viewfinder_NOT ONE LESS_for web.jpg

NOT ONE LESS : ความเหลื่อมล้ำบนแท่งชอล์ก ถนนดินแดง และแสงไฟจากจอทีวี

Post on 22 April

(บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)

ชอล์กหนึ่งแท่ง บอกอะไรเราได้บ้าง..

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ชนบทที่ห่างไกลของจีน ถ้าให้นึกภาพอย่างง่ายที่สุดคงไม่ต่างจากถิ่นทุรกันดารในไทย ที่ซึ่งเต็มไปด้วยถนนดินแดง ขาดน้ำ-ไฟ และผู้คนใช้ชีวิตหาเช้ากินค่ำตามชะตากรรมในแต่ละวัน การเรียนที่ถูกยกให้เป็นเรื่องสำคัญ ในเวลานั้นกลับเป็นเหมือนทางเลือกรองสำหรับครอบครัวชนชั้นแรงงาน เด็กส่วนใหญ่เลือกที่จะออกจากระบบการศึกษาเพื่อไปช่วยพ่อแม่หาสตางค์เลี้ยงชีพ แม้ว่าพวกเขาเพิ่งจะเข้าเรียนชั้นประถม และอยู่ในวัยซน สนุกไปกับการเที่ยวเล่นกับเพื่อน ๆ ก็ตามที ความรับผิดชอบที่เกินตัวนี้ นำมาสู่เรื่องราวของ เว่ย หมินจื่อ (Wei Minzhi) เด็กหญิงวัย 13 ปี ที่ต้องมารับหน้าที่เป็นครูให้กับนักเรียนชั้นประถมในโรงเรียนชนบทที่ห่างไกล โดยมีสัญญาจ้างเป็นเงินจำนวน 10 หยวน

แน่นอนว่าครูวัย 13 ปี กับนักเรียนชั้นประถมนั้น มีช่วงอายุที่ไม่ห่างกันมากนัก การที่เว่ยก้าวเข้ามาเป็นครูจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เว่ยไม่ได้มีความรู้มากไปกว่านักเรียนของเธอ ส่ิงที่เธอทำจึงเป็นเหมือนการจดโน้ตลงกระดานดำ และสอนตามตำราที่มี แต่ถึงว่าเธอจะทำอะไรได้ไม่มาก เว่ยก็แน่วแน่และตั้งใจทำหน้าที่ของเธออย่างสุดความสามารถพร้อมกับชอล์กในมือ ซึ่งเป็นเครื่องมือชิ้นเดียวที่เธอมี ความใสซื่อของเว่ยแสดงให้เห็นว่าเธอจะกลายเป็นครูที่ดีได้ในอนาคต แม้ว่าสิ่งที่เธอทำทั้งหมด จะถูกครอบด้วยกฎเกณฑ์มากมายที่เธอไม่มีทางเลี่ยงได้ก็ตามที และเช่นเดียวกับเด็กทุกคน ชีวิตของพวกเขาเข้าไประบบทางสังคมการเมืองโดยที่พวกเขาเองอาจไม่รู้ตัว

ปัญหาสำคัญเกิดขึ้นเมื่อการจัดงบประมาณให้กับโรงเรียนปลายแถวแบบนี้ ถูกมองว่าเป็นความ ‘สิ้นเปลือง’ ดังนั้นเงินอุดหนุนของโรงเรียนที่ขึ้นอยู่กับจำนวนหัวของนักเรียน จึงมีน้อยตามไปด้วย หากโรงเรียนไม่สามารถรักษาเด็กนักเรียนให้ครบตามเกณฑ์มาตรฐาน โรงเรียนแห่งนี้ก็จะถูกปิดลงไปโดยปริยาย การรักษานักเรียนทุกคนในชั้นเรียน จึงมีความสำคัญมากกว่าบทเรียนที่เว่ยใช้สอนนักเรียนเสียอีก นำมาสู่การที่เว่ยต้องเข้าไปผจญความยากลำบากในเมืองใหญ่ และพยายามตามตัวเด็กชาย จาง ฮุ่ยเค่อ (Zhang Huike) หนึ่งในสมาชิกของชั้นที่หนีจากโรงเรียนเข้าไปทำงานเพื่อหาเงินช่วยครอบครัว กลับมาเรียนหนังสือให้ได้ เพื่อไม่ให้โรงเรียนต้องปิดตัวลง

อันที่จริงแล้ว หนังเรื่องนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในบันทึกจากประสบการณ์ส่วนตัวของ จาง อี้โหมว (Zhang Yimou) ผู้กำกับชั้นครูชาวจีน ที่บอกเล่าสภาพสังคมจีนออกมาได้อย่างเรียบง่ายและซื่อตรง เพราะในช่วงที่เขาทำงานเป็นคนงานในโรงสีแถบชนบทภายใต้การเติบโตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ทำให้จางเข้าใจความซับซ้อนของสภาพการเมืองและกลุ่มคนตัวเล็ก ๆ ที่ยืนอยู่ในเงามืดของสังคมเป็นอย่างดี อย่างใน The Story of Qiu Ju (1992) หนังบอกเล่าเรื่องราวของหญิงชนบทที่ห่างไกล จางเองก็ได้ถ่ายทอดส่วนหนึ่งของ ‘ความจริง’ ที่เกิดขึ้น ออกมาได้อย่างเรียบง่ายและตรงไปตรงมาเช่นกัน

จาง เป็นผู้กำกับที่มักจะดัดแปลงเรื่องราวในหนังจากสิ่งที่เขาสนใจเสมอ ดังนั้นประสบการณ์ส่วนตัวของจางที่สอนให้เขารู้ถึงคุณค่าของเงินหยวน จึงส่งต่อมาถึง Not One Less โดยตรง เขาใช้วิธีการเล่าเรื่องตามสไตล์หนังของกลุ่มผู้กำกับสาย Neorealism ซึ่งมักจะถ่ายทอดเรื่องราวความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านนักแสดงที่เป็นคนในพื้นที่นั้นจริง ๆ หมายความว่า เหล่าเด็ก ๆ หรือแม้แต่ตัวละครหลักของเรื่องอย่าง เว่ย ทั้งหมดล้วนไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพ และสิ่งที่พวกเขาแสดงออกต่อหน้ากล้องเองก็ไม่ต่างจากชีวิตประจำวันที่พวกเขาเจอ จึงไม่แปลกใจเลยที่เมื่อได้ชมหนังเรื่องนี้ หลาย ๆ คนจะรู้สึกได้ถึงความจริงใจ ใสซื่อ และตรงไปตรงมา ที่เกิดขึ้นบนความซับซ้อนของสภาพพื้นที่ ส่งผลถึงช่วงท้ายของเรื่อง เมื่อความพยายามของเว่ย พาเธอก้าวเข้าสู่สื่อกระแสหลัก นั่นคือการออกรายการโทรทัศน์ สิ่งนี้ได้ชวนให้ผู้ชมคิดต่อไปในอีกเลเวลหนึ่งว่า วันที่สปอร์ตไลท์ส่องถึงคนตัวเล็ก ๆ จนสังคมใหญ่เกิดความความเห็นอกเห็นใจ วันนั้นชีวิตของพวกเขาก็อาจพบกับทางเดินที่ดีขึ้น ซึ่งก็น่าเจ็บปวดใจไม่น้อยที่ต้องยอมรับว่า ความจริงของสังคมหมุนวนตามชนชั้นนำ และมีความเหลื่อมล้ำอยู่ในทุกอณู ในแง่หนึ่ง หนังเรื่องนี้จึงเป็นเหมือนสนามประลองคล้ายกับในหนังเรื่อง The Hunger Games ในขนาดย่อม ที่แม้จะไม่ได้มีการต่อสู้ทางชนชั้น แต่ก็ทำให้เห็นถึงระดับความเจริญในสังคมตั้งแต่ทางกายภาพไปจนถึงระดับการใช้ชีวิตของผู้คน