viewfinder_Heartstopper for web.jpg

สื่อความเข้าใจผ่านช่องความแตกต่างและช่องว่างระหว่างวัย ผ่านความสดใสใน Heartstopper

Post on 29 April

(บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)
มาแรงชนิดที่ไม่มีใครฉุดอยู่กับซีรีส์โดย Netflix ที่ดัดแปลงจากนิยายในเว็บคอมมิค ผลงานของนักเขียนชาวอังกฤษ อลิส โอสแมน (Alice Oseman) ซึ่งได้ขึ้นแท่นมานั่งเขียนบทให้กับซีรีส์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน .. ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่านิยาย LGBTQ+ ที่ได้รับความนิยม มักจะถูกหยิบมาสร้างเป็นซีรีส์ให้เราได้เห็นกันมากมาย แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ซะทีเดียวว่า ไม่ใช่นิยายแนวนี้จะดัดแปลงมาเป็นซีรีส์แล้วสามารถเข้าไปนั่งในใจผู้ชมกันง่าย ๆ Heartstopper จึงเป็นซีรีส์ Coming of Age ที่มีประเด็นยิบย่อยแฝงในเนื้อเรื่อง มากกว่าแค่เรื่องราวรัก ๆ ใคร่ ๆ และชูนักแสดงคู่จิ้นให้เป็นจุดเด่นของเรื่องเพียงอย่างเดียว
ตั้งแต่ช่วงปี 2016 ความรักอันอบอุ่นที่ผลิดอกออกผลในหน้ากระดาษจากฝีมือ โอสแมน ได้รับกระแสตอบรับอย่างกว้างขวางจากแฟน ๆ นิยาย LGBTQ+ จนกระทั่งโปรเจ็คนี้ถูกพัฒนามาเป็นซีรีส์ในที่สุด ปัญหาก็คือการเปลี่ยนนิยายให้เป็นซีรีส์นั้น พ่วงมาด้วยความคาดหวังมากมาย ดังนั้นโอสแมนจึงเลือกที่จะสร้างผลงานชิ้นนี้ออกมาอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา สิ่งที่ตามมาคือการคัดเลือกนักแสดงซึ่งไม่เพียงแค่ต้องมีความสามารถเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจตัวละครในเรื่องอย่างลึกซึ้งด้วยเช่นกัน จึงไม่แปลกใจเลยที่ใครได้ดูซีรีส์เรื่องนี้ จะสัมผัสได้ถึงความน่ารักกำลังดีของตัวละคร จนคนดูอย่างเราเผลอตกหลุมรักไปด้วยโดยง่ายดาย

ลายเส้นการ์ตูนอันเป็นเอกลักษณ์ของโอสแมน ถูกทำให้มีชีวิตชีวามากขึ้นผ่านฟอร์มของซีรีส์ที่ใส่ลูกเล่นกราฟิกเข้ามาสร้างความน่ารัก สปาร์คในใจผู้ชมไปพร้อมกับตัวละคร ทำให้ Heartstopper ซีรีส์ซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์ของ ชาร์ลี (นำแสดงโดย โจ ล็อกค์) เกย์เนิร์ดวัยมัธยม และ นิค (รับบทโดย คิท คอนเนอร์) เด็กหนุ่มดาวเด่นในแก๊งรักบี้ที่กำลังสับสนว่าเขาชอบผู้ชายหรือผู้หญิง สามารถบอกเล่าถึงบริบททางสังคม โดยเฉพาะเรื่องราวในรั้วโรงเรียนไฮสคูลของอังกฤษ ที่เชื่อมโยงไปถึงความหลากหลายทางเพศ การเปลี่ยนผ่านทางความคิด และเป็นตัวต่อช่องว่างระหว่างช่วงวัยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อตัวละครอย่าง นิค ต้องเปิดเผยความชอบต่อคนในครอบครัว 

โทรทัศน์ทุกวันนี้มีแต่จะเสนอเนื้อหาที่ดูแปลกประหลาด จริงจัง และเน้นไปที่ความบอบช้ำทางจิตใจ

หลายครั้งที่การเสพสื่อ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อความคิดผู้คน ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นข่าวเนื้อหาจริงจังหรือสื่อบันเทิง ทั้งหมดนี้ต่างสามารถเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดได้ในลักษณะเหมือน ๆ กัน Heartstopper จึงเป็นเหมือนซีรีส์ที่กระตุ้ยให้เห็นถึงความแตกต่างของผู้คน อีกทั้งยังมอบภาพลักษณ์ซีรีส์ที่บอกเล่าการเปลี่ยนผ่านความชอบทางเพศ ด้วยวิธีการชุบชูจิตใจคนดูไปพร้อมกับการสร้างความเข้าใจในรสนิยมส่วนตัวของคนแต่ละคน และสร้างความหลากหลายในสังคม

ไม่ใช่แค่กับตัวละครหลักซึ่งเป็นตัวแทนชาว LGBTQ+ เท่านั้น แต่ตัวละครอื่น ๆ ในเรื่อง ยังสะท้อนถึงบุคลิกผู้คนที่อาจคล้ายกับคนดูอย่างเราในบางมุม รวมถึงการให้พื้นที่กับผู้ใหญ่รุ่นพ่อแม่ซึ่งมีแนวคิดเรื่องเพศที่เปิดกว้าง ยอมรับความแตกต่าง และเป็นตัวอย่างคนรุ่นเก่าที่มองตัวเองเป็นฝ่ายซัพพอร์ตมากกว่าเป็นไม้แก่ที่คอยต่อต้านคนรุ่นใหม่ ทำให้เห็นว่าแม้ประเด็นการไม่ยอมรับเพศทางเลือกจะยังเกิดขึ้นในหมู่นักเรียน แต่การที่ผู้ใหญ่ยืนมองเด็ก ๆ อยู่ห่าง ๆ ก็แสดงให้เห็นว่าสังคมอาจก้าวไปสู่การยอมรับความหลากหลายทางเพศได้ในอนาคต รวมถึงซีรีส์เรื่องนี้เองก็อาจเป็นแรงผลักดันเล็ก ๆ ให้ผู้ชมหันกลับมามองซีรีส์ LGBTQ+ เป็นความบันเทิงอีกรูปแบบหนึ่งที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงได้ด้วยเช่นกัน