เวลาทุกคนหวนนึกถึงความทรงจำวันเก่า ภาพเหตุการณ์ที่ทุกคนมองเห็นมีหน้าตาเป็นอย่างไร สำหรับเรา ภาพวาดของ ‘namsai k.’ หรือ ‘น้ำใส ข้าวบ่อ’ ศิลปินและนักวาดภาพประกอบอิสระผู้หลงรักในการทำงานแอนนิเมชัน สร้างคอมมิก และงานเพ้นท์ คือหนึ่งในตัวอย่างที่เราเคยนึกถึง เพราะด้วยร่องรอยที่เลือนรางจากสีที่ปาดเปื้อนเจือจางอย่างตั้งใจ ผสานเข้ากับรอยด่างดวงที่หยดอยู่บนภาพในบางจังหวะ ก็ชวนให้นึกถึงหยาดน้ำตาจากความสุขและความเศร้าในวันเก่า ๆ ที่ยังติดตรึงอยู่ในความทรงจำ
หนึ่งในบทสนทนาที่เราถามน้ำใสหลังจากติดต่อไปพูดคุยกับเธอเมื่อไม่นานมานี้ คือการถามถึงเหตุผลที่เธอเลือกนำเสนอความทรงจำบนงานศิลปะด้วยภาพสไตล์นี้ ซึ่งเธอก็ได้บอกเราว่า “เพราะเราชอบความสบายตาซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่เล่าอยู่”
น้ำใสเล่าว่า “เราเคยเรียนที่ Ecole des métiers du cinéma d'animation (EMCA) เป็นโรงเรียนเฉพาะทางด้านการทำภาพยนตร์แอนิเมชันที่ประเทศฝรั่งเศส แต่กลับไทยมาก่อนเรียนจบ ระหว่างที่เรียนเคยฝึกงานที่สตูดิโอแอนิเมชั่นในไทยอย่าง The Monk และในฝรั่งเศสคือที่ Silex พอกลับมาไทยทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบและศิลปินอิสระมาตั้งแต่ปี 2020 ค่ะ รับงานภาพประกอบ เขียนคอมมิก เพ้นท์ และทำงานแอนิเมชันเองด้วย”
“เราเป็นคนที่ชอบเล่าเรื่องราวจากอารมณ์ความรู้สึก ความทรงจำ การตั้งคำถามต่อชีวิต และวิธีที่เราเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ ส่วนใหญ่งานแต่ละชิ้นเลยมักจะเริ่มด้วยสะเก็ดความคิด ความทรงจำเล็ก ๆ หรือบางประโยคที่ติดอยู่ในใจ แล้วค่อยถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ หรือเขียนเรื่องขึ้นมาเพื่อสะท้อนสิ่งที่เราคิดหรือรู้สึก ส่วนองค์ประกอบในงานส่วนมากจะเป็นคน ธรรมชาติ ดอกไม้ ต้นไม้ แมลงต่าง ๆ”
“เอกลักษณ์ในงานของเราเลยเป็นภาพที่ดูสบายตาเป็นส่วนใหญ่ กับการใช้สีที่น่ารัก ดูนุ่ม ๆ หรือ ตัวละครตาโต ๆ ซึ่งบางที องค์ประกอบเหล่านี้มันก็ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราเล่าอยู่ พอมันตัดกันแบบนี้ เราเลยคิดว่าบรรยากาศในงานดูน่าสนใจขึ้น”
“แต่ถ้าจะพูดถึงแรงบันดาลใจ คงต้องบอกว่ามาจากงานแอนิเมชันค่ะ” เธอเสริมต่อว่า “ตั้งแต่เริ่มคิดว่าจะทำงานศิลปะอย่างจริงจัง เราก็สนใจในภาพยนตร์แอนิเมชันมาตลอด พอได้ดูงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดสั้น เราก็รู้สึกว่ามันอิสระและสนุกมาก และบางทีทำให้เล่าเรื่องอะไรหลายเรื่องจากประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกลึก ๆ ของคนสร้างได้ดีกว่าภาพยนตร์ที่มีคนแสดง (live action) ดังนั้นเรื่องภาพเลยได้แรงบันดาลใจจากศิลปินหลายคนในวงการแอนิเมชันเลยค่ะ”
นอกจากแอนิเมชันแล้ว น้ำใสยังเผยด้วยว่า เธอใช้การเจริญสติเข้าช่วย เธอกล่าว “แรงบันดาลใจอีกส่วนหนึ่งของเรามาจากการภาวนาเจริญสติค่ะ เราฝึกปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยเรียน มาตอนนี้ก็เห็นว่าการภาวนาและเรียนรู้หลักคำสอนทางพุทธแบบเซนมีอิทธิพลต่อเรามากและแสดงออกมาในงานเราด้วย อีกอย่างคือธรรมชาติรอบ ๆ ตัว และอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน แบบที่บ้านมีสวน ก็หยิบอะไรจากสวนที่บ้านมาวาดบ่อย ๆ เลย”
สำหรับเทคนิคการทำงาน น้ำใสบอกเราว่า “ส่วนใหญ่เราจะใช้เทคนิคเปียก เป็นสีน้ำ สีกวอช หมึก มีอะครีลิกบ้าง ใช้ดินสอบ้าง ผสมกันหมด เทคนิคที่ชอบที่สุดคือสีน้ำ เรารู้สึกว่ามันมีอิสระในตัวของมันเอง ถ้าปล่อยให้น้ำกับสีไหลไป บางทีก็เกิดเป็นพื้นผิวที่เราไม่คาดคิด วาดทับ ๆ ลงไปก็ได้ ระบายน้ำลงไปเยอะ ๆ ก็ทำให้จาง ลบได้ และชอบเอาการคอลลาจมาตัดแปะผสมเข้ามาค่ะ ทำให้เกิดพื้นผิวใหม่ ๆ รูปร่างใหม่ ๆ ในงาน สนุกดีค่ะ”
“วิธีฝึกฝนที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นการวาดเยอะ ๆ ค่ะ และลองวาดสีน้ำไปเลยแบบไม่ร่างดินสอ ใช้ตัวสีน้ำนี่แหละในการลากเส้นไปเลย อยากทำอะไรก็ทดลองไปบนกระดาษ ทำให้เราไม่กลัวและจับจังหวะพู่กันได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ”
a creature with no spine ฉัน, แมลง แห่งความสิ้นหวัง (2022)
ช่วงปี 2020-21 ที่มีประท้วงทางการเมืองหนัก ๆ มีกลุ่มเยาวชนออกมาเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ เราเริ่มมีความคิดเห็นทางการเมืองไม่เหมือนกับแม่ มีทะเลาะกัน และเห็นว่ามีเด็กวัยรุ่น คนรุ่นใหม่หลายคนที่แตกหักกับที่บ้านเพราะความเห็นต่าง ช่วงนั้นไม่มีความสุข เก็บเรื่องนี้ไว้ในใจ เลยเอาไปขอทุนมาทำงาน ซึ่งทุนนี้มีเงื่อนไขว่าเราต้องทำงานกับชุมชนใดชุมชนหนึ่ง เราเลือกทำงานกับเพื่อน ๆ ในชุมชนนักปฏิบัติภาวนาตามหลักพุทธศาสนา ทั้งนักบวชและฆราวาส จนออกมาเป็นคอมมิกเรื่องนี้
เราเน้นเล่าเรื่องการเมืองไทยผ่านประสบการณ์ส่วนตัวมาก ๆ ด้วยความหวังว่ามันจะเชื่อมถึงคนอ่านได้ และอย่างน้อยจะได้อยู่เป็นเพื่อนกันได้ งานชิ้นนี้พิเศษตั้งแต่กระบวนการทำ ที่ได้ร่วมงานกับคนหลายกลุ่มทั้งองค์กรที่ให้ทุน เพื่อน ๆ นักปฏิบัติ นักบวช ได้ฟีดแบคหลากหลายมากกว่างานจะสมบูรณ์ พอได้เล่าเรื่องนี้ออกมา ได้สะท้อนอะไรในตัวเองหลายอย่าง ทำให้เราได้เยียวยาตัวเองไปด้วยผลลัพธ์ก็เป็นงานที่เราภูมิใจค่ะ มีการนำไปเผยแพร่ ได้นำเนื้อหาไปจัดเวิร์กชอปเกี่ยวกับสันติวิธี จนถึงตอนนี้ก็ได้รับผลตอบรับที่ดี และกำลังจะตีพิมพ์เป็น art book edition จำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ two in row
พอเขียนตัวคอมมิกเสร็จก็มีองค์กรให้ทุนทำงานต่อ ซึ่งธีมค่อนข้างสอดคล้องกันพอดี เลยได้ใช้ทุนนั้นพัฒนาเนื้อเรื่องที่มีอยู่แล้วมาเล่าในรูปแบบภาพยนตร์แอนิเมชันยาวประมาณ 5 นาที เป็นงานที่ท้าทาย ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา แต่ก็เป็นท้าทายแบบที่สนุกไปด้วย และมันเป็นงานอนิเมชั่นเรื่องแรกที่เราได้ทำในฐานะศิลปินไม่ใช่นักเรียน ตั้งแต่เริ่มทำงานก็ไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสได้ทำแอนิเมชันอีกมั้ย เลยรู้สึกว่าเป็นงานชิ้นที่พิเศษมากค่ะ
shape, form and essence of pink and blue คิดถึงฉันในวันที่หนึ่ง (2023)
จุดเริ่มต้นของคอมมิกเรื่องนี้คือการที่เราอยากเขียนเรื่องรักโรแมนติกวัยรุ่นใส ๆ แอบชอบกันในชมรมศิลปะ เหมือนการ์ตูนหรือนิยายที่อ่านตอนเด็ก ๆ เพราะรู้สึกว่าทำงานจริงจังมาซักพัก อยากเขียนอะไรที่เบาใจ แต่สุดท้ายระหว่างทางก็ค่อย ๆ นึกถึงวัยมัธยม และจุดเริ่มต้นในการทำงานศิลปะของเรา ผสมผสานกลายเป็นรสชาติหวาน ๆ หม่น ๆ เราชอบเรื่องนี้มาก ๆ เพราะเป็นเรื่องแรกที่เขียนเป็นเรื่องแต่งทั้งหมด ทำขึ้นมาในช่วงที่มีความมั่นใจในงานตัวเองมากขึ้น ทำให้สนุกมาก ๆ และได้นำไปขายเป็นส่วนหนึ่งของ ShortBox Comics Fair 2023 ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รวมศิลปินคอมมิกทั่วโลกมาออกงานเล่มใหม่พร้อมกันออนไลน์ เป็นประสบการณ์ที่ดีค่ะ
60 percent chance of raining (2021)
คืนหนึ่งที่ฝนตกหนัก เราพักค้างคืนที่โฮสเทลแห่งหนึ่ง ในห้องรวมมีแค่เรากับคนแปลกหน้าอีกคน เราสองคนที่นั่งเช็ดรองเท้าเปียก ๆ อยู่เลยนั่งคุยกันอยู่นาน คอมมิกเรื่องนี้เขียนจากก้อนความทรงจำนี้เพราะเรารู้สึกว่ามันมีความโรแมนติกบางอย่าง เราเลยเอามาดัด ตัด แต่ง ให้ดูฟุ้งฝันและล่องลอยเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกว่างเปล่าในช่วงวัยรุ่น ตอนเขียนได้คำแนะนำจากศิลปินที่เราชื่นชมมาก ซึ่งทำให้เรากล้าทดลองอะไรใหม่ ๆ ปล่อยทิ้งงานบางจุดให้มีความดิบบางอย่างแบบที่ไม่เคยทำ จนถือเป็นงานที่ทำให้เราได้ก้าวผ่านขีดจำกัดของตัวเองมาได้ และมีความมั่นใจที่จะทำงานคอมมิกออกมาเรื่อย ๆ
ก่อนจากกันเรายังขอให้น้ำใสทิ้งท้ายถึงแนวทางการทำงานในอนาคตเอาไว้หน่อย ซึ่งเธอก็แชร์ให้เราฟังอย่างยินดีว่า “ตั้งแต่เริ่มทำงานก็เป็นช่วงโควิดพอดี เราเลยรู้สึกว่าเบิร์นเอาต์ไม่มีแรงทำงานจริง ๆ จัง ๆ ไปหลายปี พอรู้สึกดีขึ้นแล้วก็เลยอยากทำความรู้จักกับตัวเองในฐานะศิลปินให้มากกว่านี้ อยากสร้างเวิร์กโฟล์วกระบวนการทำงานสร้างสรรค์ของตัวเองให้แข็งแรงขึ้น ปีหน้าเลยวางแผนไว้ว่าอยากวาดรูปเยอะ ๆ ค่ะ อยากวาดรูปให้ได้ทุกวัน ทดลองเทคนิคใหม่ ๆ และให้พื้นที่ตัวเองได้เล่นไปเรื่อย ๆ”
“ส่วนชิ้นงานที่ตั้งใจไว้จะเน้นการเขียน การสร้างจักรวาลใหม่ ๆ ขึ้นมา (universe building) และจากตรงนี้คงมีงานคอมิกขนาดกลาง ๆ มีแอนิเมชันสั้น ๆ ออกมา และอยากลองทำงานแบบวิจิตรศิลป์ (fine art) ออกมาเป็นนิทรรศการเดี่ยวด้วย”
สามารถตามไปสำรวจโลกสีจางแต่เปี่ยมไปด้วยความทรงจำสีเข้มของ namsai k. ได้ที่ Instragram: https://www.instagram.com/namsai_k/