ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถ้าใครเคยแวะเวียนไปหาที่นั่งชิลล์แถว ๆ ย่านสาทร ก็น่าจะเคยเห็นนิทรรศการ ‘If winter comes, can spring be far behind’ ใน Smokey Cat Coffee Roaster กันมาบ้าง โดยเจ้าของนิทรรศการนี้ก็คือ ‘พิมพ์ เพิ่มพูลสมบัติ’ ศิลปินนามธรรมอิสระ ผู้มองว่าความงามไม่ได้ยึดโยงอยู่กับความสมบูรณ์แบบเพียงอย่างเดียว และเธอยังเป็นศิลปิน Artist on our radar คนใหม่ของ GroundControl ประจำสัปดาห์นี้ ที่เราได้มีโอกาสพูดคุยด้วยเป็นครั้งแรก
บทสนทนาของพวกเรา เริ่มต้นขึ้นจากการทำความรู้จักกันทีละนิด ผ่านแนวคิดที่ซ่อนอยู่ในการทำงานของเธอ โดยพิมพ์ได้บอกกับเราว่า ถ้าเธอจะจัดหมวดหมู่งานของเธอ ความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่น่าจะอธิบายถึงงานเหล่านั้นได้อย่างใกล้เคียงที่สุด ก็คือ ‘lyrical abstractionism’ หรือ ‘ความนามธรรมเชิงอารมณ์’
“เราเรียนจบจากสถาปัตย์ภาคอินเตอร์ที่จุฬาฯ (INDA) และเมื่อปีที่แล้วได้ไปเรียนต่อทางด้านศิลปะ สาขา Master in art and ecology จาก มหาวิทยาลัย Nuova Academia di Belli Arti (NABA) ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ก่อนจะกลับมาอยู่ไทย ซึ่งตอนนี้เราก็อยู่ที่นี่มาได้หนึ่งปีแล้ว ก็เลยได้ลองเอาจริงเอาจังในการเป็นศิลปิน และหาเลี้ยงชีพจากการทำงานศิลปะ”
“แต่ด้วยความที่เราไม่เคยเรียนเทคนิคหรือหลักการการวาดรูป บวกกับความเชื่อในคุณค่าของสิ่งที่เกิดจากเติบโต และความสวยงามในการเปลี่ยนแปลง ทำให้งานเรามีเอกลักษณ์จากกระบวนการที่เกิดจากการทดลอง มีความเป็นอิสระ และความเป็นธรรมชาติ จากการไม่วางแผนหรือคาดหวังให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร เพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่เรารู้สึกเวลาวาดภาพ จะอยู่ในภาพ และส่งต่อผ่านคนดู”
“ถ้าจะจัดเป็นหมวดหมู่ น่าจะตรงกับ lyrical abstractionism โดยมีคีย์เวิร์ดที่นิยามความเคลื่อนไหวทางศิลปะนี้อยู่หลายคำ เช่น Imaginative (จินตนาการ), emotive (อารมณ์), expressive (แสดงออก), personal (ส่วนตัว), passionate (เร่าร้อน) และ completely subjective (เป็นอัตวิสัยโดยสมบูรณ์) งานของเราเลยเป็นสิ่งที่เกิดจาก Pure emotion (อารมณ์บริสุทธิ์) และ state of flow (สภาวะลื่นไหล) เมื่อเราวาดภาพ เรากำลังอยู่ในภวังค์และโลกในจินตนาการของเรา หลงลืมเวลาและดำดิ่งอยู่กับการวาดภาพตรงหน้าเท่านั้น”
“อีกสิ่งหนึ่งที่สอดแทรกอยู่ในงานเสมอคือ beauty of imperfection (ความงามของความไม่สมบูรณ์แบบ) ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก wabisabi โดยเราได้ถ่ายทอดออกมาในพื้นผิวที่บางทีอาจบอกไม่ได้ว่าสวยแต่แรกเห็น แต่ความหมายของชิ้นงานนั้นอยู่ที่ว่ามันเชื่อมโยงกับคนเสพได้รึเปล่า รอยแตก หรือพื้นผิวที่ขรุขระ ทำให้สื่ออารมณ์ได้มากกว่าพื้นผิวเรียบ ๆ ในบางที จุดนี้ทำให้งานเรามีความเป็นมนุษย์ คนที่อินและสัมผัสกับงานเราก็มองเห็นคุณค่าในสิ่งนี้เหมือนกัน”
หลังจากได้ฟังที่มาและแนวคิดในการทำงาน เราก็ได้ถามย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจของเธอด้วยว่า กว่าความคิดและสไตล์การทำงานเช่นนี้จะฟอร์มตัวขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างแบบปัจจุบัน อะไรกันที่ทำให้เธอรู้สึกสนใจกับเรื่องนี้
“พอมานั่งคิดดู เราก็แปลกใจเหมือนกันที่เราทำงานสไตล์นี้ เพราะตอนเด็กจะชอบวาดวัตถุต่าง ๆ เช่น ดวงตา ดอกไม้ ผู้หญิง พอโตมาหน่อยช่วงมหาลัยที่เรียนสถาปัตย์ฯ ก็หันมาวาดภาพเหมือน แต่เราคิดว่ามันคือการที่เราวาดสิ่งที่รู้สึกขาดในชีวิต และมาเติมเต็ม ปรับสมดุล ในชีวิต”
“อย่างเช่นตอนที่ทำงานเป็นสถาปนิกมา 4 ปี เราต้องยึดความสมบูรณ์แบบ เปรียบเป็นองค์ประกอบทางสายตาก็คือเส้นตรง ทำให้เราได้นิสัยเพอร์เฟคชันนิสต์ติดตัวมา เราจึงมองหาอะไรที่มาสร้างสมดุลให้กับตรงนี้ซึ่งก็คือความไม่มีแบบแผน ความไม่สมบูรณ์แบบ”
“ยังมีเรื่องของนิสัยส่วนตัวที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออก ก็เป็นอีกองค์ประกอบที่ทำให้งานออกมาเป็นงานนามธรรม เพราะงานสไตล์นี้มันจะมีความไม่ชัดเจนและเปิดกว้างให้คนตีความ เหมือนว่าพอเราวาดภาพเสร็จแล้ว เราก็ได้เอาตัวตนของเราแยกออกมา และปล่อยให้งานแต่ละชิ้นนั้นมีชีวิตและความหมายเปลี่ยนไปตามคนที่มาตีความได้เลย”
พิมพ์ยังเล่าให้เราฟังถึงเทคนิคที่ใช้ในการทำงานด้วยว่า “เทคนิคที่เราใช้ในการทำงาน ก็จะมีสีน้ำมัน สีอะคลิริค สีฝุ่น สีน้ำมันแท่ง และ สื่อผสมอื่น ๆ อาจเรียกว่าเป็น mixed media ก็ได้ ซึ่งเหตุผลที่เลือกใช้วัสดุเหล่านี้มาทำงาน เพราะสามารถทำซ้ำได้ ผสม ปนกัน เข้ากับวิธีการทำงานของเรา ที่ต้องการความยืดหยุ่นและอิสระทางเวลา ซึ่งเราก็ได้พัฒนามาจากอาจารย์ และเรียนรู้ด้วยการทดลองใช้เองไปเรื่อย ๆ จนตอนนี้ก็จะมีเทคนิคที่ใช้บ่อย ๆ อย่างเช่น การปล่อยให้สีไหลและผสมเข้าหากันเอง การใช้เลเยอร์บาง ๆ ซ้อนทับกันเรื่อย ๆเพื่อให้ภาพมีมิติ หรือการค่อย ๆ ลดทอนรายละเอียดจนทำให้เกิดภาพของที่ว่าง”
เพื่อสรุปภาพรวมให้เห็นภาพการทำงานชัดเจนขึ้น ก่อนจะจากกันไป เราเลยขอให้พิมพ์ช่วยเล่าถึงนิทรรศการล่าสุดที่เพิ่งจบไปอย่าง ‘If winter comes, can spring be far behind’ สักหน่อย ซึ่งเธอก็ได้อธิบายถึงนิทรรศการนี้ว่า “นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการที่พูดถึงอนาคต ความหวังและความฝันค่ะ”
“คือก่อนที่เราจะทำนิทรรศการนี้ เราได้มีชุดงานแสดงก่อนหน้าแล้วคือ A dopo ที่จัดแสดงที่ Luka cafe Sathorn ซึ่งพูดถึงความทรงจำที่ตกค้างในอดีต พอจบชุดนี้ เราเลยอยากพูดถึง อนาคต ความหวัง และความฝัน ใน If winter comes, can spring be far behind โดยเราได้ไอเดียนี้มาระหว่างที่กำลังนั่งวาดรูปในสตูดิโอตอนดึก ๆ”
“ชื่อนิทรรศการมาจากประโยคที่เราบังเอิญนึกถึงในคืนนั้น คือคำว่า If winter comes, can spring be far behind? มันเป็นเหมือนการเตือนใจว่า ถึงแม้เราจะอยู่ในช่วงเวลาที่เหน็บหนาวหรือเศร้าใจ ฤดูใบไม้ผลิหรือช่วงเวลาที่ดีก็จะตามมาเสมอ เราเลยพยายามถ่ายทอดความหวังนี้ออกมาผ่านภาพวาดแมวเก้าชีวิต และภาพทิวทัศน์ที่ใช้สีธรรมชาติ อย่างสีน้ำตาล น้ำเงิน เขียว และส้ม แล้วก็เพิ่มสีโลหะวิบวับลงไปเพื่อให้ดูพิเศษ”
พิมพ์ยังแชร์ให้เราฟังถึงแนวทางการทำงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยว่า “เราเชื่อว่าภาพที่เราวาดคือส่วนหนึ่งของตัวเรา มันสะท้อนความคิด ตัวตน และ การใช้ชีวิต ดังนั้นหากถามว่างานในอนาคตจะเป็นอย่างไร เราหวังว่างานจะไปในทิศทางที่มีความเป็นตัวเอง เจอสไตล์ของตัวเองมากขึ้น และยังมีคาแรกเตอร์ของความเป็นอิสระ ไม่มีแบบแผน โดดเด่นขึ้นมา แต่อาจดูมีความผู้ใหญ่และนิ่งมากขึ้น และเรายังอยากทำงานที่ดูเป็นการทดลองอยู่ หรืองานประติมากรรมและงานติดตั้งด้วย”
Fogstone(Left)
2024
47x70 cm
Mixed media on canvas
Crema (Right)
2024
30x23 cm
Acrylic and oil on canvas
‘Outside the walls’ exhibition
เป็นงานที่เราทำร่วมกับศิลปินเซรามิก ภาพซ้ายตรงมุมล่างนั้นคือชิ้นงานเซรามิก เป็นชิ้นงานที่ลองทำให้สื่อกลางอย่างภาพวาดและเซรามิกเชื่อมโยงกัน โดยใช้องค์ประกอบทางสายตาและการจัดองค์ประกอบภาพ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากบทกลอนหนึ่งที่มีใจความสำคัญคือ “our love was born outside the walls” ที่เราแปลความหมายและถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมาผ่านสีและพื้นผิวสัมผัสขององค์ประกอบจากธรรมชาติต่าง ๆ อย่างชิ้นนี้เรานึกถึงหินและสายหมอก
Eversun
2024
90x90 cm
Oil on linen
If winter comes, can spring be far behind ? Exhibition
เป็นภาพที่เรารู้สึกว่าให้พลัง ไฟที่ลุกอยู่ แต่ไม่ร้อน มองแล้วรู้สึกอุ่นๆ และมีรายละเอียดตรงสะเก็ดสีขาวทางซ้ายของรูปที่เกิดจากสีที่สาดมาจากตอนที่วาดอีกภาพข้าง ๆ เป็นเหมือน happy accident
‘The other half’ Series
2023
12x25 cm
Mixed media on canvas
งานชุดนี้เกิดจากภาพสองภาพที่วาดจากต่างเวลา ต่างวัสดุ ต่างความรู้สึก และเมื่อนำมาอยู่ข้างกันแล้วดูพร้อมกัน เรารู้สึกเหมือนมันเกิดมาคู่กันพอดี เปรียบกับ the other half หรือ soulmate ที่มองว่าชีวิตคือการเติมเต็มซึ่งกันและกัน เรารู้สึกว่ามันน่ารักดี
Epithalamium
2024
210x91 cm
Oil and acrylic on linen
‘Outside the walls’ series
เรามองภาพนี้เป็น landscape ซึ่งเราไม่ค่อยได้วาดและเกิดจากความบังเอิญ มีลม สายฝน ผืนดิน และท้องฟ้า .. บางทีเราก็อยากให้งานออกมาเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และแค่ทำให้คนดูรู้สึกดีและสบายใจเมื่อมองภาพวาด
หากใครที่ชื่นชอบแนวคิดแบบ Wabisabi และอยากชมงานศิลปะนามธรรมที่ดูแล้วสบายใจ ก็สามารถติดตามผลงานของ Pim Permpoolsombat กันได้ที่ https://www.instagram.com/pim.perm/