‘เอิร์ล’ หนุ่มฝรั่งตาน้ำข้าว และ ‘ทราย’ สาวอีสานผู้ทำงานเป็นพนักงานโรงแรม ได้ตัดสินใจกลับบ้านทุ่งอันห่างไกลในภาคอีสาน ที่กำลังจะต้องรับมือกับพายุลูกใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี และท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่ค่อยเป็นมิตร กับญาติสนิทที่ไม่ค่อยพอใจกับลูกเขย ก็ได้บังเกิดเป็นคดีฆาตกรรมสุดสะเทือนขวัญครั้งใหญ่ ที่คร่าชีวิตคนในบ้านไปถึงเจ็ดศพ!
พอเกริ่นเรื่องย่อแบบนี้แล้ว หลายคนจะต้องคิดว่าหนังเรื่อง ‘เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ’ ต้องเป็นหนังฆาตกรรมซับซ้อนสุดซีเรียส ที่ชวนให้คนดูเครียดกับปริศนาที่ยากเกินจะหยั่งถึงเป็นแน่ แต่สำหรับคนไทยที่คุ้นเคยกับหน้าลุง ‘หม่ำ จ๊กมก’ ที่รับบทเป็นผู้หมวดณวัฒน์ผู้ไขคดีสุดประหลาดนี้ ก็น่าจะรู้ได้ทันทีว่ายังไงหนังเรื่องนี้ก็ต้องฮา และฮาแบบขำจนตัวโยนเสียด้วย
ความลำบากของการเล่าเรื่องสืบสวนให้ออกมาฮา ก็คือการคงความเข้มข้นของปริศนาเอาไว้ เพราะถ้าเน้นฮามากเกินไป คนดูก็อาจจะไม่ลุ้นกับปมที่เดาง่าย แต่ถ้าเน้นปริศนามากเกินไป คนก็จะเพ่งกับปริศนาจนไม่เก็ตมุก แต่เมอร์เด้อเหรอฯ สามารถฝ่าด่านนี้ไปได้ แถมนอกจากปริศนาที่เข้มข้นแล้ว ยังมีการใส่ปมปัญหาเรื่องเชื้อชาติ การดูถูกเหยียดหยาม การเหมารวม และแนวคิดที่คนไทยมีต่อฝรั่ง รวมถึงฝรั่งที่มีต่อคนไทยเข้ามาในเรื่องได้อีกด้วย จนเรียกว่าแทบทุกอุปกรณ์ ทุกบทสนทนา และทุกการกระทำที่เกิดขึ้นในเรื่อง จะต้องมีผลให้เราได้คิดตาม ขำ และสงสัยในจุดจบอยู่ตลอด
การเล่าเรื่องแบบนี้เลยชวนให้นึกถึงทฤษฎีการละครเรื่อง ‘ปืนของเชคอฟ (Chekhov's gun)’ ของอันตอน เชคอฟ (Anton Chyekhov) แพทย์และนักเขียนเรื่องสั้นกับบทละครชาวรัสเซีย ที่เคยบอกไว้ประมาณว่า ทุกองค์ประกอบที่ถูกใส่เข้ามาในเรื่องราว จะต้องมีบทบาทและถูกใช้งาน ส่วนอะไรที่ไม่สำคัญก็จะถูกตัดออกไปตั้งแต่แรก เช่น ถ้าเราใส่ปืนเอาไว้ในฉากแรก ในฉากต่อ ๆ มามันจะต้องลั่นไกออกไป หรือมีผลต่ออะไรสักอย่างที่สำคัญกับเนื้อเรื่องแน่นอน
ซึ่งเมอร์เด้อเหรอฯ ก็เป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นมุกตลก วัตถุ การกระทำ และปริศนาทุกอย่างที่ใส่เข้ามาในเรื่อง ได้ถูกนำมาใช้ทั้งหมดแบบไม่ทิ้ง และพอถึงจุดที่พีคที่สุดของเรื่อง องค์ประกอบทุกอย่างที่เราเห็นผ่านตา ก็ได้ระเบิดพลังสำแดงเดช และทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์ เรียกว่าถ้ามีปืนก็ต้องลั่น! มีรถก็ต้องขี่! และถ้ามีอาหารก็ต้องกิน! (แบบตะโกน) จนคนดูอย่างเราต้องหัวเราะกันจนปอดโยก และทึ่งกันจนกรามค้าง
ความสนุกของการดูหนังเรื่องนี้ ก็เลยเป็นการที่เราโดนผู้กำกับอย่าง วิศิษฏ์ ศาสนาเที่ยง และทีมงาน ประกาศท้าทายสัญชาตญาณนักสืบออกมาตรง ๆ โดยการเอาทุกอย่างมากองไว้ให้เราดูตั้งแต่ต้นเรื่องแบบเน้น ๆ แต่ถึงจะชัดเจนขนาดนั้น เราก็ยังเดาไม่ออกอยู่ดีว่าสุดท้ายแล้วมันจะไปจบที่ตรงไหน? ใครเป็นฆาตกร? แล้วสิ่งนี้จะถูกใช้ยังไงกันแน่?
ดังนั้นถ้าใครมั่นใจในสายเลือดแฟนพันธุ์แท้ของหนังฆาตกรรม และมั่นใจว่าจะไม่ถูกผู้กำกับและนักเขียนบทหลอกแน่นอน ก็สามารถลองไปใช้สกิลนักสืบ เพื่อไขปริศนาในภาพยนตร์เรื่อง ‘เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ’ ด้วยตัวเองได้ทาง Netflix ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 นี้ เป็นต้นไป