สำรวจนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในอาเซียนของ Olafur Eliasson กับ 5 งานศิลปะสะท้อนธรรมชาติ ที่ Singapore Art Museum

ธรรมชาติ ปรากฏการณ์ และวิทยาศาสตร์ คือสามองค์ประกอบสำคัญที่เรามักมองเห็นเสมอเมื่อนึกถึงงานศิลปะของ ‘โอลาเฟอร์ เอเลียสซัน’ ศิลปินร่วมสมัยชื่อดังชาวไอซแลนด์-เดนมาร์ก ผู้สร้างงานศิลปะแบบจัดวาง (Installation Art) ขนาดใหญ่ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้เข้ามามีส่วนร่วมกับแสง หมอก อุณหภูมิ และน้ำ ในชิ้นงานศิลปะ เพื่อร่วมสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

ซึ่งงานที่ขึ้นชื่อที่สุดของเขาย่อมหนีไม่พ้น The Weather Project (2003) ที่สร้างดวงอาทิตย์จำลองขึ้นมาอย่างสมจริง บนพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ Tate Modern ณ กรุงลอนดอน เมืองที่ครึ้มฝนเป็นส่วนใหญ่ ให้กลายเป็นฉากพระอาทิตย์ตกสุดตราตรึง ให้ผู้ชมได้เข้ามาชมสิ่งนี้ร่วมกันอย่างอิสระ จะมานั่งเฉย ๆ ก็ได้ หรือจะมาเล่นโยคะก็ดี หรือจะมานอนอ่านหนังสือก็ไม่ว่ากัน ผลงานชิ้นนี้เลยกลายเป็นศูนย์รวมกิจกรรมสาธารณะของผู้คนที่นั่นเลยก็ว่าได้

ล่าสุดเอเลียสซันก็ได้มาสร้างพื้นที่ศิลปะแบบนี้ขึ้นไม่ใกล้ไม่ไกลจากประเทศไทยของเราเช่นกัน โดยเขาได้จัดนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ Singapore Art Museum ประเทศสิงคโปร์ ภายใต้ชื่อนิทรรศการ ‘Olafur Eliasson: Your curious journey’ ที่แม้ว่าจะไม่ได้พาผลงานระดับตำนานอย่าง The Weather Project (2003) มาจัดแสดงด้วย แต่ก็ยังมีผลงานระดับขึ้นหิ้งอีกหลายชิ้นที่นำมาจัดแสดงได้อย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน

ซึ่งในฐานะที่ชาวแก๊ง GroundControl ได้ยกขบวนไปบุกนิทรรศการนี้กันแบบเจาะลึกถึงถิ่น คอลัมน์ GCSpecialRoute หนนี้เลยเตรียมการคัดสรรผลงานเด่น ๆ มาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกันทั้งหมดห้าชิ้น ได้แก่ Yellow corridor (1997), Beauty (1993), Symbiotic seeing (2020), Object defined by activity (then) (2009) และ Ventilator (1997) เพื่อเป็นออเดิร์ฟเรียกน้ำย่อย ก่อนจะพาทุกคนตามไปชมภาพรวมของนิทรรศการกันแบบเต็ม ๆ ในรายการ ‘ART ไปไหน’ ของ GroundControl ที่จะออนแอร์วันเสาร์นี้ รอติดตามกันได้เลย!

Yellow corridor
1997

ทันทีที่เปิดประตูเข้าสู่นิทรรศการ ‘Olafur Eliasson: Your curious journey’ สิ่งแรกที่กระทบสายตาของเราคือแสงสีเหลือง จากหลอดไฟตรงโถงทางเดิน ที่เมื่อเราเดินเข้าไปอยู่ภายใต้แสงไฟนั้นแล้ว ตัวเราจะกลายเป็นสีขาวดำราวกับหลุดเข้าไปในโลกของหนังขาว-ดำ ที่สร้างปรากฏการ์ณทางสายตาแบบใหม่ ๆ ให้โลกทั้งใบของเราดูต่างไปจากเดิม

ซึ่งเจ้าแสงไฟที่ว่านี้ก็ไม่ได้ถูกติดตั้งขึ้นมาอย่างบังเอิญ แต่คือหนึ่งในงานศิลปะชิ้นเอกของเอเลียสซันที่สร้างขึ้นมาในปี 1997 ในชื่อว่า ‘Yellow corridor’ อันเกิดมาจากความสนใจเรื่องความถี่ของแสงกับการรับรู้สีของมนุษย์ โดยเบื้องหลังของสีเหลืองชวนแปลกตานี้ก็มาจากการที่เขาได้ตั้งค่าความถี่ของหลอดไฟให้มีความคงที่ตลอดทั้งทางเดิน จึงสามารถตัดสีสันอื่นให้เหลือแต่สีเหลืองได้อย่างมีประสิทธิภาพจนเรามองไม่เห็นสีอื่นในทางเดินนั้นเลย และเมื่อเราเดินต่อไปเรื่อย ๆ สีสันจากหลอดไฟก็จะเริ่มจืดจางลง และแทนที่ด้วยแสงธรรมชาติอันเป็นสัญญาณว่าเราได้กลับสู่โลกความจริงแล้ว ผลงานชิ้นนี้จึงน่าประทับใจและเล่นกับประสาทสัมผัสของเราได้ดีสุด ๆ

Beauty
1993

พอเดินเล่นท่ามกลางแสงสีเหลืองจากชิ้นงาน Yellow corridor (1997) ตรงทางเข้านิทรรศการจนพอใจแล้ว เราก็เดินต่อไปยังส่วนอื่น ๆ ของนิทรรศการ ซึ่งหลังจากที่เราเดินลึกเข้ามาอีกนิดหนึ่ง ก็ได้เจอเข้ากับทางเลี้ยวมืด ๆ ที่ชวนลุ้นในใจว่าจะเป็นทางตัน หรือทางลึกลับอะไรกันแน่ แต่ฉงนใจได้ไม่นาน เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์ก็ได้เดินเข้ามาทักทายพร้อมเปิดไฟฉายส่องทางให้ เพื่อพาเราเข้าสู่ห้องที่กำลังจัดแสดงผลงาน ‘Beauty (1993)’ ที่มาครบทั้งความชุ่มความฉ่ำ และความสวยงามของม่านหมอกสีรุ้ง

‘Beauty (1993)’ คืออีกหนึ่งผลงานของเอเลียสซันที่เล่นกับปรากฏการณ์ธรรมชาติอีกครั้ง นั่นก็คือการสร้าง ‘รุ้งกินน้ำ’ เพื่อสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างแสง น้ำ และการรับรู้ของมนุษย์ โดยเขาได้สร้างม่านหมอกจำลองขึ้นมาจากละอองน้ำ พร้อมกับมีการฉายแสงสปอตไลต์ลงมายังละอองน้ำเหล่านั้้น ความพิเศษของงานชิ้นนี้คือ สายรุ้งที่ทุกคนเห็นจะไม่มีทางเหมือนกัน เพราะทุกครั้งที่เราเปลี่ยนมุมและองศาการยืน สายรุ้งตรงหน้าเราจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จึงทำให้ผู้ชมแต่ละคนได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างกันตามตำแหน่งที่ยืนชม ซึ่งนำไปสู่คำถามเกี่ยวกับความเป็นจริงของปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำว่ามีอยู่จริงหรือเกิดขึ้นเพราะการรับรู้ของผู้สังเกตเท่านั้นกันแน่

Symbiotic seeing
2020

มุ่งหน้ากันต่อสู่ Gallery 3 อีกหนึ่งห้องจัดแสดงของนิทรรศการ ‘Olafur Eliasson: Your curious journey’ ที่พอเห็นในแผนผังนิทรรศการแล้วก็นึกแปลกใจอยู่เหมือนกันว่าชั้นนี้จะมีงานแบบไหนรอเราอยู่ แต่เมื่อขึ้นลิฟต์มาถึงแกลเลอรี ความสงสัยทั้งหมดก็พลันหายไปทั้งที เพราะภาพลานโล่งกับแสงสีเขียวสลัว ๆ ตัดกับควันบาง ๆ ทั่วพื้นที่ และเสาเหลี่ยมขนาดใหญ่สองต้น ได้ตรึงสายตาของเราให้นิ่งอยู่อย่างนั้น ยิ่งเมื่อแหงนหน้ามองขึ้นไปยังส่วนเพดาน ก็จะได้พบกับกลุ่มควันหนาแน่นที่ลอยคลุ้งอยู่จนคล้ายกับกำลังมองน้ำมันที่ลอยแยกชั้นออกจากน้ำ แต่ไม่ว่าควันเหล่านั้นจะดูหนาแน่นอย่างไรก็ไม่มีทีท่าจะตกลงมายังพื้นด้านล่างเลย

ศิลปะจัดวางสุดอลังการชิ้นนี้คือ ‘Symbiotic seeing (2020)’ เริ่มต้นมาจากความสนใจการทดลองและศึกษาความสัมพันธ์ของสถานะต่าง ๆ ของวัตถุ เมื่อนำมารวมกัน รวมถึงการศึกษาการรับรู้ของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมแบบผสมผสาน ผลงานชิ้นนี้จึงสร้างบรรยากาศให้ดูเหมือนว่าเพดานห้องนี้มีลักษณะเป็นของแข็ง ของเหลว และไอระเหยพร้อมกันในคราวเดียว โดยใช้แสงเลเซอร์สีต่าง ๆ ร่วมกับการพ่นละอองควันเข้าไปในห้อง ทำให้บนเพดานเกิดเป็นลอนคลื่นเล็ก ๆ ดูราวกับพื้นผิวของของเหลวที่สามารถเคลื่อนไหวได้

ด้วยการผสมผสานวัสดุต่างสถานะเข้าด้วยกัน ผลงานชิ้นนี้จึงสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่แปลกใหม่ที่อยู่ระหว่างรูปธรรมและนามธรรม เปิดโอกาสให้ผู้ชมเคลื่อนไหวและสังเกตการณ์เพื่อสัมผัสประสบการณ์ดังกล่าวได้ทั้งแบบส่วนตัวและร่วมกับผู้อื่น

Object defined by activity (then)
2009

หากให้เราเลือกว่างานชิ้นไหนเล่นกับสายตาได้ถึงเครื่องมากที่สุด คงต้องยกให้ ‘Object defined by activity (then) (2009)’ อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเมื่อเราได้ก้าวเท้าเข้ามาในห้องจัดแสดงนี้ เราก็พบกับน้ำพุในห้องมืดสนิท ที่มาพร้อมกับไฟแฟลชกระพริบอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ซึ่งความมืดและการกะพริบไฟอย่างรวดเร็วนี้เองที่ทำให้การมองเห็นของเราน่าสนใจมากขึ้น กล่าวคือเราจะมองเห็นน้ำพุที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่นั้น ‘หยุดนิ่ง’ ไม่ไหลขึ้นและไม่ไหลลง

จุดประสงค์หลักของผลงานชิ้นนี้ คือการนำเสนอการรับรู้การเคลื่อนไหวและการหยุดนิ่งพร้อมกันของมนุษย์ โดยใช้แสงกระพริบและน้ำที่ไหลต่อเนื่องมาเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราได้รับรู้ถึงสิ่งเหล่านั้น เป็นการสำรวจมิติเวลาและการเคลื่อนไหวของวัตถุ ด้วยการตัดแบ่งช่วงเวลาออกเป็นภาพย่อย ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นการศึกษาและนำเสนอสุนทรียภาพของการเคลื่อนไหวของของเหลวอย่างธรรมชาติด้วย

อย่างไรก็ตามหากใครจะเข้าไปในห้องนี้แล้วเป็นคนมีความไวต่อแสงต้องระวังด้วย เพราะห้องนั้นมืดมากและมีไฟกระพริบอย่างรวดเร็วตลอดเวลา อาจมีอาการหน้ามืดเป็นลมได้

Ventilator
1997

ปิดท้ายด้วยชิ้นงานชวดหวาดเสียวอย่าง ‘Ventilator (1997)’ อันมาจากความต้องการศึกษาและนำเสนอให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของ ‘ลม’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามักจะมองข้าม งานชิ้นนี้จึงเป็นการให้ความสำคัญกับองค์ประกอบพื้นฐานของธรรมชาติที่มักถูกมองข้าม นอกจากนี้ยังเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้งานของวัตถุอย่าง ‘พัดลม’ ด้วย

ซึ่งการที่เราบอกว่างานชิ้นนี้ค่อนข้างน่าหวาดเสียวก็เพราะว่ามันเคลื่อนที่ได้อย่าง ‘ไร้ทิศทาง’ และ ‘สะเปะสะปะ’ สุด ๆ ๅแบบคาดเดาไม่ได้เลยว่ามันจะหมุนต่อไป หรือจะหยุด หรือจะร่วงลงมาหรือเปล่า เนื่องจากเอเลียสซันได้ออกแบบให้นำพัดลมมาแขวนไว้กับเชือกแล้วยึดติดกับเพดาน จากนั้นก็เปิดให้พัดลมทำงาน และเมื่อพัดลมทำงานโดยการปล่อยลมไปเรื่อย ๆ แบบไร้ฐานที่มั่นคงยึดเหนี่ยว มันเลยหมุนวนอยู่อย่างนั้นด้วยความแรงเต็มที่ ให้ผู้ชมอย่างเราคาดเดากันต่อไปว่ามันจะไปในทิศทางไหนกันแน่

นิทรรศการ Olafur Eliasson: Your curious journey จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ - 22 กันยายน 2567 ณ Singapore Art Museum