ขนมหม้อแกง กาละแม น้ำตาลสด และของฝากสารพัดอย่างที่ถ้าเอ่ยชื่อออกมาใคร ๆ ก็ต้องจับไต๋ได้ทันทีว่า “ฮั่นแน่! เพิ่งขับรถผ่านร้านขายของฝากเมืองเพชรมาล่ะซี่” ซึ่งความเลื่องชื่อลือชาในฐานะเมืองขนมหวานนี้ไม่ได้มีแค่พวกเราชาวไทยที่คิด แต่แม้กระทั่งองค์กรสำคัญของโลกอย่างยูเนสโกเองก็ยังยกให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ประจำปี 2564 (City of Gastronomy) ด้วยเหมือนกัน
ตามประสาคนช่างสงสัย พอได้ยินชื่อเสียงของรสชาติอาหารอันโดดเด่นไม่เป็นรองใคร ก็ต้องอยากรู้เบื้องหลังเป็นธรรมดาว่า กว่าเมืองเพชรบุรีจะประกอบสร้างรสชาติอาหารอันกลมกล่อมของเมืองขึ้นมา จนเป็นเอกลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับแบบนี้ พวกเขามีองค์ประกอบอะไรที่น่าสนใจบ้าง และถ้าคุณเองก็เริ่มสงสัยในประเด็นนี้ด้วยเหมือนกัน ก็คงต้องบอกเลยว่าในนาทีนี้ไม่มีงานไหนที่จะพาเราไปไขปริศนาคาใจได้ละเอียดยิบเท่านิทรรศการ ‘Portrait (Taste) of Phetchaburi รูปรสแห่งเมืองเพ็ชร์’ อีกแล้ว
เพราะนิทรรศการ ‘Portrait (Taste) of Phetchaburi รูปรสแห่งเมืองเพ็ชร์’ เป็นนิทรรศการศิลปะสื่อผสม ที่นำเสนอเรื่องราวของชุมชนสร้างสรรค์จำนวนแปดอำเภอในจังหวัดเพชรบุรีผ่าน ‘รสชาติ’ ที่เป็นมากกว่าอาหาร จากสายตาของศิลปินภาพถ่ายและสื่อผสมเก้าคน ประกอบไปด้วย กมลเนตร เรืองศรี (กอมอนอ), กันต์รพี โชคไพบูลย์, ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช, ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์, ทรงกรด ศตรัตพะยูน, พลอยดาว ธีระเวช, พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ (PEAR is Hungry), พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ (Addcandid), วิรุนันท์ ชิตเดชะ, วีระพล สิงห์น้อย (FOTO_MOMO), ศิริชัย รักซื่อ, ศุทธิวัต เมฆสกุล และอาวุธ ชินนภาแสน
เมื่อความสงสัยพร้อม ตัวงานที่ตอบโจทย์ก็พร้อม แถมยังประจวบเหมาะกับช่วงนี้เมืองเพชรบุรีเขากำลังจัดงานประจำปีของจังหวัดอย่างงาน ‘พระนครคีรี’ พอดี พอมีสถานที่ให้ต้องตะลอนทัวร์เยอะแบบนี้ GroundControl ก็เลยตัดสินใจเช่ารถยนต์ไฟฟ้าจาก EVme ออกเดินทางไกลครั้งใหญ่แบบไม่กลัวน้ำมันหมด (เพราะชาร์จไฟฟ้า) ยิงยาวรวดเดียวจากกรุงเทพถึงเพชรบุรีแบบปลอดภัย มั่นใจ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมเริ่ม GC Special Route ครั้งใหม่แบบสองวันหนึ่งคืน เพื่อเก็บเอาห้ากิจกรรมเด่น ๆ สุดน่าสนใจจากนิทรรศการ ‘Portrait (Taste) of Phetchaburi รูปรสแห่งเมืองเพ็ชร์’ มาฝากทุกคน บอกได้เลยว่าทริปนี้มีแต่ความสนุก อบอุ่น และอิ่มท้องรอทุกคนอยู่ ตามธงทัวร์มาเลยจ้า
สำรวจนิทรรศการ ‘Portrait (Taste) of Phetchaburi รูปรสแห่งเมืองเพ็ชร์’
โรงงานเพ็ชรปิ่นแก้ว
ท่ามกลางความสนุกครึกครื้นของงานพระนครคีรี 2567 ที่ผู้คนมากมายกำลังเดินขึ้นเขาวังและชมวิวทิวทัศน์อย่างสนุกสนาน บ้างก็กำลังนั่งรอชมพุสวย ๆ ยามเย็นที่ยังมาไม่ถึง ไม่ไกลจากตรงนั้นคือที่ตั้งของ โรงงานเพ็ชรปิ่นแก้ว สถานที่จัดแสดงนิทรรศการ ‘Portrait (Taste) of Phetchaburi รูปรสแห่งเมืองเพ็ชร์’ อันเป็นจุดหมายหลักแห่งแรกของพวกเราในทริปนี้ หลังจากจอดรถ EV เสร็จสรรพและเตรียมอุปกรณ์สไตล์ทัวร์ไทยพร้อมแล้ว พวกเราก็มุ่งหน้าสู่นิทรรศการทันที
และสมกับที่ชื่อว่านิทรรศการ ‘Portrait (Taste) of Phetchaburi รูปรสแห่งเมืองเพ็ชร์’ เพราะเมื่อเราเดินเข้ามาได้ไม่กี่ก้าวก็เห็นภาพถ่ายมากมายถูกติดตั้งเอาไว้อยู่ ประกอบไปด้วยภาพสถานที่ ผู้คน รมถึงวัตถุดิบทางการเกษตรที่คุ้นตามากและแปลกตาไปเลยก็มี โดยชิ้นงานที่เตะตาเราสุด ๆ คือการนำภาพหลาย ๆ ภาพไปปักไว้ในกองเกลือขนาดใหญ่ และเมื่อเรามองต่อไปก็จะเห็นรูปนาเกลือในหลากหลายมุมมและช่วงเวลาวางอยู่ เบื้องหลังของผลงานชิ้นนี้ ก็คือการพูดถึง ‘เกลือบ้านแหลม’ หนึ่งในวัตถุดิบสามอย่างนอกเหนือจากน้ำตาลตะโหนดและมะนาวแป้น ที่ได้รับมาตรฐาน GI (Geographical Indication) หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อันเป็นเครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นที่ผลิตขึ้นในจังหวัดเพชรบุรีเท่านั้นนั่นเอง
การได้เดินทอดน่องมองภาพถ่ายในแต่ละจุดไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้เราซึมซับประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ธรรมชาติ ไปจนถึงความรู้สึกและความผูกพันของผู้คนเมืองเพชร ที่หลอมรวมกันออกมาเป็น ‘รสชาติ’ ที่ไม่เหมือนใครของเพชรบุรี ซึ่งภายในงานนี้ก็ยังมีการนำวัตถุดิบล้ำค่าอันเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นอย่าง น้ำตาลตะโหนด เกลือบ้านแหลม และมะนาวแป้น มาเปลี่ยนให้เป็นสามรสชาติไอศกรีมแสนอร่อยอย่าง รสกะทิน้ำตาลตโนด ซอลต์คาราเมล และโมจิโต้ใส่มะนาวให้เราได้ลิ้มลองกันด้วย แถมยังมีการพิมพ์ลายเมืองเพชรเป็นกิมมิคเล็ก ๆ ที่น่ารักสุด ๆ
ส่องอาหารจิ๋วในนิทรรศการ ‘Tiny Taste of Phetchaburi’
โรงงานเพ็ชรปิ่นแก้ว
อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่าทริปนี้เราเน้นกันเรื่อง ‘รสชาติ’ เมืองเพชรเป็นหลักจริง ๆ หลังจากได้ความรู้เบื้องหลังผ่านภาพผู้คน วัฒนธรรม และวัตถุดิบสำคัญของจังหวัดเพชรบุรีกันไปแล้ว พร้อมประเดิมต่อมรับรสด้วยไอศกรีมสุดพิเศษถึงสามรส ก็มาถึงคิวของอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากนิทรรศการแรกนักอย่างนิทรรศการ ‘Tiny Taste of Phetchaburi’ จาก ‘พลอยดาว ธีระเวช’ นักเล่าเรื่องคนเก่ง ผู้ชื่นชอบการสะสมเครื่องครัวจิ๋ว และยังเป็นเจ้าของรัานอาหารจิ๋ว ‘Le Petit Restaurant’ อีกด้วย
บรรยากาศภายในงานนี้ก็ตรงตัวตามชื่อนิทรรศการ คือเราจะเน้น ‘ความจิ๋ว’ จริง ๆ เพราะเมื่อเราเข้าไปในตัวนิทรรศการ เราจะได้รับแว่นขยายประจำตัวกันไปคนละอันเพื่อส่องดูอาหารขนาดจิ๋วที่วางอยู่ในครัว พร้อมกับกล่องกระดาษเล็ก ๆ ไว้เก็บข้อมูลอาหารที่เราสนใจ และสมกับที่พลอยดาวเขามีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่เมืองเพชรบุรี เพราะเมนูอาหารจิ๋วแต่ละอันที่วางค่อนข้างเป็นเมนูพื้นถิ่นที่น่าค้นหามาก ๆ เช่น ข้าวแช่เพชรบุรี แกงหลอก ขนมจีนทอดมัน และขนมหวานเมืองเพชรต่าง ๆ เป็นต้น เรียกว่าหลังจากเดินส่อง ซูม และดูรายละเอียดจนทั่วทั้งงานแล้วก็เริ่มหิวขึ้นมาทันทีเลย
หนังสือ 'Portrait taste of Phetchaburi'
โรงงานเพ็ชรปิ่นแก้ว
ถ้าใครรักและชอบสะสมหนังสือ (เหมือนเรา) ก็น่าจะชอบกิจกรรมนี้กันสุด ๆ เพราะหลังจากเดินทัวร์จนทั่วนิทรรศการ จุดแวะต่อไปของเราก็คือการไปเอาหนังสือนั่นเอง ซึ่งหลังจากถ่ายทอดผ่านภาพถ่าย และศิลปะจัดวางมากมาย รวมถึงในรูปแบบอาหารกินได้ ทีมงานเขาก็มองว่าความกลมกล่อมอีกอย่างที่จะรับรสชาติเพชรบุรีได้ดีไม่ต่างกัน ก็คือการใช้สายตาอ่านตัวหนังสือ โดยเราสามารถสแกน QR code ภายในงานเพื่อบริจาคค่าหนังสือจำนวน 300 บาท แก่โรงเรียนธรรมิกวิทยา (สอนคนตาบอด) และโรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน ชะอำ แล้วก็รับหนังสือไปได้เลย
สำหรับหนังสือที่ทางนิทรรศการเขาแจกก็มีชื่อว่า 'Portrait taste of Phetchaburi' ตามชื่อนิทรรศการเลย โดยเป็นหนังสือที่รวมเอาบันทึกเรื่องราวอันน่าสนใจของเมืองเพชร ทั้งในแง่ของอาหาร ผู้คน ประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยวจากชุมชนสร้างสรรค์และพื้นที่รอบข้างในจังหวัดเพชรบุรีทั้งแปดอำเภอ รวมถึงพื้นที่ลับ ๆ ที่มีแค่เหล่าคนท้องถิ่นเท่านั้นที่รู้เอาไว้ในเล่มเดียว แถมภายในเล่มยังมาพร้อมกับ 'Phetchaburi Local Guide' แผนที่ภาพประกอบสุดน่ารัก ที่จะโชว์ของดีในแต่ละชุมชนสร้างสรรค์ทั้งแปดอำเภอในเมืองเพชรบุรี และในส่วนของหน้าปกเองก็ยังมีให้เลือกสะสมถึงแปดแบบ อ้างอิงจากแปดอำเภอสร้างสรรค์
เอ็นจอยอีทติ้งที่ ‘บางควาย's เทเบิล’
ชุมชนบางควาย
กองทัพต้องเดินด้วยท้อง แน่นอนว่าเราก็ต้องเติมอาหารเข้าท้องกับเขาด้วยเหมือนกัน หลังจากเดินชมภาพวัตถุดิบและใช้แว่นขยายส่องเมนูจิ๋วที่โรงงานเพ็ชรปิ่นแก้วจนท้องกิ่ว ก็ได้เวลาทานอาหารเมืองเพชรกับเขาจริง ๆ สักที และสถานที่ที่เรามุ่งหน้าไปก็คือ 'บางควาย's เทเบิล' ร้านลับแห่งใหม่ที่ซ่อนตัวอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากชุมชนบางควายละแวกชะอำ ชุมชนชาวประมงเล็ก ๆ ที่ยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมกันเอาไว้อยู่ โดยงานนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Portrait (Taste) of Phetchaburi ที่ต้องการนำเสนอรสชาติจากชุมชนคนเพชรบุรี จัดโดยโรงเรียนสังเคราะห์แสง จังหวัดเพชรบุรี และมหาวิทยาลัยศิลปากร
สำหรับความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนบางควายนั้นถือว่าน่ารักอบอุ่นมาก ๆ โดยพวกเขาจะจับปลากันแค่พอกินวันต่อวันเท่านั้น หากเหลือถึงจะนำไปขาย ทำให้ของทะเลจากบางควายมีความสดใหม่สุดๆ ไม่มีค้างคืน และเมื่อเราเดินทางมาถึงพื้นที่ชุมชนบางควายเป็นที่เรียบร้อย เหล่าไกด์ตัวน้อย ๆ ก็รีบพากันออกมาต้อนรับผู้คนกันอย่างรู้งาน ด้วยเหตุนี้ในระหว่างทางก่อนจะไปถึง 'บางควาย's เทเบิล' เราเลยได้เดินชมภาพวิถีชีวิตผู้คน การทำประมง และเดินเที่ยวในวัดไทรย้อย วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2458 หรือยุครัชกาลที่หกเลยทีเดียว
หลังจากเดินทัวร์กันจนทั่ว แปปเดียวก็มาถึง 'บางควาย's เทเบิล' ที่มี ‘เชฟปลา’ และ ‘แพร - พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์’ หรือ ‘PEAR is hungry’ รอคอยทุกคนอยู่แล้ว ซึ่งอาหารที่พวกเราจะได้กินกันในวันนี้ ก็มาจากวัตถุดิบสด ๆ จากทะเลที่ชาวชุมชนบางควายเขาเพิ่งจับกันมาวันนี้เลย โดย 'เชฟปลา' ก็จะรับไม้ต่อจากเหล่าชาวประมงในการรังสรรค์เมนูปลาอย่างพิถีพิถันให้ทุกคนได้อิ่มท้องกัน ซึ่งความพิเศษของการทำอาหารของพี่ปลา ก็คือการไม่ทิ้งปลาหรือชิ้นส่วนใด ๆ ของวัตถุดิบให้เสียเปล่าเลย แม้ว่าปลาเหล่านั้นจะเป็นปลาติดอวนตัวเล็กก้างเยอะก็ตาม เพราะพี่ปลาสามารถแล่และนำมาทำอาหารได้ทั้งหมด
ในส่วนของเมนูเด่น ๆ ที่ต้องลองกันให้ได้สักครั้ง ก็คือ ปลาทูย่างเตาถ่าน เมี่ยงพล่า ปลาใส่โต๋ผัดขึ้นฉ่าย ปลาอดอยากทอดกรอบ ต้มปลาทูโบราณ ทอดมันปลา ข้าวเปิบปลาทูเตี้ยข้างเตา ฯลฯ ที่พอวัตถุดิบมันสดมาก ๆ ก็ทำให้เนื้อปลานั้นชุ่มฉ่ำน่ากิน ยิ่งมาคลุกเคล้าเข้ากับเทคนิคการทำอาหารสุดมืออาชีพของเชฟปลา ก็ยิ่งปรุงให้มันอร่อยมากขึ้นจนอยากกลับไปกินอีกทุกวันเลย บอกได้เลยว่าถ้าใครอยากลองลิ้มชิมรสด้วยตัวเองต้องรีบจองแล้วเพราะตอนนี้เหลืออีกแค่สองรอบเท่านั้น คือรอบวันที่ 23 และ 24 มีนาคม 2567 ในราคา 800 บาทต่อคน โดยรายได้ทั้งหมดจะถูกกระจายสู่ชุมชนด้วย
หากสนใจอยากลองเข้าไปชิมเมนูปลาสด ๆ จาก 'บางควาย's เทเบิล' สามารถโทรจองได้ที่เบอร์ 08 5297 8529 (คุณสุนิสา)
ถ่ายภาพสถาปัตยกรรมเก่าไปกับ Photo walk : Pers ‘PHETCH’ tive Photowalk
ย่านวัดเกาะและถนนพานิชเจริญ
เติมพลังจนเต็มพุงกันที่ 'บางควาย's เทเบิล' แล้ว ก็ได้เวลาบริหารน่องเดินตะลอนไปกับกิจกรรมสุดพิเศษปิดท้ายทริปอย่างกิจกรรม ‘Photo walk : Pers ‘PHETCH’ tive Photowalk’ ณ ย่านวัดเกาะและถนนพานิชเจริญ โดยมี ‘เบียร์-วีระพล สิงห์น้อย’ ช่างภาพชาวเพชรบุรีจาก ‘Foto_momo’ โปรเจกต์ของกลุ่มช่างภาพที่ออกบันทึกภาพสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น และ ‘เอ็กซ์-อาวุธ ชินนภาแสน’ จากโรงเรียนสังเคราะห์แสง ช่างภาพที่เริ่มต้นถ่ายภาพจากการท่องเที่ยวในเมืองเพชรบุรี มารับหน้าที่เป็นคนนำทัวร์และพาผู้เข้าร่วมออกสำรวจสถาปัตยกรรมน่าสนใจ
จุดแรกที่เริ่มต้นกันคือพื้นที่ ‘วัดเกาะ’ วัดเก่าแก่ของเมืองเพชรบุรีที่มีการสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น โดยสังเกตจากใบเสมาในวัดที่สร้างขึ้นมาจากหินทรายแดง โดยไฮไลท์หลักของการมาเยี่ยมชมวัดเกาะครั้งนี้ ก็คือส่วนของโบสถ์ที่ถูกเรียกขานกันว่าเป็น ‘โบสถ์มหาอุด’ หรือโบสถ์ที่มีทางเข้าออกเพียงสี่ทางแต่ไม่มีหน้าต่างเลย ว่ากันว่าเป็นการสร้างเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ให้มีความขลัง เมื่อประกอบเข้ากับรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีการแอ่นโค้งเป็นท้องสำเภา อันเป็นลักษณะเด่นของโบสถ์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ก็ทำให้วัดเกาะแห่งนี้มีเรื่องน่าศึกษาเยอะมาก
ไม่เพียงสถาปัตยกรรมภายนอกเท่านั้นที่น่าสนใจ ในส่วนของจิตรกรรมฝาผนังภายในก็ถือว่าตื่นตาตื่นใจมาก เพราะมีรูปแบบการเขียนภาพที่ต่างออกไป โดยสลับเอาภาพมารผจญมาไว้ที่หลังพระประธานและเอาภาพจักรวาลฉบับไตรภูมิไปไว้ด้านหน้าแทน สิ่งนี้แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของช่างที่ใช้พระประธานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของภาพมารผจญในฐานะผู้ปราบมารด้วย รวมถึงภาพวาดในตอนอื่น ๆ อีกมากมายที่ทรงคุณค่าทางศิลปะมาก ๆ เช่น ภาพพุทธประวัติตอนอื่น ๆ รวมถึงการวาดภาพชาวต่างชาตินุ่งจีวรเลียนแบบพระสงฆ์ใส่เข้ามาด้วย เพราะในช่วงนั้นย่านวัดเกาะหรือสมัยอยุธยาก็มีเหล่ามิชชันนารีต่างชาติเข้ามาเผยแพร่ศาสนาแล้ว การแสดงออกในแง่นี้จึงแสดงให้เห็นว่าคนยุคนั้นไม่เชื่อในตัวมิชชันนารีนั่นเอง
จบจากย่านวัดเกาะเราก็ไปต่อกันที่ ‘ถนนพานิชเจริญ’ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ถนนมีชีวิต’ ซึ่งถ้าใครได้มาเดินเล่นย่านนี้ก็น่าจะเห็นพ้องต้องกันกับฉายาที่ว่านี้แน่ ๆ เพราะเป็นแหล่งถนนคนเดินสุดคึกคักที่รวมสถาปัตยกรรมหลากหลายยุคสมัยเอาไว้ในที่เดียว ทั้งบ้านเรือน ร้านขายริมทาง ตึกเก่า วัดวาอาราม ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นชุมชนเก่าแก่ได้อย่างชัดเจน และหนึ่งในสถานที่ที่เราประทับใจมากที่สุด ก็คือ ‘บ้านขุนวิเชียรพานิช’ บ้านเก่าสีเขียวสไตล์ยุโรปของตระกูลคหบดีชื่อดังของเมืองเพชรบุรี ที่มีธุรกิจหลากหลาย เช่น โรงไฟฟ้า โรงสี และโรงน้ำแข็ง เป็นต้น ในปัจจุบันบ้านหลังนี้ได้เปลี่ยนเป็นที่พักและพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กในนาม ‘วิลล่าประวัติศาสตร์ขุนวิเชียรพานิช’
หลังจากเก็บภาพกันจนพอใจแล้ว ก็ถึงเวลาพักเหนื่อยสักครู่ก่อนที่จะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งตอนค่ำ ๆ เพื่อนำรูปที่ถ่ายกันมาตลอดทั้งวันมาผลัดกันชมที่นิทรรศการ ‘Portrait (Taste) of Phetchaburi’ ณ โรงงานเพ็ชรปิ่นแก้ว พอได้เห็นรูปภาพของสถานที่ต่าง ๆ จากมุมมองของผู้เข้าร่วมแต่ละคนแล้ว ก็บอกได้เลยว่าทุกคนถ่ายรูปสวย ๆ กันมาได้เยอะมาก และยังเป็นการปิดวันก่อนกลับกรุงเทพมหานครได้ดีสุด ๆ
สำหรับใครที่อยากสัมผัสประสบการณ์แบบนี้บ้าง ก็ยังสามารถมาสนุกกับนิทรรศการ ‘Portrait (Taste) of Phetchaburi รูปรสแห่งเมืองเพ็ชร์’ ได้อยู่ เพราะเขาจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ - 23 มีนาคม 2567 ณ โรงงานเพ็ชรปิ่นแก้ว เขาวัง มาสำรวจรสชาติเมืองเพชรบุรีกันเถอะ