GC - caravaaggio web.jpg

จาก R.E.M. สู่ DIOR สารพันความ ‘ป็อป’ ที่ได้รับอิทธิพลจาก Caravaggio

Art
Post on 3 October

Tenebrism คือเทคนิคการใช้แสงและเงาที่แตกต่างสุดขั้ว เพื่อเน้นย้ำและสร้างความดรามาติกในผลงานจิตรกรรม โดยผู้ที่ทำให้เทคนิคดังกล่าวกลายมาเป็นที่นิยมในวงกว้างมาตั้งแต่ยุคบาโรกจนก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ มิเกลันเจโล เมริซิ ดา คาราวัจโจ (Michelangelo Merisi da Caravaggio) ศิลปินเอกของโลกชาวอิตาเลียน ผู้เต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาวตลอดระยะเวลา 38 ปีของชีวิต แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้ทิ้งผลงานระดับมาสเตอร์พีซไว้ให้กับโลกศิลปะอีกมากมาย

ผลงานจิตรกรรมของคาราวัจโจไม่ได้มีจุดเด่นเพียงการใช้แสงสว่างและเงามืดที่ตัดกันสุดขีดตามแบบฉบับของ Tenebrism เท่านั้น แต่ยังโดดเด่นที่การพาเราไปสำรวจสภาวะความเป็นมนุษย์ ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ผลงานของเขาสะท้อนให้เห็นถึงความโหดร้าย รุนแรง และความตายผ่านความเหมือนจริงของฝีแปรงที่เฝ้าสังเกตรายละเอียดเล็ก ๆ ที่เพิ่ม ‘ชีวิต’ ให้กับผลงานจิตรกรรมแบน ๆ ได้อย่างเข้มข้น

สไตล์อันจัดจ้านของคาราวัจโจไม่ได้หยุดยั้งอยู่ที่ผลงานของตัวเขาเองเท่านั้น แต่ยังทรงอิทธิผลไปถึงศิลปินร่วมรุ่นและศิลปินรุ่นลูกรุ่นหลานอีกหลายยุคหลายสมัย ซึ่งในเวลาต่อมา บุคคลเหล่านี้ก็ถูกเรียกว่า ‘Caravagists’ (อ่านต่อได้ที่: t.ly/A8k9) ซึ่งศิลปินในกลุ่มนี้ก็มีตั้งแต่ รูเบนส์ (Rubens), แบร์นีนี (Bernini) ไปจนถึง แร็มบรันต์ (Rembrandt)

เนื่องในโอกาสที่วันที่ 29 กันยายนคือวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 451 ปีของคาราวัจโจ เราจึงขอชวนทุกคนย้อนกลับไปสำรวจอิทธิพลของคาราวัจโจที่ส่งผลต่อเหล่า Caravaggists ในโลกวัฒนธรรมป็อปยุคสมัยใหม่ ที่มีตั้งแวดวงภาพยนตร์ ภาพถ่าย ดนตรี ไปจนถึง แฟชั่น

อิทธิพลในงานภาพยนตร์

หนึ่งในคนที่ออกตัวว่าเป็น ‘แฟนตัวยง’ ของคาราวัจโจ และได้รับอิทธิผลจากผลงานของเขาเสมอมาคือ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ผู้กำกับรุ่นใหญ่ที่มีผลงานโด่งดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Taxi Driver (1976), Raging Bull (1980), Goodfellas (1990), Casino (1995), Shutter Island (2010), The Wolf of Wall Street (2013) และอื่น ๆ อีกมากมาย เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การจัดแสงของฉากบาร์ในภาพยนตร์เรื่อง Mean Streets (1973) นั้นได้รับแรงบันดาลใจโดยตรงมาจากภาพวาด The Calling of St. Matthew (1599 - 1600) ของคาราวัจโจนั่นเอง

ไม่เพียงภาพยนตร์ของสกอร์เซซีเท่านั้นที่ดูจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานจิตรกรรมของคาราวัจโจ แต่เทคนิคการใช้แสงเงาแบบ Tenebrism ยังทรงอิทธิพลต่อการงานภาพของภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์ (Film Noir) และเยอรมันเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (German Expressionism) ที่แม้จะมีลักษณะเป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีเพียงสีขาวดำ แต่จุดเด่นของการจัดแสงแบบดรามาติกที่เน้นการตัดกันของแสงสว่างกับเงามืดแบบสุดขั้วก็ยังคงมีเห็นอย่างเด่นชัด แม้แต่ภาพยนตร์ในตำนานอย่าง The Godfather (1972) หรือ Apocalypse Now (1979) ของผู้กำกับ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola) เองก็มีการนำเทคนิคดังกล่าวมาใช้อยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ ยังมีผลงานภาพยนตร์อัตชีวประวัติของคาราวัจโจอย่าง Caravaggio (1986) ของผู้กำกับ เดเร็ค จาร์มาน (Derek Jarman) ให้ผู้ที่สนใจชีวิตและผลงานของเขาได้รับชมด้วย

อิทธิพลในงานภาพถ่าย

อีกหนึ่งศิลปินที่ได้รับอิทธิพลมาจากคาราวัจโจไม่แพ้สกอร์เซซีคือ เดวิด ลาชาเปลล์ (David LaChapelle) ช่างภาพและผู้กำกับมากความสามารถที่มีผลงานโลดแล่นอยู่ทั้งในโลกศิลปะ แฟชั่น และดนตรี DNA ของคาราวัจโจที่แทรกซึมอยู่ในผลงานของเขาไม่เพียงจำกัดอยู่ที่การใช้แสงเงาอันจัดจ้านในบรรยากาศ แต่ยังครอบคลุมไปถึงการสำรวมสภาวะความเป็นมนุษย์ของผู้คนในยุคสมัยใหม่ที่มีทั้งจริงแท้และความบิดเบี้ยวปะปนกัน

หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจของผลงานภาพถ่าย After the Deluge: Cathedral (2007) ของลาชาเปลล์ที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของคาราวัจโจที่มีผลต่อผลงานของเขาอย่างเด่นชัดที่สุด ทั้งรูปแบบและการสำรวจเรื่องราวทางศาสนาคริสต์

อิทธิพลในงานดนตรี

แม้ในปัจจุบันจะมีมิวสิกวิดีโอหลากหลายตัวที่มีลักษณะการใช้แสงเงาตามขนบแบบ Tenebrism ของคาราวัจโจ (อย่างล่าสุดเองก็มีมิวสิกวิดีโอเพลง Pray (2018) ของ แซม สมิธ (Sam Smith) และ โลจิก (Logic) ที่ทางผู้สร้างเปิดเผยว่า ได้รับแรงบันดาลมาจากผลงานจิตรกรรมของคาราวัจโจเต็ม ๆ)  แต่ถ้าจะให้ยกตัวอย่างมิวสิกวิดีโอสักตัวที่นำเสนออัตลักษณ์ของคาราวัจโจออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุดคงจะหนีไม่พ้นมิวสิกวิดีโอเพลง Losing My Religion ของวงระดับตำนานจากสหรัฐอเมริกาอย่าง R.E.M. ที่หลาย ๆ ฉากเป็นการนำผลงานมาสเตอร์พีซของคาราวัจโจมาตีความและรีครีเอทใหม่แบบตรงไปตรงมา

ซึ่งผู้กำกับที่รับผิดชอบการถ่ายทอดภาพสวย ๆ ในมิวสิกวิดีโอเพลง Losing My Religion ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ ทาร์เซม ซิงห์ (Tarsem Singh) ผู้กำกับตัวจี๊ดเจ้าของผลงานภาพยนตร์ภาพสวยในดวงใจเหล่าซีเนไฟล์อย่าง The Cell (2000) และ The Fall (2006) นั่นเอง โดยผลงานจิตรกรรมของคาราวัจโจที่ถูกนำมาใช้เป็น ‘เรฟ’ ในมิวสิกวิดีโอนี้ก็มีตั้งแต่ภาพ The Incredulity of Saint Thomas (1601 - 1602)  ไปจนถึงภาพ The Entombment of Christ (1603 - 1604) เลยทีเดียว 

อิทธิพลในงานแฟชั่น

ผลงานของคาราวัจโจถูกนำมาต่อยอดเป็นสินค้าแฟชั่นในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการนำลายเส้นและสีแปรงของเขามาใช้บนผืนผ้าหลากสไตล์ (เมื่อเดือนที่ผ่านมา แบรนด์สตรีทแวร์ไฮเอนด์อย่าง Off-White™ ก็เพิ่งปล่อยคอลเลกชั่น Foreign Exchange ที่นำผลงานจิตรกรรมของคาราวัจโจมาพิมพ์ลงบนเสื้อยืดหลากสี) หรือการรังสรรค์แคมเปญแฟชั่นที่นำกลิ่นอายของศิลปินเอกผู้นี้มาตีความใหม่ในบริบทปัจจุบัน

แคมเปญแฟชั่นที่หยิบยืมอัตลักษณ์ของคาราวัจโจมาใช้อย่างชาญฉลาด และตรงไปตรงมาที่สุดคงจะหนีไม่พ้น DIOR Spring/Summer 2021 ที่สร้างกระแสกลายเป็นไวรัลในโลกอินเตอร์เน็ตอยู่พักใหญ่ พวกเขาไม่เพียงนำจุดเด่นในผลงานของคาราวัจโจอย่างการจัดแสงเงาสุดดรามาติก สีสันที่แสนมืดมนแต่จัดจ้าน หรือท่าทางการโพสของนางแบบที่ดูราวกับหลุดมาจากผลงานจิตรกรรมยุคบาโรก แต่แคมเปญนี้ยังมีแนวคิดเพื่อเฉลิมฉลองความเป็นเลิศของสตรีนิยมด้วย เรียกได้ว่า เป็นการผสมผสานระหว่างความเก่ากับความใหม่ผ่านบริบทของแฟชั่นของศตวรรษ 21 ได้อย่างลงตัวทีเดียว