Pattani Decoded 2024 ‘Unparalleled’ สุนทรียศาสตร์ ศรัทธา เนอร์วาน่า กับลายพระราชทาน สำรวจความสร้างสรรค์แบบ ‘ไร้เทียมทาน’ ของคนปัตตานี เมืองแฟชันชายแดนใต้

Post on 12 September

ดนตรีเมทัลหนัก ๆ กับศาสนาอิสลาม ดูจะไม่ใช่สองสิ่งที่เห็นอยู่คู่กันบ่อย ๆ แต่จากประสบการณ์ขอเราในทริปปัตตานีเมื่อสัปดาห์ก่อน ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าเห็นสองสิ่งนี้เต็มทั่วทุกที่ไปหมด และต่างก็เป็นวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งด้วยตัวเองทั้งคู่ ทำให้ปัตตานีเป็นดังจักรวาลเล็ก ๆ ที่ยำใหญ่ (แต่ไม่ได้คลุกเคล้าผสมผสาน) แบบไม่เหมือนใครด้วยตัวเองอีกขั้นหนึ่งด้วย สมกับเป็นเมืองท่าที่รับอิทธิพลจากทั้งมาเลเซีย กรุงเทพฯ โลกตะวันตก และที่อื่น ๆ

“ความเท่ของคนปัตตานีคือตอนเช้าคุณอาจจะใส่เสื้อยืดวงไอเอิร์นเมเดน (Iron Maiden) หรือเนอร์วานา (Nirvana) ไปหาเพื่อน แต่งตัวเป็นสายสตรีทเลย แต่ตอนเย็นคุณก็สลับด้าน เอาลายเข้าด้านใน ใส่เป็นเสื้อดำ หรือเปลี่ยนชุดไปละหมาดตามเวลาในมัสยิดได้ทันที มันสลับไปมาได้อย่างรวดเร็ว” หนึ่งในทีมงานเทศกาลสร้างสรรค์ ‘Pattani Decoded’ หรือ ‘ปัตตานีดีโคตร (เด็ด)’ อธิบายคำว่า ‘Unparalleled’ หรือ ‘เส้นไม่ขนานอันไร้เทียมทาน’ คอนเซ็ปต์ของงานปีนี้ให้เราฟัง ด้วยเรื่องเล่าจาก (อดีต) วัยรุ่นปัตตานี

ปัตตานีมีชีวิตของตัวเองอยู่แบบ “ไร้เทียมทาน” แตกต่างไม่มีซ้ำกับใครอื่น อาจจะเพราะด้วยวัฒนธรรม (ย่อย) ต่าง ๆ ภายในปัตตานีเอง ที่อยู่อย่างไร้เทียมทานร่วมกันได้

ธีมงาน ‘Unparalleled’ ยกเรื่องราวของชาวพังค์ ชาวสตรีท ขึ้นมาเป็นประเด็นหลักอยู่ในสปอตไลต์ เคียงข้างกับวัฒนธรรมมลายู GroundControl Special Route ครั้งนี้ เราเลยอยากชวนทุกคนมาสำรวจปรากฏการณ์ครั้งนี้ และชวนไปทำความรู้จักปัตตานีด้วยกัน ผ่านนิทรรศการและงานจัดแสดงต่าง ๆ ที่ชวนเราคิดต่อว่า การแต่งกาย (และ ‘งานดีไซน์’ อื่น ๆ) อาจไม่ได้เป็นแค่เครื่องประดับเสริมความเท่เท่านั้นเสมอไป แต่ก็ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์แสดงออกทางความคิดความเชื่อเพียงเท่านั้นเสมอไปเหมือนกัน แต่อาจจะเป็นอย่างอื่น ที่ซับซ้อนและก็สร้างสรรค์ไปพร้อม ๆ กัน?

Baju Guni, วัยรุ่นตลาดขยะ, และศรัทธาวิถีแห่งร็อคแอนด์โรล

สำหรับคนปัตตานี คำว่า ‘ตลาดขยะ’ ไม่ได้หมายถึงสถานที่ขายของเสียที่โยนทิ้งกันไปแล้ว แต่คือชื่อของตลาดขายของมือสอง ที่มีตั้งแต่ไอเทมแฟชันยันกริชเก่าแก่ — และปัตตานีไม่ได้มีตลาดแบบนี้แค่ที่เดียว

เสื้อผ้าแฟชันมือสองเป็นหัวใจที่ขับเคลื่อนชีวิตของเมืองปัตตานีให้ครึกครื้น ทั้งในทางเศรษฐกิจและทางวัฒนธรรม มันเป็นภาพหลักฐานของความเป็นเมืองท่า ที่รับและส่งสินค้าและไลฟ์สไตล์จากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่งมากมาย ในค่ำคืนที่เราเดินดูร้านค้าต่าง ๆ บน ถนนปรีดา ย่านเก่าแก่แห่งหนึ่งของเมืองที่คงความคึกคักมาตั้งแต่รุ่นพ่อ เราเห็นลายเสื้อมัน ๆ บนตัววัยรุ่นมากมาย ตั้งแต่ลายอนิเมะ ‘อากิระ’ ที่พระเอกเป็นนักซิ่งสุดเท่ ไปจนถึงเสื้อลาย ‘เมกาเดธ’ วงเมทัลที่ทำเพลงวิพากษ์สงครามและความรุนแรง โดยมีฉากหลังเป็นลวดลายแบบจีนของศาลเจ้าจ้าวเองสือ

เบื้องหลังภาพที่คึกคักเหล่านี้ ซ่อนอยู่ในประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่อง Baju Guni (บาญู ฆูนี หรือ “เสื้อกระสอบ”) ที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการชื่อเดียวกันอยู่ในตึกขาวหน้าตลาดเทศวิวัฒน์

ย้อนไปในยุค 70s ชาวปัตตานีจำนวนมากเดินทางไปรับจ้างทำนาที่รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย พวกเขาหาซื้อเสื้อผ้ามาใส่กันแดดตอนทำงาน และเจอแหล่งเสื้อผ้ามือสองที่ขายเป็นกระสอบอยู่ที่รัฐกลันตัน กระสอบเสื้อผ้าเหล่านั้นเดินทางมาจากสิงคโปร์ เราไม่รู้ว่าก่อนหน้านั้นเดินทางมาจากที่ไหนบ้าง แต่หลังจากนั้นมันเดินทางมาสู่ปัตตานี และต่อไปยังตลาดนัดสนามหลวง ตลาดจตุจักร หรือตลาดนัดเสื้อผ้ามือสองในสามจังหวัดชายแดนใต้ ชาวปัตตานีจำนวนไม่น้อยประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับตลาดเสื้อผ้ามือสอง ซึ่งเป็นวงการที่ต้องใช้ทั้งฝีมือการทำความสะอาด การซื้อขาย การขนส่ง รวมไปถึงการคัดเลือกเสื้อผ้า ที่อาศัยความเข้าใจรสนิยมทางแฟชั่น ทั้งกระแสของโลก และความเข้าใจในแฟชั่นแต่ละชนิด

ความน่าสนใจของการจัดแสดง Baju Guni นี้คือการนำเสื้อวงร๋็อคแต่ละวงมาจัดแสดงสมกับคุณค่าและมูลค่าของพวกมัน เสื้อแต่ละตัวลอยล่องอยู่ในม่านขาวอย่างเงียบสงบ ตรงกันข้ามกับเสียงดนตรีของแต่ละวงที่อึกทึกครึกโครม พวกมันอาจจะเดินทางมาจากซอกหลืบไหนสักแห่งในกระสอบที่มัดแน่นจนเสื้อกลายเป็นก้อนหนัก ๆ ใหญ่ ๆ แต่มันกลายมามีสถานะทางเศรษฐกิจ ทางจิตใจ และทางวัฒนธรรม เกินกว่าที่จะจินตนาการได้ครบถ้วนเท่าสิ่งที่คนเล่นเขารู้กัน ซึ่งถ่ายทอดออกมาผ่าน ‘แสง’ องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับมิติทางจิตวิญญาณ พาเราหลุดลอยขึ้นไปหาอีกพื้นที่หนึ่งที่เต็มไปด้วยความงามที่เกือบจะศักดิ์สิทธิ์

เหนือขึ้นไปอีกชั้นของอาคารเดียวกันนี้ มีงานที่น่าสนใจอย่าง กะปิเยาะห์ของพ่อ ซึ่งนำหมวกที่ชาวมุสลิมสวมเพื่อประกอบศาสนกิจเช่นการละหมาด มาจัดแสดงด้วยภาษาสถาปัตยกรรมที่สร้างความรู้สึกล่องลอยคล้ายกัน โดยงานนี้เล่าเรื่องสายใยระหว่างพ่อลูก ที่เชื่อมต่อกันผ่านงานฝีมือในการทำกะปิเยาะห์

และในตึกเดียวกันนี้ก็มีงาน Pattani Palette นิทรรศการภาพถ่ายที่โชว์ฝีมืองานแฟชั่นสไตล์ลิ่งชุดเท่ ๆ แถมยังจัดแสดงแบบเท่ไม่แพ้กัน ในกองเสื้อผ้าที่ทั้งแขวนทั้งกองไปทั่วตามพื้นที่ต่าง ๆ ของตึกขาวแห่งนี้

‘บาญู ฆูนี’ ของเมืองปัตตานี อาจเป็นภาพสังคมในฝันแบบหนึ่ง ที่ศิลปะและวัฒนธรรมอยู่คู่ขนานแบบที่ไม่คู่ขนานกันขนาดนั้นก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญของการชูเรื่องนี้เป็นแนวคิดหลักการจัดงาน คือพลังของการเปิดบทสนทนาในวงกว้าง และการยกระดับความสำคัญ ของเสียง(ไม่)เล็ก(ไม่)น้อยต่าง ๆ ในเมือง ท่ามกลางกระแสการ “แบรนดิ้งเมือง” ที่ทำให้แต่ละเมืองต้องยกจุดเด่น ชูจุดขาย ให้เอกลักษณ์ของเมือง “เป็นหนึ่ง” น่าจดจำ ปัตตานีโชว์ให้เห็นว่าพวกเขาจัดการความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมต่าง ๆ แบบ(ไม่)คู่ขนานอย่างเท่าเทียมได้ โดยชูทั้งความโมเดิร์น ความร็อค ความตะวันตก และความคลาสสิค ความเชื่อ และประเพณีดั้งเดิม ขึ้นมาเป็นจุดเด่นของงานด้วยกัน แบบไม่จำเป็นต้องกลืนกินเป็นสิ่งเดียวกัน และทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนไหนที่อยู่ในเมือง มีส่วนร่วม และเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง ที่จะขับเคลื่อน “ชีวิต” ของเมืองนี้เอง

แต่นอกเหนือจากนิทรรศการในตึกขาว ปัตตานียังมีงานจัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะพวกเขานำภาษาแห่งโลกแฟชั่นกับภาษาสถาปัตยกรรมมาเจอกัน จนกลายเป็นพื้นที่นำเสนอประสบการณ์แบบท้าทายความคิดไม่น้อยเลยด้วย

‘ฮิญาบ’ กับรันเวย์ เมื่อภาษาเครื่องแต่งกายตามศาสนากลายมาเป็นภาษาสถาปัตยกรรม

ขยับมาที่ถนนปัตตานีภิรมย์ นิทรรศการ ฮิญาบ ใน In_t_af Cafe & Gallery คือการถอดรหัสความคิดของผืนผ้าคลุมศรีษะสตรีมุสลิมที่อาจสร้างข้อถกเถียงเขย่าโลกได้มากที่สุดชิ้นหนึ่ง

เพิ่งไม่นานมานี้เอง ที่เราได้ยินสายแฟชั่นพูดคุยกัน ว่าไอเทมร้อนแรงแห่งยุคชิ้นหนึ่งคือหูฟังครอบศรีษะขนาดใหญ่ และสายของมันที่โยงใยไปทั่วร่างกายของเรา เมื่อคิดมุมนี้เราก็มองเห็นสิ่งต่าง ๆ บนร่างกายเปลี่ยนไป มันเป็นองค์ประกอบศิลปะที่เป็นเส้น เป็นสี หรือเป็นพื้นผิวที่เข้ามาสื่อสารร่วมกับร่างกายของเรา และกระตุ้นความทรงจำเกี่ยวกับยุคสมัยที่ผ่านพ้นไป หรือแนวคิดความเชื่ออะไรที่อยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านั้น

ฮิญาบเองก็เป็นเครื่องปกคลุมร่างกายหนึ่ง ที่อยู่กับผู้หญิงมุสลิมมานาน ตั้งแต่ก่อนเราจำความได้ด้วยซ้ำ แต่พอมาที่ปัตตานีนี่เองที่เราถึงได้เห็นผู้คนใส่อฮิญาบกันทั่วไปทุกมุมมองสายตา เหมือนกับที่เราเห็นทรงผมขาวสามด้านของทหารวันละหลาย ๆ รอบเช่นเดียวกัน แล้วเลยยิ่งทำให้นึกไปถึงทรงผมมาตรฐานของเด็กชายเด็กหญิง ที่เป็นทรงนักเรียนบ้าง ถักเปียบ้าง แล้วเมื่อข้ามวัยมาสู่ชีวิตการทำงาน หลายคนก็ยังเลือกผมทรงนักเรียนหรือเลือกถักเปียเป็น “เครื่องแบบประจำตัวเอง” อยู่

ฮิญาบ ถึงจะไม่ใช่ “ทรงผม” แต่ก็เป็น “สไตลิ่ง” ที่บ่งบอกถึงกลุ่มวัฒนธรรมที่แต่ละคนสังกัดอยู่ เป็นเครื่องมือที่ผู้คนสื่อสารกับผู้อื่น และสื่อสารกับตัวเองภายในด้วย แน่นอนเราไม่สามารถปฏิเสธประวัติศาสตร์การควบคุมให้สวมฮิญาบในบางพื้นที่หรือบางช่วงเวลาได้ แต่สำหรับสังคมไทย และอาจรวมอีกหลาย ๆ ที่ในโลก (เช่นที่ปารีสโอลิมปิกล่าสุด) การสวมฮิญาบเป็นสเตตเมนต์ประกาศตน ต่อต้านการครอบงำทางวัฒนธรรมที่ “ห้าม” สวมฮิญาบ ไม่ว่าจะมาในระดับกฎทางการหรือกระบวนการกีดกันในทางปฏิบัติก็ตาม

และนิทรรศการฮิญาบนี้ก็พยายามรื้ออคติที่ติดตัวอยู่กับผืนผ้าฮิญาบ ด้วยการกลับไปหาความหมายดั้งเดิมของคำว่าฮิญาบ คือการเป็น ‘ม่าน’ หรือฉากกั้นในทางสถาปัตยกรรม ด้วยงานติดตั้งผ้าขาวบางเป็นชั้น ๆ ไล่ระดับตั้งแต่มุมมองภายนอกจากถนนปัตตานีภิรมย์ ค่อย ๆ เข้าสู่ด้านในสุด โดยที่เงาร่างของสิ่งต่าง ๆ จะเจือจางไปเรื่อย ๆ ตามแต่ละก้าวที่เราค่อย ๆ ห่างไกลออกไป ฮิญาบเป็นผิืนผ้าที่กรองเราจากโลกภายนอก และสร้างโลกภายในที่เรารับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัสจริง ๆ ก่อนที่จะดึงเราเข้าสู่โลกภายในที่เราเข้าถึงได้ผ่านประสาทสัมผัสใหม่ ๆ เพื่อเปิดทางเราไปหาบางสิ่งที่สูงส่งกว่า

พื้นที่นิทรรศการฮิญาบนี้ ไม่ได้เป็นแค่ม่านกั้นห้องส่วนตัวให้เราได้เป็นอิสระจากภายนอก แต่เป็นการนำเสนอกระบวนการ “ทำปรัชญา” แสวงหาความรู้หรือความจริงอีกวิธีหนึ่ง นอกเหนือจากการทำสมาธิหรือภาวนา คือการเดินทางเข้าไปสู่พื้นที่ภายใน และทิ้งห่างออกไปจากโลกภายนอก

และที่อาคารจัดแสดง ลูวา | ดาแล ที่ลานหน้าอาคาร มอ. ปัตตานีภิรมย์ ซึ่งนำเสื้อเชิร์ตมากั้นเป็นกำแพงสูงใหญ่ล้อมพื้นที่วงกลม เปิดช่องให้เดินเข้าไปกับทางยาวที่ปูด้วยวัสดุสะท้อนเงา รูปทรงคล้ายรันเวย์แฟชั่นโชว์ ที่นี่ ภาษาของแฟชั่นและสถาปัตยกรรมก็มาบรรจบกันอีกครั้ง

จากมุมมองด้านหน้า กระสอบทรายกองใหญ่จะบดบังสายตาของเราไม่ให้เห็นพื้นที่โล่งกว้างด้านใน เงาที่พื้นมีเพียงท้องฟ้า แดดจ้า และอาคารรอบข้างที่ห้อมล้อมสถานที่แห่งนี้ จนกระทั่งเข้าไปด้านในสุด เราถึงจะเห็นผนังเสื้อที่ห้อมล้อมเราอยู่อีกชั้นหนึ่ง สะท้อนเงาล้อไปกับท้องฟ้าและอาคาร จากกระสอบเสื้อยักษ์ใหญ่ ผลงานนี้จับมันแตกกระจายออกเป็นหน่วยเล็ก ๆ ของเสื้อหลาย ๆ ตัว รวมกันเข้าเป็นเงายักษ์ใหญ่ กระตุ้นความรู้สึกที่ท่วมท้นเมื่อสัมผัสได้ถึงชีวิตของคนอื่น ๆ

ลายพระราชทานที่ด้านหลังกางเกงยีนส์

พื้นที่เปรอะสีกับกระดาษ บล็อกพิมพ์ และหลอดไฟที่วางระเกะระกะในพื้นที่ของแบรนด์ภาพพิมพ์ทำมือของ ‘ไฟซอลบินฮารน มูอิ’ ในชื่อ ‘Mu-i Handprinted’ อาจจะเป็นงานจัดแสดงที่เรียบง่ายแต่ซื่อตรงต่อความรู้สึกได้กระแทกใจเราที่สุดในเทศกาล Pattani Decoded ปีนี้

ก้าวแรกที่เราเข้าไปในพื้นที่ของเขา โปสเตอร์ ‘GODLESS MOTHERFUCKER’ กับข้อความภาษาไทย “ฆ่ามันซะไอดอลของคุณ” พุ่งเข้ามากระแทกสายตาอย่างรุนแรง และเราคิดว่ามันคงรุนแรงยิ่งขึ้นอีกไม่รู้กี่ร้อยเท่าสำหรับผู้ที่ศรัทธาพระเจ้า แต่หลังจากนั่งลงคุยกับเขา เราพบว่าเราอาจคิดผิด?

“เราแค่อินกับหนัง กับวัฒนธรรมที่เราอยู่ด้วยกัน แล้วก็เลยอยากใส่เสื้อพวกนีี้ เราก็ทำในแบบของเรา ให้เพื่อน ๆ ใส่ก็ชอบ” เขาเล่า “จริง ๆ แล้วเสื้อ GODLESS MOTHERFUCKER มาจากการร่วมงานกับศิลปินตำนานผู้ดีไซน์เสื้อยืดโด่งดังชื่อดอน ร็อค (Don rock) อายุ 63 แล้ว สมัยก่อนเขาทำเสื้อให้วงแบบ Butthole Surfers แล้วเขามากรุงเทพฯ แล้วก็ได้ร่วมงานกัน เราก็ถามเขาว่าเป็นเอทิสต์ [ไม่เชื่อในพระเจ้า] ไหม เขาก็ทำท่า [ยกไหล่]”

“พี่มองว่ามันเป็นเหมือนคอนเส็ปต์งานศิลปะอะ เราไม่ได้ด่าพระเจ้า เราไม่ได้จะไปลบหลู่ แต่โฟกัสที่คอนเส็ปต์ในแง่ที่เราไปร่วมงานกับผลงานที่เป็นตำนานของเขามากกว่า” ซึ่งถ้าใครติดตามวงการดนตรีร็อคอยู่ ก็คงจะจำกันได้ว่าเสื้อลาย GODLESS MOTHERFUCKER นี้ เคยเป็นกระแสไปแล้วรอบหนึ่ง ตอนที่แอ็กเซิล โรส (Axl Rose) นักร้องนำวงกันส์แอนด์โรสเซส (Guns N' Roses) ใส่ขึ้นเวที แต่ฉบับที่ Mu-i มาร่วมด้วยครั้งนี้ เขาได้ใส่การตีความความหมายของ “พระเจ้า” ที่เจือปนไปด้วยทฤษฎีสมคบคิดเต็มไปหมดจนอัดแน่นเป็นลวดลายด้านใน

เท่าที่เรากวาดสายตาดูในห้อง ผลงานของเขามักจะสร้างขึ้นจากภาพชวนช็อคขนาดใหญ่ที่เรียกจุดสนใจคนได้แต่ไกล และรายละเอียดเล็ก ๆ ที่เขาเต็มและแต่งยุบยับเต็มภาพไปหมด เป็นส่วนผสมของความเท่ กับการตั้งคำถามและหาคำตอบที่ดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุด เช่นเดียวกับผลงานที่เขาร่วมมือกับดอนร็อค คำถามของเขามักจะมีน้ำเสียงกวนอารมณ์อยู่ไม่น้อย

การเมืองเรื่องการแสดงออกทางเสื้อสกรีน เป็นหนึ่งในเรื่องที่เถียงกันได้ไม่จบ ทั้งในแวดวงศิลปะและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ฟากฝั่งหนึ่งการใส่เสื้อที่มีสัญลักษณ์เพียงเล็กน้อย อาจทำให้ผู้มีอำนาจมองเราเป็นภัยความมั่นคงและถูกเล่นงานได้ และผู้คนไม่น้อยก็ใส่เสื้อเพื่อแสดงออกถึงความเชื่อ ซึ่งแฝงอยู่ในเนื้อเพลงของวงดนตรีบนเสื้อจริง ๆ แต่ที่อีกฟากฝั่งหนึ่ง สายแฟชั่นจำนวนมากก็ถูกตำรวจเสื้อวงเล่นงานแทน ว่าที่ใส่เสื้อวงนั้นวงนี้ รู้จักเพลงของพวกเขาแค่ไหน? เข้าใจความคิดความเชื่อของพวกเขาหรือเปล่า? ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ ว่าไม่ใช่ทุกคนที่ใส่เสื้อวงโพสต์พังค์จอย ดิวิชัน (Joy Division) จะเข้าใจอารมณ์หดหู่หลอกหลอนของยุคทุนนิยมตอนปลายในเนื้อเพลงของนักร้องเศร้าซึมจริง ๆ แล้วก็มีผลงานของ Mu-i เสื้อสกรีนที่เปิดเส้นทางใหม่ เส้นทางที่ตั้งคำถามว่าถ้าเรามองลวดลายยั่วยวนเหล่านั้นเป็นเพียงองค์ประกอบทางศิลปะเท่ ๆ ก็คงไม่ผิดอะไรต่อความคิดความเชื่อของตัวเองนัก? แต่ในขณะเดียวกันความเท่ของเขาก็คงปั่นป่วนความปกติของสังคมได้ไม่น้อยเหมือนกัน

เราอาจจะแต่งตัวแบบพังค์แต่ไม่ได้เป็นพังค์ขนาดนั้น ใส่เสื้อเช เกบารา แต่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ หรือใส่เสื้อ GODLESS MOTHERFUCKER ไม่ได้ “GODLESS MOTHERFUCKER” ขนาดนั้นก็ได้ แต่เราอดคิดไม่ได้ ว่าในวันที่สังคมรอบตัวประกอบกันเข้าพอเหมาะพอดี เสื้อวงพังค์ก็อาจจะทำให้คนลุกขึ้นมาขบถแบบเท่ ๆ เปลี่ยนแปลงสังคมตามแบบน้าเช หรือทบทวนความเชื่อของตัวเองอีกที ไม่ว่าหลังจากนั้นจะตั้งมั่นยิ่งกว่าเดิมหรือเปลี่ยนความคิดไป วิธีที่เราจะเข้าใจงานศิลปะตระกูลนี้ ไม่ว่าจะในฐานะผู้สร้างหรือผู้เสพ เลยอาจทำได้เพียงผ่านการทำความเข้าใจความคิดและวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมของมันเท่านั้น

“เราได้รับอิทธิพลมาจากรุ่นพี่ ที่เขาฟังเพลง แล้วก็ถ่ายทอดวัฒนธรรมมา เราซึมซับแบบไม่รู้ตัว เอาง่าย ๆ คือพี่เรามันเท่แบบจับต้องได้ แล้วก็ไปรับสื่อมา ไปทำความเข้าใจเพิ่ม” เขาเล่า ตอนที่เราถามถึงเสื้อนิว ออร์เดอร์ (์New Order) วงอิเล็กทรอนิคที่เกิดขึ้นหลังวงจอยดิวิชันจบชีวิตลง เสื้อของเขาเล่าเรื่องราวการเดินทางของวงที่แฟน ๆ เท่านั้นที่จะสนใจ

“ยีนส์ตัวนี้เดิมทีมันเป็นลายของเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีพระราชทานให้กับจังหวัดปัตตานี” เขาชี้ไปที่อีกผลงาน ซึ่งเราคงเดินผ่านไปแล้วถ้าเขาไม่ได้อธิบายก่อนว่ามันน่าสนใจแค่ไหน “ลายนี้มาจากรูปทรงของดอกชบากับช่องลมจากวังเจ้าเมืองยะหริ่ง ปกติแล้วลายนี้จะไปอยู่ตามเสื้อบาติก หรือเสื้อผ้าไทยต่าง ๆ เพราะเขาจะไม่นำไปทำกะโปรงหรือกางเกงกัน แต่เราก็รู้สึกว่ามันน่าจะสนุกดีถ้าจะเอามาใช้ทำเป็นเชิงสตรีท

“เราก็ไปเช็คกับทางวังเลยนะ ขอทำกางเกงยีนส์ได้ไหม แล้วคอนเส็ปต์เขาคือให้นำมาใส่ผ้าไทยให้สนุก เราก็ดึงช่างเย็บยีนส์บ้านเรามาทำ แต่เป็นผ้ายีนส์จากญี่ปุ่น สีก็เล่นกับเรื่องสีครามปัตตานี ก็เลยเป็นเหมือน Japanese Textiles, Pattanion Crafted, Pattani Indigo ซึ่งผู้ใหญ่เขาก็ชอบ เราอยากทำให้ดูว่าแบบนี้ก็ทำได้” เขากล่าว

มัสยิดรายอฟาฏอนี อาคารเกือบสองร้อยปี กับลวดลายจีนที่ซ่อนอยู่ภายใน

บันทึกทริปปัตตานีฉบับ Pattani Decoded ของเราอยากจบลงที่นี่ (แต่ทริปปัตตานียังไม่จบ เตรียมไปเทศกาลศิลปะนานาชาติ Kenduri Seni Patani กันต่อ) ที่มัสยิดรายอฟาฏอนีหรือรายอปัตตานี หมุดหมายที่ชาวมุสลิมจากประเทศเพื่อนบ้านมากมายต้องมาเยือนทุกครั้ง ในฐานะสถานที่สำคัญทางศาสนา ซึ่งตอนนี้เปิดให้เรามาชมพื้นที่ด้านในได้

ตามประวัติแล้วมัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัย ‘รัฐปัตตานี’ มีสุลต่านมูฮัมหมัดเป็นเจ้าเมือง โดยเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วง 2388 - 2399 และผ่านการก่อสร้างเพิ่มเติม จากอาคารไม้เป็นอาคารอิฐถาวร มีการขยายเพิ่มเติม ประดับตกแต่งด้วยลายไม้แกะสลัก ซึึ่งลายไม้นี่แหละ ที่น่าสนใจสุด ๆ เพราะภายในอาคารที่มีรูปทรงเรขาคณิตเต็มไปหมด ไม้แกะสลักในนี้เป็นลวดลายพรรณไม้สไตล์จีน

ก่อนเราก้าวเท้าออกจากมิสยิด เด็กชายคนหนึ่งชี้ให้ดูโคมไฟที่ด้านหน้า แล้วบอกว่ามันเป็นของเก่าแก่มาตั้งแต่นับร้อยปีที่แล้ว “แล้วยังใช้กันอยู่ไหม” เราถาม “เดี๋ยวนี้มันมีหลอดไฟใช้ได้แล้วนะพี่” เขาตอบ

จากความสงสัยในใจว่าทำไมถึงได้แปลชื่อธีมงาน ‘Unparalleled’ ว่า “ไร้เทียมทาน” เราคิดว่ามัสยิดแห่งนี้เป็นคำอธิบายที่น่าประทับใจสุด ๆ แล้ว เพราะแสดงให้เห็นถึงความเฉพาะตัวของประวัติศาสตร์เมืองปัตตานี ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน ผู้พร้อมต้อนรับอีกเส้นขนาน(?)อย่างเรา เข้าไปพูดคุย และแบ่งปันช่วงเวลาขณะนี้ร่วมกัน