48336340282_e779817ff1_k copy.jpg

Multimedia & Robotic Art เมื่อกลไกและเทคโนโลยีเข้ามาสร้างความหมายใหม่ให้ผลงานศิลปะ

Art
Post on 9 August

เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี ไม่เพียงสังคม เศรษฐกิจ หรือนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ถูกขับเคลื่อนไปอย่างก้าวกระโดดจนตามแทบไม่ทัน แต่แวดวงศิลปะเองก็มีพลวัตการขับเคลื่อนไปในทิศทางที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

ผลงานศิลปะที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่า และควรค่าแก่การพูดถึงในยุคปัจจุบันอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงทักษะหรือฝีมือเฉพาะตัวของศิลปินอีกต่อไป เมื่อศิลปินหลาย ๆ คนหันมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแขนงใหม่ ๆ ที่นอกจากจะไม่ต้องลงมือวาด ปั้น หรือแกะสลักด้วยตัวเองแล้ว ยังสามารถใช้ประโยชน์จากกลไกและสื่อมัลติมีเดียใหม่ ๆ ในการสร้างความหมายใหม่ให้ผลงานศิลปะของตัวเองด้วย ทั้งที่ถูกนำเสนอในรูปแบบ Interactive Installation, Kinetic Installation หรือ Robotic Art ที่อาศัยเพียงไอเดียแปลกใหม่ และความชำนาญในการเขียนโปรแกรมเท่านั้น 

ในหมู่มวลผลงานศิลปินนับแสนล้านชิ้นที่นำเอาศาสตร์แห่งวิวัฒนาการสมัยใหม่มาใช้สร้างสรรค์ผลงาน GroundControl ขอเลือก 5 ผลงานศิลปะร่วมสมัยอายุไม่เกิน 10 ปีที่เราประทับใจ และอยากให้ทุกคนได้ทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กัน

จากความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีสู่โศกนาฏกรรมของเครื่องจักรกล
Can’t Help Myself (2016) โดย Sun Yuan และ Peng Yu

แม้จะถูกนำไปจัดแสดงสู่สายตาสาธารณชนครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์ Solomon R. Guggenheim Museum ในมหานครนิวยอร์กมาตั้งแต่ปี 2016 แต่ไม่นานมานี้ ผลงาน Can’t Help Myself โดยสองคู่หูศิลปินชาวจีนสุดฉาว Sun Yuan และ Peng Yu กลับกลายมาเป็นประเด็นร้อนจนเข้าขั้นไวรัลอีกครั้งในโลก TikTok เมื่อเจ้าแขนจักรกลอัตโนมัติที่เคยกวาดของเหลวสีแดงฉานคล้ายเลือดเข้าหาตัวเองอย่างคล่องแคล่วว่องไวภายในกล่องกระจกใสในวันนั้น ในวันนี้กลับดูเหนื่อยล้าจากการทำสิ่งเดิมซ้ำไปซ้ำมาตลอดหลายปี ซึ่งนี่ก็ดูจะสะท้อนแนวคิดตลกร้ายเบื้องหลังผลงานที่ต้องการสื่อถึงโลกในปัจจุบันที่ทุกอย่างต้องพึ่งพิงเทคโนโลยี และอะไร ๆ ก็ดูจะเป็นระบบอัตโนมัติไปซะหมด เจ้าแขนจักรกลที่แม้จะเคลื่อนไหวช้าลงจากความเหน็ดเหนื่อย แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดพักได้ ยังคงต้องกวาดของเหลวดังกล่าวให้ผู้ชมมามุงดูในห้องแคบ ๆ ต่อไปแบบไม่จบสิ้น

หลอมรวมร่างกายและภาพกราฟฟิกเป็นหนึ่งเดียวผ่านสื่อมัลติมีเดีย
The Treachery of the Sanctuary (2012) โดย Chris Milk 

ผลงาน The Treachery of the Sanctuary ของศิลปินและผู้กำกับชาวอเมริกัน Chris Milk ถูกเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงาน The Creators Project: San Francisco 2012 โดยหลังจากนั้น เขาก็พามันออกจัดแสดงไปหลายเมืองทั่วโลก ซึ่งแต่ละที่ก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากการดึงดูดให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาได้มีส่วนร่วมกับผลงานที่ว่าด้วยการกำเนิด ความตาย และการแปลงร่างชิ้นนี้ โดยผลงาน The Treachery of the Sanctuary ถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นจอดิจิทัลขนาดยักษ์ 3 จอที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ เพื่อผนวกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับภาพกราฟฟิกที่ปรากฏบนจอ เมื่อผู้ชมยกแขน ภาพของปีกนกที่ถูกสยายอย่างงดงามก็จะปรากฏขึ้นบนจอแบบเรียลไทม์ไปพร้อม ๆ กัน จนเกิดเป็นภาษาภาพทางศิลปะแบบใหม่ที่ต้องอาศัยทั้งเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ และการมีส่วนร่วมของผู้คนในการรังสรรค์

การล่องลอยอย่างอิสระของสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่
In Love With The World (2021) โดย Anicka Yi

ผลงานศิลปะจากโครงการ Hyundai Commission ที่ถูกจัดแสดงภายใจพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Tate Modern ในกรุงลอนดอน โดยฝีมือของศิลปินชาวเกาหลี-อเมริกัน Anicka Yi ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ เมื่อพวกมันสามารถมีชีวิตอย่างเสรีด้วยตัวเอง ทั้งในแง่ความคิด พฤติกรรม และรูปลักษณ์ภายนอก เธอถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าวผ่านการออกแบบหุ่นยนต์ Aerobes ที่สามารถล่องลอยไปในอากาศของพื้นที่จัดแสดงงานได้อย่างอิสระ อีกทั้งยังมีการตอบสนองกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นจำนวน หรือความร้อนจากร่างกายผู้เข้าชม ก็สามารถส่งผลกับพฤติกรรมของพวกมันได้ทั้งสิ้น นอกจากนั้น มันยังสามารถส่งกลิ่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา ตั้งแต่กลิ่นถ่านหิน ไปจนถึงกลิ่นเครื่องเทศ เพื่อบอกเล่าเรื่อง และสร้างประสบการณ์ที่หลากหลาย

เมื่อเทคโนโลยีเลียนแบบธรรมชาติ และผสานตัวตนในพื้นที่ได้อย่างแนบเนียน
Shylight (2014) โดย Studio Drift

ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มศิลปินมาแรงที่น่าจับตามองสุด ๆ สำหรับ Studio Drift จากกรุงอัมสเตอร์ดัมที่ประกอบไปด้วย 2 ศิลปิน Ralph Nauta และ Lonneke Gordijn ที่ขยันผลิตผลงานสวย ๆ ล้ำ ๆ ออกมาไม่ขาดสาย หนึ่งในผลงานดังที่สร้างชื่อให้พวกเขาในวงกว้างคือ Shylight ผลงาน Kinetic Installation ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเคลื่อนไหวของพืชบางชนิดที่จะหุบก้านใบและกลีบดอกเมื่อถึงเวลาพลบค่ำ และจะบานออกอีกครั้งเมื่อถึงเวลารุ่งเช้า โดยในผลงานชิ้นนี้ พวกเขาได้นำแนวคิดดังกล่าวมาออกแบบ และใส่กลไกที่ทำให้โคมไฟดอกไม้สีขาวนวลเหล่านี้สามารถบาน-หุบ และเคลื่อนไหวขึ้น-ลงได้อย่างนุ่มนวลราวกับกำลังอวดโฉมอยู่ในธรรมชาติจริง ๆ ซึ่งผลงาน Shylight ก็ถูกจัดแสดงเป็นครั้งแรกในปี 2014 ภายในส่วน Philips Wing ของพิพิธภัณฑ์ Rijksmuseum หลังถูกปิดปรับปรุงอยู่นานถึง 11 ปี ก่อนจะถูกนำมาแสดงตามงานอีเวนต์ศิลปะอื่น ๆ อีกหลายครั้ง

เพราะหุ่นยนต์ก็มีหัวใจรักเสียงเพลง (แถมเต้นได้ด้วย!)
Vicious Circle (2011) โดย Peter William Holden

ใครว่าหุ่นยนต์ไม่มีหัวใจ แต่ Peter William Holden ศิลปินชาวอังกฤษสายกลไกนำแรงบันดาลใจที่เขาได้รับจากวิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เปลี่ยนหุ่นยนต์เหล่านี้ให้ลุกขึ้นมาเป็นนักเต้นเท้าไฟร่วมกันเป็นหมู่คณะ พร้อมกับบทเพลงสุดแสนคลาสสิกของนักประพันธ์ในตำนานอย่าง Sergei Prokofiev และ Johann Strauss ก่อให้เกิดภาพความย้อนแย้งชวนพิศวง เมื่อเครื่องจักรไร้จิตวิญญาณเหล่านี้กำลังเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันร่วมไปกับผลงานศิลปะที่มีความละเอียดอ่อน และเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่เบราะบางของมนุษย์อย่างดนตรีคลาสสิก

The Making of DuckUnit
ไขเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานแบบเป็ด ๆ ของสตูดิโอที่ผนวกเทคโนโลยีเข้ากับประสบการณ์ของผู้คน
Exclusive Talk ร่วมกับ ต้น-เรืองฤทธิ์ สันติสุข และ ฉิง-พรพรรณ อารยะวีรสิทธิ์ สองนักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มเป็ด และ ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ จาก GroundControl 
ร่วมพูดคุยกันแบบสด ๆ ในวันเสาร์ที่ 13 สิงหาคมนี้ ทางเพจ Facebook : FAAMAI Digital Arts Hub & GroundControl และช่อง YouTube : GroundControl ตั้งแต่เวลา 10:00 น. เป็นต้นไป

อ้างอิง:

Can’t Help Myself – How a Relatable Robot Offers a Critical Reflection on Modern Society. Diggit Magazine. Published February 23, 2022. Accessed August 3, 2022. https://www.diggitmagazine.com/papers/can-t-help-myself-how-relatable-robot-offers-critical-reflection-modern-society

Waite T. A dystopian robot arm is taking over TikTok, but what does it really mean? Dazed. Published January 18, 2022. Accessed August 3, 2022. https://www.dazeddigital.com/art-photography/article/55253/1/dystopian-robot-arm-taking-over-tiktok-what-does-it-really-mean-cant-help-myself‌

The Treachery of Sanctuary - CHRIS MILK. Milk.co. Published 2012. Accessed August 3, 2022. http://milk.co/treachery

How It Works: Chris Milk’s The Treachery Of Sanctuary. Vice.com. Published June 12, 2012. Accessed August 3, 2022. https://www.vice.com/en/article/3dpg9v/how-it-works-chris-milks-ithe-treachery-of-sanctuaryi

Tate. In Love With The World | Tate. Tate. Published 2021. Accessed August 3, 2022. https://www.tate.org.uk/whats-on/tate-modern/hyundai-commission-anicka-yi/exhibition-guide

Anicka Yi at Tate Modern: Why the Turbine Hall is in Love with the World | COBO Social. COBO Social. Published December 14, 2021. Accessed August 3, 2022. https://www.cobosocial.com/dossiers/art/anicka-yi-at-tate-modern-why-the-turbine-hall-is-in-love-with-the-world/

Shylight - Studio Drift. Studio Drift. Published July 25, 2022. Accessed August 3, 2022. https://studiodrift.com/work/shylight/

Tucker E. Studio Drift installs moving Shylights in disused Eindhoven building. Dezeen. Published October 25, 2015. Accessed August 3, 2022. https://www.dezeen.com/2015/10/25/studio-drift-moving-shylights-disused-eindhoven-building-dutch-design-week-2015/

AutoGene — Time-based Sculpture. Peter-william-holden.com. Published 2022. Accessed August 3, 2022. https://www.peter-william-holden.com/vicious.html

Mairs J. Peter William Holden’s Frankensteinian robots perform dance routines to music. Dezeen. Published October 17, 2014. Accessed August 3, 2022. https://www.dezeen.com/2014/10/17/peter-william-holdens-dance-machines-sculptures-routines-to-music/