ถ้าไม่มีความฝันจะผิดไหม?
แล้วถ้าทางที่เราเลือกขัดกับมาตรวัดของสังคม แต่ทำให้เรามีความสุข แค่นี้พอไหม?
นี่ไม่ใช่เพียงคำถามที่เกิดขึ้นกับคนดูเมื่อชม ‘หน่าฮ่านเดอะซีรีส์’ ผลงานการกำกับของ ตั๊ก-ฉันทนา ทิพย์ประชาติ ดัดแปลงมาจากหนังปี 2562 ในชื่อเดียวกัน แต่คือคำถามแทนคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ ที่แม้จะมีเป้าหมายในชีวิต แต่กลับเก็บงำความรู้สึกเหว่ว้าไว้ภายใน แล้วปล่อยตัวปล่อยใจผ่านเสียงดนตรี
เรื่องราวของแก๊งวัยรุ่น ‘หน่าฮ่าน’ ในภาพยนตร์ ที่แม้จะไม่ได้ถูกเล่าผ่านนักแสดงเบอร์ใหญ่ แต่ความเป็นธรรมชาติของตัวละคร เพลงหมอลำ และเสน่ห์ของอีสานในแบบที่ไม่ประดิษฐ์จนเกินไป ก็ทำให้คนนอกอย่าง นุ้ย-จารุพร กำธรนพคุณ ผู้อำนวยการผลิตจาก TV Thunder มองเห็นพื้นที่บนตลาดคอนเทนต์จึงได้ร่วมมือกับ ตั๊ก-ฉันทนา และ อ้วน-นคร ผู้เขียนบท หยิบเอาตัวหนังมาต่อขยายเป็นซีรีส์ยาว 8 ตอน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นจริงของอีสานฉบับย่อ ออกมาอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา
อย่าเขียนอะไรที่ไม่มีชีวิต หรือไม่มีตัวตนอยู่จริง
ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าความไม่เข้าใจคนในพื้นที่ ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาผ่านมุมมองของสื่อนั้น บางทีก็มีความครึ่ง ๆ กลาง ๆ อยู่ไม่น้อย ภาพที่ผู้ชมเห็นจึงไม่ได้ทำให้คนเชื่อไปตามว่า มุมมองคนนอกกับคนในเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ใน หน่าฮ่านเดอะซีรีส์ ตั๊ก-ฉันทนา จึงเลือกที่จะทำงานกับการหยิบยืมประสบการณ์จากตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำงานคือ ‘การพูดคุย’ แลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้คนให้ได้มากที่สุด และลงลึกถึงความรู้สึกที่แท้จริงของคนคนนั้น ซึ่งการจะสัมภาษณ์ใครได้อย่างลึกซึ้งนั้น ต้องพ่วงมากับความไว้เนื้อเชื่อใจด้วยเช่นกัน ตัวละครในเรื่องจึงเป็นตัวแทนของผู้คนที่มีชีวิตอยู่และใช้ชีวิตตามภาพที่ซีรีส์สื่อสารออกไปจริง ๆ จนผู้ชมสัมผัสได้ถึงความเป็นจริง (Authentic) ที่เกิดขึ้นในเรื่อง
และด้วยความที่ตัวซีรีส์บอกเล่าถึงชีวิตวัยรุ่นยุคใหม่ ทำให้หลายฉากของเรื่องไม่เพียงแค่สะท้อนภาพของอีสานในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความคิดคนรุ่นใหม่ ที่เปลี่ยนไปตามเวลาและสภาพสังคม นั่นคือ แม้ว่าตัวละครจะมีความแก่นซ่าบ้าบิ่น และกล้าแสดงออกทางความคิดอย่างตรงไปตรงมา แต่ต้องยอมรับว่าหลายประโยคที่ตัวละครพูดนั้น สะท้อนความกลัวของคนรุ่นใหม่มีบางสิ่งเก็บซ่อนอยู่ในใจเสมอด้วยเช่นกัน
ตัวเลือกของคนเจเนเรชั่นที่เด็กที่สุดซึ่งกำลังตัดสินใจอนาคตของตัวเองอยู่ มันมีไม่กี่อย่าง เช่น ย้ายประเทศ หรือ ต่อสู้เพื่ออนาคต เราเห็นแต่ฉากหน้าว่าเขาเกรี้ยวกราด ต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่จริง ๆ พวกเขาประนีประนอมและอ่อนไหวกันมาก ภายใต้ภาพเหล่านั้น
คำว่า ‘อนาคตของชาติ’ ถูกใช้มาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะยุคสมัยไหน แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะกลายมาเป็นอนาคตของชาตินั้น กลับมีภาวะซึมเศร้าอยู่ภายใน ส่วนนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความสงสัยที่ทำให้ ตั๊ก-ฉันทนา เริ่มหาต้นตอของความรู้สึกเบื้องลึกในใจคนรุ่นใหม่ และไม่พยายามนำเสนอภาพความประเดี๋ยวประด๋าวของชีวิต ทำให้ตัวละครแต่ละตัว มีแง่มุมและแนวทางที่หลากหลาย อีกทั้งซีรีส์เรื่องนี้ยังแสดงช่องว่างระหว่างวัย ที่เชื่อมโยงเป็นลูกโซ่ต่อกันตั้งแต่รุ่นพ่อแม่มาจนถึงรุ่นลูกด้วย
นุ้ย-จารุพร เสริมว่า ความพยายามผลักดันประเทศให้เป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียในรุ่นพ่อแม่นั้น เผยให้เห็นว่าทรัพยากรคนไม่ได้ถูกเตรียมพร้อมให้รับมือกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ความอ่อนไหวของตัวละครจึงเป็นผลพวงมาจากความอ่อนไหวของพ่อแม่พวกเขาตามไปด้วย แต่ก็ใช่ว่าตัวซีรีส์จะพูดถึงแค่ความกลัวของคนรุ่นใหม่เท่านั้น เพราะในขณะเดียวกัน คนที่ไม่กลัวอะไรอย่าง ‘ยุพิน’ ตัวละครเอกของเรื่อง ก็ยังมีอยู่มากในสังคม ความน่าสนใจของซีรีส์เรื่องนี้ จึงถูกถ่ายทอดออกมาผ่านประโยคที่ว่า ‘คนเราไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายเหมือนกัน’ และการที่ตัวละครบางตัวไม่อยากเดินตามบรรทัดฐานของสังคม ไม่ได้แปลว่าชีวิตเขาไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งความสำเร็จตามมารตวัดที่เราคุ้นชินเองก็ไม่ได้การันตีถึงความสุขได้เช่นกัน
พอเรามองความฝันในสื่อกระแสหลัก มันมีแค่ว่าอะไรถูกอะไรผิด ไม่มีสื่อที่มาให้กำลังใจว่าทำแบบนี้ได้นะ
สิ่งที่ตัวละครใน หน่าฮ่านเดอะซีรีส์ กำลังแสดงออกอยู่นั้น ตั๊ก-ฉันทนา เรียกว่า การการดีลกับสภาวะตรงหน้าอย่างชาญฉลาด ‘ซัฟเฟอร์นะ แต่เราจะดีลกับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีความสุขได้อย่างไร’ คำถามที่ว่า จึงต่อยอดมาเป็นเรื่องราวความธรรมดาสามัญของตัวละคร ที่เรียกว่าช่วงเศษเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของชีวิต (Slice of Life) โดยตัว ตั๊ก-ฉันทนา เองก็ไม่ได้ปลุกปั้นหรือปรุงแต่งรสชาติให้จัดจ้านเพื่อเพิ่มความดราม่าตามแบบฉบับละครที่เราคุ้นเคย ตัวซีรีส์จึงมีความซื่อตรงในตัวเอง และชวนให้ผู้ชมอบอุ่นหัวใจได้ไม่น้อย
นอกจากความเข้าถึงง่ายของเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เพิ่มความป๊อบให้ตัวซีรีส์ คือ ‘ดนตรีหมอลำ’ และ คำว่า ‘หน่าฮ่าน’ เพราะแค่ได้ยินคำเหล่านี้ หลายคนก็นั่งไม่ติดไปตาม ๆ กัน ความน่าสนใจคือ หมอลำ และวัฒนธรรมอีสาน ได้กลายมาเป็นที่นิยมในหมู่คนทุกวันนี้มากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมุมมองของคนที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่หากจะพูดแบบนั้นก็คงไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะในความเป็นจริง เอกลักษณ์อันโดดเด่นของอีสานนั้นเป็นที่น่าจับตามองเรื่อยมาอยู่แล้วไม่ว่าจะยุคสมัยไหน และด้วยความที่ดนตรีอีสานมีความ ‘ม่วนซื่น’ ในตัวเอง ทำให้เพลงหมอลำสามารถโลดแล่นไปได้ไกลถึงในระดับสากล และสร้างความสนุกสนานให้ผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่แค่คนอีสานที่อาศัยอยู่อีสานเท่านั้น
สภาพภูมิประเทศเหมือนเดิม แต่คนเปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ
แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงอีสาน ภาพที่เรามองกลับไปคงไม่ต่างจากความคุ้นเคยที่ผ่านมามากนัก หน่าฮ่านเดอะซีรีส์ จึงไม่ใช่แค่ซีรีส์ที่ถ่ายทอดทิวทัศน์ของอีสานตามความเป็นจริง แต่ยังเป็นการบอกเล่าถึง ‘ผู้คน’ ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา คำถามที่น่าคิดต่อไปกว่าการพัฒนาพื้นที่ก็คือ ‘ส่วนกลาง’ เตรียมตัวผลักดันทรัพยากรคน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ได้แค่ไหน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ล้วนมีพลังอยู่ในตัว รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ จำเป็นต้องมีแรงสนับสนุนจากระบบการศึกษาและภาครัฐมาเสริมด้วย การเกิดขึ้นของซีรีส์เรื่องนี้ จึงเป็นเหมือนการให้พื้นที่แก่ซีรีส์แนวอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามกระแสนิยมของสังคม เพื่อมอบความพอดีต่อใจ เป็นสากล และให้พื้นที่หนุ่มสาวที่มีพลังอยู่ในตัว ทำผิดบ้างทำถูกบ้าง แต่ก็ยังต้องการโอกาสที่สองอยู่เสมอ พร้อมพาผู้ชมก้าวข้ามบรรทัดของสังคม และมองผู้คนในแบบที่พวกเขาเป็นอย่างแท้จริง
ติดตาม AIS PLAY Original เรื่อง หน่าฮ่านเดอะซีรีส์ ผลิตโดย TV Thunder ทุกวันจันทร์ทาง AIS PLAY เวลา 22.00 น. และดูพร้อมกันอีกครั้งได้ทาง ช่อง 3 (33) เวลา 23.00 น.
ภาพจาก : TV Thunder