนเพี้ยนรัก ปี 2528
หรือถ้าเราขยับเวลาขึ้นมาอีกสักประมาณ 20 - 30 ปี นอกเหนือจากความเศร้าจนตัวตาย ก็เริ่มกลายมาเป็นความผิดหวังช้ำรัก การไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม บ้างก็ไปทางติดตลกอย่างที่เราเห็นกัน เช่น ในภาพยนตร์เรื่อง สตรีเหล็ก รักแห่งสยาม เพื่อนกูรักมึงว่ะ และหนังตลกซีรีส์ยาวอย่างหอแต๋วแตก เป็นต้น
เนื่องจากเดือนมิถุนายนนี้คือเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง ‘Pride Month’ อีกทั้งยังเป็นปีที่ ‘สมรสเท่าเทียม’ สามารถผ่านร่างแรกได้สำเร็จ GroundControl เลยอยากจะชวนทุกคนนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปยังอดีต (ไม่ไกล) ผ่าน 9 บทเพลงดังวันเก่า เพื่อสำรวจ ‘ตัวตน’ และมุมมองทางสังคมที่มีต่อ LGBTQ+ ว่าจาก ‘เพลงสุดท้าย’ ถึง ‘ฟ้ารักพ่อ’ ที่ฮิตกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง ในช่วงเวลาช่องว่างระหว่างนั้น มีอะไรเกิดขึ้นกับประวัติศาสตร์ LGBTQ+ ในวงการเพลงกันบ้าง และกว่าจะมาถึงวันนี้ พวกเขาต้องต่อสู้กับทัศนคติแบบใด
เพลงสุดท้าย - 2528
สุดา ชื่นบาน
“จริงซิฉันมันเป็นสิ่งปลอม ใครจะยอมจริงใจ
จะโทษเขาไปทำไม ทำไมไม่โทษตัวเอง”
‘เพลงสุดท้าย’ คือชื่อของบทเพลงและภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 2528 ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘สมหญิง ดาวราย’ นางโชว์สาวข้ามเพศ ที่เพียบพร้อมทั้งรูปร่าง หน้าตา กิริยา และความสามารถ เธอเติบโตมาพร้อมกับความตั้งมั่นว่าจะ ‘ไม่รัก’ ใครเด็ดขาด เพราะเธอเชื่อว่าไม่มีรักแท้จริงสำหรับคนแบบเธอ เห็นได้จากรุ่นพี่กะเทยรอบตัวที่มักเสียรู้ให้กับคนรักอยู่เสมอ จนกระทั่งการมาถึงของ ‘บุญเติม’ ชายหนุ่มที่ทำให้เธอตกลงสู่ห้วงรักสำเร็จ และในขณะเดียวกันเขาก็ยังเป็นต้นเหตุที่ทำให้เข้าสู่ห้วงความเจ็บปวดจนถึงแก่ชีวิตในตอนท้าย บนเวทีการแสดงที่เธอรัก
ทั้งบทเพลงและภาพยนตร์เรื่องนี้ นับว่าเป็นมุมมองที่สะท้อนออกมาจากตัวตนของสาวข้ามเพศ ในอารามน้อยเนื้อต่ำใจ ทั้งการเปรียบเทียบตัวเองว่าเป็นเพียง ‘สิ่งปลอม’ ไม่เทียบเท่ากับผู้หญิง ซึ่งเป็นหนึ่งในหลาย ๆ คำดูถูกที่เหล่า LGBTQ+ ในยุคนั้นได้รับกันอยู่เสมอ และแม้ว่าในเนื้อเพลงจะคล้ายกับสมหญิงรู้สึกน้อยใจในส่วนนั้น แต่ถ้าเราฟังดี ๆ เราจะรู้เลยว่าเธอไม่ได้ยอมรับว่าการไม่เป็นหญิงคือความผิด แต่เป็นเพราะสังคมต่างหากที่บีบคั้นให้การเป็นตัวของตัวเองเป็นสิ่งผิด เธอเลยต้องมีชีวิตแบบนี้ สังเกตได้จากการเฝ้าพร่ำพรรณณาในหลาย ๆ ท่อนว่า “แล้วฉันผิด…ผิดอย่างไร”
ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง - 2533
เจินเจิน บุญสูงเนิน
“เป็นฉันมันผิดตรงไหน
ชีวิตฉันใครกำกับ
เป็นฉันใครจะยอมรับ
บทบาทให้ความสำคัญ
ต่างกันแค่เพียงร่างกาย
แต่ใจเราก็เหมือนเหมือนกัน
ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง”
ถึงแม้ว่า ‘ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง’ จะปล่อยหลังจากเพลงสุดท้ายไม่กี่ปี แต่ก็แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงบทบาทของ LGBTQ+ ในสังคมได้อย่างชัดเจน เพราะเนื้อเพลงนี้ไม่ได้มีเนื้อหาในเชิงตัดพ้ออีกต่อไป แต่เป็นการฮึดสู้และตั้งคำถามกลับไปยังสังคมบ้างว่า การเป็น LGBTQ+ นั้นผิดอย่างไร เพราะจริง ๆ แล้วเราต่างกันเพียง ‘ร่างกาย’ เท่านั้น และฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง และที่สำคัญคือเราต่างมี ‘ศักดิ์ศรีความเป็นคน’ ไม่ต่างกัน สังเกตได้จากท่อน “ถึงฉันจะเป็นอย่างนี้ ก็มีศักดิ์ศรีความเป็นคน”
ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของเพลงนี้คือตัวผู้ขับร้องอย่าง ‘เจินเจิน บุญสูงเนิน’ ผู้เป็นหญิงสาวข้ามเพศตัวจริง ที่ก้าวเข้ามาในวงการบันเทิงและถ่ายทอดความรู้สึกออกมาผ่านบทเพลง ซึ่งการที่เธอสามารถใช้ความสามารถเพื่อก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงจนได้รับการยอมรับในวงกว้างสำเร็จ ก็เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าคนข้ามเพศสามารถประสบความสำเร็จได้ไม่ต่างกัน และการที่เพลงนี้ยังคงถูกขับร้องและพูดถึงจนถึงปัจจุบันจากคนหลายรุ่น ก็แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จที่บทเพลงนี้ได้ส่งต่อมายังสังคมแล้ว
เกลียดตุ๊ด - 2537
วง Sepia
“ขาวสวยนมโต เธอชอบเต้นโชว์ โอ้โหเธอสวยบาดใจ
เดินบนถนน พบเห็นทั่วไป แต่รู้มั้ยว่าเธอเป็นตุ๊ด
เธอแพร่เชื้อเอดส์ ทุเรศสังคม เสพสมกับเพศเดียวกัน
บางคนลงทุนตัดพวงสวรรค์ เสริมยางซิลิโคน
เกลียดตุ๊ด เกลียดตุ๊ด เกลียดตุ๊ด เกลียดตุ๊ด
เกลียดตุ๊ด เกลียดตุ๊ด เกลียดตุ๊ด เกลียดตุ๊ด”
หลังจากสองเพลงแรกเป็นการพูดถึง LGBTQ+ ด้วยมุมมองจากคนในคอมมูนิตี้ ในปี 2537 ก็ได้มีบทเพลงสะเทือนวงการอย่าง ‘เกลียดตุ๊ด’ ของวง Sepia โด่งดังขั้นมา โดยเป็นมุมมองของคนอื่นที่กล่าวถึง LGBTQ+ อย่างตรงไปตรงมาว่า เขานั้นเกลียดคนเหล่านั้นจริง ๆ
ซึ่งเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว ทาง ‘โอ๋ ซีเปีย’ ผู้เป็นหนึ่งในเจ้าของบทเพลงนี้ก็เคยให้สัมภาษณ์กับรายการของ The People ถึงเบื้องหลังเพลงนี้ไว้ว่า เขาแต่งเพลงนี้ขึ้นมาจากอารมณ์โกรธที่เคยมีปัญหากับเพื่อนและอาจารย์ที่เป็น LGBTQ+ หลายคนในยุคนั้น จนกระทั่งวันหนึ่งในงานคณะ เขาได้ถูก LGBTQ+ กลุ่มหนึ่งมาแย่งคิวในการขึ้นโชว์ไป มันเลยเป็นเหมือนการจุดระเบิดให้ระบายความโกรธเหล่านั้นออกมาเป็นเนื้อเพลงเพื่อด่ากะเทย และหลังจากผ่านไปหลายปี เขาก็ได้มีโอกาสทบทวนถึงสิ่งที่ทำและรู้สึกเสียใจเช่นกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว
บทเพลงนี้จึงเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์ LGBTQ+ ที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนถึงทัศนคติของคนในสังคมยุคนั้นว่าคิดอย่างไรต่อ LGBTQ+ บ้างกันแน่ เพราะการที่นักแต่งเพลงจะก่อรูปแบบความคิดเหล่านี้ขึ้นมา จนกลั่นออกมาเป็นเพลงได้ ก็แปลว่าคำด่าหลาย ๆ คนในเพลงนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายและเป็นสิ่งที่คนในสังคมคิดตรงกัน โดยเฉพาะท่อน “เธอแพร่เชื้อเอดส์ ทุเรศสังคม เสพสมกับเพศเดียวกัน” ก็ถือเป็นคำด่ารุนแรงที่คนยุคก่อนมักยกขึ้นมาด่าทอ LGBTQ+ เสมอ (ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย) และแม้กระทั่งปัจจุบันสิ่งนี้ก็ยังเป็นภาพจำอยู่
ประเทือง - 2541
ไท ธนาวุฒิ
ว้าย!..ว้าย!..ว้าย!..นี่ไอ้ประเทืองนี่หว่า
ว้าย!..ว้าย!..ว้าย!..นี่ไอ้ประเทืองนี่หว่า
หาก ‘เกลียดตุ๊ด’ คือการด่า LGBTQ+ แบบตรงไปตรงมา เพลง ‘ประเทือง’ ของ ไท ธนาวุฒิ ในปี 2541 ก็คงจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการพูดถึงในเชิงที่แอบซ่อนมากกว่า และลดความรุนแรงด้วยการติดตลก แต่ถึงอย่างนั้นผลกระทบจากเพลงนี้ก็ให้ผลลัพธ์ที่น่าสะเทือนใจไม่ต่างจากบทเพลงอื่นที่ด่าตรง ๆ เพราะถึงแม้ว่าเนื้อเพลงจะฟังเหมือนเป็นการเล่าเรื่องธรรมดาของการรียูเนี่ยนของเพื่อนชายสองคน ที่บังเอิญพบกับ ‘ประเทือง’ ผู้เปลี่ยนแปลงเป็นสาวสวยแล้ว ทว่าการใช้คำว่า “ว้าย” เป็นคำอุทานในเนื้อเพลง ก็ชวนให้นึกถึงการล้อเลียนถึง Stereotype ของ LGBTQ+ ซึ่งหลังจากเพลงนี้ถูกปล่อยออกมา ก็ทำให้คำว่า ‘ประเทือง’ กลายเป็นคำล้อเลียน LGBTQ+ ไปโดยปริยาย
และแม้จะผ่านมานานกว่า 20 ปี แล้ว และเราคิดว่าคนในยุคปัจจุบันตื่นรู้มากกว่าเดิมพอสมควร แต่ปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจากเพลง ‘ประเทือง’ ก็ยังคงอยู่ตลอดไป และเมื่อพูดถึงคำว่าประเทือง ทุกคนทั้งที่เคยฟังและไม่เคยฟังเพลงนี้ ก็เข้าใจตรงกันไปเรียบร้อยแล้วว่ากำลังพูดถึง LGBTQ+ อยู่ รวมถึงคำล้อเลียนอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างคำว่า ‘ราอูล’ เป็นต้น
แนนซี่ - 2547
แมงปอ ชลธิชา
“แนน แนน แนน แนนซี่
แนน แนน แนน แนนซี่
ถึงคำ นำหน้าเป็นนาย
ฉันก็เต็มใจ เรียกนางสาวแนนซี่”
ปี 2547 ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการเพลงที่เล่าถึงเรื่องราวของ LGBTQ+ เลยก็ว่าได้ เพราะหลังจากที่ปล่อยให้คนล้อเลียน LGBTQ+ ด้วยคำว่า ‘ประเทือง’ มานานหลายปี ในที่สุดนักร้องสาวอย่างแมงปอ ชลธิชา ก็ได้ปล่อยบทเพลงที่สร้างภาพจำใหม่ถึง LGBTQ+ ออกมาด้วย นั่นก็คือเพลง ‘แนนซี่’ โดยเฉพาะท่อน “ถึงคำนำหน้าเป็นนาย ฉันก็เต็มใจ เรียกนางสาวแนนซี่” ที่สื่อว่าแม้ตามกฏแล้วคำนำหน้าของพวกเขาจะเป็น ‘นาย’ แต่สำหรับเธอแล้ว ‘แนนซี่’ คือผู้หญิงที่เธอสนิทเหมือนพี่สาวคนหนึ่ง
เนื้อเพลง ‘แนนซี่’ จึงทำให้เรามองเห็นทิศทางของสังคมที่กำลังเปลี่ยนทิศไปในทางที่ดีขึ้น เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น และในอีกแง่หนึ่งเพลงนี้ก็สามารถล้อรับไปกับเพลงของเจินเจิน ที่แสดงตัวว่าเธอก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งในเนื้อเพลงนี้ แนนซี่ก็ได้รับการยอมรับแล้วว่าเป็นผู้หญิงคนหนึ่งจริง ๆ และหากเรามองเพลงนี้ด้วยเลนส์ปัจจุบัน ก็ยังสามารถต่อยอดไปสู่การตั้งคำถามถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงคำนำหน้าชื่อของ LGBTQ+ ที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในช่วงนี้ด้วยว่า หากใครสักคนที่มีทุกอย่างเป็นนายหรือนางสาว พวกเขาจะสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าตามกฎหมายด้วยได้หรือไม่
กระเทยประท้วง - 2547
ปอยฝ้าย มาลัยพร
“ฉันภูมิใจพอใจล่ะที่เป็นกะเทย
ไผสิเว้าเยาะเย้ยกะส่างเถาะเว้ย
กะส่างเถาะเว้ยปากคน
เริ่ดซะอย่างสวยแบบอดทน
บ่เคยสนคำคนนินทา”
“เดี๋ยวนี้เขายอมรับเหมิ๊ดแล้ว
ด๊อกเตอร์ด๊อกแต๋ว
กะออกหน้าออกตา
ฉันเองกะภูมิใจตัวฉัน
ผู้ได๋กีดกัน
กะส่างเขาเถาะน่า”
ในปีเดียวกันกับเพลงแนนซี่ ก็ยังมีอีกหนึ่งเพลงระดับตำนานจากฝั่งหมอลำที่โด่งดังขึ้นมาเป็นพลุแตก เพลงนั้นก็คือ ‘กระเทยประท้วง’ ของปอยฝ้าย มาลัยพร ที่มาพร้อมกับจังหวะสนุกสนานกับเนื้อเพลงม่วน ๆ แต่แฝงไปด้วยความหมายดี ๆ ทั้งการแสดงความภูมิใจ และการปลุกใจให้ LGBTQ+ ไม่ต้องอายในสิ่งที่เป็น และสิ่งที่น่าสนใจคือท่อน “เดี๋ยวนี้เขายอมรับเหมิ๊ดแล้ว” ที่แสดงให้เห็นมุมมองของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนว่าคนเริ่มให้การยอมรับแล้วว่าเป็นเรื่องปกติด้วย
ผมรักผัวเขา - 2557
เดช อิสระ อาร์ สยาม
“เธอมองหน้าอมยิ้ม แถมยักคิ้วไม่พูดอะไร
แบกความหวังกลับบ้านไป หลับฝัน ฝันเห็นฉิ่ง”
.
“ผมรักผัวเขา โอ๊ยตายผมรักผัวเขา ที่รักของเราเป็นสาวหล่อ
ก็นึกไม่ถึง ผมรักผัวเขา ทั้งเจ็บอกและตกตะลึง
ก็นึกไม่ถึง ไอ้ที่ผมฝันนั้นมันเป็นจริง”
แม้ในปี 2547 จะมีหลายบทเพลงที่เชียร์อัพ LGBTQ+ ขึ้นมาหลายเพลง แต่ถ้าเราสังเกตก็จะพบว่าเนื้อเพลงส่วนใหญ่ที่พูดถึง LGBTQ+ จะโฟกัสไปที่กะเทย เกย์ และสาวข้ามเพศเป็นหลัก แต่อีกฝั่งหนึ่งที่แทบไม่ได้รับการพูดถึงเลยก็คือ ‘ทอม’ ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นได้เลยว่า แม้ฝั่งพี่กะเทยจะได้รับการยอมรับมากขึ้นแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ทอมยังคงเป็นสนามอารมณ์อยู่เสมอ ดังที่เห็นได้จากบทเพลง ‘ผมรักผัวเขา’ ของ เดช อิสระ อาร์ สยาม ที่เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อ 10 ปี ที่แล้วนี้เอง
หากมองกันที่เนื้อเพลง เราจะเห็นว่ามีการนำสัญลักษณ์ของการ ‘ตีฉิ่ง’ ซึ่งเป็นคำเปรียบเปรยถึงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงและผู้หญิงในเชิงเหยียดเพศที่มีการใช้มาอย่างยาวนาน ไม่เพียงเท่านั้นหากเรามองกันในมิวสิกวิดีโอ ก็จะมีหลายฉากที่เน้นภาพวาด ‘ฉิ่ง’ ขึ้นมาตลอด
มิวสิกวิดีโอยังพยายามสื่อถึงการ “เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ” ผ่านตัวละครชายที่พยายามตามจีบทอม และเมื่อถึงจุดหนึ่งทอมคนนั้นก็สารภาพความในใจว่า ที่จริงเธอไม่ได้อยากเป็นทอม แต่เพราะผู้ชายหักอกมาเธอเลยเปลี่ยนมาชอบผู้หญิง ถ้าสักวันหนึ่งเจอผู้ชายดี ๆ แบบพระเอก เธอก็อาจจะเปลี่ยนเป็นผู้หญิงให้ก็ได้ (เหตุการณ์นี้เป็นแฟนตาซีของผู้ชายหลาย ๆ คนที่ชอบเชื่อว่าผู้หญิงไม่มีทางชอบผู้หญิงได้จริง ๆ หรอก ที่เป็นแบบนั้นเพราะพวกเธอยังไม่เจอผู้ชายที่ดีพอต่างหาก และเธอไม่ได้เป็นทอมด้วยตัวเอง แต่เพราะผิดหวังในความรักแน่ ๆ ) พร้อมกับมีการติดกิฟต์ผมขึ้นไปเพื่อสื่อว่าเธอเริ่มมีความอ่อนหวานแบบ Feminine เพิ่มเข้ามาแล้ว และแม้ในท้ายที่สุดฝ่ายชายจะเปลี่ยนใจเธอไม่สำเร็จ แต่ฉากนี้ก็เป็นอีกหนึ่งภาพจำที่สังคมแปะป้ายให้กับคนเป็นทอมที่ถูกฉายซ้ำแบบไม่รู้จบผ่านคำพูดและสื่อต่าง ๆ เสมอ
เพลง ‘ผมรักผัวเขา’ จึงเป็นมุมมองที่สังคมในยุค 2557 มีต่อทอม ที่แม้จะผ่านมานานหลายปี และมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในสังคม แต่ภาพจำนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย
.
#GroundControlTH #PrideMonth
I'll Do It How You Like It - 2565
พีพี - กฤษฏ์ อำนวยเดชกร
“ขอฉันได้ฝันอีกนิด ได้หรือเปล่า
ถ้าเธอไม่รีบร้อน ช่วยอยู่ก่อนได้ไหม
ขอแค่เราได้มองตา และจับมือของฉันไว้
I'll do it how you like it”
ขยับเข้าใกล้ปัจจุบันมากขึ้นอีกนิดกับเพลง ‘I'll Do It How You Like It’ ของ ‘พีพี - กฤษฏ์ อำนวยเดชกร’ ซึ่งถ้าเราดูตามเนื้อเพลง เราก็คงจะไม่รู้สึกว่าเพลงนี้กำลังพูดถึง LGBTQ+ แต่ถ้าเราดูมิวสิกวิดีโอที่พีพีนำแสดงร่วมกับอาเล็ก - ธีรเดช เมธาวรายุท ก็คงจะรับรู้ได้ทันทีว่าความรักในเรื่องนี้มีใครเป็นตัวเอก
ความน่าสนใจของเพลงนี้คือการนำเสนอเรื่องความรักชายชายในแบบที่ไม่ได้ตั้งคำถามอะไรกับสังคม ไม่ได้มีความรู้สึกผิด ไม่ได้อกหักช้ำรัก หรือเรียกง่าย ๆ ว่าทุกอย่างถูกนำเสนอออกมาเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ แถมมันยังมีความชวนฝัน โรแมนติก ดังที่เห็นในท่อน “ขอฉันได้ฝันอีกนิด ได้หรือเปล่า”
บทเพลงนี้เลยเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีต่อ LGBTQ+ รวมถึงมุมมองที่ LGBTQ+ มีต่อสังคม ซึ่งถือว่าแตกต่างจากในอดีตได้มาก เพราะแต่เดิมบทเพลงเกี่ยวกับ LGBTQ+ จะมีการพูดถึงรีแอคชันจากสังคม การได้รับการยอมรับจากสังคมเข้ามาเกี่ยว แต่ในปี 2565 นี้ การยอมรับจากสังคมไม่ได้เข้ามาอยู่ในสมการเหล่านี้อีกต่อไป แต่กลับพูดถึงความฝัน หรือรูปแบบความสัมพันธ์ที่ขอออกแบบเอง ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นภาพสะท้อนของสังคม LGBTQ+ ในยุคปัจจุบันที่เริ่มมีการสร้างพื้นที่ กลุ่ม หรือชุมชนของตัวเอง จนขึ้นมามีบทบาทและอำนาจต่อรองกับสังคมมากขึ้น รวมถึงสามารถออกแบบความรัก ความสัมพันธ์ และตัวตนในแบบของตัวเองได้ โดยไม่มีภาพจำจากสังคมมาครอบ เช่น แก๊ง Trasher และแก๊งหิ้วหวี เป็นต้น
ฟ้ารักพ่อ - 2567
BADMIXY, ยุ้ย ญาติเยอะ
“My sugar daddy
หมดใจเลยที่ฟ้าให้พ่อ
รักจริงไม่ได้หลอก
แค่อยากจะขอ
ให้พ่อช่วยฟ้าหน่อย
กระเป๋าดีๆต้องมีใช้
พ่อซื้อให้ฟ้าหน่อยได้ไหม
และอยากได้คอนโดใหม่
นะคะนะคะนะฟ้ารักพ่อ”
มาถึงเพลงสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดของยุคนี้ นั่นก็คือเพลง ‘ฟ้ารักพ่อ’ ของ มิกซ์ เฉลิมศรี ( BADMIXY) และยุ้ย ญาติเยอะ ที่เมื่อเทียบกับเพลงอื่น ๆ ที่เคยกล่าวมาแล้วถือว่าพลิกทุกภาพจำและทลายทุกขนบ ไม่มีการตัดพ้อ ไม่มีการตั้งคำถาม ไม่มีการส่งพลังอะไรเพื่อสื่อว่าเราดีแค่ไหน และไม่ต้องพิสูจน์ตัวตนกับใครให้ได้รับการยอมรับด้วย สิ่งที่มิกซ์ส่งออกมามีเพียงการแสดงตัวตนและความเริ่ดความจึ้งเท่านั้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือการกลายเป็นเพลงฮิตติดกระแสที่ร้องกันทั่วบ้านทั่วเมืองและทุกชนชั้นเลยด้วย
ไม่เพียง LGBTQ+ ฟ้ารักพ่อยังรวมความเป็น ‘ชายขอบ’ หลายอย่างไว้ในเพลงเดียวอย่างการเป็นคนจนและคนที่ (ต้อง) มีเสี่ยเลี้ยง แต่เธอไม่ได้เล่ามันออกมาในมุมมองน้อยเนื้อต่ำใจแบบเพลงยุคเก่า หรือกล่าวถึงในแง่ของการเป็นสิ่งที่ผิด แต่เธอได้ทำให้สิ่งนี้เป็นคนที่ ‘มีชีวิต’ อยู่จริงในสังคม ไม่ใช่สิ่งที่แปลก หรือสิ่งที่เราต้องไปตัดสินว่าคนเหล่านั้นเป็นคนดีหรือไม่ดี ‘ฟ้ารักพ่อ’ จึงเป็นบทเพลงที่สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคนี้ที่มีต่อหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป และจากการที่ใคร ๆ ก็อยากเป็นฟ้าหลังจากฟังเพลงนี้ ก็คงพูดได้เต็มปากถึงค่านิยมที่เปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ ไม่มากก็น้อย