คุยกับ หม่าเหยียนซง สถาปนิกผู้ก่อตั้ง MAD Architects ผู้เชื่อว่าเมืองไม่ใช่แค่กลุ่มอาคาร แต่เป็นภูมิทัศน์ทางจิตวิญญาณ

Post on 9 January

หม่าเหยียนซง (Ma Yansong) คือสถาปนิกชาวจีนผู้ก่อตั้ง MAD Architects และเป็นผู้พัฒนาปรัชญา ‘ซานสุ่ย’ (Shan-Shui) ที่ผสมผสานธรรมชาติและมนุษย์เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในการสร้าง "จิตวิญญาณ" ให้กับสถาปัตยกรรม

เราเคยรู้สึกเชื่อมโยงกับสถาปัตยกรรมครั้งล่าสุดเมื่อไหร่? บางทีอาจเป็นเมื่อเรามองเห็นเส้นสายของตึกที่พริ้วไหวและทำให้คิดถึงบ้าน หรือขณะเดินในอาคารแล้วปล่อยใจล่องลอยตามไป โลกยุคเทคโนโลยีทำให้เราประทับใจกับสถาปัตยกรรมที่ทันสมัยและน่าตื่นตาตื่นใจมากมาย แต่บางสิ่งที่อาจหายไปคือการเชื่อมโยงกับธรรมชาติและความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างมนุษย์กับสถานที่

นี่คือหัวใจสำคัญของปรัชญา "ซานสุ่ย" หรือ "ภูมิทัศน์น้ำและภูเขา" ซึ่งพัฒนาโดยหม่าเหยียนซง โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติและความรู้สึกของมนุษย์ การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ไม่เพียงแค่ตอบโจทย์การใช้งาน แต่ยังสร้างพื้นที่ที่ช่วยกระตุ้นอารมณ์และจิตใจของผู้ใช้ได้

หม่าเหยียนซงมีแนวคิดที่โดดเด่นในการผสมผสานปรัชญาจีนแบบดั้งเดิมกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยมองว่า “ธรรมชาติ” ไม่ใช่สิ่งที่แยกจากมนุษย์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราเชื่อมโยงกับมันอย่างมีจิตสำนึกในการออกแบบ การใช้วัสดุและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในงานของเขาจึงไม่เพียงแค่เน้นฟังก์ชันการใช้งาน แต่ยังทำให้เกิดประสบการณ์ทางอารมณ์ที่ยั่งยืนและกลมกลืนกับธรรมชาติ

ในงาน Business of Design Week 2024 (BODW 2024) ที่จัดขึ้นที่ฮ่องกง และเพิ่งจบลงเมื่อเดือนก่อน เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบจากทั่วโลกเดินทางมารวมตัวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียและขับเคลื่อนวงการออกแบบระดับโลกผ่านธีมประจำปีอย่าง “Inter/Section: Design, Artistry, and Innovation” ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมคิดถึงพลังของการออกแบบในการเปลี่ยนแปลงสังคม ผ่านประสบการณ์ของนักออกแบบชื่อดังระดับโลก

GroundControl ในฐานะ Media Partner ของงาน ได้มีโอกาสพูดคุยกับ หม่าเหยียนซง ผู้ก่อตั้ง MAD Architects และเจาะลึกปรัชญาซานสุ่ยของเขา

ในบทสัมภาษณ์พิเศษนี้ หม่าอธิบายแบบลงลึกถึงปรัชญาซานสุ่ย ซึ่งเราคิดว่าจะเปลี่ยนวิธีคิดของสถาปนิก นักออกแบบ และใครก็ตามที่อาศัยอยู่กับสถาปัตยกรรมเมือง จนทำให้ต้องกลับมาทบทวนตัวเอง และอาจนำไปสู่แรงบันดาลใจใหม่ ๆ ได้ เมื่อมองไปยังอาคารทั้งหลายหลังจบบทสัมภาษณ์นี้ เราคิดว่าทุกคนจะเห็น ‘จิตวิญญาณ’ หรือหากโชคร้ายหน่อย ก็อาจจะได้เห็นถึงความไร้วิญญาณ ในงานออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่…

อาคารจะมีจิตวิญญาณได้อย่างไร ไปพูดคุยกับเขากัน

สถาปนิกมากมายต้องการเผยแพร่แนวคิดทางสถาปัตยกรรมของตนไปทั่วโลก คุณมีแนวทางอย่างไรในการส่งเสริมแนวคิดแบบจีนผ่านงานออกแบบของคุณ

“ผมเติบโตมาพร้อมกับการเห็นเมืองอย่างปักกิ่ง พัฒนาแบบมีธรรมชาติอยู่ที่ใจกลางเมือง แต่เป็นธรรมชาติที่ผ่านการจัดวางมา ไม่ใช่ธรรมชาติแบบป่าแท้ ๆ ซึ่งแตกต่างจากโมเดลการพัฒนาอื่น ๆ และมันสร้างแรงบันดาลใจให้ผมมาก ผมจึงมักออกแบบสถาปัตยกรรมให้สร้างประสบการณ์ทางธรรมชาติที่แตกต่างจากอาคารสมัยใหม่ทั่วไป ถึงแม้ว่าจะใช้เทคโนโลยีและวัสดุใหม่ ๆ แต่แนวคิดที่เกี่ยวกับธรรมชาติยังเชื่อมโยงกับสถาปัตยกรรมดั้งเดิมแบบตะวันออกอยู่”

คุณมักจะพูดถึง ‘เมืองซานสุ่ย’ (Shanshui City) ในฐานะปรัชญาอย่เสมอ แนวคิดนี้ส่งผลต่อวิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองในอนาคตของคุณอย่างไร

“ผมคิดว่าแนวคิดนี้คือข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างมุมมองต่อธรรมชาติแบบตะวันออกและตะวันตก สมัยนี้เวลาพูดถึงธรรมชาติ เราจะชอบพูดกันเรื่องความยั่งยืน เรื่องสีเขียว เรื่องตัวเลข และเรื่องการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือการมองธรรมชาติเป็นวัตถุ เป็นสิ่งอื่นที่อยู่ภายนอกความเป็นมนุษย์

“แต่ในวัฒนธรรมตะวันออก เรามองว่าธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราจึงต้องคิดหรือต้องขยายโลกทางจิตวิญญาณผ่านธรรมชาติ เราใช้ธรรมชาติเป็นสัญลักษณ์ เป็นสื่อกลางเพื่อทำงานทางอารมณ์และทางจิตวิญญาณ

“แนวคิดซานสุ่ยเองก็เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมคิดว่ามันสำคัญที่จะต้องสร้างสถาปัตยกรรมและเมืองสมัยใหม่ขึ้นมา เพราะตอนนี้เราพูดถึงธรรมชาติกันอย่างกับมันเป็นแค่ความฝัน ผมคิดว่ามันยังเทียบไม่ได้กับสมัยก่อนเลย อย่างเช่นในสวนจีนหรือญี่ปุ่นโบราณที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันยอดเยี่ยมมาก ๆ”

คุณใช้วัสดุและนวัตกรรมทางวัสดุในงานสถาปัตยกรรมของคุณอย่างไรเพื่อสร้างอารมณ์หรือประสบการณ์ทางจิตวิญญาณให้กับผู้ที่ใช้พื้นที่นั้น ๆ?

"ผมใช้วัสดุจำนวนมากในสถาปัตยกรรมของผม แต่ผมก็ใช้แสงและพื้นที่ต่าง ๆ ด้วย และนั่นคือสิ่งแรกที่ผู้คนจะสังเกต บางคนก็บอกว่าผมชอบ ‘สลายรูป’ (dematerialize) แต่จริง ๆ แล้ว ผมใช้วัสดุเพื่อสร้างบรรยากาศบางอย่าง ผมแปลงวัสดุให้กลายเป็นบรรยากาศที่ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้คน ผมพยายามใช้วัสดุไม่เพียงแค่เพื่อสื่อถึงบางสิ่งบางอย่าง แต่เพื่อกระตุ้นให้เกิดการค้นพบต่างหาก ผมพยายามซ่อนเทคโนโลยีและรายละเอียดต่าง ๆ เอาไว้ เพื่อให้คนที่เข้ามาสัมผัสอาคารได้รู้สึกกับมันผ่านสัญชาติญาณของพวกเขาเอง"

สถาปัตยกรรมของคุณมีการนำปรัชญาจีนและองค์ประกอบแบบจีนมาใช้ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง คุณคิดว่าเทคโนโลยีจะมีผลกระทบต่อการทำงานของคุณอย่างไร?

"เทคโนโลยีมีอยู่ทุกที่ ทั้งในชีวิตประจำวันและในอาคาร ผมมองว่าเทคโนโลยีควรเพิ่มเสรีภาพให้กับมนุษย์ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จำกัดเรา นั่นคือเหตุผลที่ผมไม่ต้องการให้เทคโนโลยีโดดเด่นหรือแสดงออกมาในงานออกแบบ เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าในอีก 20 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีการเก็บพลังงานแสงอาทิตย์เปลี่ยนไป อาคารที่ใช้แผงโซลาร์เซลล์ในปัจจุบันอาจกลายเป็นขยะได้ ผมจึงพยายามใช้เทคโนโลยีในลักษณะที่ยั่งยืนและเหมาะสมเพื่อมอบเสรีภาพและแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากขึ้น"

คุณเพิ่งได้พูดคุยกับนักออกแบบและสถาปนิกชื่อดังสองคนในงาน BODW 2024 คือ โทมัส เฮเทอร์วิค (Thomas Heatherwick) และเจมส์ โกลด์ฟาย (James Goldify) คุณคิดว่าแนวทางการออกแบบของคุณมีความเหมือนหรือแตกต่างจากพวกเขาอย่างไร และคุณชื่นชมสิ่งใดในตัวเพื่อนร่วมงานเหล่านั้น?

"ผมคิดว่าวันนี้เป็นการประชุมที่สำคัญ เพราะนักออกแบบแต่ละคนพยายามแสดงแนวคิดของตัวเองและโน้มน้าวสังคม โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงประเด็นสำคัญอย่างความยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของประชาชน ผมมักจะนึกถึงศิลปิน เช่น นักดนตรีหรือนักเขียน ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้ เราเชื่อมั่นในพรสวรรค์ของพวกเขาและคาดหวังให้พวกเขานำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ เราต้องการสำรวจโลกและมุมมองของพวกเขา ผมคิดว่าศิลปินแต่ละคนจึงกลายเป็นส่วนสำคัญของสังคมที่น่าสนใจ

“เมื่อเราอยู่ในเมือง เราจะได้สัมผัสกับจินตนาการและวิสัยทัศน์ของผู้คนรอบตัวเรา ผมรู้สึกว่าสถาปนิกควรมีบทบาทคล้ายกับศิลปินในแง่นี้ ตัวอย่างเช่น หากพูดถึงเกาดี (Gaudi) สถาปนิกชาวสเปน แน่นอนว่าเขามีรากฐานมาจากประเพณีในท้องถิ่นของตัวเอง แต่ผมมองว่าเกาดี้เป็นคนที่มีพรสวรรค์มาก ผลงานของเขาในช่วงแรกอาจเป็นที่ถกเถียง แต่เขาก็พูดว่า 'ผมรับใช้ผู้คน' ซึ่งผมคิดว่าเราควรใส่ใจความต้องการของผู้คนอย่างแท้จริง

“เมืองจึงไม่ใช่แค่อาคาร แต่ควรเป็นการสร้างภูมิทัศน์ทางจิตวิญญาณด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่หลังจากผ่านไป 100 ปี เรายังคงเดินทางไปบาร์เซโลนาเพื่อชมผลงานของเกาดีและได้รับแรงบันดาลใจอย่างต่อเนื่อง ในงานนี้ นักออกแบบควรตระหนักถึงความรับผิดชอบในจุดนี้ด้วย

“เราได้พูดคุยกันเกี่ยวกับอนาคตของการออกแบบเมือง ซึ่งมักจะมีวิสัยทัศน์เพื่อความยั่งยืน การเชื่อมต่อของมนุษย์ และการเคารพระบบนิเวศท้องถิ่น ความท้าทายที่แท้จริงคือการทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในโครงการ ความเป็นจริงและอุดมคติจึงมักมีช่องว่างระหว่างกัน คุณต้องรอคอยอย่างอดทน"

เห็นได้ชัดว่างานของคุณมีความงามทั้งในแง่สไตล์และความประณีต คุณมีวิธีจัดสมดุลระหว่างฟังก์ชันการใช้งานและความสวยงามเพื่อรองรับทั้งความต้องการของแต่ละบุคคลและโดยส่วนรวมได้อย่างไร?

“จริง ๆ แล้วนี่คือสิ่งที่ผมรู้สึกในวันนี้ เพราะผู้คนมักพูดถึงเรื่องความเป็นมนุษย์ และผมคิดว่ามันยากที่จะพูดถึงความเป็นมนุษย์โดยไม่พูดถึงบุคลิกภาพและความแตกต่างของแต่ละคน นั่นเป็นเหตุผลที่ผมเชื่อว่าสถาปัตยกรรมควรมอบอิสระให้กับผู้คนมากขึ้น เพื่อให้ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง

“ในหลายกรณี สถาปัตยกรรมมักจะกำหนดพื้นที่และพฤติกรรมของผู้คน ดังนั้น การมอบอิสระมากขึ้น หรือแม้แต่การออกแบบที่มีความแปลกใหม่หรือไม่ชัดเจน ก็อาจเป็นประโยชน์ ความรู้สึกของการหลงทางในพื้นที่อาจช่วยให้ผู้คนพึ่งพาตัวเองแทนที่จะรับข้อมูลโดยตรงจากทุกที่ ผมไม่ต้องการบอกพวกเขาว่า "คุณได้รับการดูแลแล้ว" แต่ต้องการให้พวกเขาดูแลตัวเอง รู้จักสิ่งที่พวกเขาต้องการและสามารถตระหนักถึงสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง

“ดังนั้น บางครั้งการออกแบบให้มีความเป็นนามธรรมมากขึ้นและการให้ข้อมูลน้อยลง สามารถช่วยให้เกิดประสบการณ์ที่คล้ายบทกวี ที่ผู้คนสามารถหลบหนีเข้าสู่โลกใบใหม่ที่พวกเขาสามารถพบความงามและเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง นั่นคือวิธีที่ผมมองอาคารสาธารณะหรือพื้นที่สาธารณะ

“จำนวนคนที่ใช้พื้นที่อาจไม่สำคัญเท่ากับว่าพวกเขาสามารถรู้สึกและจินตนาการได้อย่างอิสระหรือไม่ บางครั้งศาลาขนาดเล็กอาจมีเพียงสองคนใช้งาน แต่ถ้าพวกเขาสามารถรู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ และมีอิสระในการจินตนาการ นั่นก็เพียงพอแล้ว”

ดังนั้น สำหรับคุณ มันเหมือนกับการปล่อยให้ผู้คนได้สัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง มากกว่าการบอกให้พวกเขารู้สึกอย่างไรใช่ไหม?

“ใช่ครับ บางครั้งการกระตุ้นให้ผู้คนรู้สึกหรือสร้างแรงบันดาลใจก็เป็นสิ่งสำคัญ ผมมักจะนึกถึงตัวอย่างเช่น อาคารของดาลี (Dali) ที่มีเสน่ห์พิเศษ ผมชื่นชอบงานสถาปัตยกรรมหลายแห่งในอดีตที่ทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายได้จริง ๆ และบางครั้งมันอาจทำให้เรามองย้อนกลับไปในความเป็นจริง และทบทวนสิ่งที่เราเคยทำมา มันเหมือนกับการอ่านหนังสือดี ๆ สักเล่ม ที่ทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นและได้มุมมองใหม่ ๆ เมื่ออ่านซ้ำ”

ตอนนี้แนวคิด 'ซานสุ่ย' (Shanshui) มีอายุกว่า 10 ปีแล้วและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คุณเองก็มีผลงานในหลายประเทศ สิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกประทับใจที่สุดจากผู้คนทั่วโลกเกี่ยวกับแนวคิดซานสุ่ยคืออะไร? ผู้คนมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้างเกี่ยวกับแนวคิดซานสุ่ย

“จริง ๆ แล้ว 'ซานสุ่ย' เป็นคำดั้งเดิมในวัฒนธรรมจีน ซึ่งมักจะเชื่อมโยงกับงานศิลปะโบราณ แต่สำหรับผม สถาปัตยกรรมที่ผมออกแบบไม่ได้จำกัดแค่รูปแบบดั้งเดิม มันเกี่ยวข้องกับ 'สิ่งที่ไม่รู้จัก' และ 'อนาคต' ถึงแม้ว่าจะมีความเชื่อมโยงกับประเพณีและรากเหง้าบางอย่าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือแนวคิดที่มาจากภายในจิตใจของเรา

“ผมคิดว่ามีการตอบรับที่ดีจากผู้คนต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงสถาปัตยกรรมที่เน้น 'อารมณ์ความรู้สึก' และ 'ธรรมชาติ' ผู้คนจะสามารถมองเห็นและเข้าใจลักษณะเหล่านั้นได้ และนั่นคือเหตุผลที่ผู้คนจากหลายประเทศเชิญผมให้เข้าร่วมในโครงการของพวกเขา ไม่เช่นนั้นแล้ว สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ส่วนใหญ่ก็จะพูดถึงแต่ฟังก์ชันและอาคารในฐานะ 'วัตถุ' เท่านั้น

“แต่ถึงอย่างนั้น ผมไม่คิดว่าผมจำเป็นต้องไปโน้มน้าวให้คนอื่นเชื่อในแนวคิดนี้ บางทีพวกเขาอาจประสบปัญหาเดียวกัน เช่น รู้สึกว่า 'อาคารรอบตัวเรามันน่าเบื่อ ไม่มีอะไรที่ทำให้รู้สึกถึงความสวยงามของธรรมชาติเลย' ดังนั้นเมื่อพวกเขาเห็นการออกแบบของเรา พวกเขาก็ตกหลุมรักมันโดยไม่รู้ตัว หลังจากนั้นเราก็พูดคุยกันเกี่ยวกับแรงบันดาลใจ วิธีที่เราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ และสิ่งที่เราต้องการทำเพื่ออนาคต ความสัมพันธ์แบบนี้สำคัญมาก”

การเติบโตในย่านหูท่งของปักกิ่งทำให้คุณมีมุมมองต่อพื้นที่สาธารณะเป็นอย่างไรบ้าง

“ผมคิดว่าเราทุกคนเข้าใจสถาปัตยกรรมผ่านประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง ตอนที่ผมเป็นเด็ก ผมไม่รู้จักคำว่าสถาปัตยกรรมเลย ปักกิ่งในตอนนั้นยังไม่มีอาคารสมัยใหม่มากนัก ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องสถาปัตยกรรมเลยตอนนั้น ผมแค่คิดว่าอาจจะได้สร้างวัดหรืออาคารไม้เก่า ๆ สิ่งที่ผมจดจำได้คือประสบการณ์ในวัยเด็ก เช่น การใช้ชีวิตในลานบ้านที่มีต้นไม้ใหญ่ การเล่นกับเพื่อนหลังเลิกเรียน หรือการออกไปข้างนอกในเมืองที่มีภูเขาและทะเลสาบที่ทุกคนสามารถว่ายน้ำได้ มันเหมือนสนามเด็กเล่นขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำดี ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมรู้ว่า ธรรมชาติไม่ใช่แค่ธรรมชาติ แต่มันเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ความทรงจำ และอารมณ์

“เมื่อโตขึ้น ผมเริ่มเข้าใจว่าสถาปัตยกรรมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม มันเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของผู้คน ดังนั้นการออกแบบจึงไม่ควรเป็นแค่การออกแบบอาคาร แต่ต้องเป็นการออกแบบวิถีชีวิตและประสบการณ์ของมนุษย์ด้วย ทุกคนรู้ดีว่าศิลปินและนักดนตรีสามารถสร้างงานที่สะเทือนอารมณ์ ผู้คนไม่สงสัยว่าทำไมดนตรีหรือศิลปะถึงมีอารมณ์ แต่สำหรับสถาปัตยกรรม ผู้คนมักไม่ค่อยเชื่อมโยงอารมณ์เข้าไปด้วย

“แต่สำหรับผม อารมณ์เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงผู้คนผ่านศิลปะทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม หรือดนตรี ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงมนุษย์ผ่านอารมณ์และการสื่อสารทางจิตวิญญาณ ดังนั้นผมคิดว่าสถาปัตยกรรมก็มีบทบาทสำคัญ ถ้าไม่มีผู้คน มันก็จะไม่มีคุณค่าอะไรเลย ดังนั้นสถาปัตยกรรมจึงไม่ใช่แค่ตัวอาคาร แต่มันคือสิ่งที่ผู้คนได้สัมผัส รู้สึก และเข้าใจความเป็นมนุษย์ผ่านสิ่งนั้น”