20210723_GC_Powerpuff Girls_Cover copy.jpg

ย้อนดูงานคอนเซ็ปต์อาร์ตเบื้องหลังเรื่องราวของ 3 สาวน้อยซูเปอร์ฮีโร่ที่เราคิดถึง

Post on 7 May

น้ำตาล เครื่องเทศ สารพัดของกุ๊กกิ๊ก ทั้งหมดคือเครื่องปรุงที่เลือกสรรเพื่อสร้างสาวน้อยสมบูรณ์แบบ แต่ศาสตราจารย์ยูโทเนียมเติมสารพิเศษอีกอย่างลงไปในส่วนผสมโดยไม่ตั้งใจ... สารเคมี X!

นี่น่าจะเป็นท่อนเปิดรายการที่เหล่าเด็ก ๆ ยุค 90s ตอนปลายถึง 00s ตอนต้นน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะอนิเมชั่นซีรีส์เรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในการ์ตูนทีวีที่ได้รับความนิยมและน่าจดจำที่สุดตลอดกลาลของช่อง Cartoon Network จนถึงปัจจุบัน และถึงแม้เรื่องราวในซี่รี่ส์ต้นฉบับจะจบลงไปแล้วเกือบ 20 ปี แต่ปัจจุบันตำนานความสำเร็จของมันก็ยังจุดประกายให้ช่อง CW นำมันกลับมาสร้างใหม่ในเวอร์ชั่นคนแสดง (live-action) ที่วางแผนจะลงจอฉายเร็ว ๆ นี้ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของเหล่าชาวเน็ตมากมายที่กังวลว่าคุณภาพของมัน “ไม่น่าจะ” ทัดเทียมกับอนิเมชั่นซี่รี่ส์ต้นฉบับได้

‘The Powerpuff Girls’ ถือกำเนิดขึ้นโดยการสร้างสรรค์ของ Craig McCracken นักสร้างอนิเมชั่นมือทองชาวอเมริกัน และ Hanna-Barbera โปรดักชั่นสตูดิโอที่อยู่เบื้องหลังการ์ตูนทีวีคลาสสิคที่เรารักมากมาย และออกฉายในช่อง Cartoon Network ตั้งแต่ปี 1998 จนถึงปี 2005 เป็นจำนวนทั้งหมด 6 ซีซัน โดยมีเนื้อเรื่องเล่าถึงเหล่าสาวน้อยซูเปอร์ฮีโร่อย่าง บลอสซัม บับเบิลส์ และบัตเตอร์คัพ ที่ต้องคอยรอรับสายโทรศัพท์จากท่านนายกเทศมนตรี และออกมาต่อสู้กับเหล่าวายร้ายที่จะมาทำลายเมือง Townsville ที่พวกเธอรัก

นอกจากการออกแบบตัวละครแสนน่ารักและเนื้อเรื่องที่เข้มข้นโดนใจเด็ก ๆ แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่น่าประทับใจและไม่พูดถึงไม่ไม่ได้เลยก็คืองานกำกับศิลป์ที่สวยงามล้ำจินตนาการในทุก ๆ รายละเอียด ตั้งแต่ฉากหลังที่ถูกวาดด้วยลายเส้นอันแสนเป็นเอกลักษณ์ เหล่าเฟอร์นิเจอร์และข้าวของเครื่องใช้แสนกุ๊กกิ๊กต่าง ๆ ที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี (ใครอยากเป็นเจ้าของเจ้าโทรศัพท์จมูกแดง Powerpuff Hotline ยกมือขึ้น!) ไปจนถึงการออกแบบโทนสี color key ที่เรา (ในวัยผู้ใหญ่) เห็นแล้วอยากจะแคปเก็บทุกซีนให้มันรู้แล้วรู้รอด

ซึ่งความยอดเยี่ยมของงานกำกับศิลป์ตรงนี้เองก็ไม่ได้เป็นที่ถูกใจเฉพาะในหมู่เด็กน้อยในเวลานั้นเท่านั้น แต่แม้แต่ผู้ใหญ่โตเต็มวัยอย่าง Bob Longino นักวิจารณ์ภาพยนตร์จาก The Atlanta Journal-Constitution ก็ถึงกับเคยบรรยายไว้ในบทรีวิว ‘The Powerpuff Girls Movie (2002)’ ว่า ภาพลายเส้นที่ดูซับซ้อนเหล่านี้ให้ความรู้สึกน่าตื่นเต้นชวนหลงใหลแบบสไตล์ฟิวเจอร์ริสติกจากยุค 1950s ไม่ต่างไปจากภาพวาดทัศนียภาพของ David Hockney อีกทั้งยังกล่าวชื่นชมไว้ว่า The Powerpuff Girls ถือเป็นหนึ่งในผลงานการสร้างสรรค์จากฝั่งสหรัฐอเมริกาไม่กี่เรื่องที่มีทั้งความสนุกสนานแบบป็อปคัลเจอร์ และความสวยงามยอดเยี่ยมแบบศิลปะชั้นสูง

โดยเมื่อปี 2007 หรือหลัง The Powerpuff Girls ลาจอไปกว่า 2 ปี  Lou Romano อนิเมเตอร์ชาวอเมริกันก็ได้ออกมาเผยแพร่ภาพเบื้องหลังงานคอนเซ็ปต์อาร์ตของ The Powerpuff Girls ที่เขาได้ลงมือทำในฐานะฟรีแลนซ์ในช่วงปี 1999-2000 ร่วมกับ Don Shank ผู้กำกับศิลป์ในขณะนั้น (ภายหลังทั้งคู่ย้ายมาทำงานให้กับ Pixar และร่วมสร้างผลงานอนิเมชั่นคุณภาพเยี่ยมอีกหลายเรื่อง ก่อน Romano จะย้ายไปทำงานใต้ร่มของ Laika จนถึงปัจจุบัน) ในบล็อกส่วนตัวของเขา โดยผลงานคอนเซ็ปต์อาร์ตเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านลายเส้นและทีแปรงหยาบ ๆ ในเทคนิกสีกวอชและสีพาสเทลบนกระดาษหลากหลายขนาด โดยส่วนใหญ่จะเป็นการออกแบบซีนและโทนสีสำหรับส่วนฉากและพื้นหลังเป็นหลัก

เราเชื่อว่าไม่ใช่แค่เราคนเดียวแน่ ๆ ที่ยังแอบนึกถึงช่วงเวลาดี ๆ ที่ได้มานั่งดูการ์ตูนจากช่อง Cartoon Network แบบชิลล์ ๆ ระหว่างทำการบ้านหลังเลิกเรียน น่าจะมีอีกหลายคนที่กำลังคิดถึง The Powerpuff Girls อยู่ไม่ต่างกัน ถ้าใครที่ได้เห็นผลงานคอนเซ็ปต์อาร์ตเหล่านี้แล้วยังสามารถระลึกอดีต จำฉากไหน ตอนไหนได้ ก็อย่าลืมแวะมาเล่าสู่กันฟังกันบ้างนะ

แหล่งข้อมูล:
https://louromano.blogspot.com/2007/08/powerpuff-girls.html
https://powerpuffgirls.fandom.com/wiki/Powerpuff_Girls_Wiki