ด้านมืดของวัยเยาว์ - สำรวจสัญญะ ปกรณัม และแรงบันดาลใจจากหนังที่ซ่อนอยู่ใน MV ‘Ditto’ ของ NewJeans

Post on 23 December

อยู่ในความสับสน แอบชอบเธอเล็ก ๆ ไม่ชอบอะไรที่เป็นปริศนาแบบนี้เลย พูดสิว่า Ditto บอกมาทีว่าเธอก็คิดเหมือนกัน

ถ้าคุณเป็น ‘Bunnies’ (ชื่อเรียกแฟนคลับวง NewJeans’ ที่กำลังนั่งปั่นวิว MV Ditto วนไป พร้อมนั่งไถหน้าไทม์ไลน์เพื่อไล่อ่านทฤษฎีสมคบคิดที่ซ่อนอยู่ในเอ็มวีแอบซ่อนหลอนแต่ยังสะท้อนความวัยรุ่นเทสต์ดีเช่นเดียวกันกับเราแล้วล่ะก็… ระหว่างที่ซ้อมเอื้อนเสียงท่อนเปิด ‘วู้ฮู้ฮูวววว’ เราก็อขอนำเสนออีกหนึ่งทฤษฎีสมคบคิด ที่สะท้อนผ่านสัญญะเกี่ยวกับตัวตน เรื่องราวของวัยเยาว์อันสูญสิ้น และแรงบันดาลใจจากหนัง Coming of Age สไตล์เอเชียที่เป็น ‘เรฟ’ สำคัญของเอ็มวี ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ นี้ด้วยกัน

บอกก่อนว่านี่เป็นแค่ความคิดเห็นของเราเท่านั้น เป็นทฤษฎีสมคบคิดเล่น ๆ ชวนปล่อยจอยปล่อยใจ ไม่ได้เคลมว่าเป็นเรื่องจริง หรือยืนยันว่าแม่มินฮีจินของน้อง ๆ ทั้งห้าเขาคิดอย่างนี้แต่อย่างใด

NewJeans - จากความสดใสของวัยรุ่น สู่ด้านมืดของการเติบโต

ใครที่ติดตาม NewJeans ก็จะรู้กันดีว่า จุดขายของวงนี้ก็คือการชูความสดใสของเด็กสาวผ่านเมมเบอร์วัยรุ่นแสนสดใส (โตสุด 18 ปี เด็กสุด 14 ปี) ที่มาพร้อมกับพลังรอยยิ้มแสนบริสุทธิ์ละลายใจมัมหมี ผมดำยาวสลวยสไตล์เด็กมัธยมที่ทำตามระเบียบโรงเรียน เรื่องราวมิตรภาพแสนน่ารักของเหล่าเด็กสาวห้าคน และการใช้คอนเซปต์ Y2K ครอบงานวิชวลทั้งหมดเพื่อเรียกความนอสตัลเจีย ทั้งหมดนี้ทำให้ NewJeans มีคอนเซปต์การเล่าเรื่องที่แข็งแรงและชัดเจนมาก ๆ นั่นก็คือ เรื่องราวของวัยเยาว์

แต่ในขณะที่สี่เพลงและ MV เปิดตัวทั้งสี่ของ New Jeans เป็นการฉายภาพความสดใสและเรื่องราวความรักกุ๊กกิ๊กหัวใจของวัยรุ่น ซิงเกิลล่าสุดอย่าง ‘Ditto’ กลับทำให้แฟน ๆ ทุกคนเซอร์ไพรส์กับ ‘ความมืดหม่น’ ที่แฝงอยู่ในท่วงทำนองแอบหลอนนิด ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัว MV ที่มีบรรยากาศชวนขนลุกแบบหนังฟาวด์ฟุตเทจ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เรื่องราวใน MV ที่ดำเนินผ่านฉากในโรงเรียนและเหล่าสมาชิกทั้งห้าในชุดนักเรียนเกาหลี (และญี่ปุ่น) ก็ทำให้แฟน ๆ รู้ว่า NewJeans ยังคงพาแฟน ๆ ไปสำรวจเรื่องราวของวัยเยาว์ตามที่ปูมาแต่แรก แต่คราวนี้ พวกเธอจะพาพวกเราไปสำรวจอีกด้านหนึ่งของวัยเยาว์ …ช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสับสน ความกังวล ความกลัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความทุกข์ทรมานจากการต้องดิ้นรนเพื่อหา ‘ที่ทาง’ และ ‘ตัวตน’ ของตัวเองในสังคม พูดง่าย ๆ ว่า หลังจากพาเราไปสำรวจความสดใสของวัยเยาว์กันมาแล้ว NewJeans จะพาเราไปสำรวจ ‘ด้านมืด’ ของการเป็นวัยรุ่นแสนเจ็บปวดกันบ้าง!

Mood board หนังญี่ปุ่น ‘เป็นรุ่นมันเจ็บปวด’ ของมินฮีจิน

มินฮีจินคือใคร? แม้ว่าในปัจจุบัน ชื่อของเธอมักถูกพ่วงด้วยตำแหน่งแม่ผู้ให้กำเนิด NewJeans แต่ก่อนที่เธอจะมารับตำแหน่ง CEO ให้ค่ายเพลงใหม่แกะกล่องอย่าง ADOR (ค่ายลูกของ HYBE Entertainment ที่มีศิลปินในค่ายอย่าง BTS, Le Sserafin, Enhyphen ฯลฯ) เธอเคยเป็นลูกหม้อของค่าย SM Entertainment จากการเป็นผู้ปลุกปั้นวงดังอย่าง Girls’ Generation, SHINee, Exo, f(x) และ Red Velvet ซึ่งล้วนเป็นวงที่โดดเด่นด้วยคอนเซปต์สุดแข็งแรงและงานออกแบบวิชวลสุดปัง ที่ผ่านการกลั่นกรองจากสายตาของมินฮีจิน

มินฮีจินเป็นผู้มีชื่อเสียงเรื่องการมีภาพในหัวที่ชัดเจน อาวุธสำคัญที่เธอใช้ในการทำงานก็คือ ‘มู้ดบอร์ด’ ซึ่งก็เคยสร้างดราม่าให้เธอมาแล้ว เพราะในช่วงที่ NewJeans เพิ่งเปิดตัว มีคนแอบไปเห็นภาพมู้ดบอร์ดที่มินฮีจินโพสต์ผ่านอินสตาแกรมของตัวเอง และเห็นว่าเธออ้างอิง ‘มู้ด’ ของวง NewJeans มาจากภาพเหล่าไอคอนนักแสดงเด็กยุค 80s-90s อย่าง บรู๊ค ชีลด์ หรือ นาตาลี พอร์ตแมน จนทำให้เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเข้าข่ายใคร่เด็ก หรือสนับสนุนการทำให้เด็กเป็นวัตถุทางเพศมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในการทำเพลงใหม่อย่าง Ditto แม้จะไม่มีภาพมู้ดบอร์ดหลุดออกมา แต่เมื่อเราดู MV จบ เราก็พอจะจินตนาการได้ว่า มู้ดบอร์ดของมินฮีจินในครั้งนี้น่าจะเต็มไปด้วยภาพจากหนังก้าวข้ามพ้นวัย หรือหนังเพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวดจากญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็น Genre หนังที่ฮิตมากในช่วงยุค 90s-00s อันเป็นช่วงเวลาที่เป็นต้นกำเนิดของเทรนด์ Y2K ในปัจจุบัน

All About Lily Chou-Chou (2001)

All About Lily Chou-Chou (2001)

รุ่งอรุณแห่งยุค ‘อินเทอร์เน็ต’ เฟื่องฟู, กระแสบริโภคนิยมที่ทะยานถึงขีดสุด, ความล้นทะลักของวัฒนธรรมป็อป MTV และไอดอลตะวันตก ฯลฯ ล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแรงกดดันในสังคม โดยเฉพาะในสังคมญี่ปุ่นที่โลกสมัยใหม่และโลกแห่งจารีตเก่าปะทะกันอย่างรุนแรง จนส่งแรงกดดันลงมาบนบ่าเหล่าวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยแห่งการค้นหาที่ทางและตัวตนของตนเองในสังคม ช่วงเวลานี้จึงเกิดหนังก้าวข้ามพ้นวัยที่พูดถึงความเจ็บปวดของการเป็นวัยรุ่น ไปจนถึงการล่มสลายของวันเยาว์มากมาย ตั้งแต่หนังที่นำเสนอความเจ็บปวดแต่งดงามของการเป็นวัยรุ่นอย่าง All About Lily Chou-Chou (2001) ไปจนถึงการใช้ความแฟนตาซีดิสโทเปียเพื่อนนำเสนอการดิ้นรนเพื่อ ‘เอาชีวิตรอด’ จากการเป็นวัยรุ่นใน Battle Royale (2000)

การใช้บรรยากาศภายในโรงเรียน การตัดสลับภาพกิจกรรมของเหล่าสมาชิกเด็กสาวในชุดนักเรียน และการใช้ภาพในสไตล์โฮมวิดีโอใน MV Ditto ล้วนเป็นการอ้างอิง ‘มู้ด’ หนังคัมมิงออฟเอจจากญี่ปุ่นในยุค 2000s เพื่อช่วยเสริมประเด็นเรื่องด้านมืดของการเป็นวัยรุ่นที่ NewJeans กำลังจะพาผู้ชมไปสำรวจในก้าวใหม่นี้

หากจะอนุมานว่าเรื่องราวและมู้ดใน MV Ditto มีแรงบันดาลใจมาจากหนังวัยรุ่นเจ็บปวดของญี่ปุ่นใสช่วง 90s-00s แล้วล่ะก็ ผลงานที่เราคิดว่าน่าจะเป็นเรฟสำคัญให้กับ MV นี้ก็คือ บรรดาผลงานของ ชิออน โซโนะ ผู้กำกับที่ฉายด้านมืดของการเป็นวัยรุ่นในสังคมญี่ปุ่นผ่านกลิ่นอายของความ J-Horror หรือหนังสยองขวัญไปถึงขั้น ‘คัลต์’ สุดขีด

Suicide Club (2001)

Suicide Club (2001)

ตัวละครของโซโนะมักเป็นเด็กสาววัยมัธยม ด้วยเหตุนี้ ภาพของเด็กสาวในชุดนักเรียนมัธยมญี่ปุ่น บรรยากาศมืดหม่นอึมครึมในโรงเรียน ในร้านสะดวกซื้อ หรือสถานีรถไฟ จึงเป็นสิ่งที่เห็นได้ในผลงานของเขาเสมอมา ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น Suicide Club (2002) ที่นำเสนอภาพสุดช็อกของนักเรียนสาวมัธยมปลาย 54 คนที่จับมือกันกระโดดฆ่าตัวตายที่สถานีรถไฟฟ้า, Noriko's Dinner Table (2005) ที่ว่าด้วยเรื่องราวของสาววัยรุ่นที่หนีออกจากบ้านเพื่อมาเข้าลัทธิสุดเหวอที่ให้สาวกรับจ้างแสดงเป็นสมาชิกในครอบครัวให้กับคนเหงาใจ หรือ Himizu (2011) ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์สุดพังของคู่วัยรุ่นหนุ่มสาวที่มีฉากหลังเป็นเมืองหลังสึนามิถล่ม

Tag (2015)

Tag (2015)

แต่ผลงานของชิออน โซโนะ ที่เราคิดว่าคล้ายคลึงและน่าจะส่งแรงบันดาลใจให้ MV Ditto อยู่ไม่น้อยก็คือ Tag (2015 - ใช้ชื่อไทยว่า อวสาน…โมเอะ) หนังเซอร์เรียลสุดขีดคลั่งที่ว่าด้วยเรื่องราวของหญิงสาวที่หลุดเข้าไปในโลกกึ่งจริงกึ่งฝันร้ายที่เธอต้องวิ่งหลบระเบิดในโรงเรียน จากครูประจำชั้นที่ลุกขึ้นมาหมายจะฆ่าเธอให้ตาย หรือตื่นขึ้นมาอีกทีก็กลายเป็นเจ้าสาวที่ต้องวิ่งหนีจากเจ้าบ่าวหน้าหมู ฯลฯ ซึ่งหากมองลึกลงไปกว่าฉากหน้าความเป็นหนังคัลต์ดูเอาสะใจ สิ่งต่าง ๆ ที่ตัวเอกต้องวิ่งหนีก็ล้วนเป็นความกังวลที่เด็กสาวในสังคมญี่ปุ่นต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเกี่ยวกับการได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียน ความกังวลเกี่ยวกับร่างกายและภาพลักษณ์ ไปจนถึงความกังวลเกี่ยวกับอนาคตและการเป็น ‘เจ้าสาว’ ที่ดูจะเป็นบทบาทที่สังคมคาดหวังจากผู้หญิง

NewJeans เพื่อนในจินตนาการ และความปรารถนาเพียงแค่ถูก ‘มองเห็น’

Do you want somebody?
Like I want somebody?Like I want somebody?

ใน MV Ditto (Side B) เรื่องราวได้เฉลยว่าเหล่าสาว ๆ NewJeans เป็นเพียงแค่ภาพในหัวของ ‘ฮีซู’ ตัวเอกที่เป็นนักเรียนมัธยมสาวที่ดูเหมือนจะมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้น แม้ว่าจะมีหลายคนเสนอทฤษฏีว่า สาว ๆ NewJeans ที่ปรากฏตัวแค่ในความคิดของฮีซูคือภาพความทรงจำหรือวิญญาณของเพื่อนที่เสียชีวิตพร้อม ๆ กัน โดยที่มีเพียงฮีซูคนเดียวที่รอดชีวิตมาได้ แต่หากเรามองว่า MV Ditto คือหนังสั้นที่เล่าเรื่องราวแบบหนังเป็นวัยรุ่นมันเจ็บปวดของญี่ปุ่น ภาพสาว ๆ NewJeans ที่เป็นดังเพื่อนในจินตนาการของฮีซู อาจเป็นภาพสะท้อนความปรารถนาที่จะเป็นที่ยอมรับ ไปจนถึงความปรารถนาถึง ‘ภาพตัวตนในอุดมคติ’ ที่อยากเป็นด้วยก็ได้

การถูกทำให้โดดเดี่ยว ไม่เป็นที่ยอมรับ หรือแปลกแยกจากกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน คือประเด็นปัญหาหลักที่เห็นได้ในหนังคัมมิงออฟเอจทั่วไปอยู่แล้ว แต่บรรยากาศความหลอกหลอนและคลุมเครือที่อบอวลอยู่ใน MV Ditto ย่อมทำให้เรานึกถึงหนัง J-Horror ที่มีมักใช้ฉากหลังเป็นโรงเรียนมัธยม และใช้ ‘ผี’ หรือ ‘ภาพหลอน’ เป็นตัวแทนของความกังวลหรือความกลัวที่หลอกหลอนตัวเอกซึ่งเป็นวัยรุ่น

เหล่าสาว ๆ NewJeans ที่เป็นเพื่อนในจินตนาการของฮีซูจึงเป็นภาพสะท้อนความปรารถนาที่จะมีตัวตนและได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน หรือในภาพกว้างกว่านั้น คือความปรารถนาที่จะมี ‘ตัวตน’ โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่น ที่การพัฒนาหรือประกอบสร้างตัวตนนั้นเชื่อมโยงกับการได้รับการยอมรับจากสังคมเป็นอย่างมาก จนทำให้ในแง่หนึ่ง ความปรารถนาก็กลายเป็น ‘ความหลอกหลอน’ ได้ หากว่าความปรารถนานั้นไม่ถูกเติมเต็มให้สมบูรณ์เสียที

นอกจากจะเป็นภาพในจินตนาการเพื่อเติมเต็มความปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับและมีตัวตนในสังคมแล้ว สาว ๆ NewJeans ยังอาจเป็น ‘ภาพตัวตนในอุดมคติ’ ที่ฮีซูปรารถนาที่จะเป็น (ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นภาพที่สาว ๆ วัยรุ่นล้วนอยากเป็นกันทั้งนั้น) ทั้งการมีใบหน้าน่ารัก เต็มไปด้วยชีวิตความสดใสมีชีวิตชีวา ที่สำคัญคือแวดล้อมไปด้วยเพื่อน ๆ ที่รักใคร่และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน โดยสังเกตได้จากการที่ฮีซูรับบทเป็นผู้สังเกตการณ์และผู้เฝ้ามองจากนอกกลุ่ม ราวกับเธอกำลังมองเข้าไปในภาพในกระจกเงาซึ่งสะท้อนภาพตัวตนในอุดมคติที่เธออยากเป็น และไม่สามารถเป็นได้ในชีวิตจริง

ภาพ Ameonna ผีหรือโยไคที่มากับฝนตามความเชื่อในตำนานพื้นบ้านญี่ปุ่น

ภาพ Ameonna ผีหรือโยไคที่มากับฝนตามความเชื่อในตำนานพื้นบ้านญี่ปุ่น

ฉากหนึ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจมาก ๆ คือฉากที่ฮีซูและกลุ่มเพื่อน NewJeans (ในจินตนาการ) เดินตากฝนด้วยกัน ในความเชื่อของหลายวัฒนธรรม ช่วงเวลาที่ฝนตกมักถูกเชื่อมโยงกับเรื่องของวิญญาณ พลังงานลี้ลับ และภูติผี เนื่องจากช่วงเวลาที่ฝนตกนั้นเป็นช่วงเวลาที่เส้นแบ่งต่าง ๆ มีความคลุมเครือ อยู่ดี ๆ กลางวันก็กลายเป็นกลางคืน (เพราะฟ้ามืด) วิสัยทัศน์การมองเห็นก็พร่าเลือนด้วยสายฝน ช่วงเวลาฝนตกจึงมักถูกมองว่าเป็นช่วงเวลาที่โลกแห่งความจริงกับความฝัน โลกมนุษย์กับวิญญาณทาบทับกัน ภาพของฮีซูที่เดินตากฝนพร้อมกับเพื่อนในจินตนาการจึงสะท้อนถึงการปะทะกันของด้านตรงข้าม ระหว่างตัวตนในชีวิตจริงกับตัวตนที่เธอใฝ่ฝัน และยังสะท้อนถึงสภาวะที่เธอกำลังถูกความปรารถนาของตัวเองหลอกหลอนได้ดี

Not just anybody
I imagined you
With the feeling
I imagined you
With the feeling
That's been always there

Soulmate ความรัก และการตามหา ‘ตัวเรา’ อีกครึ่งหนึ่งที่หายไป

แม้จะมีการนำเสนอเรื่องราวของความรักกุ๊กกิ๊กหัวใจ แต่ที่จริงแล้ว แต่เรื่องราวความรักใน MV Ditto ก็ดูเหมือนจะถูกใส่มาเพื่อขับเน้นประเด็นเรื่องความปรารถนาที่จะมีตัวตน ไปจนถึงความปรารถนาถึงภาพตัวตนในอุดมคติของวัยรุ่น เพราะในอีกด้านหนึ่ง ความรักไม่ใช้เรื่องของคนอีกคน แต่เป็นเรื่องของ ‘ตัวเรา’ ล้วน ๆ จนอาจพูดได้ว่า อาการตกหลุมรักนั้น ไม่ต่างกับการ ‘หลงตัวเอง’ (​​Narcissistic personality disorder) เลย

คำว่า Narcissistic ที่หมายถึงการหลงตัวเองนั้น มีที่มาจากเรื่องเล่าในตำนานกรีกที่เล่าถึงชายหนุ่มผู้หลงรักภาพเงาสะท้อนของตนเอง โดยเรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นที่ ‘นาร์ซิสซัส’ บุตรชายของเทพแห่งสายน้ำเซฟิสซัส กับนางไม้ลีไรโอพี ผู้มีรูปโฉมอันหล่อเหลาจนเป็นที่หลงเสน่ห์ของเหล่านางไม้มากมาย แต่เขากลับไม่คิดจะครองคู่กับผู้ใด เพราะตนนั้นต้องการเสาะแสวงหาคู่ครองที่สมบูรณ์แบบเทียบเท่าตนเองเท่านั้น กระทั่งวันหนึ่งนาร์ซิสซัสได้ก่อความขุ่นเคืองให้กับเทพีแห่งความรักและความปรารถนาอย่าง อะโฟรไดที นางจึงสาปให้นาร์ซิสซัสหลงรักภาพสะท้อนของตัวเองในบ่อน้ำ และตกหลุมรักตัวเองอย่างบ้าคลั่งถึงขั้นไม่เป็นอันกินอันนอน คอยนั่งอยู่ริมบ่อน้ำอย่างนั้นไม่ไปไหน จนสิ้นใจตายข้างบ่อน้ำนั้นในที่สุด

การใช้ตำนานของนาร์ซิสซัสมานิยามสภาวะหลงตัวเอง จึงเป็นการสะท้อนถึงแง่มุมทางจิตวิทยาที่อธิบายว่า แท้จริงแล้วการตกหลุมรักหรือการครองคู่นั้นเชื่อมโยงกับการเติมเต็มตัวตนของคนคนหนึ่ง รวมไปถึงการตอบสนองต่อความปรารถนาถึงตัวตนที่สมบูรณ์ของตัวเอง

ภาพ Narcissus (1597–1599) โดย Caravaggio (1571-1610) ศิลปินคนสำคัญในยุคบาโรกชาวอิตาลี

ภาพ Narcissus (1597–1599) โดย Caravaggio (1571-1610) ศิลปินคนสำคัญในยุคบาโรกชาวอิตาลี

ในหลาย ๆ ฉากที่เราเห็นฮีซูถือกล้องถ่ายกลุ่มสาว ๆ NewJeans ที่อยู่ในจินตนาการของเธอ เราจะเห็นว่ามีตัวละครเด็กหนุ่มหรือพระเอก MV ร่วมเฟรมด้วย ซึ่งการที่ฮีซูมองเห็นกลุ่มเพื่อนในจิตนาการและชายหนุ่มที่่เธอสนใจอยู่ร่วมในภาพเดียวกัน ก็อาจสะท้อนถึงภาพตัวตนอันสมบูรณ์แบบตามตามคาดหวังของฮีซูก็เป็นได้ ซึ่งคอนเซปต์เรื่องการตกหลุมรักและการเติมเต็มตัวตนที่สมบูรณ์แบบนั้นยังสะท้อนอยู่ในตำนานกรีกอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือเรื่อง Soulmate ที่เล่าว่าเดิมทีมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาให้มีหัวสองหัวและมีสี่แขนสี่ขา แข็งแแกร่งและไม่เกรงกลัวต่อพระเจ้า แต่ด้วยความที่มหาเทพซุสเกิดหวั่นเกรงในพลังของมนุษย์ จึงคิดทำลายล้างด้วยการฟาดสายฟ้าจนทำให้ร่างแยกออกจากกันเป็นสองส่วน และนับตั้งแต่นั้นมามนุษย์ต้องใช้ชีวิตเพื่อตามหา The Other Half หรือเนื้อคู่ของพวกเขา ด้วยความรู้สึกโหยหาปรารถนา เพื่อมาเติมเต็มตัวตนของกันและกันตลอดไป

(ภาพ The Kiss โดย Gustav Klimt ที่สะท้อนคอนเซปต์ Soulmate ตามตำนานกรีก ผ่านการนำเสนอร่างของผู้ชายและผู้หญิงในภาพที่ดูเหมือนจะหลอมรวมเป็นคนคนเดียวกัน)

(ภาพ The Kiss โดย Gustav Klimt ที่สะท้อนคอนเซปต์ Soulmate ตามตำนานกรีก ผ่านการนำเสนอร่างของผู้ชายและผู้หญิงในภาพที่ดูเหมือนจะหลอมรวมเป็นคนคนเดียวกัน)

ในฉากสุดท้ายที่เราเห็นฮีซูและพระเอกเดินไปด้วยกันท่ามกลางบรรยากาศหลังฝนตก เป็นการยืนยันว่า การสมหวังในความรัก หรือการมีคนที่ยอมรับในตัวตนแบบที่เธอเป็น ทำให้ความปรารถนาที่จะมีตัวตนของฮีซูได้รับการเติมเต็ม ทำให้เธอหลุดพ้นจากการถูกหลอกหลอนโดยภาพตัวตนในอุดมคติที่ไม่มีอยู่จริง และสามารถกลับคืนสู่โลกความเป็นจริงได้ในที่สุด

แมสเสจดังกล่าวยิ่งสะท้อนชัดในฉากที่เธอบอกลา ‘กวางสาว’ ในจินตนาการ ซึ่งในหลายตำนาน กวางเป็นสัญลักษณ์ของภูติผู้ปกปักรักษา (ตัวอย่างเช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่มีกวางเป็นสัตว์ผู้พิทักษ์) การจากไปของกวางใน MV Ditto จึงอาจหมายถึงการที่ฮีซูเข้มแข็งขึ้นและไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ปกป้อง (สาว ๆ NewJeans) ต่อไป

แต่แม้ว่าการได้รับความรักจะทำให้ฮีซูยอมรับตัวตนที่ไม่สมบูรณ์ และสามารถก้าวข้ามความเจ็บปวดของการเป็นวัยรุ่น ในฉากสุดท้ายที่ฮีซูในวัยที่เป็นหญิงสาวเต็มตัวหวนกลับมารำลึกถึงภาพของเหล่าเพื่อน ๆ ในจินตนาการของเธออีกครั้ง อาจเป็นการสะท้อนถึงการที่ฮีซูสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งการย้อนกลับมามองภาพฝันในวัยเยาว์ (ตัวตนที่ตัวเองอยากเป็นในตอนเด็ก ๆ) อาจไม่ใช่การตอกย้ำหรือไม่มูฟออน แต่เป็นการรำลึกถึงบาดแผลในฐานะกระบวนการหนึ่งของการเติบโต เหมือนกับเวลาที่เรามองน้อง ๆ NewJeans แล้วหวนนึกถึงความสดใสของการเป็นวัยรุ่นนั่นเอง