GC_MultiCover_Androgynous.jpg

จาก David Bowie ถึง Harry Styles แฟชั่น Androgynous ก้าวไปไกลแค่ไหนในโลกของผู้ชาย

Post on 7 May

แฟชั่น Androgynous หมายถึง แฟชั่นที่ยากจะระบุว่าเป็นเพศใดเพศหนึ่ง เพราะมีลักษณะของทั้ง ‘ความเป็นชาย’ และ ‘ความเป็นหญิง’ อยู่ด้วยกันทั้งคู่

ในโลกของแฟชั่น เป็นที่รู้กันดีว่า บุคคลแรก ๆ ที่ผสานโลกของชายและหญิงเข้าด้วยกันในช่วงยุค 1910s ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นมาดาม Coco Chanel ผู้โด่งดังแห่งห้องเสื้อ Chanel ที่เปลี่ยนการแต่งกายของผู้หญิงจากกระโปรงฟูฟ่องและคอร์เซ็ตมาเป็นชุดกางเกงที่ทะมัดทะแมงมากขึ้น ซึ่งในช่วง 1930s เทรนด์นี้ก็ยังคงทรงอิทธิพลมาถึงเหล่าเซเลบคนดังแห่งฮอลลีวูดอย่าง Katherine Hepburn และ Marlene Dietrich ที่เริ่มหันมาแต่งกายในลุคแมน ๆ มากขึ้น ในเวลาต่อมา Yves Saint Laurent ที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในช่วงยุค 1960s ก็เข้ามาทำลายกรอบแฟชั่นของเพศหญิงด้วยชุดทักซิโด้สุดเท่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องแต่งกายเฉพาะของสุภาพบุรุษเท่านั้น นี่เองถือเป็นวิวัฒนาการของ แฟชั่น Androgynous ในช่วงเริ่มแรก

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงแฟชั่น Androgynous ของผู้ชาย เราจะเห็นว่า เทรนด์เหล่านี้กลับถูกทำให้เป็นที่สนใจต่อสาธารณชนจากเหล่าร็อกเกอร์สายแกลมผู้โด่งดังอยู่หลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็น David Bowie, Prince หรือ Freddie Mercury ผู้ซึ่งผสานความเป็นชายและความเป็นหญิงเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

The Peacock Revolution ช่วงปลายยุค 1960s

ด้วยความจัดจ้านและสไตล์ล้ำสมัย เหมือนนกยูงตัวผู้ที่กำลังรำแพนหางอวดความงามไม่ซ้ำใคร จึงเป็นสาเหตุให้ผู้คนเริ่มเรียกการเปลี่ยนแปลงทางแฟชั่นของเหล่าร็อกเกอร์ชายในช่วงปลายยุค 1960s ว่า The Peacock Revolution โดยมีผู้นำด้านการแต่งกายและการแต่งหน้าเป็น David Bowie นักร้องคนล้ำผู้ไม่เคยเกรงกลัวการแต่งกายที่มีกลิ่นอายความเป็นหญิง นอกจากนั้น เขายังมีตัวตนอีกคนชื่อ Ziggy Stardust ที่เป็นเอเลี่ยนลุค Androgynous ที่มายังโลกเพื่อส่งสารบางอย่าง หรือ Jimi Hendrix ในชุดพลิ้วไหวอันเป็นเอกลักษณ์ ในเวลาต่อมาในช่วง 1980s ยังมีร็อกเกอร์ร่วมอุดมการณ์อีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น Prince นักร้องผู้ที่ไม่เพียงเป็นผู้นำด้านแฟชั่น Androgynous แต่ยังมีทั้งความลื่นไหลทางเพศในการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องสนใจความเป็นชายที่สังคมคาดหวัง และยังเป็นไอคอนแห่งชาวผิวสีด้วย รวมไปถึง Freddie Mercury นักร้องนำแห่งวง Queen ตัวแทนชาว LGBTQ+ ผู้มักจะปรากฏตัวด้วยชุดรัดรูปบนเวทีคอนเสิร์ตที่ดูงดงามชวนมอง

กรันจ์ครองเมืองช่วงยุค 1990s

แม้จะแสดงออกผ่านเสียงเพลงอันหยาบกร้านและดิบเถื่อน อันเป็นลักษณะของชายผู้โชกโชนกับชีวิต แต่ผู้นำแห่งดนตรีกรันจ์อย่าง Kurt Cobain แห่งวง Nirvana กลับไม่เคยดูถูกความเป็นหญิง เขาโอบรับความลื่นไหลทางเพศอย่างเต็มภาคภูมิ ตั้งคำถามกับอคติทางเพศ และแสดงออกผ่านเสื้อผ้าสวย ๆ ของผู้หญิงที่เขาใส่ขึ้นคอนเสิร์ตอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเดรสวินเทจสุดพลิ้ว เครื่องประดับมีสไตล์ และอายไลเนอร์สุดคูล สิ่งเหล่านี้ไม่เคยทำให้ความเป็นชายของเขาลดลง แต่กลับทำให้เขากลายเป็นไอคอนของคนรุ่นใหม่ทั่วทั้งโลก

ช่วงยุค 2010s - ปัจจุบัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบัน ยังคงมีความคาดหวังจากสังคมให้ผู้คนแต่งกายตรงตาม ‘เพศสภาพ’ อยู่ และการแต่งกายด้วยแฟชั่น Androgynous ของผู้ชายอาจจะยังดูเป็นของแปลกใหม่ในสังคมอยู่บ้าง แต่ต้องยอมรับว่า ในช่วงยุคแห่งความอิสระเสรีที่ผู้คนสามารถแสดงออกถึงตัวตนของตัวเองผ่านเสื้อผ้าได้มากขึ้น เทรนด์แฟชั่นเหล่านี้ถูกทำให้เป็นปกติมากขึ้นในเหล่าวัยรุ่น Gen Z รวมไปถึงจากเหล่าแบรนด์ดังที่เริ่มปล่อยคอลเลกชั่นเสื้อผ้าสไตล์ใหม่ที่ไม่แบ่งแยกเพศอีกต่อไป แม้แต่เหล่าเซเลบแหล่งโลกตะวันตกมากมายก็เริ่มหันมาแต่งกายด้วยชุดที่ไม่ระบุเพศอีกต่อไป ที่เห็นได้ชัดเจนคงจะหนีไม่พ้น Harry Styles ผู้นำแห่งแฟชั่น Androgynous ในยุคนี้ที่แม้มีลุคน่าตื่นเต้นใหม่ ๆ ออกมาให้เราเห็นกันแทบทุกเดือน แต่ก็ไม่ได้ทำให้สาว ๆ คลั่งไคล้เขาน้อยลงแม้แต่น้อย แถมล่าสุดเขายังเปิดตัวบิวตี้แบรนด์อย่าง Pleasing ด้วย นอกจากนั้น ยังมี Jaden Smith หนุ่มน้อยสุดเท่ผู้สามารถสวมใส่กระโปรงได้ดูดีสุด ๆ รวมถึงตัวแทนจากฝั่งตะวันออกอย่าง G-Dragon แห่งวง BIGBANG ที่เป็นผู้นำด้านแฟชั่นที่ผสมผสานความเป็นชายและความเป็นหญิงมาอย่างยาวนาน ทั้งการแต่งหน้า ทาเล็บ และมิกซ์แอนด์แมชท์แฟชั่นชาย-หญิง แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุดคงหนีไม่พ้นเหล่าแรปเปอร์คนคูลอย่าง Young Thug หรือ ASAP Rocky อาชีพที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นตัวแทนของความเป็นชายผู้ดำดิ่งในโลกของดนตรีฮิปฮอป และมุ่งถ่ายทอดถึงชีวิตอันขมขื่นผ่านเซ็กซ์ ความรุนแรง และยาเสพติด

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าแฟชั่น Androgynous จะมาแล้วจากไป เป็นเพียงเทรนด์ดาด ๆ ที่เหล่าเซเลบหยิบยกขึ้นมาสวมใส่เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าว่าพวกเขาไม่เกรงกลัวต่อความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) หรือจะเป็นการแสดงออกของตัวตนที่สามารถแหกกรอบของสังคมที่คอยสอนสั่งให้เราต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้จริง ๆ เชื่อเหลือเกินว่า แฟชั่น Androgynous จะยังคงมีอะไรใหม่ ๆ มาให้เราติดตามอีกมากมายแน่นอน

แหล่งข้อมูล:
https://www.buro247.my/fashion/mens/male-icons-androgynous-fashion.html
https://www.bustle.com/articles/149928-the-evolution-of-androgynous-fashion-throughout-the-20th-century-photos
https://www.bustle.com/articles/164464-7-reasons-the-peacock-revolution-of-the-1960s-was-important-for-gender-norms