เราได้รู้จักกับชื่อของ ณณฐ ธนพรรพี เป็นครั้งแรกจากการที่เขาได้รับคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของ Early Years Project ครั้งที่ 3 จาก No Man’s Land ภาพยนตร์สารคดีที่บอกเล่าถึงชีวิตของชาวโรฮิงญาพลัดถิ่นในดินแดนประเทศไทย ผลงานในครั้งนั้นเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่พาอดีตนักศึกษาภาพยนตร์คนหนึ่งให้ค่อย ๆ ขยับเข้าใกล้โลกศิลปะร่วมสมัยมากขึ้นเรื่อย ๆ
หลังจากการเปิดตัวในครั้งนั้น ณณฐยังคงมีผลงานศิลปะออกมาให้เราได้ติดตามอยู่อีกหลายครั้ง ทั้งในฐานะศิลปินเดี่ยว และในฐานะส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ดี ๆ จากกลุ่ม Baan Noorg Collaborative ซึ่งการทำงานร่วมกับกลุ่มดังกล่าวนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของนิทรรศการ This History is Auto-Generated ในครั้งนี้
ด้วยความสนใจในเกมและเทคโนโลยีเป็นทุนเดิม บวกกับแรงบันดาลใจที่เขาได้รับเมื่อครั้งไปทำกิจกรรมเล่นการ์ดเกมกับเด็ก ๆ ร่วมกับกลุ่ม Baan Noorg Collaborative ในช่วงก่อนหน้านี้ นิทรรศการ This History is Auto-Generated จึงเป็นเหมือนการทดลองของเขาในการสร้างโลกเสมือนให้เราได้ลองเข้าไปสวมบทบาทผู้เล่น และตีความประวัติศาสตร์การเมืองไทยขึ้นมาใหม่ผ่านการ ‘รีไรต์’ ของปัญญาประดิษฐ์อย่าง GPT-3 ที่ให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นประวัติศาสตร์ฉบับใหม่ ที่แม้จะเพิ่งสร้าง แต่กลับสะท้อนความเป็นไปในสังคมของเราได้อย่างเจ็บแสบสุด ๆ
“AI ทำให้เราสามารถจินตนาการถึงสิ่งที่เราจินตนาการไม่ได้ ไม่ใช่แค่ภาพ แต่หมายถึงความเป็นไปได้อื่น ๆ อีกมากมาย ตอนนี้มนุษย์อยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถแม้แต่จะจินตนาการถึงความเป็นไปได้อย่างอื่นแล้ว นอกจากทุนนิยม”
ภายในนิทรรศการ This History is Auto-Generated ถูกแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ที่บนชั้น 3 ณณฐพาเราไปชมผลงานวิดีโอผลผลิตจากการตีความของปัญญาประดิษฐ์ GPT-3 ที่บัดนี้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นเส้นเรื่องหลักที่ชวนเราตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของตัวเองและประวัติศาสตร์ในวันที่รัฐสามารถเข้ามาควบคุมการจำลองประวัติศาสตร์เอาไว้ได้ และอีก 3 เส้นเรื่องรอง ที่พาเราไปสำรวจหมุดหมายสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยในปี 2475 และเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงกลางแยกราชประสงค์ในปี 2553 รวมไปถึงอนาคตของประเทศไทยเมื่อถูกแบ่งออกเป็น 2 รัฐที่มีรูปแบบการปกครองที่แตกต่างกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกเล่าผ่านการผสมผสานของวิดีโอจากหลากหลายแห่ง ทั้งการเรนเดอร์ภาพ 3 มิติขึ้นมาใหม่ การเจนฯ ภาพของปัญญาประดิษฐ์ และการอัดหน้าจอขณะเล่นเกม
“บทสนทนาที่มันเกิดขึ้น มันทำให้เราได้จำลองอารมณ์และการกระทำที่เราคงไม่ทำในชีวิตจริง แต่เราได้ลองมันผ่านโลกเสมือน ซึ่งจริง ๆ การจำลองผ่านเกมแบบนี้ก็มีมาให้เห็นตลอด อย่างที่สหรัฐเขาก็ให้ทหารฝึกรบจากในเกม หรือแม้แต่ในบางประเทศที่ประชาชนไม่สามารถออกมาได้จริง ๆ เขาก็มีการประท้วงกันในนั้น เกมมันก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้
“เราเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Anti-Capitalism ที่อธิบายเรื่องการต่อต้านทุนนิยม แล้วตอนช่วงกลาง ๆ เล่มเขาก็บอกว่า เขาเข้าใจว่า มันยากมาก ๆ ที่เราจะลงมือทำคนเดียว แล้วเราจะไปเปลี่ยนแปลงคนที่มีมากมายมหาศาลได้ยังไง เขาบอกว่า สิ่งที่มันเพียงพอแล้วก็คือการจินตนาการถึงอย่างอื่น หรือพยายามทำอย่างอื่น แค่คุณมีความตั้งใจที่จะทำ แค่นั้นก็พอแล้ว”
นอกจากผลงานวิดีโอทั้ง 4 เรื่องที่ชั้นบนแล้ว ณณฐยังเปลี่ยนห้องโล่ง ๆ ธรรมดาของชั้น 2 ให้กลายเป็นห้องบัญชาการที่ถูกเติมเต็มด้วยคอมพิวเตอร์ 4 เครื่องที่เปิดโอกาสให้เราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างสรรค์นิยายอิงประวัติศาสตร์ของตัวเองจากการป้อนชุดข้อความเพียงสั้น ๆ โดยมีรากฐานมาจากจากวิดีโอทั้ง 4 เรื่องข้างบน กลายมาเป็น interactive novel ที่มีเราและปัญญาประดิษฐ์เป็นนักเขียนร่วมกัน
ถึงแม้ส่วนประกอบของประวัติศาสตร์ การเมือง ทุนนิยม เกม และปัญญาประดิษฐ์จะดูผสมปนเปเหมือนมาจากคนละทิศละทาง แต่สิ่งหนึ่งที่ณณฐทำสำเร็จแล้วคือการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับเราในฐานะผู้ชมที่มีอำนาจเดียวในมือคือการจินตนาการถึงวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า…
📍 This History is Auto-Generated นิทรรศการแสดงเดี่ยวโดย ณณฐ ธนพรรพี
วันที่ 13 สิงหาคม - 30 กันยายน 2022
WTF Gallery and Café
เปิดทุกวันพุธ - อาทิตย์ (16:00 - 23:45 น.)