GC_Cover_Mike Mills.jpg

มองหนังให้ง่าย และเข้าใจโลก ผ่านเรื่องเล่าส่วนตัวของ Mike Mills

Post on 17 March

เห็นได้ชัดว่าพักหลังมานี้ หนังอเมริกันสายอินดี้เริ่มเป็นที่จับตามองอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่เนื้อหา และสไตล์ภาพอันโดดเด่น อิงตามตัวตนของผู้กำกับคนนั้น ๆ ซึ่งเมื่อวกกลับมายังหนังที่ปลุกปั้นความเรียบง่ายในชีวิตขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว หนึ่งในผู้กำกับที่มีแนวทางอย่างชัดเจนจนเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ไมค์ มิลส์ (Mike Mills) ผู้กำกับที่เพิ่งเปิดตัวหนังเรื่องใหม่อย่าง C’mon C’mon ผลงานการแสดงล่าสุดของ วาคิน ฟินิกซ์ (Joaquin Phoenix) ไปเมื่อไม่นานมานี้ แต่แม้ว่าหนังของมิลส์จะใช้วิธีการถ่ายทอดออกมาอย่างเรียบง่ายที่สุด น่าแปลกที่หนังของเขาสามารถทำให้ผู้ชมเผลอเอาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับความรู้สึกของตัวละครได้อย่างง่ายดาย สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ยังไงกัน?

หนังฮอลลีวูดมักจะสร้างอารมณ์ขึ้นมาในรูปแบบที่เราคาดเดาได้ .. แต่หนังของมิลส์แตกต่างออกไป

ไมค์ มิลส์ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ถ่อมตัวที่สุดคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นเพียงแค่กับตัวตนเขาเท่านั้น แต่ยังหมายความถึงผลงานหนังด้วยเช่นกัน เนื่องจากตัวหนังของเขามักจะพูดถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัวหนึ่งที่ไปไกลกว่าแค่เรื่องราวในบ้าน หมายความว่าเรื่องเล่าทั้งหมดที่ออกมา พาให้ผู้ชมได้ฉุกคิดถึงวิธีการมองโลก ภาวะที่ผู้คนในยุคหนึ่งกำลังเผชิญอยู่ รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาด้วยเช่นกัน 

แทนการเขียนบทแบบฮอลลีวูดที่สร้างมาอย่างแยบยล จนผู้ชมเผลอเอาใจช่วยตัวละครหลักตั้งแต่ฉากแรกที่เขาปรากฏตัว ก่อนจะบิดเรื่องไปตามโครงสร้างที่ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระบบ มิลส์เปลี่ยนตัวละครให้มีความใกล้ชิดกับตัวเขาและผู้ชมมากขึ้นด้วยการลดทอนทุกอย่างให้ง่ายที่สุด แต่ถึงอย่างนั้น หนังก็ยังมีช่องว่างมากพอให้ผู้ชมได้หลวมตัวเข้าไปมีส่วนร่วมในความรู้สึกเหล่านั้น เพราะตัวละครของมิลส์มักจะมีบางสิ่งที่พวกเขาเก็บงำไว้เสมอ ซึ่งหากย้อนกลับไปดูเรื่องราวส่วนตัวของมิลส์แล้ว หลายคนอาจพอเข้าใจคร่าว ๆ ถึงวิธีการสร้างงานของเขา ที่หล่อหลอมขึ้นจากอดีต โดยเฉพาะกับหนังยาวทั้ง 3 เรื่องไม่ว่าจะเป็น Beginners (2010), 20th Century Women (2016) และ C'mon C'mon (2021) ที่ตัวเขามีหมุดหมายชัดเจนว่าทำขึ้นเพื่อใคร..

<p>Mike Mills</p>

Mike Mills

คุณกำลังพยายามบินไปกับร่างกายของคุณ และพยายามป้องกันไม่ให้ร่างนั้นพัง

มิลส์เติบโตมาในครอบครัวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขาเรียกสถานะทางบ้านของตัวเองว่า การปกครองแบบแม่ชี เพราะ ‘แม่’ คือผู้ที่มีอำนาจในบ้าน เขามีพี่สาวสองคน (หนึ่งในนั้นคือตัวละครจาก 20th Century Women ที่นำแสดงโดย เกรตา เกอร์วิก) ดังนั้น การใช้ชีวิตของมิลส์จึงเดินตามแนวทางของผู้หญิงเสมอ ยิ่งเมื่อพ่อของเขาแสดงออกทางเพศแบบผู้ชายไบนารี (Binary) ขัดกับแม่ที่เป็นนักบิน แต่งตัวประหลาด ๆ ผมสั้น และสวมกางเกงเหมือนอยู่เธอในสงครามโลกครั้งที่สองตลอดเวลา อัตลักษณ์ทางเพศที่มิลส์เห็น จึงแตกต่างจากคนทั่วไปโดยสิ้นเชิง เขาเผยว่าตัวเขาไม่พบความเป็นชายแบบอเมริกันในบ้าน และสิ่งนี้สะท้อนออกมาผ่านงานของเขาอย่างชัดเจน 

มิลส์มองว่าตัวเองเป็นคนสันโดษ แถมยังเป็น ‘คนห่วย’ คนหนึ่ง เพราะเหตุนี้ เขาจึงวนเวียนอยู่กับการสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างโลกของหนังกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งก็ดูเหมือนเขาก็เชื่อว่าตัวเองอยู่กับสภาวะของอดีตและปัจจุบันจริง ๆ มิลส์ไม่มีความฝัน เขากำลังสร้างสมุดบันทึกที่คอยบันทึกช่วงเวลาหนึ่งเอาไว้ นั่นทำให้แม้ว่าเขาจะมีความสับสนในตัวเองอยู่ไม่น้อย แต่หนังที่ออกมามักตรงไปตรงมา และซื่อสัตย์ต่อจิตใจเสมอ

สิ่งที่อัดอั้นอยู่ในตัวมิลส์ ละลายไปกับการเล่นสเก็ตบอร์ดและดนตรีพังค์ ถึงขั้นครั้งหนึ่งเขาเคยพูดไว้ว่า ช่วงเวลาที่ได้เล่นสเก็ตบอร์ด เป็นช่วงแห่งการฝึกฝนการแสดงความรู้สึก ที่ต่อยอดมาถึงผลงานอื่น ๆ ของเขาในภายหลัง เขาเริ่มต้นอาชีพจากการเป็นกราฟิกดีไซน์โดยมีผลงานเด่น ๆ อย่างภาพปกอัลบั้ม Beastie Boys และ Sonic Youth เล่นดนตรีแบคอัพบ้างประปราย ก่อนจะเริ่มสนใจในโลกภาพยนตร์ โดยเฉพาะหนังของ จิม จาร์มุสช์ (Jim Jarmusch) ที่จับภาพตัวละคร 2-3 คน มีบทพูดไม่มากนัก แล้วจึงหาสไตล์งานตัวเองจากเรื่องราวส่วนตัว 

หลายสิ่งที่มิลส์อยากจะเก็บไว้เป็นเรื่องราวส่วนตัว ถูกต่อยอดมาเป็นสิ่งที่เขาพยายามจะจัดการ เพื่อนำพาตัวเองไปสู่อีกสเต็ปของชีวิต ดังนั้น สิ่งที่เขาทำ จึงเป็นความพยายามจัดการกับพื้นที่ทางภาพยนตร์ เพื่อไม่ให้เรื่องเล่าเหล่านั้น ก้าวเข้ามามีบทบาทกับผู้คนในชีวิตจริงมากเกินไป อย่างใน C'mon C'mon ซึ่งตัวเขาทำขึ้นเพื่อมอบให้ลูกชาย มิลส์เองก็ได้พยายามไม่พาตัวหนังไปก้าวก่ายกับลูกมากนัก ส่วนความหวังที่มีต่อหนังเรื่องนี้ เขาได้เปิดเผยว่า สักวันเมื่อลูกโตขึ้น ลูกจะดูหนังแล้วรู้ว่าเขารักลูก ลูกเป็นคนที่ยอดเยี่ยม และเขาจะคอยสนับสนุนลูกเสมอ โดยที่ลูกของเขาไม่จำเป็นต้องเรียนรู้บางอย่างจากหนัง เพราะเขาเชื่อว่าหนังไม่ควรเป็นบทเรียนให้ใคร

สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปเสมอ และฉันชอบให้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงหรือเติบโต ฉันไม่ต้องการให้ทุกอย่างจบลง ฉันต้องการมีส่วนร่วมในการทำมันให้ดีขึ้น

มิลส์เชื่อว่าความเศร้าโศกทำให้งานของเขาแข็งแกร่งและแปลกใหม่ ถึงอย่างนั้น เขาก็ไม่อายในความแปลกประหลาดของเรื่องเล่าที่ตัวเองสร้างขึ้นเมื่อมันถูกดัดแปลงมาเป็นหนัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกย์ ความภูมิใจ ความล้มเหลวทางความสัมพันธ์ ช่องว่างระหว่างวัย เรื่องราวผู้หญิง ๆ การมีประจำเดือน ความสำคัญของอวัยวะเพศ หรือแม้กระทั่งความฝันที่เลื่อนลอย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหมือนการดึงเอาประวัติศาสตร์ส่วนตัว เข้ามาผสมในหนัง ทำให้หนังของเขามีกลิ่นอายการทดลองรูปแบบการเล่าเรื่อง เผยให้เห็นรสชาติความโศกเศร้า แต่ก็ไม่เคยขาดความหวัง ซึ่งก็เชื่อว่าหากใครมีความรู้สึกที่แอบซ่อนไว้อยู่ในใจแล้วได้ดูหนังของเขา คงรู้สึกถึงมวลอารมณ์บางอย่างไม่ต่างจากมิลส์เช่นกัน

<p>C'mon C'mon (2021)</p>

C'mon C'mon (2021)

ธรรมชาติของการสัมภาษณ์ใครสักคน และวิธีที่พวกเขาเปิดเผยตัวตนผ่านคำพูดนั้น ล้วนแต่แตกต่างออกไปตามตัวตนของคนแต่ละคน

แม้ว่าหนังเรื่องล่าสุดของ ไมค์ มิลส์ (Mike Mills) อย่าง C'mon C'mon จะบอกเล่าถึงตัวละครลุงนักสัมภาษณ์ จอหน์นี่ (วาคิน ฟินิกซ์ - Joaquin Phoenix) ซึ่งตามไปพูดคุยกับเด็ก ๆ ทั่วอเมริกา ถึงมุมมองต่อโลกที่พวกเขาอาศัยอยู่ แต่ก็ใช่ว่าบทสัมภาษณ์นั้นจะเชื่อได้ว่าเป็นจริงซะทีเดียว ในหนังเรื่องนี้ มิลส์ตั้งใจอย่างมากให้ภาพที่ออกมา เป็นเหมือนการผสมรวมกันระหว่างโลกของหนังกับโลกความเป็นจริง จนผู้ชมยากจะแยกขาดจากกันได้ ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นผลทำให้ตัวหนังถูกสร้างขึ้นบนฉากภาพสี ขาว-ดำ เช่นกัน

“ทุกอย่างกลายเป็นภาพ” และเป็นภาพที่เรียบง่ายไม่น้อย ในหนังเรื่องนี้ มิลส์ถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ ออกมาตามความชอบของเขา นั่นคือความธรรมดาทั่วไป ที่โฟกัสกับเสียงของนักเล่าเรื่องเป็นหลัก

ความจริงแล้วก่อนหน้านี้เขาเคยทำการสัมภาษณ์เด็ก ๆ เกี่ยวกันอนาคตมาแล้ว และสิ่งนี้ยังเป็นไอเดียที่ติดอยู่กับเขาเรื่อยมา มิลส์ต้องการอะไรที่เป็นมากกว่าแค่การสัมภาษณ์ทั่วไป นั่นคือจุดเริ่มต้นของโปรเจ็กต์หนังเรื่อง C'mon C'mon 

คำตอบของเด็ก ๆ เป็นเหมือนกับสถานที่ รวมถึงจิตสำนึกของพวกเขา ที่มีต่อโลกที่พวกเขาอยู่และกำลังจะเดินทางไป ดังนั้น ความคิดของ จอห์นนี่ จึงเชื่อมโยงถึงสิ่งอื่น ๆ ผ่านคำถามมากมายที่เขาถามเด็ก ๆ นำมาสู่ธีมของเรื่องที่ว่า ‘เสียงเป็นความชั่วคราวที่เกิดขึ้น และมักจะผ่านไป’ เพราะเราต่างไม่สามารถยึดติดกับอะไรได้จริง ๆ ตลอดเวลา

<p><span style="background-color:transparent;color:#000000;">20th Century Women (2016)</span></p>

20th Century Women (2016)

อีกหนึ่งหนังส่วนตัวของ ไมค์ มิลส์ ที่ได้รับการพูดถึงในวงกว้างก็คือ 20th Century Women ซึ่งเป็นหนังที่เขาตั้งใจจะมอบให้แม่ของตัวเอง เหมือนกับที่ได้เกริ่นไปคร่าว ๆ ในตอนต้นว่า ครอบครัวของมิลส์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศต่างออกไปจากบรรทัดฐานของครอบครัวชาวอเมริกัน แม่ของมิลส์ค่อนข้างมีบทบาทในบ้าน เธอเป็นนักบินที่มีส่วนร่วมกับสงครามโลกครั้งที่สอง และเธอเป็นคนคอยจัดการสิ่งต่าง ๆ ในบ้านเสมอมา 

อาจเป็นเพราะว่าพ่อแม่ของมิลส์ มีมิลส์ในปี 1966 ขณะที่พวกเขาตอนอายุ 40 ปี ซึ่งเป็นช่วงปีที่ไม่มีใครมีลูก เขาจึงไม่มีเพื่อน หันไปชอบดนตรีพังค์ร็อก เล่นสเก็ต และเริ่มต้นทุกอย่างในช่วงปลายยุค 70 มิลส์เล่าว่าพ่อแม่ของเขาบอกเขาถึงภาวะซึมเศร้าและความเป็นไปของสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเขาตัดขาดจากโลก แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป เห็นได้ชัดว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ถูกโค่นล้มโดยแท้จริง เพราะความรู้สึกต่อต้านเผด็จการมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความสนใจของมิลส์ต่อหนังเรื่องนี้ จึงอยู่ที่ผู้คนและวิถีของพวกเขา เขาต้องการเปิดเผยชีวิตและจิตใจทั้งหมด ของตัวละคร ใน 20th Century Women ตัวละครหลักทั้งห้าจะเล่าประวัติของตัวเอง และเรื่องราวของกันและกันเป็นระยะ และสิ่งที่พวกเขาเล่ามักมาพร้อมกับการตัดต่อภาพถ่ายย้อนยุค เพื่อสร้างมวลอารมณ์บางอย่าง ที่พาผู้ชมย้อนกลับไปยังอดีตของตัวละคร รวมถึงอดีตของผู้ชมเอง 

ในงานนี้ นอกจากตัวละคร โดโรเธีย ที่ถอดแบบมาจากแม่ของเขาแล้ว ตัวละครที่นำแสดงโดย เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากพี่สาวของเขาด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในหนังเรื่องนี้เราจะเห็นว่ามิลส์ไม่ได้หยิบเอาตัวละครชายที่อายุไล่เลี่ยโดโรเธียมาด้วย ซึ่งเขาเองได้ให้คำตอบในภายหลังว่าเขาเขียนบทโดยไม่มีพ่ออยู่ในนั้น เพื่อเป็นการแสดงถึงความซื่อสัตย์ต่อประสบการณ์ของตัวเอง ขณะที่ตัวละครโดโรเธียมีความอบอุ่นและมีความเป็นหญิงชัดเจนกว่าแม่ของเขา มิลส์เล่าว่า แม่ที่แท้จริงเป็นคนที่มีภาวะซึมเศร้า และต่อต้านตัวเองอย่างชัดเจน แต่ถึงแม้ว่าเรื่องราวในชีวิตจริงของเขาจะไม่ได้สวยหรูมากนัก หนังเรื่องนี้ก็ทำให้เห็นว่า แง่มุมของความเจ็บปวด เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องมอบความรักให้แก่กันนั่นเอง

<p>Beginners (2010)</p>

Beginners (2010)

พ่อฉันค่อนข้างจะเป็นผู้ชายแบบไบนารี เขาไม่ได้มีอำนาจ (ในฐานะพ่อ) ในบ้านของฉัน เขาเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์ที่ไม่รู้ว่าลิ้นชักเก็บส้อมอยู่ที่ไหน และไม่ได้จัดการเรื่องการเงินเลย

ใน Beginners (2010) ไมค์ มิลส์ ได้เผยถึงเรื่องราวส่วนตัวอย่างหมดเปลือก โดยให้หนังเรื่องนี้มีหัวใจสำคัญคือพ่อของเขาและตัวเขาเอง โอลิเวอร์ เป็นชายหนุ่มบุคลิกเงียบขรึมที่มีบาดแผลอยู่ภายใน ส่วน ฮาล ซึ่งเป็นพ่อ คือนักประวัติศาสตร์ศิลป์ที่หลังจากกลายเป็นพ่อหม้ายในวัย 70 ปี เขาก็เปิดเผยตัวตนว่าตัวเองเป็นเกย์ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงในเวลาต่อมาไม่นานนัก มิลส์เชื่อว่าความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้งานของเขาดูแข็งแรง และทำให้เขาก้าวข้ามความแปลกประหลาดที่เกิดขึ้น เรียนรู้จากอดีต และเข้าใจวิถีทางต่าง ๆ ในแบบที่มันควรจะเป็น

 

อ้างอิง :
The New Yorker 
Interview Magazine
IndieWire