ย้อนกลับไปในปี 1999 ภาพยนตร์ไซไฟ-วิทยาศาสตร์ในตำนานอย่าง The Matrix ของสองพี่น้อง ลานา และ ลิลลี่ วาโชว์สกี (Lana and Lilly Wachowski) ได้สร้างหนึ่งตำนานบทใหม่ให้วงการภาพยนตร์ด้วยการพาผู้ชมเข้าไปในโลกอันงุนงง กระตุ้นความคิด ผ่านจังหวะโลกหยุดหมุนและฉากแอคชั่นดุดเดือด รวมถึงโทนภาพสีเขียวนีออนที่ช่วยให้ตัวหนังดูเหมือนกลไกลึกล้ำ อย่างที่ทุกคนได้เห็นกันมาแล้วว่า The Matrix โดดเด่นด้วยเนื้อหาที่มีนัยยะทางปรัชญา แต่ที่มาที่ไปเบื้องหลังปรัชญานี้หารู้ไม่ว่าส่วนหนึ่งมาจากโลกของมังงะและอนิเมะ!
การเปิดตัวของอนิเมะคลาสสิกอย่าง Ghost in the Shell (1995) จากฝีมือผู้กำกับ มาโมรุ โอชิอิ (Mamoru Oshii) ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่จนโดนใจผู้ชมไปทั่วโลก ซึ่งก็รวมถึงสองพี่น้องชาวอเมริกัน ผู้กำกับ The Matrix ด้วยเช่นกัน ความน่าสนใจของพล็อตเรื่องว่าด้วยตำรวจในโลกเสมือนจริง ที่กำลังตามจับอาชญากรไซเบอร์ตัวอันตรายที่แฮ็กระบบข้อมูลจนสามารถคุกคามความคิดผู้คนได้ เชื่อมต่อมาถึง The Matrix ซึ่งติดตามความเป็นไปของ นีโอ (คีอานู รีฟส์ - Keanu Reeves) ชายหนุ่มที่ถูกเลือกให้ผันตัวมาเป็นนักรบไซเบอร์ เพื่อต่อกรกับตัวเขาเองใน The Matrix โลกที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
ความจริงแล้ว เรื่องราวของสองโลกที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาครองโลก จนตัวละครเกิดสงสัยถึงตัวตนของตัวเองนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่ต้องการใส่ภาพจำเพื่อเคารพต่ออนิเมะที่พวกเธอชื่นชอบ หนึ่งในฉากสำคัญก็คือภาพเอฟเฟ็กต์ฝนโค้ดดิจิทัลสีเขียวนีออน ซึ่งได้กลายมาเป็นภาพไอคอนของหนังตลอดกาลของ The Matrix นั่นเอง สำหรับคนที่ยังไม่เคยดู Ghost in the Shell ต้องบอกเลยว่าฉากอันโดดเด่นนี้เปิดมาพร้อมกับเครดิตตัวอนิเมะให้เห็นกันแบบชัด ๆ ไม่หมดเพียงเท่านั้น อีกหนึ่งภาพในหนังอย่างฉากกระสุนปืนแตกออกเป็นเสี่ยงเองก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอนิเมะเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน อิทธิพลที่ส่งต่อกันมานี้ มีผลถึงขั้นที่สองผู้กำกับเอ่ยขออนุญาตผู้สร้าง Ghost in the Shell เพราะพวกเขาเกรงว่าจะไปถอดแบบอนิเมะมามากเกินไปกันเลยทีเดียว
แม้ธีมการปะทะกันระหว่างพื้นที่จริง (ทางกายภาพ) และพื้นที่เสมือน จะดูละม้ายคล้ายคลึงกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่า The Matrix จะรับเอาแนวคิดของ Ghost in the Shell มาทั้งหมด เพราะถ้าเทียบกันตามเนื้อเรื่องแล้ว The Matrix ดูจะมุ่งจุดสนใจไปที่เรื่องราวของคนที่ใช้ชีวิตตามการตั้งค่าโปรแกรม ในทางกลับกัน Ghost in the Shell ได้เน้นไปที่ความทรงจำที่ฝังรากอยู่ในจิตใจตัวละคร
พูดถึงเรื่องงานอ้างอิงอนิเมะไซไฟ-วิทยาศาสตร์สัญชาติญี่ปุ่นกันมายาวเหยียดขนาดนี้ เลยอยากขอพาทุกคนนั่งไทม์แมชชีนกลับไปดูกันหน่อยว่าจุดเริ่มต้นของกระแสข้ามพรมแดนนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ..
โลกอนิเมะเดินทางสู่อเมริกานับตั้งแต่ยุคหลังสงครามเป็นต้นมา แต่ความนิยมสูงสุดเริ่มตกถึงผู้ชมในช่วงปี 90 เหตุผลก็เพราะว่า ผู้สร้างเริ่มออกแบบภาพด้วยสไตล์การวาดที่มีความโดดเด่นเป็นตัวของตัวเอง อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแนวเรื่องเล่าจากเดิมซึ่งเป็นไปในทางขัดเกลาสังคม ยึดติดกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผันตัวมาสร้างโลกที่มีความซับซ้อนและเป็นอิสระมากขึ้น ยิ่งเมื่อพ่วงกับสังคมในเวลานั้นที่เทคโนโลยีดิจิทัลเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนทำให้คนเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง ผู้คนก็ยิ่งตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของตัวตนมากขึ้นตามไปด้วย ความนิยมในอนิเมะญี่ปุ่นที่ดูแปลกตา น่าค้นหา และแสดงภาพสังคมเมืองที่เชื่อมโยงถึงสภาวะทางจิตใจ เลยเป็นตัวเลือกลำดับแรก ๆ ของผู้ชมแอนิเมชั่นในอเมริกาตามไปด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ The Matrix จะทำให้ใครหลายคนนึกถึงอนิเมะญี่ปุ่น แม้ยังไม่รู้เบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ตามที
ความเคารพต่อโลกของหนังใน The Matrix ไม่หมดแค่ในอนิเมะเท่านั้น เพราะสองผู้กำกับยังได้หยิบเอาตำนานในโลกภาพยนตร์มากมายมาไว้ในผลงานระดับมาสเตอร์พีสชิ้นนี้ เร่ิมด้วยการเล่นกับจังหวะบู๊แอคชั่นตามหนังกำลังภายในของฮ่องกง แถมยังมีการยกเอาบางองค์ประกอบจากนวนิยายแนวไซเบอร์พังค์ของ วิลเลียม กิปสัน (William Gibson) มาใช้ในเรื่องด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะ Neuromancer ซึ่งบอกเล่าถึง งานชิ้นสุดท้ายของแฮ็กเกอร์ที่ล้มเหลวทางอาชีพ ได้พาเขาไปสัมผัสกับปัญญาประดิษฐ์ที่ทั้งฉลาดและทรงพลัง
ด้วยการหยิบเอาภาพอ้างอิงมากมายมาปรับโฉมใหม่ผ่านเรื่องเล่าอันลึกซึ้ง ภาษาภาพยนตร์ที่ชวนให้สับสนจนอธิบายไม่ถูก และสไตล์ภาพที่คลุมธีมด้วยแสงสีเขียว ทำให้ The Matrix กลายมาเป็นหนังที่สามารถบ่งบอกถึงการเติบโตของยุคสมัยได้คมคายและอยู่เหนือกาลเวลาจนเข้าไปนั่งในใจผู้ชมได้เรื่อยมา
อ้างอิง : The Matrix Is Basically A Live-Action Remake Of This Classic Anime, Inspired by the film they inspired, Anime: Why is “Akira” cited as a major influence on movie “The Matrix”?