cover web.jpg

พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร นักเทคโนโลยีแห่ง MIT Media Lab ผู้ผนวกรวมวิทยาศาสตร์และศิลปะเข้าด้วยกัน

Art
Post on 15 September

แม้จะไม่มีหลานไอน์สไตน์สอนหนังสืออยู่จริง ๆ อย่างที่บางคนเคยเข้าใจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) คือหนึ่งในสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่ทรงเกียรติที่สุดของโลกที่คอยผลิตบุคคลากรชั้นเยี่ยมเข้าสู่สนามวิชาการและแวดวงเทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ

หนึ่งในเพชรเม็ดงามเหล่านั้นคือ พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร นักเทคโนโลยี นักวิจัย และนักศึกษาปริญญาเอกที่ MIT Media Lab ที่พ่วงตัวแหน่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Futuristic Research Group (FREAK Lab) กลุ่มคนไทยที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนานวัตกรรมสำหรับโลกอนาคต รวมไปถึงการเป็นสมาชิกของกลุ่มวิจัย Fluid Interfaces แห่ง MIT Media Lab ที่รวบรวมเหล่าหัวกะทิจากศาสตร์ต่าง ๆ มาร่วมกันลงมือศึกษาและสร้างสรรค์เทคโนโลยีชีวภาพในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนั้น เขายังเคยร่วมงานกับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงมากมายไม่ว่าจะเป็น NASA TRISH, IBM Research, Bose, ASU และ NTU

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาในแวดวงนี้ เขามีบทบาทที่หลากหลาย ตั้งแต่การเป็นทั้งเด็กไทยที่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project หรือ JSTP), สปีกเกอร์บนเวที TED x ASU ในสหรัฐอเมริกาที่มาพร้อมกับหัวข้อ Prototyping the Impossible, ผู้เขียนบทความในซีรี่ส์ AI & I ให้กับสำนักข่าวออนไลน์ The MATTER และนักเทคโนโลยีไอเดียล้ำที่มีผลงานอันน่าทึ่งออกมาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์จนได้รับรางวัลมากมาย แต่ไม่ว่าคุณจะคุ้นเคยกับเขาในบทบาทใด สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับพีพี-พัทน์คือการที่เขาไม่เคยจำกัดตัวเองไว้ในกรอบของวิทยาศาสตร์แต่เพียงเท่านั้น แต่ยังพาตัวเองออกเดินทางสำรวจในดินแดนของโลกศิลปะอยู่เป็นประจำด้วย

ไม่เพียงชุดนักบินอวกาศที่เขาออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลมาจากไดโนเสาร์จนได้ขึ้นไปทดลองในเที่ยวบินไร้น้ำหนักของ Zero-G หรือ Making Food with the Mind โปรเจกต์พิมพ์อาหารด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติจากการอ่านผลคลื่นสมอง และ Emoti-Khon ผลงานศิลปะจัดวางที่ผสมผสานระหว่างแนวคิดเรื่องปัญญาประดิษฐ์และการแสดงอารมณ์ของมนุษย์ผ่านใบหน้าของตัวละครโขนที่เขาทำร่วมกับกลุ่ม FREAK Lab เท่านั้น แต่เขายังลงมือสร้างสรรค์โปรเจกต์ศิลปะสุดล้ำร่วมกับศิลปินร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงอีกมากมายหลายคน ไม่ว่าจะเป็น เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, พิเชษฐ กลั่นชื่น และ แพรว-กวิตา วัฒนะชยังกูร ซึ่งแต่ละโปรเจกต์ก็ล้วนแต่มีความน่าสนใจในแบบของตัวเอง ทั้งในแง่แนวคิด กระบวนการ และการนำเสนอ

A Conversation with the Sun
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล 

A Conversation with the Sun คือผลงานศิลปะจัดวางโดย เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับมือรางวัลขวัญใจเหล่าซีเนไฟล์ทั่วโลกที่เพิ่งถูกจัดแสดงที่ Bangkok Citycity Gallery ไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ศิลปินพาผู้ชมไปร่วมวงสนทนากับดวงอาทิตย์ผ่านฟุตเทจภาพเคลื่อนไหวอันสะเปะสะปะที่เขาบันทึกลงในคลังความทรงจำส่วนตัว การพูดคุยกับปัญญาประดิษฐ์ และผ้าสีขาวผืนยักษ์ที่เคลื่อนไหวอย่างไร้การคาดเดา 

โดยงานนี้นอกจากได้ทีม DuckUnit มาร่วมรังสรรค์ให้ผลงานออกมาเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่ตั้งใจไว้แล้ว A Conversation with the Sun ยังได้พีพี-พัทน์เข้ามาร่วมวงทำงานควบคู่ระหว่างศิลปินและปัญญาประดิษฐ์ GPT-3 ด้วย

Cybernetics Dance
พิเชษฐ กลั่นชื่น

เพราะเราไม่อาจแช่แข็งวัฒนธรรมให้อยู่คงที่ไปตลอดกาลได้ ศิลปินนักออกแบบท่าเต้นระดับโลกอย่าง พิเชษฐ กลั่นชื่น จึงไปร่วมจับมือกับพีพี-พัทน์สร้างสรรค์ผลงานเชิงทดลองชุด Cybernetics Dance หรือ นาฏศิลป์ไซเบอร์เนติกส์ ที่พวกเขาเปลี่ยนให้นักเต้นกลายเป็น Cyborg หรือมนุษย์กึ่งหุ่นยนต์ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกอนาคตได้

Cybernetics Dance พาเราไปร่วมรื้อถอนแนวคิดเดิม ๆ ไปสู่นวัตกรรมทางวัฒนธรรม และนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในอนาคตที่ศิลปะและเทคโนโลยีจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ทั้งผ่านทางความนึกคิดของมนุษย์ และกลไกของเครื่องจักร

Mental Machine: Labour in the Self Economy
กวิตา วัฒนะชยังกูร

Mental Machine: Labour in the Self Economy คือผลงานการแสดงสดส่วนหนึ่งของซีรี่ส์ Cyber Labour ที่ศิลปินรุ่นใหม่ผู้กำลังได้รับความสนใจจากแวดวงศิลปะทั่วโลกอย่าง แพรว-กวิตา วัฒนะชยังกูร กำลังพัฒนาร่วมกับพีพี-พัทน์ และถูกจัดแสดงเป็นครั้งแรกที่ Art Gallery of Western Australia (AGWA) ในเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย 

ในผลงานนี้ แพรว-กวิตา ยังคงสานต่อรูปแบบมาจากผลงาน Knit ที่เธอแทนที่การทำงานของเครื่องจักรด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายของเธอเองที่กำลังดิ้นรนถักทอเส้นใยอย่างไม่มีสิ้นสุด พร้อม ๆ ไปกับภาพ ของตัวเธอเองที่กำลังสนทนากับร่าง Alter Ego ผ่านนวัตกรรม AI Deepfake ที่กำลังตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ รวมไปถึงการโดนกดทับของแรงงานในสังคมบริโภคนิยมสุดโต่ง

ทำความรู้จักกับแนวคิดและผลงานของพวกเขาแบบเจาะลึกได้ที่:
When Art Meets Technology
สำรวจความหมายของศิลปะในมุมมองของนักเทคโนโลยี
Exclusive Talk ร่วมกับ พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร นักเทคโนโลยีจาก MIT Media Lab ผู้อยู่เบื้องหลังผลงานศิลปะร่วมสมัยมากมาย และ แพรว-กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปิน Media และ Performance Art ผู้ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายบอกเล่าความเป็นไปในสังคม
ดำเนินรายการโดย ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ จาก GroundControl 
ร่วมพูดคุยกันแบบสด ๆ ในวันเสาร์ที่ 17 กันยายนนี้
ทางเพจ Facebook : FAAMAI Digital Arts Hub & GroundControl 
และช่อง YouTube : GroundControl 
ตั้งแต่เวลา 10:00 น. เป็นต้นไป