26 ปีแห่งความหลังและบาป 7 ประการใน ‘Se7en’ สำรวจความลับ 7 ประการที่ซ่อนอยู่ใน ‘กล่อง’ ของ David Fincher

Post on 24 January

วันแรกที่ เดวิด ฟินเชอร์ มาถึงกองถ่าย ‘Se7en’ ในปี 1995 เขามาถึงในฐานะผู้กำกับที่มีบาปติดตัวจากความล้มเหลวในหนัง Alien 3 (1992) ที่เป็นทั้งผลงานการกำกับหนังเรื่องแรก (จากที่เคยจับแต่งานกำกับเอ็มวีให้ มาดอนนา และ ไมเคิล แจ็กสัน) และก็เกือบจะเป็นผลงานที่ปิดฉากอาชีพผู้กำกับหนังของเขาเช่นกัน

แต่หลังจากที่งัดข้อกับสตูดิโอ 20th Century Fox มาอย่างยาวนาน ฟินเชอร์ก็ได้รับโอกาสในการไถ่บาปอีกครั้งด้วยหนังทริลเลอร์ที่ว่าด้วยการตามล่าฆาตกรผู้ฆ่าคนตามบาป 7 ประการที่นำแสดงโดยทีมดาราตัวท็อปครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น แบรด พิตต์, มอร์แกน ฟรีแมน หรือ กวินเนธ พัลโทรว์

แม้ว่าสุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์ของ se7en จะเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่ไม่เพียงล้างชื่อฟิชเชอร์ในฐานะผู้กำกับที่พาหนังเอเลี่ยนล่ม แต่มันยังกลายเป็นหนังที่กวาดทั้งเงินและกล่อง (กวาดรายได้ทั่วโลกไป 327 ล้านดอลลาร์ และเข้าชิงออสการ์สาขาตัดต่อยอดเยี่ยมในปีนั้น) และยิ่งไปกว่านั้นคือการขึ้นแท่นเป็นหนังคัลท์คลาสสิกที่พลิกโฉมหน้าหนังทริลเลอร์สืบสวนสอบสวนไปตลอดกาล แต่ใครจะรู้เลยว่า เบื้องหลังการทุ่มแบบหมดหน้าตักของฟิชเชอร์ในผลงานสร้างชื่อของเขาเรื่องนี้ ก็คือความประสาทรับประทาน ความสิ้นหวัง และอารมณ์สุดขีดคลั่งที่ฟิชเชอร์ต้องเผชิญอีกมากมายตลอดการถ่ายทำ จนน่าจะเรียกได้ว่า ความกดดันที่ฟินเชอร์ต้องเผชิญนั้นแทบไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่นักสืบเดวิด มิลส์ (รับบทโดย แบรด พิตต์) ต้องเผชิญเลย ถึงขนาดที่ ไมเคิล อลัน อดีตผู้ช่วยผู้กำกับของฟินเชอร์ใน se7en เคยเล่าว่า ฟินเชอร์ทุ่มเทและตั้งใจกับหนังเรื่องนี้มาก ถึงขนาดที่เขาใช้เวลาวันละเกือบ 6 ชั่วโมงไปกับการลงมือเซ็ตฉากและเก็บรายละเอียดทุกอย่างแม้กระทั่งองศาการวางขวดที่ใช้ประกอบฉากด้วยตัวเอง

“ถึงจุดหนึ่งผมก็พูดกับฟินเชอร์ว่า ‘ดูสิ! ดูรอบ ๆ ตัวคุณสิ! เรามาถึงจุดนี้แล้วนะ เราได้ถ่ายหนังเรื่องนี้แล้ว คุณทำได้แล้ว คุณได้ทำหนังที่มีมอร์แกน ฟรีแมน, แบรด พิตต์ และเควิน สเปนซีย์ มาเล่นให้ คุณไม่ดีใจเหรอ?!’ แต่เขากลับมองผมด้วยสายตาเหมือนกับว่าผมหลุดมาจากอีกมิติหนึ่ง แล้วพูดว่า ‘ไม่เลย นี่แม่งโคตรแย่เลย’ ผมถามเขาว่า ‘ทำไมถึงแย่ล่ะ?’ เขาก็พูดตอบกลับมาตรงตามนี้ทุกคำเลย ‘เพราะผมต้องขุดทุกอย่างที่อยู่ในหัวตัวเองมาเปิดเผยต่อหน้าพวกโง่งั่งอย่างพวกคุณยังไงล่ะ!’

se7en จึงเป็นหนังที่ฟินเชอร์เดิมพันด้วยการเผยทุกความมืดหม่นและความบ้าคลั่งที่ซ่อนอยู่ในหัวของเขามาเปิดเผยต่อหน้าผู้ชม ภาพฉากและวิธีการฆาตกรรมสุดพิสดาร ทั้งการบังคับให้คนยัดอาหารเข้าปากตัวเองจนตาย การสร้างฆาตกรที่ได้แรงบันดาลใจในการฆ่ามาจากบาปทั้ง 7 ในไบเบิล ไปจนถึงฉากสุดท้ายของการเผย ‘สิ่งนั้น’ ที่ซ่อนอยู่ใน ‘กล่อง’ ทั้งหมดนี้คือการที่ฟินเชอร์เปิดเผยทุกมุมมืดและทุกฝันร้ายที่เขาเก็บซ่อนไว้ให้ผู้ชมได้เข้าไปสำรวจอย่างหมดจดในโรงหนัง

แล้วใน se7en มีความลับอะไรที่ฟินเชอร์แอบหยิบออกจาก ‘กล่อง’ มาแอบใส่ไว้ในหนังอีกบ้าง? ในโอกาสที่วันนี้เมื่อ 26 ปีที่แล้วคือวันแรกที่ฟินเชอร์เผยบาปทั้ง 7 ประการโลกได้ชมกัน GroundControl จึงขอใช้โอกาสนี้พาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจ 7 สิ่งที่ซ่อนอยู่ในกล่องของฟินเชอร์ร่วมกัน!

ภาพถ่ายความตายและการเน่าเปื่อยของ Joel-Peter Witkin สู่แรงบันดาลใจในทุกสิ่งของ ‘Se7en’

ไม่ว่าจะเป็นวิธีการฆาตกรรมสุดล้ำเกินจินตนาการ การกำกับแสงในแต่ละฉาก ไปจนถึง Opening Title ของหนัง ทุกอย่างใน Se7en ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากผลงานของช่างภาพอเมริกันนาม โจเอล-ปีเตอร์ วิตคิน (Joel-Peter Witkin) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินผู้นำเสนอสุนทรียะแห่งความตายและฝันร้ายสุดดำมืด และผู้ซึ่งมีเป้าหมายที่จะนำเสนอภาพถ่ายที่สั่นสะเทือนคนดูไปจนถึงจิตวิญญาณ ถึงขั้นที่ให้ภาพนั้นเป็นภาพสุดท้ายที่ผู้คนจะนึกถึงก่อนตาย (“I wanted my photographs to be as powerful as the last thing a person sees or remembers before death”)

ฟินเชอร์เคยเผยว่าเขาสร้างตัวละครฆาตกร John Doe ขึ้นมาจากแคแรกเตอร์ของวิตคิน เมื่อตากล้อง ดาเรียส คอนจิ (Alien: Resurrection, Funny Games, Midnight in Paris) ถามฟินเชอร์ว่า เขามองภาพในหนังเป็นอย่างไร ฟินเชอร์ตอบว่า ไปดูภาพถ่ายของวิตคิน เมื่อทีมโปรดักชั่นถามว่า ฉากฆาตกรรมนี้ควรถูกนำเสนอออกมาแบบไหน ฟินเชอร์ตอบว่า ไปดูภาพถ่ายของวิตคิน และเมื่อทีมผู้สร้าง Opening Title ของหนังถามว่า อยากให้ไตเติลเปิดหนังออกมาเป็นแบบไหน ฟินเชอร์ก็ตอบว่า เหมือนกับว่าเรากำลังพลิกดูสมุดโน้ตส่วนตัวของวิตคิน

‘Grotesque’ หรือความวิตถารพิสดาร คือคำจำกัดความในผลงานของวิตคิน ภาพถ่ายของเขามักนำเสนอองค์ประกอบแห่งฝันร้ายและความจริงที่ผู้คนมักเบือนหน้าหนี ไม่ว่าจะเป็น ศพ, กะเทย (ในแง่ทางชีวภาพที่เป็นคนซึ่งมีอวัยวะเพศทั้งชายหญิงอยู่ในร่างเดียวกัน) หรือคนแคระ โดยสิ่งที่ซ่อนอยู่ในการนำเสนอภาพซับเจกต์เหล่านี้ก็คือความเชื่อและเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนาน ความเชื่อทางศาสนา หรือภาพสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ศิลปะ

จุดเริ่มต้นในการสร้างภาพสั่นประสาทขวัญสยองของวิตคินมาจากฉากความทรงจำที่ฝังอยู่ในตัวเขาไม่มีวันลืม วิตคินเล่าว่า ในวัยเด็ก เคยมีอุบัติเหตุทางรถยนต์เกิดขึ้นหน้าบ้านของเขา โดยภาพที่เขาไม่มีวันลืมก็คือภาพร่างไร้ชีวิตไร้หัวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง โดยที่หัวของเด็กคนนั้นกลิ้งมาหยุดอยู่ตรงหน้าเขา วิตคินเล่าว่าเขารู้สึกดึงดูดให้เอื้อมมือลงไปสัมผัสและพูดคุยกับหัวของเด็กคนนั้น แต่ก่อนที่มือของเขาจะได้สัมผัส ก็มีคนมาอุ้มเขาหลบออกไปเสียก่อน

ภาพถ่ายร่างไร้ชีวิตของวิตคินไม่เคยใช้พร็อบประกอบ ทุกสิ่งที่เห็น ทุกหัว ทุกร่างกาย ล้วนมาจากศพของคนตายจริง ๆ ซึ่งความบ้าบิ่นนี้ก็ทำให้ผลงานของวิตคินสั่นสะเทือนสังคมและทำให้ผู้ชมหลายคนเบือนหน้าหนี รวมไปถึงถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับจริยธรรมในการได้มาซึ่งผลงานศิลปะ วิตคินต้องเดินทางไปถ่ายภาพศพเหล่านี้จากประเทศเม็กซิโก เนื่องจากกฎหมายอเมริกานั้นไม่เอื้อให้เขาสามารถทำงานกับร่างไร้ชีวิตของคนตายได้

นอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจหลักในผลงาน Se7en ของฟินเชอร์แล้ว ภาพถ่ายของวิตคินยังส่งอิทธิพลต่องานศิลปะอีกมากมาย ที่ชัดเจนที่สุดก็คือภาพถ่ายชุด Sanitarium ที่นำมาสู่การออกแบบแฟชั่นโชว์ Alexander McQueen's Spring/Summer 2001 ที่มีไฮไลต์เป็นนางแบบเจ้าเนื้อนั่งเปลือยกายอยู่ในกล่องกลางรันเวย์ รอบกายเต็มไปด้วยซากของสิ่งที่กำลังเปื่อยเน่า ส่วนใบหน้าถูกซ่อนไว้ภายใต้หน้ากากต่อท่อหายใจระโยงระยาง

ไตเติลเปิดหนังที่เหมือนเป็นการเปิดสมุดจดแห่งฝันร้ายของฆาตกร

ดังที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่า ฟินเชอร์ได้แรงบันดาลใจในวิธีการฆ่าสุดสยองของตัวละคร จอห์น โด มาจากผลงานของวิตคิน เมื่อ ไคล์ คูเปอร์ (Kyle Cooper) นักออกแบบไตเติลเปิดหนังชื่อดัง (ที่คอหนังสยองขวัญน่าจะคุ้นเคยกับผลงานของเขาดีจากบรรดาไตเติลเปิดเรื่องสุดสยองแต่งามล้ำในซีรีส์ American Horror Story) ถามฟินเชอร์ว่าเขามีภาพในหัวคร่าว ๆ ของไตเติลเปิด Se7en อย่างไรบ้าง ฟินเชอร์ก็ตอบว่า เขาต้องการให้ไตเติลเปิดหนังเป็นเหมือนกับการพาผู้ชมเข้าไปสำรวจตัวตนของฆาตกรผ่านการพลิกหน้าต่าง ๆ ในสมุดโน้ตส่วนตัวของฆาตกร โดยมีเรฟว่าให้เหมือนกับกำลังเปิดสมุดโน้ตของศิลปินสุดหลอนอย่างโจเอล-ปีเตอร์ วิตคิน นั่นเอง

สมุดโน้ตเก็บแรงบันดาลใจแห่งการฆาตกรรมที่ปรากฏในฉากไตเติลเปิดนั้นถูกทำขึ้นมาจริง ๆ โดยเป็นฝีมือของนักออกแบบชื่อดัง ไคลฟ์ เพียร์ซีย์ และ จอห์น ซีเบล (Clive Piercy และ John Sabel) โดยใช้เวลาในการทำขึ้นมาถึง 2 เดือนเต็ม และใช้งบในการทำกว่า 15,000 ดอลลาร์ สมุดโน้ตแห่งฝันร้ายนี้ประกอบไปด้วยหน้ากระดาษที่มีลายมือเขียนฉวัดเฉวียนซึ่งก็ต้องเขียนกันด้วยมือจริง ๆ ไม่จกตา คั่นด้วยบรรดาภาพ ‘เรฟ’ การฆ่าที่จอห์น โด สรรหามาแปะไว้ โดยกว่าที่จะทำสมุดโน้ตเล่มนี้ขึ้นมาได้ ดีไซเนอร์ทั้งสองต้องไปนั่งอ่านจดหมายลาตายของจริง เพื่ออ้างอิงทั้งคำพูดและลายมือของผู้ที่กำลังจะจากลาโลกนี้ไป รวมทั้งยังต้องไปค้นหาภาพ Crime Scene ของจริงเพื่อมาใช้ประกอบในสมุดอีกด้วย

เบื้องหลังสุทรียะแห่งความสะอิดสะเอียนน่าขนลุก

ดาเรียส คอนจิ ผู้กำกับภาพใน Se7en เคยเล่าว่า เมื่อเขาถามฟินเชอร์ว่าภาพในหนังควรจะเป็นอย่างไร ฟินเชอร์ก็ตอบกลับมาก็คือ “ดาเรียส มันต้องดูชวนขนหัวลุกสุด ๆ” ซึ่งในภายหลัง คอนจิก็เผยว่าเขาไม่ต้องไปสรรหาความน่ากลัวชวนขนหัวลุกจากที่ไหน เพราะสิ่งเหล่านั้นอัดแน่นอยู่ในตัวผู้กำกับของเขาอยู่แล้ว คอนจิเล่าว่าการคุยกับฟินเชอร์ระหว่างทำหนัง Se7en นั้นให้อารมณ์เหมือนกำลังคุยกับฆาตกรต่อเนื่องตัวจริง!

การรับฟังสิ่งที่ฟินเชอร์พรั่งพรูออกมาทำให้คอนจิตระหนักว่า Se7en ต้องถูกถ่ายทอดออกมาด้วยภาพที่เหมือนกับออกมาจากหัวของฆาตกรต่อเนื่อง (หรือก็คือตัวฟินเชอร์เอง) แต่ความยากของการถ่ายทอดมุมมองนั้นออกมาก็คือการหาวิธีนำเสนอให้ไม่ซ้ำทางกับสิ่งที่หนังฆาตกรต่อเนื่องสุดขึ้นหิ้งอีกเรื่องหนึ่งเคยทำเอาไว้แล้ว นั่นก็คือ The Silence of the Lambs (1991) กระทั่งในที่สุด คอนจิก็พบทางสว่างเมื่อฟินเชอร์แนะนำให้เขาไปดูผลงานของช่างภาพโจเอล-ปีเตอร์ วิตคิน และชี้ให้คอนจิเห็นถึงสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นออกมาจากภาพถ่ายของตากล้องสุดหลอน นั่นก็คือการนำเสนอภาพในสไตล์เรียลลิสม์ (Realism) ที่ถ่ายทอดทุกรายละเอียดของความนน่ากลัวสะอิดสะเอียนให้ผู้ชมได้ซึมซับทุกอณู ซึ่งนั่นก็ทำให้ทั้งตากล้อง ผู้กำกับ ทีมโปรดักชั่น และทีมเซ็ตฉาก ต้องมานั่งสุมหัวด้วยกันบ่อย ๆ เพื่อเรียนรู้วิธีการรับส่งลูกที่จะทำให้ทุกองค์ประกอบสามารถกระตุ้นผู้ชมให้ ‘รู้สึก’ ได้มากที่สุด

สุดท้ายแล้วการนำเสนอฝันร้ายในหัวของฟินเชอร์จึงต้องระดมพลของเหล่านักสร้างสรรค์ในทุกภาคส่วน ทุกครั้งที่จะเดินกล้อง พื้นในฉากต้องถูกทำให้เปียกอยู่เสมอ ทีมโลเกชันต้องตระเวนไปยังทุกโรงแรมในแอลเอเพื่อมองหาห้องที่มีวอลเปเปอร์ที่ใช่ หรือหากหาไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องสร้างขึ้นมาเอง โดยทุกห้องที่ถูกเซ็ตขึ้นมานั้นจะต้องถูกทาทับด้วยวัสดุที่ทำให้พื้นผิวสะท้อนแสงที่สาดลงมาตกกระทบ เพื่อให้สุดท้ายแล้วได้สีดำในแบบที่พวกเขาต้องการให้สะท้อนกลับมาปรากฏในกล้อง

ไม่ใช่ซีจี ไม่ใช้ตัวแสดงแทน

แม้ว่า Se7en จะเป็นหนังรวมดาวที่มีทั้งนักแสดงและคนทำหนังมากฝีมือมารวมตัวกัน แต่ MVP ที่สุดของหนังเรื่องนี้ เราขอยกให้กับ บ็อบ แม็ก นักแสดงที่รับบทเป็นศพชายร่างอ้วนในฉากการฆ่าที่นำเสนอบาปแห่งความตะกละ (Gluttony) โดยวิธีการฆาตกรรมสุดพิสดารในฉากนี้ก็คือการบังคับให้เหยื่อ ‘กิน’ จนท้องแตกตายนั่นเอง

แม็กเล่าว่า บรีฟที่เขาได้รับมาบอกแค่ว่าเขาต้องไปนั่งเอาหน้าจุ่มลงไปในชามสปาเก็ตตีเท่านั้น แต่เมื่อไปถึงหน้าฉาก เขากลับพบว่า นักแสดงที่จะมาเข้าฉากร่วมกับเขาไม่ได้มีแค่แบรด พิตต์ กับมอร์แกน ฟรีแมน เท่านั้น แต่ยังมีกองทัพแมลงสาบตัวจริงที่ถูกปล่อยออกมาให้เดินเพ่นพ่านทั่วพื้น แถมยังมีตัวที่ต้องถูกนำมาทาวาสลินเพื่อเอามาติดบนใบหน้าของเขาด้วย!

สุดท้ายแล้วแม็กโชว์สปิริตนักแสดงและเล่นฉากนั้นจนสำเร็จลุล่วงมาได้ ซึ่งพอถ่ายทำเสร็จ แบรด พิตต์ ก็มาช่วยดึงแมลงสาบออกจากหน้าของเขาด้วย

การปกปิดตัวละครลับ จอห์น โด

เมื่อเควิน สเปซีย์ ตกลงที่จะมารับบท จอห์น โด ฆาตกรบาป 7 ประการในเรื่อง เขาก็ได้ยื่นเงื่อนไขหนึ่งข้อให้กับทีมงาน นั่นก็คือการลบชื่อของเขาออกจากไตเติลเปิดหนัง

แม้ว่าคำขอของสเปซีย์จะเป็นอะไรที่ไม่ได้ดูเหนือบ่ากว่าแรงใด ๆ แต่มันก็ทำให้โปรดิวเซอร์และทีมประชาสัมพันธ์ของหนักถึงกับเหงื่อตก เพราะหนึ่งในเหตุผลที่ทางทีมติดต่อให้สเปนซีย์มาเป็นส่วนหนึ่งของดรีมทีมก็คือการใช้ชื่อของเขาในการช่วยโปรโมตหนัง ซึ่งตอนนั้นชื่อของสเปซีย์กำลังขึ้นหม้อสุด ๆ จากหนังทริลเลอร์ชื่อดังอีกเรื่องอย่าง The Usual Suspects (1995)

แต่การถอนชื่อของสเปซีย์ออกจากไตเติลเปิดหนังและการประชาสัมพันธ์ก็มีเหตุผลที่เข้าใจได้ เพราะสเปซีย์ต้องการที่จะทำให้คนดูใประหลาดใจนฉากที่เปิดตัวเขาในฐานะฆาตกร ซึ่งกว่าที่เขาจะปรากฏตัวนั้นก็เข้าองก์ที่ 3 ของหนังไปแล้ว โดยตัวละครของสเปซีย์ปรากฏตัวในหนังครั้งแรกจากฉากการฆาตกรรมบาปความขี้เกียจ (Sloth) ที่จอห์น โด อำพรางตัวมาในคราบนักข่าวที่เข้ามาทำข่าวในสถานที่เกิดเหตุ แล้วโดนนักสืบมิลส์ตะเพิดออกไป.
ในการเก็บแคแรกเตอร์ของตัวเองไว้เป็นความลับ สเปซีย์จึงไม่เข้าร่วมการเดินสายโปรโมตหนังกับทีมนักแสดง ไม่ถ่ายรูป และไม่มีการสัมภาษณ์ใด ๆ และเพื่อเป็นการชดเชยที่ชื่อของเขาไม่ได้อยู่ในไตเติลเปิดหนัง ชื่อของสเปซีย์จึงปรากฏซ้ำสองครั้งในไตเติลปิดแทน

7 นาที (สุดท้าย) บรรลุธรรม

แม้จะไม่เคยเผยให้เห็น ‘สิ่ง’ ที่อยู่ในกล่อง แต่ฟินเชอร์ก็ได้บอกใบ้ให้ผู้ชมสามารถเดาได้ว่าในกล่องนั้นบรรจุอะไรไว้ โดยในฉากสุดท้าย 7 นาทีก่อนที่หนังจะจบ ฟิชเชอร์ได้ใส่ภาพ ‘ใบหน้า’ ของผู้หญิงซ่อนไว้ในเฟรมแบบที่โผล่มาแค่เสี้ยววินาทีเท่านั้น ซึ่งหากใครเผลอกะพริบตาก็อาจพลาดเซอร์ไพรส์เล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่ไปเลย ลองไปย้อนดูกันนะ

บาปที่ 5 ที่ถูกเฉลยมาตั้งแต่ต้น

เมื่อถึงฉากสุดท้ายของหนัง คนดูก็ได้ค้นพบว่า นักสืบมิลส์ที่ถูกความโกรธเข้าครอบงำหลังหลังจากที่ได้ค้นพบสิ่งที่ซ่อนอยู่ในกล่อง ก็คือภาพสะท้อนของบาปที่ 5 ซึ่งก็คือความโกรธนั่นเอง แต่แม้ว่าหนังจะมาเฉลยเอาในตอนสุดท้ายว่านักสืบมิลส์คือตัวแทนของบาปที่ 5 แต่ที่จริงแล้วฟินเชอร์แอบบอกใบ้คนดูมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าบาปที่ 5 ที่ฆาตกรจอห์น โด อุบเอาไว้นั้นคือมิลส์ เพราะหากเราสังเกตดูดี ๆ จะเห็นว่า เลขห้องที่ติดอยู่หน้าอพาร์ตเมนต์ของมิลส์และภรรยานั้นคือเลข 5A ซึ่งก็เป็นการบอกใบ้จากฟินเชอร์นั่นเอง

อ้างอิง: Conversations with Darius Khondji, Se7en, Looking Back - The Cinematography of Seven