‘... ชายชาวญี่ปุ่นวัยกลางคนกับชีวิตประจำวันที่แสนเป็นรูทีน เขากำลังค้นหาบางอย่าง ตามหาบางสิ่ง และในห้วงเวลาบนหน้ากระดาษที่ดำเนินไปอย่างเนิบช้า ในท้ายที่สุด ตัวเขามักจบลงด้วยการผิดหวัง สิ้นหวัง ขาดวิ่นและโดดเดี่ยว …’
เพียงแค่เกริ่นด้วยประโยคข้างต้น เชื่อว่าแฟนวรรณกรรมหลายคนน่าจะพอเดาได้ว่าเรากำลังพูดถึงผลงานวรรณกรรมจากปลายปากของฮารุกิ มุราคามิ นักเขียนชาวญี่ปุ่นวัย 72 ปี ผู้ที่นำเสนอโลกบนหน้ากระดาษอันแสนเป็นเอกลักษณ์ ทั้งตัวละครชายหนุ่มสุดเหงา การบรรยายความรู้สึกที่แสนจับใจ และเส้นแบ่งระหว่างความจริงกับจินตนาการที่มลายหาย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นจุดเด่นที่ทำให้นักอ่านทั่วโลกตกหลุมรักผลงานของเขาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
แต่ท่ามกลางเสียงสรรเสริญและยอดขายถล่มทลายเหล่านั้น กลับมีหนึ่งข้อสงสัยที่หลายคนหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างสม่ำเสมอ นั่นคือการหยิบเอาผลงานที่ประสบความสำเร็จของมุราคามิออกมาแปลงเป็นภาพยนตร์ มันเกิดขึ้นน้อยมากๆ ถ้าเทียบกับจำนวนและการเรียกร้องของแฟนหนังสือทั่วโลก
และเนื่องในโอกาสที่ ‘Drive My Car’ ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากเรื่องสั้นในชื่อเดียวกันของมุราคามิกำลังเข้าฉายในบ้านเรา GrounControl จึงถือโอกาสนี้สืบค้นลงไปในข้อสงสัยนั้น ว่าทำไมสิงที่เรียกว่า ‘Murakami’s World’ ถึงถูกสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหวได้ยากเย็นนัก แล้วกับคนที่ทำได้ พวกเขาต้องทำอย่างไรในการสังเคราะห์ความเซอร์เรียลให้กลายเป็นภาพบนแผ่นฟิล์มได้อย่างเหมาะสม
แม้จะเป็นที่นิยมมากในหมู่บุคลากรของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าการจะทำให้ผลงานของคุณมุราคมิมาอยู่บนแผ่นฟิล์มนั้นเป็นเรื่องยาก สาเหตุเพราะเขาไม่ต้องการ กับเรื่องสั้นยังพอได้ แต่ถ้าเป็นนิยายขนาดยาวนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย
ถ้อยคำข้างต้นเป็นของ Ryûsuke Hamaguchi ผู้กำกับภาพยนตร์ Drive My Car ที่ให้สัมภาษณ์ไว้กับเว็บไซต์ cinemadailyus นี่เป็นหนึ่งในหลักฐานอย่างดีถึงข้อจำกัดในการดัดแปลงงานมุราคามิเป็นภาพยนตร์ และเป็นเหตุผลที่สอดคล้องกับที่ Lee Chang-dong เคยบอกเล่าไว้คล้ายๆ กันในการดัดแปลงเรื่องสั้นอย่าง Barn Burning ออกมาเป็นภาพยนตร์ Burning ที่ออกฉายเมื่อ 2019
ซึ่งถ้าดูจากผลงานภาพยนตร์ทั้งหมดทั่วโลกที่เคยหยิบงานของมุราคามิไปเป็นจุดตั้งต้น จะเห็นได้ว่าถ้อยคำของทั้งคู่นั้นเชื่อถือได้อยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อประเมินจากหนังยาวทั้งหมด 9 เรื่อง มีเพียงแค่ 3 เรื่องที่มาจากนิยายขนาดยาว และ 2 ใน 3 เรื่องนั้นยังเกิดขึ้นในช่วงที่มุราคามิเริ่มมีชื่อเสียง ดังนั้นถ้านับเฉพาะในยุคปัจจุบัน อาจพอบอกได้ว่าภาพยนตร์ที่มาจากนวนิยายของมุราคามิมีเพียงเรื่องเดียว นั่นคือ Norwegian Wood เมื่อปี 2010
แล้ว Norwegian Wood เกิดขึ้นได้อย่างไร เรื่องนี้ Tran Anh Hung ผู้กำกับได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับเว็บไซต์ indiewire 2 ปีหลังจากที่ Norwegian Wood เข้าฉาย
“ผมรัก Norwegian Wood มากๆ แต่เมื่อผมและโปรดิวเซอร์สอบถามความเป็นไปได้ที่จะดัดแปลงมันเป็นภาพยนตร์ ทีมงานญี่ปุ่นหลายคนมากที่อยากเห็นมันเกิดขึ้นจริง ยกเว้นเพียงคนเดียวคือคุณมุราคามิ เขาไม่ยอมให้ใครแตะต้องผลงานเลย
“แต่หลังจากตามตื้ออยู่นาน ห้าปีก่อนผมก็ได้รับอนุญาตให้เจอตัวคุณมุราคามิ ซึ่งเขาพูดชัดเจนตั้งแต่แรกว่าอยากคุยกับผมแค่ 2 คนเท่านั้น ห้ามมีใครอื่น ผมจึงรีบเดินทางไปพบเขา และโชคดีที่การพูดคุยของเราออกมาดี คุณมุราคมิรู้เรื่องหนังมากกว่าผมเสียอีก (หัวเราะ) สุดท้ายเขาก็ตอบตกลงให้ผมดัดแปลง Norwegian Wood แต่ภายใต้เงื่อนไข 2 ข้อ หนึ่งคือบทภาพยนตร์ต้องผ่านความเห็นชอบของคุณมาราคามิก่อน สองคือเขาอยากรู้งบประมาณในการสร้าง เพราะถ้าไม่สูงพอ เขากังวลว่าหนังจะไม่สามารถสร้างโลกที่เขาคิดขึ้นมาได้”
แม้สุดท้ายทุกอย่างจะผ่านเกณฑ์จน Norwegian Wood ออกมาได้ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่เคยมีข่าวใดๆ ถึงความพยายามดัดแปลงผลงานนวนิยายที่เหลืออีก 13 เรื่องของมุราคามิเป็นภาพยนตร์อีกเลย รวมถึงเขาเองก็ไม่เคยสัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้สักครั้ง ไม่มีใครรู้สาเหตุที่แน่ชัด มีเพียงก็แค่ถ้อยคำของคนที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ที่เราอาจพอคาดเดาได้ว่ามุราคามิหวงแหนโลกที่เขาสร้างขึ้นมาราวไข่ในหิน ดังนั้นในปัจจุบันคงเป็นการยากอย่างที่ฮามากุจิบอกในการเห็นนวนิยายขนาดยาวของมุราคามิออกมาเป็นหนัง มีเพียงก็แต่เรื่องสั้นที่อาจพอให้ลุ้นได้บ้างเท่านั้นเอง
… คะฟุคุลองให้มิซะกิจอดรถแบบขนานหลายครั้งบนถนนไกเอ็งนิชิโดริที่มีการจราจรหนาแน่น ซึ่งเธอสามารถทำได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ หญิงสาวผู้นี้มีสัญชาตญาณดีและมีประสาทเคลื่อนไหวชั้นยอด เธอจะสูบบุหรี่เวลาจอดรอไฟแดงนานๆ ดูเหมือนมาร์ลโบโรจะเป็นยี่ห้อโปรด เมื่อไหร่ไฟจราจรเปลี่ยนเป็นสีเขียว เธอจะดับบุหรี่ทิ้งทันที โดยไม่สูบขณะขับรถ ไม่มีรอยลิปสติกติดที่มวนบุหรี่ซึ่งผ่านการสูบแล้ว ที่เล็บก็ไม่มีร่องรอยของน้ำยาทาเล็บ เธอผู้นี้ดูแทบจะไม่แต่งหน้าแต่งตัวเอาเสียเลย …
ไม่ใช่แค่นิยายของมุราคามิ แต่ไม่ว่าจะแปลงผลงานเขียนของใครเป็นหนัง นี่ถือเป็นโจทย์ยากสำหรับคนทำภาพยนตร์อยู่แล้ว ดูจากประโยคที่เอามาจากเรื่องสั้นต้นฉบับของ Drive My Car นี้ก็ได้ จะเห็นว่าภายใต้ประโยคไม่กี่บรรทัดประกอบไปด้วยหลายซีนทั้งซูมอินและซูมเอาท์ นี่จึงเป็นหน้าที่ของคนทำหนังในการประเมินว่าตัวอักษรจะเปลี่ยนเป็นภาพได้อย่างไร รวมถึงบทบรรยายเล่าความรู้สึกที่ก็เป็นอีกโจทย์ยาก เพราะมันแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกเล่าความรู้สึกให้ออกมาเป็นภาพได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
ผู้กำกับแต่ละคนจึงมีวิธีการเป็นของตัวเองที่แตกต่างกัน เช่น ฮามากุจิที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ผ่านเว็บไซต์ reverseshot เมื่อเดือนก่อน
“เมื่ออ่านเรื่องสั้นต้นฉบับจบ ในหัวผมเห็นทั้งส่วนที่อยากคงไว้และส่วนที่อยากเปลี่ยน แน่ๆ เลยคือลำดับการเล่า งานวรรณกรรมสามารถบอกเล่าเรื่องราวในอดีตได้อย่างกลมกลืน ต่างกับหนังที่ผมไม่สามารถตัดเข้าแฟลชแบ็กได้บ่อยขนาดนั้น มันขาดชีวิตชีวาเกินไป ผมจึงสลับวิธีการเล่าให้ต่างกับต้นฉบับเพื่อให้ผู้ชมจดจ่อกับปัจจุบันมากขึ้น”
เช่นเดียวกับลี ชาง-ดง ผู้กำกับ Burning ที่เจอข้อจำกัดเช่นกันจนนำมาสู่การพลิกแพลงที่เขาให้สัมภาษณ์ไว้กับเว็บไซต์ lwlies หลังหนังฉาย
“เนื่องจากเป็นเรื่องสั้น ปริศนาที่คุณมุราคามิมอบให้คนอ่านจึงมีแค่ 2 ประเด็น นั่นคือทำไมโรงนาถึงถูกเผาและหญิงสาวหายตัวไปไหน ซึ่งมันต่างกับภาพยนตร์ที่ต้องมีองค์ประกอบเพียงพอให้คนดูมาถึงตอนจบ ดังนั้นผมจึงใช้วิธีการเพิ่มให้ตัวละครสำรวจปริศนาเล็กๆ ตลอดทางเพื่อดึงคนดูไว้ โดยระหว่างนั้นก็ค่อยๆ ขยายมันไปเรื่อยๆ ในโลกแบบมุราคามิเพื่อมุ่งสู่ตอนจบอย่างที่ตั้งใจ”
นี่เป็นเพียง 2 ทางแก้จาก 2 ปัญหาเท่านั้น ในความเป็นจริงนั้นยังมีข้อจำกัดอีกมากที่ทำให้คนทำหนังสร้างโลกแบบมุราคามิขึ้นมาไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศชวนหม่น หรือตัวละครที่รู้สึกนึกคิดทุกอย่างตลอดเวลา แต่ถ้ามองอีกมุม นี่ก็เป็นความท้าทายเช่นกันที่ทำให้คนทำหนังหลายคนอยากลอง เพราะด้วยจิตวิญญาณแล้ว เมื่อเจอเรื่องเล่าที่ดีพวกเขาก็อยากบอกต่อ ยิ่งเป็นโลกที่แสนเย้ายวนของมุราคามิ นี่จึงเป็นโจทย์ยากที่พวกเขาอยากลองแก้
ถึงได้ทำ และทำได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ว่าผลงานที่มาจากวรรณกรรมของมุราคามิจะเป็นผลงานที่สำเร็จ เพราะที่ผ่านมาถ้ายึดตามคำวิจารณ์และรายรับ เรื่องที่พอจะยิ้มออกมีจำนวนน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด
อย่าง Drive My Car และ Burning หนังสองเรื่องนี้ถือเป็นตัวอย่างของผลงานที่เข้าเป้า เพราะถ้าดูจากคะแนน 100% และ 95% จากเว็บไซต์ rottentomatoes และรางวัล คงพอบอกได้ว่าฮามากุจิและลี ชาง-ดงมีวิธีดัดแปลงตัวอักษรเป็นภาพและร้อยเรียงมันจนเหมาะสม ตรงกันข้ามกับ Norwegian Wood ที่ได้คะแนนไปเพียง 49 % พร้อมคำวิจารณ์ที่เห็นไปในทางตรงกันว่า ‘พยายามจะมีทุกอย่างใน Norwegian Wood ของมุราคามิมากเกินไป’
แน่นอนว่าเรื่องของรสนิยมเป็นเรื่องปัจเจก แต่ถ้ายึดตามคำวิจารณ์ส่วนใหญ่รวมถึงข้อสังเกตุของเราเอง เราคิดว่าคำว่า ‘พยายามจะมีทุกอย่างใน Norwegian Wood ของมุราคามิมากเกินไป’ นั้นมีความจริงอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะในขณะที่ Drive My Car และ Burning เลือกหาจังหวะของตัวเองที่บางครั้งอาจไม่ตรงกับนิยายต้นฉบับ แต่ทั้งหมดนั้นก็ล้วนออกแบบมาเพื่อความบันเทิงแบบภาพยนตร์ หนังสร้างจังหวะใหม่ที่เกิดจากการผสมกันระหว่างผู้กำกับและมุราคามิออกมาได้ ต่างกับ Norwegian Wood ที่หลายคนบอกว่า ‘เนิบช้าจนเกินไป’ และ ‘พยายามเล่าเรื่องมากเกิน จนไม่ลึกสักเรื่อง’
กับประเด็นนี้ เราคิดว่าฮามากุจิได้ให้คำตอบไว้อย่างครอบคลุมครบถ้วน และนี่น่าจะเป็นหลักการที่ดีกับคนทำหนังคนไหนที่อยากดัดแปลวรรณกรรมเป็นภาพยนตร์ต่อจากนี้ด้วย
“ผมไม่สามารถทำให้เรื่องราวของคุณมุราคามิออกมาดีเหมือนอย่างหนังสือได้ ไม่มีทางเลย และถึงผมพยายามทำ มันก็จะออกมาเป็นหนังที่ไม่ดีด้วย เพราะเมื่อคุณต้องแปลงงานวรรณกรรมเป็นภาพยนตร์ คำถามมันไม่ใช่ว่าคุณจะเปลี่ยนความรู้สึกตัวละครเป็นภาพได้ยังไง แต่มันคือการที่เข้าใจความรู้สึกระหว่างบรรทัดของคนอ่าน ผมเชื่อในแก่นตรงนี้มากกว่า งานของผมจึงมีหน้าที่แค่หยิบเอาความรู้สึกตรงนั้นมาขยายเป็นภาพในแบบของตัวเอง มากกว่าการปฏิบัติตามต้นฉบับทุกกระเบียดนิ้ว”
ปัจจุบันเท่าที่เปิดเผยออกมา ยังมีภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากผลงานของมุราคามิอีกหนึ่งเรื่องที่กำลังถ่ายทำ นั่นคือ Blind Willow, Sleeping Woman ภายใต้การกำกับของ Pierre Földes ถึงตอนนั้นเราคงต้องมาลุ้นกันอีกทีว่าหนังเรื่องนี้จะดำเนินรอยตามความสำเร็จของ Drive My Car และ Burning ได้หรือไม่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เราเองก็คาดหวังจะดูหนังที่มีตัวตนของผู้กำกับ มากกว่าภาพยนตร์ที่เป็นกระจกสะท้อนวรรณกรรมทั้งหมด
เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นศิลปะแบบไหน เราเชื่อว่างานชิ้นนั้นจะเป็นที่จดจำได้ถ้าคนทำใส่ตัวตนลงไปในงานจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่างานนั้นจะดัดแปลงมาจากผลงานที่มีอยู่ก่อนแล้วก็ตาม