คุยกับ ‘บอส-นฤเบศ กูโน’ และ ‘มายน์-ชญานุช เสวกวัฒนา’ ว่าด้วยเบื้องหลังการรีเสิร์ชเพื่อสร้าง ‘วิมานหนาม’ ผ่านสถานที่และดีไซน์เสื้อผ้าในหน้าจอ

Post on 11 September

ในขณะที่บนจอภาพยนตร์กำลังแสดงเครดิตรายชื่อนักแสดงและทีมงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘วิมานหนาม’ ความรู้สึกร่วมและอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหนังยังคงถาโถมใส่ตัวเราแบบไม่หยุดยั้ง จากความคาดหวังแรกที่คิดเพียงว่าหน้าหนังอาจจะเป็นแค่การเล่าเรื่อง ‘ความไม่เท่าเทียมทางเพศ’ เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วหนังได้พาผู้ชมให้ไปไกลกว่านั้น ทั้งในแง่มุมของสังคมและวิถีชีวิตของกลุ่มคนชายขอบที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากเพราะสังคมที่กดทับ

วิมานหนามเลือกเล่นงานผู้ชมด้วยความรู้สึกและอารมณ์ร่วมหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นกับตัวละคร และสะกดคนดูให้ด้วยโปรดักชั่นที่เห็นได้ชัดว่าทีมงานนั้นทำการบ้านมาอย่างหนัก โดยเฉพาะเสื้อผ้าและสถานที่ที่ถือเป็นอีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของวิมานหนาม ทำให้ผู้ชมกลายเป็นเหมือนชาวบ้านไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนั้น ที่กำลังเฝ้ามองโศกนาฏกรรมของคนกลุ่มหนึ่ง

ทุกองค์ประกอบในหนังจึงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ แต่เป็นสิ่งที่ทีมงานหลายส่วนตั้งใจเนรมิตองค์ประกอบต่าง ๆ ให้สามารถส่งเสริมประเด็นของความไม่เท่าเทียมที่วิมานหนามต้องการจะสื่อได้ ทั้งเสื้อผ้าของ ‘ทองคำ’, เครื่องแต่งกายในงานบวชตามประเพณีของชาวไทใหญ่ หรือแม้แต่การแต่งกายของ ‘โหม๋’ ที่เต็มไปด้วยนัยยะบางอย่าง

วันนี้ GroundControl จึงชวน ‘บอส-นฤเบศ กูโน’ ผู้กำกับและผู้เขียนบทวิมานหนาม มาพูดคุยเกี่ยวกับเส้นทางกว่าจะเป็นวิมานหนาม ร่วมกับ ‘มายน์-ชญานุช เสวกวัฒนา’ Costume Designer ผู้ออกแบบและเนรมิตเสื้อผ้าที่แฝงไปด้วยรายละเอียดและนัยยะบางอย่างของความไม่เท่าเทียมเอาไว้

จุดเริ่มต้นของวิมานหนาม

‘ถ้าผู้ชายสองคนรักกันในที่ดินแห่งหนึ่งที่เป็นเจ้าของร่วมกันแค่ในนาม แต่กลับแต่งงานกันไม่ได้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับที่ดินและบ้าน?’ คือไอเดียแรกที่เกิดขึ้นหลังจากที่บอสถ่ายทำซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 2 เสร็จ จากนั้นจึงตามมาด้วยแนวคิดของการปลูกสวนทุเรียนที่ถูกนำมาใช้อย่างมีนัยยะ

“ที่ดินสำหรับคนไทยมันดูมีค่า สมมติว่ามีคนหนึ่งกำลังจะไปจากที่ดินสักแห่ง เขาสามารถหยิบผ้าขนหนู โซฟา หยิบอะไรได้ก็หยิบไปหมด แต่ที่ดินหรืออะไรก็ตามที่อยู่บนที่ดินมันเอาไปไม่ได้ มันเลยเป็นที่มาของสวนผลไม้ ซึ่งจริง ๆ แล้วผลไม้อื่นมันก็ได้ แต่ว่าทุเรียนต้องปลูกถึง 5 ปี มันเลยมีความหมายของความอดทน ทั้งแรงกายแรงใจเหมือนคู่รักคู่หนึ่ง รวมไปถึงราคาของผลทุเรียนที่มีราคาแพงเช่นกัน เลยเกิดไอเดียว่าถ้านำทุเรียนที่ราคาแพงไปอยู่ในจังหวัดที่ยากจนที่สุดอย่างแม่ฮ่องสอนก็คงจะน่าสนุก”

ด้วยพื้นเพของบอสที่เป็นเด็กหาดใหญ่ซึ่งมีความผูกพันกับท้องทะเลมาตั้งแต่เกิด การต้องทำหนังที่มีฉากหลังเป็นวัฒนธรรมไทใหญ่ ที่อยู่ภาคเหนือของประเทศ จึงถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในช่วงเริ่มเขียนบท “เราใช้เวลาศึกษาตอนเขียนบทเกือบ 10 เดือน ไปติดต่อที่สวนทุเรียน เพื่อสอบถามคนที่เป็นชาวสวนจริง ๆ น้องที่ช่วยเขียนบทก็จะขับรถไปที่แม่ฮ่องสอนตลอด ไปถาม สังเกต และถ่ายรูปคนในพื้นที่ เพื่อเก็บไว้ดูว่าลักษณะของคนในพื้นที่เป็นอย่างไร ใส่เสื้อผ้าประมาณไหน แล้วก็ขอข้อมูลสำหรับติดต่อมาเพื่อคอยติดต่อสอบถามข้อมูลตอนเขียนบท”

จาก ‘ความไม่เท่าเทียมทางเพศ’ กลายเป็น ‘ความไม่เท่าเทียมทางสังคม’

นอกจากแก่นของหลักของหนังเรื่องนี้จะเป็นเรื่องของการสะท้อนความไม่เท่าเทียมทางเพศแล้ว วิมานหนามยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่เกิดขึ้นกับหลาย ๆ ชนชั้น โดยเฉพาะชนชั้นล่างที่ต้องแบกรับความไม่เท่าเทียมบางอย่างของสังคมเอาไว้

“การที่เราไม่มีกฎหมายมันทำให้เห็นถึงโครงสร้างเลยว่าถ้าไม่มีมันจะมีเหลื่อมล้ำอะไรบ้าง ซึ่งเคยไปสัมภาษณ์แล้วเจอคนคนนึง การที่เขาลำบากแล้วเขาไม่มีกฎหมายนี้คุ้มครอง เขาจะต้องต่อสู้กับมันมาก ๆ เพราะสูญเสียทุกอย่างไป

หากสังเกตจะพบว่าบทสนทนาของตัวละครในเรื่องนี้จะเต็มไปด้วยการจิกกัดและฟาดฟัน ซึ่งเป็นการสะท้อนมาจากสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ “จริง ๆ ในแม่ฮ่องสอนก็ยังมีวิธีคิดนี้อยู่ คือจะรับเลี้ยงลูกกันง่าย ๆ แบบบ้านนี้เอาลูกสาวของบ้านนี้มาเลี้ยง หรือเอาลูกชายบ้านนี้ไปเลี้ยง หรืออย่างบ้านเธอบวช ฉันขอเอื้อลูกชายเธอด้วยได้ไหม ซึ่งมันมีวิธีคิดนี้อยู่ในชนบทแบบนี้จริง แล้วก็ไปเจอวิธีคิดหนึ่งที่ว่า เอาลูกสาวคนนี้มาให้เขาดูแลเราและเอาลูกชายไปหาเงินให้เรา”

‘Costume Design’ จิ๊กซอว์ส่วนสำคัญในวิมานหนาม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความโดดเด่นอีกหนึ่งอย่างในเรื่องวิมานหนามคือ ‘เสื้อผ้าหน้าผม’ ที่บอสและมายน์ได้ทำงานร่วมกันในหลายขั้นตอน เพื่อให้ได้ตัวละครที่ผู้ชมสามารถจดจำและรู้สึกได้ถึงนัยยะบางอย่างที่หนังต้องการจะสื่อ

มายน์เล่าให้ฟังถึงวิธีการรีเสิร์ชเพื่อนำมาใช้สร้างตัวละครในวิมานหนาม “ตอนเริ่มเราก็ขอคุยกับทีมเขียนบทและผู้กำกับ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับพื้นเพตัวละคร แล้วก็ต้องถามแบบละเอียดมาก อย่างเช่น ‘จิ่งนะ’ ที่ตอนแรกคิดไม่ออกเลย ว่าแต่งตัวอย่างไร เพราะอยู่ ๆ คนนี้ก็มาจากไหนก็ไม่รู้ จนมีประโยคนึงในบทที่บอกว่า ตัดต้นไม้ได้ 20 บาท ก็คือดีใจมากแล้ว ก็เลยพอจะนึกออกว่าจะออกแบบเสื้อผ้ายังไง

“นอกจากนั้นก็มีไปอยู่แม่ฮ่องสอนด้วย คือเราเดินไปดูของตามตลาดนัด พอขึ้นไปบนดอยก็เจอชาวเขาชาวดอย ก็ขอซื้อกางเกงที่เขาใส่อยู่ เพื่อนำมาใช้ในหนัง แล้วก็ไปเดินตามบ้านของชาวบ้านว่าใครมีเสื้อผ้าอะไรที่นำมาใช้ได้บ้าง อย่างผ้าโพกหัวเราก็ให้เขาทำให้ดูแล้วก็ถ่ายคลิปไว้ แล้วเขาก็ทำให้ดู”

ในส่วนของทองคำ ที่ถือเป็นตัวละครที่มีความโดดเด่นมากกว่าตัวอื่น ๆ เนื่องจากตามพื้นเพแล้ว ทองคำมาจากจังหวัดอื่น ถือเป็นคนนอกพื้นที่ รวมไปถึงการที่ทองคำจะต้องเป็นคนที่มีสถานะเป็นดั่งคนนอก ทำให้การดีไซน์ทองคำจึงค่อนข้างยากกว่าตัวละครอื่น

“เวลาทำหนัง เรารู้สึกว่าถ้าอยากให้แต่งตัวเป็นอะไร จะต้องรู้ว่าเขาคิดอะไร เขาจะไปซื้อของจากที่ไหน ทำไมถึงหยิบชิ้นนี้มาใส่ ซึ่งพอรู้ว่าทองคำมาจากเชียงใหม่ ทำให้ได้จุดหนึ่งคือเด็กเชียงใหม่เขาแต่งตัวเก่ง แล้วสามารถซื้อเสื้อผ้าในราคาที่ถูก เพราะเชียงใหม่มีตลาดมือสองเยอะมาก ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้งตัวของทองคำ อาจเข้ากันมากขนาดนั้น แต่ละชิ้นที่ใส่ก็จะเน้นความ ‘แซ่บ’ ไว้ก่อน ก็เลยได้เป็นตัวละครทองออกมา” มายน์เล่าให้ฟังถึงวิธีการดีไซน์เครื่องแต่งกายของทองคำ ที่ต้องสืบค้นไปยังเบื้องหลังเพื่อให้ได้เสื้อผ้าที่เหมาะสมและสามารถสร้างความขบฏบางอย่างของตัวละครทองคำได้

เช่นเดียวกันกับตัวละครของโหม๋ ที่แม้จะไม่ได้มีการแต่งกายที่จัดจ้านหรือโดดเด่น แต่เสื้อผ้าเหล่านั้นกลับซ่อนนัยยะของความไม่เท่าเทียมที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของกลุ่มคนชายขอบอย่างชาว ‘ไทใหญ่’

“อย่างการแต่งตัวของโหม๋ เราก็มานั่งคิดว่า ควรจะเอาเสื้อผ้ามาจากไหนนะ ก็นั่งคิดกันกับบอสว่าจริง ๆ แล้วโหม๋ไม่มีเงิน เก็บกะหล่ำได้วันละไม่กี่บาท คือยากจนมาก ๆ เสื้อผ้าส่วนใหญ่ก็เลยจะมาจากเสื้อบริจาค หรือไม่ก็เสื้อผ้าของแม่ จะเห็นได้เลยว่าโหม๋แต่งตัวเหมือนแม่เลย หมายความว่าแต่ละชุดมันไม่ได้เหมาะสมกับโหม๋ขนาดนั้น แต่ก็จำเป็นที่จะต้องใส่”

ตัวละครของโหม๋จึงเป็นเหมือนตัวแทนของกลุ่มคนที่ถูกกดขี่และไม่สามารถหลีกหนีไปใช้ชีวิตตามที่ตนเองต้องการได้ เพราะฐานะและการศึกษาที่ไม่เอื้ออำนวยให้คนเหล่านี้สามารถดิ้นรนไปเทียบเท่ากับชนชั้นบนได้ ซีงสิ่งเหล่านี้ก็ได้สะท้อนให้เห็นผ่านเครื่องแต่งกายของโหม๋เองเช่นเดียวกัน

“อย่างที่ผูกผมของโหม๋ ก็จะมีเรเฟอร์เรนซ์อันนึงที่อยากได้เป็นโทนสีนี้ เลยคิดอยากให้เป็นโบว์ดอกไม้ที่สามารถหาซื้อได้ตามตลาด แต่ก็รู้สึกว่าดอกไม้อย่างเดียวมันไม่มีไดนามิก โบว์ที่ผูกจึงเป็นโบว์ที่มาจากริบบิ้นผูกของขวัญ เพราะไม่มีเงินซื้อนั่นเอง ซึ่งเท่านี้โหม๋ก็คิดว่ามันสวยแล้ว”

ที่มาของสวนทุเรียน ‘แม่ฮ่องสอนหมอนทองคำเสก (แม่แสง)’ จุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรม

‘แม่ฮ่องสอนหมอนทองคำเสก (แม่แสง)’ ชื่อของสวนทุเรียนที่ทองคำและเสกตั้งใจลงแรงและมอบความรักให้ตลอด 5 ปี เพื่อเป็นดั่งทะเบียนสมรสของทั้งสอง แต่สุดท้ายสวนทุเรียนแห่งความรักได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นจุดเริ่มต้นของการแย่งชิง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นเพียงเพราะความโลภและความไม่เท่าเทียม

บอสเล่าให้ฟังถึงการตามหาสถานที่ถ่ายทำสำหรับสวนทุเรียนว่า “สำหรับสถานที่ถ่ายทำสวนทุเรียนเราตามหาอยู่ 3-4 เดือนเลย เหมือนตอนเขียนบทเรารู้อยู่แล้วว่าฉากไคลแมกซ์ของเรื่องมันจะมีทุเรียนกลิ้งลงแม่น้ำ โจทย์มันเลยต้องเป็นสวนทุเรียนที่มีเนินและมีแม่น้ำที่ท้ายสวน และบ้านต้องอยู่บนเนินเขา ซึ่งมันยากและรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะความเป็นจริงสวนทุเรียนต้องเป็นที่ราบ เลยลังเลว่าเราจะยอมทิ้งสิ่งนี้ดีไหม แต่ก็รู้สึกว่าถ้าเราจะเอาสวนทุเรียนที่ปลูกภาคเหนือโดยที่ไม่ต้องแนะนำคนดู ก็คงต้องเป็นเนินเลย คือพอเห็นภาพก็จะรู้สึกถึงความเป็นภาคเหนือได้เลย”

นอกจากเพื่อบ่งบอกถึงความเป็นพื้นที่ภาคเหนือแล้ว ความเป็นเนินเขาของสวนทุเรียนแม่ฮ่องสอนหมอนทองคำเสก (แม่แสง) ยังสะท้อนให้เห็นถึงความลำบากในการเดินทาง ทำให้รู้สึกถึงความเป็นชนชั้นบางอย่างของผู้คน

“จนวันหนึ่งเราไปเจอสถานที่นึงที่จังหวัดตราด ซึ่งเป็นสวนทุเรียนที่ใหญ่มาก ลุงเพ่ง (เจ้าของสวน) ก็อนุญาตให้เราดูทุกจุดเลย แต่ก็ยังไม่ได้ตามที่ต้อง จนเริ่มจะยอมแพ้เพราะแสงใกล้หมดแล้ว แต่ขากลับลุงเพ่งก็ขับพาไปดูหลังสวนที่ไม่ใช้แล้ว ปรากฏว่าหลังบ้านเขาคือเนินแล้วท้ายสวนก็มีแม่น้ำ คือมันมีทุกอย่างเลย แล้วไปเจอวินาทีก่อนแสงหมด ก็เลยตกลงใช้ที่นี่” บอสเล่าให้ฟังถึงวินาทีที่เขาได้พบกับสถานที่ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดในวิมานหนาม

นอกจากนั้นบอสยังเล่าให้ฟังถึงการออกแบบและเนรมิตบ้านบนเนินให้กลายมาเป็นวิมานแห่งหนามที่ผู้คนจับจ้องแย่งชิง “สุดท้ายสิ่งที่ต้องทำเลยคือการสร้างบ้าน ซึ่งเราสร้างใหม่ทั้งหลัง พอทุกสิ่งทุกอย่างมันพอดีหมด สวนที่อยากได้ แม่น้ำที่อยากได้ ทุเรียนบางส่วนก็เป็นทุเรียนจริงที่ดันปลูกครบปีที่ 5 พอดี เราเลยไปคิดถึงรายละเอียดมากกว่าว่าจะถ่ายยังไง กล้องควรอยู่ตรงไหน หรือตัวละครต้องยืนตรงไหน บ้านที่เห็นเลยมีการกำหนดขึ้นมาเลยว่าต้องใช้หน้าต่างกี่บานเพื่อจะถ่ายช็อต ไหน เตียงต้องอยู่ฝั่งนี้เพื่อให้สามารถตั้งกล้องฝั่งนี้ได้ เพื่อให้ภาพที่ออกมาสามารถสื่อสารกับผู้ชมได้มากที่สุด”

เรื่องโดย: อธิบดี ตั้งก้องเกียรติ