GC_MultiCover_daniels.jpg

รู้จัก DANIELS สองผู้กำกับเพื่อนซี้สุดแสบสัน ที่กำลังจะพาซือเจ๊บุกโลกภาพยนตร์

Post on 5 May

อัลกอริทึมผลักเราเข้าด้วยกัน แล้วเราก็ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

กระแสของ Everything Everywhere All At Once หรือในชื่อไทย ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส ที่มาแรงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ค่ายหนังอินดี้ยักษ์ใหญ่ของอเมริกา A24 ปล่อยโปสเตอร์ออกมาให้ได้กรี๊ดกัน .. ท่ามกลางสิ่งที่เราเรียกว่า ‘โลกมัลติเวิร์ส’ ศัพท์ยอดฮิตในช่วงเวลานี้ เรื่องราวของเจ๊ใหญ่และความหายนะที่เกิดจากภาษี กำลังจะพาผู้ชมก้าวข้ามเส้นแบ่งของสิ่งที่ธรรมดาที่สุด มาสู่ความอิหยังคะขั้นสุดขีด เพื่อหาว่าความหมายของชีวิตคืออะไรกันแน่

นี่ไม่ใช่หนังบนโลกมัลติเวิร์สเหมือนกับที่ทุกคนเคยรู้จักแน่นอน เพราะผลงานการสร้างของสองผู้กำกับเพื่อนซี้ Daniel Kwan และ Daniel Scheinert ซึ่งรู้จักกันในชื่อดูโอ้ DANIELS เป็นที่เล่าขานกันมาตลอดว่านอกจากรสมือที่แฝงความกวนอย่างเจ็บแสบแล้ว วิธีการนำเสนอเรื่องราวในหนังของพวกเขายังแปลกและแตกต่างจากผู้กำกับคนอื่น ๆ ที่เคยมีมาโดยสิ้นเชิง ถึงขั้นอาจสร้างความอึดอัดใจให้ผู้ชมได้เลยทีเดียว ทว่าในขณะที่เรารู้สึกไม่สะดวกสบายในการดูหนังของ DANIELS เราก็มีความสุขและรู้สึกสะใจในความบ้านี้ด้วยเช่นกัน

เราทั้งคู่มีอารมณ์ขันในอะไรแปลก ๆ เหมือน ๆ กัน.. แต่เราต่างมีความถนัดที่ต่างกันอย่างมาก

ห้องใต้ดินในบ้านของ Scheinert กลายมาเป็นพื้นที่เซฟโซนที่เขามักจะขลุกตัวอยู่ในนั้นเพื่อดูหนังเรื่องโปรดเสมอมาตั้งแต่เด็กจนโต กระทั่งเขาเข้าเรียนด้านภาพยนตร์ที่ Emerson College ในบอสตัน และได้รู้จักกับ Kwan แรกเริ่มเดิมที พวกเขาแค่เรียนวิชา 3D แอนิเมชันร่วมกันเหมือนเพื่อนร่วมคลาสคนอื่น ๆ แต่อาจเพราะความต่างกันอย่างสุดขั้วเมื่อ Kwan เด็กหนุ่มกล้าแสดงออกที่มีส่วนร่วมกับทุกอย่าง และ Scheinert มักจะนั่งอยู่เงียบ ๆ เสมอ ทำให้พวกเขาเริ่มมีบทสนทนาพูดคุยโต้เถียงกันในเรื่องต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ด้วยความที่ Kwan คือนักแสดงตลกที่มีเซนส์ความตลกไม่เหมือนใคร ส่วน Scheinert เองก็มีความสามารถในการทำโมชั่นกราฟิกอันยอดเยี่ยม ทำให้พวกเขาเริ่มตระหนักได้ว่า พวกเขาต่างมีพรสวรรค์ที่ชัดเจนในมุมของตัวเอง นั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด

จุดเกิดจากความบ้าบิ่นเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อสองเพื่อนสนิท DANIELS เป็นครูผู้ช่วยในค่ายฤดูร้อนใน New York Film Academy เพราะการได้เห็นนักเรียนถือกล้องวิ่งไปถ่ายหนังรอบ ๆ พื้นที่ ทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึก ‘อิจฉา’ และแวบความคิดขึ้นมาว่าพวกเขาจะต้องลองทำหนังสั้นสักเรื่อง หลังจากนั้น DANIELS จึงตัดสินใจสร้างหนังสั้นของตัวเองในชื่อ Swingers (2009) ที่สวนหลังบ้านของ Kwan และเผยแพร่ลงในเว็บ Vimeo ซึ่งนำมาสู่การสร้างหนังสั้นเรื่องที่สองอย่าง Puppets (2010) จนกลายมาเป็นที่สนใจในกระแสสังคมออนไลน์ นำมาสู่การสร้างสรรค์มิวสิควิดีโอสุดแปลกที่ทำให้พวกเขาดังจนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และก้าวเข้าสู่วงการหนังใน กลายมาเป็นสองผู้กำกับดูโอ้ที่เป็นที่จับตามองมากที่สุดแห่งยุคสมัย

เราสามารถทำสิ่งที่บ้าได้ในราคาถูก

ถ้าจะให้สรุปจุดขายสำคัญของสองเพื่อนซี้รวบเป็นประโยค คงหนีไม่พ้นประโยคด้านบนที่ว่ามา สไตล์งานของ DANIELS มักจะมีความทะเยอทะยานและมีงบประมาณที่ไม่มากนัก เป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานอยู่เสมอ ทำให้งานของเขาสามารถสร้างเนื้อหาที่โดดเด่นจนหาตัวจับยากได้ด้วยวิธีการที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

ในการทำงานมิวสิควิดีโอ สองเพื่อนซี้มักจะเริ่มตีความภาพจากการฟังเพลง และหาช่วงเวลาที่ทำให้พวกเขาหัวเราะร่วมกัน “อะไรที่ทำให้เราตื่นเต้น” “จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในเฟรมภาพ” สองคำถามนี้คือสิ่งที่พวกเขามักจะถามขึ้นเสมอในการทำงาน .. และคงเป็นเหตุผลหลักเลยก็ว่าได้

DANIELS เริ่มต้นเส้นทางการกำกับจากการสร้างมิวสิควิดีโอ ตั้งแต่ Don't Stop (Color on the Walls) เพลงดังของวงดนตรีอินดี้ป๊อบสัญชาติอเมริกัน Foster The People ที่สร้างความวายป่วงขึ้นจากสถานการณ์เล็ก ๆ อย่างการตรวจใบขับขี่, มิวสิควิดีโอในเพลงธรรมดาที่ไม่ธรรมดาอย่าง Simple Song ของ The Shins ซึ่งคล้ายกับการจำลองภาพใน The Royal Tenenbaums หนังดังของ Wes Anderson พร้อมใส่ลูกเล่นเพิ่มเติมด้วยความแปลกมากมาย ไปจนถึงภาพหายนะของการเต้นทะลุฝ้าเพดานในเพลงระดับตำนานอย่าง Turn Down for What ของ DJ Snake, Lil Jon สิ่งเหล่านั้นต่างกลายมาเป็นที่จดจำตั้งแต่แวบแรกเมื่อได้เห็น และยังคงโด่งดังมาจนถึงทุกวันนี้

มิวสิควิดีโอ นำพา DANIELS ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยหนังเรื่องแรกของพวกเขาอย่าง Swiss Army Man (2016) ที่นำแสดงโดยสองนักแสดงชื่อดังในเวลานี้คือ Paul Dano และ Daniel Radcliffe บอกเล่าถึงชายคนหนึ่งที่พยายามจะชุบชีวิตศพในเกาะร้าง หลังจากนั้นศพก็ผายลม แต่แทนที่เขาจะรู้สึกขยะแขยง ชายคนดังกล่าวกลับไม่กลัวและเริ่มจัดการกับสิ่งที่เขาเจอ เรื่องราวดำเนินไปอย่างคาดเดาได้ยาก เค้าคลอกับเสียงเพลงบรรเลงสุดไพเราะที่ดังขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ระหว่างทาง

“หน้ากากของพระเจ้าปรากฏได้ในทุกที่และทุกรูปแบบ อาจจะเป็นนาฬิกา ถ้วยชาม การผายลม หรืออะไรก็ตามที่เราหยิบขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ทำให้เราตั้งคำถามและเริ่มตรวจสอบมัน ยิ่งเราเกิดคำถามมากเท่าไร เราก็จะเริ่มรู้ว่าเส้นทางนั้นไม่มีจุดสิ้นสุด”

ด้วยแนวคิดนี้ DANIELS ได้ต่อยอดงานของเขาผ่านการท้าทายตัวเอง ในหนังเรื่องนี้ ทั้งสองตั้งคำถามร่วมกันว่า เราจะปั้นหุ่นผายลมให้สวยงามได้ไหม? เราสามารถทำให้หินสองก้อนรู้สึกเหมือนพวกเขากำลังมีความสัมพันธ์ที่สวยงามหรือไม่? การทำหนังจึงเป็นเหมือนแบบฝึกหัดที่ทำให้ทั้งคู่ได้เชื่อมโยงแนวคิดต่าง ๆ มากมาย แม้คำอธิบายแบบนี้จะดูไร้สาระและไม่มีแก่นสาร แต่สิ่งที่อยู่ลึกลงไปในเนื้อหนังคือประเด็นทางสังคม ความแปลกแยก เรื่องราวเชิงปรัชญา ความอัปยศของร่างกาย ที่นำมาสู่การค้นหาตัวตนในรูปแบบต่าง ๆ ในที่สุด

การเติบโตมาในครอบครัวที่พูดภาษา จีน-อังกฤษ ทำให้ Kwan เข้าใจในความแตกต่างและความสวยงามบนโลกที่แปลกแยกนี้ได้เป็นอย่างดี ยิ่งเมื่อนำซีเควนซ์การต่อสู้สไตล์หนังฮ่องกงที่พวกเขาชอบ มาจับพลัดจับผลูรวมกับความธรรมดาที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวันแล้ว ไอเดียต่าง ๆ ก็กลายเป็นเรื่องสนุกที่ออกมาจากความคิดพวกเขาอย่างเป็นธรรมชาติ พวกเขาสร้างเรื่องราวของซือเจ๊ชาวอเมริกันเชื้อสายจีนใน Everything Everywhere All At Once โดยอิงเอาความรู้สึกพิเศษคล้ายกับการฉลองวันกราวด์ฮอก (เทศกาลทำนายสภาพอากาศของสหรัฐฯ) และเชื่อมเรื่องราวความวายป่วงทั้งหมดเข้ากับสิ่งที่ผู้คนคุ้นเคยอย่างการจ่ายภาษี

ที่ผ่านมา DANIELS มักถามตัวเองเสมอว่าเขาอยากให้คนดูรักหนังหรืออยากสร้างหนังโดยไม่สนว่าคนดูจะคิดอย่างไร ใน Swiss Army Man สองเพื่อนซี้ทุ่มสุดตัวเพื่อแสดงให้ผู้ชมเห็นว่าความไม่สลักสำคัญ และความไร้สาระขั้นสุดขีด สามารถมีตัวตนอยู่อย่างสวยงามได้บนโลกใบนี้ ในแง่หนึ่งหนังเรื่องนี้คือการท้าทายผู้ชมอยู่เป็นนัยยะ แต่สำหรับ Everything Everywhere All At Once แตกต่างออกไป เพราะสำหรับงานชิ้นนี้ พวกเขาตั้งใจว่าจะทำหนังออกมาเพื่อให้ผู้ชมรักเขา ซึ่งก็น่าติดตามว่าเส้นแบ่งของหายนะในหนังที่ผ่านมาของ DANIELS จะถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบไหน

อ้างอิง :
Roger Ebert
Flickeringmyth
RollingStone