…ท่ามกลางแสงพระอาทิตย์ยามเย็นที่ทอดยาวไปตามถนน และบรรยากาศของป่าไม้ที่รายล้อมไปด้วยภูเขา เราจะเห็นภาพของชายแก่กำลังนั่งทำสวนดอกกุหลาบ ด้านหลังเป็นภาพของเด็กสาวกำลังวิ่งเล่นอยู่กับหมาดำด้วยความสุข…
สิ่งเหล่านี้ช่างเป็นภาพที่ดูน่าอบอุ่น เรียบง่าย และดูน่าถวิลหา แต่ลึกลงไปภาพเหล่านั้นกลับชวนให้ตั้งคำถามถึงช่วงเวลาแห่งความสุขว่ามันจะยืนยาวไปอีกแค่ไหน
ภาพยนตร์เรื่อง ‘อรุณกาล’ หรือ ‘Regretfully at Dawn’ ของ ‘กานต์-ศิวโรจน์ คงสกุล’ เล่าเรื่องของ ‘ยงค์ จันทร์แจ่ม’ ชายชราทหารผ่านศึกผู้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายของตนเองอยู่กับ ‘เซียง’ หลานสาวผู้ที่กำลังมีอนาคตอันสดใสรออยู่ข้างหน้า และ ‘แรมโบ้’ หมาสีดำที่ผ่านช่วงชีวิตอันยาวนานมาไม่ต่างกับยงค์ ชีวิตประจำวันของยงค์จึงเป็นการตื่นเช้า ทำอาหาร ส่งหลานไปเรียน และสร้างบ้านต้นไม้ให้เสร็จก่อนที่ร่างกายของตนจะไร้เรี่ยวแรง
ในอรุณกาลเราจึงจะได้เห็นวิถีชีวิตประจำวันอันธรรมดาทั่วไปของสิ่งมีชีวิตทั้งสาม ที่ไม่ต่างกับวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เราพบเจอได้ทุกวัน แต่ความธรรมดานี้เองกลับแฝงและตอกย้ำถึงเรื่องราวของวันเวลาที่ผ่านไปเรื่อย ๆ ที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดหรือช้าลง คล้ายดั่งผลงานที่ผ่านมาของกานต์ที่นำเสนอความสัมพันธ์ในช่วงชีวิตระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ‘ที่รัก Eternity’ หรือ ‘สืบสันดาน’ แต่ยังคงสร้างความนึกคิดให้ผู้ชมอย่างเราได้เริ่มรู้สึกว่า ‘วันพรุ่งนี้’ ในช่วงชีวิตของแต่ละคนนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง
ทุก ๆ เช้าของยงค์กลายเป็นเหมือนนาฬิกาทรายที่เม็ดทรายลดน้อยลงทุกทีและไม่สามารถที่จะยกกลับมาตั้งใหม่ได้ สิ่งที่เขาทำได้คือใช้ชีวิตในห้วงเวลาสุดท้ายให้ดีที่สุด ความสุขของเขาในทุก ๆ วันจึงเป็นการได้ดูแลและมอบความรักให้หลานสาวที่เป็นดั่งสมบัติชิ้นสุดท้ายในปัจจุบัน เพลิดเพลินอยู่กับอดีตอันหอมหวานของตน ที่แม้อดีตของเขาจะเป็นภาพของสงครามอันโหดร้ายที่ไม่น่าชวนนึก แต่ตัวเขาเองก็ยังสามารถพรรณาว่า ’คิดถึงว่ะ’ ให้กับอดีตของตนเองได้อยู่เสมอ เนื่องด้วยช่วงชีวิตในปัจจุบันของเขามันช่างโหดร้ายเหลือเกิน
แต่ในขณะที่ยงค์กำลังนับวันเวลาช่วงสุดท้ายของชีวิต ก็ได้มีสิ่งมีชีวิตอีกคนหนึ่งที่กำลังเดินไปสะพานที่ปลายทางเป็นอนาคตอันสดใส ภาพของยงค์ที่ตื่นนอนในทุก ๆ เช้าด้วยอารมณ์อันขมขื่น ช่างดูย้อนแย้งกับเช้าวันใหม่ของเซียง เด็กสาวผู้มีอนาคตไกลที่มักตื่นเต้นอยู่เสมอเมื่อเธอจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในทุก ๆ วัน เธอมักจะเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยอารมณ์อันสดใส ชวนให้เรานึกถึงวัยเยาว์ที่สามารถใช้ชีวิตได้โดยที่ไม่ต้องคิดอะไร สะท้อนถึงช่วงวัยและเวลาของทั้งสองที่เดินสวนกันอย่างชัดเจน
“เวลาห้วงเวลาแห่งความสุขมักผ่านไปไวเสมอ” สิ่งอันน่าเศร้าที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคนบนโลกได้กลับเข้ามาในช่วงชีวิตของยงค์อีกครั้ง เมื่อเขาต้องพลัดพรากกับเซียงหลานสาวผู้เป็นความสุขเดียวของเขา เนื่องจากเธอได้รับทุนการศึกษาให้ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ เกิดเป็นความลังเลว่าเขาพร้อมที่จะปล่อยความสุขอันน้อยนิดที่มีอยู่นี้ไปหรือไม่ แต่เมื่อได้ตระหนักถึงช่วงเวลาที่เหลืออยู่ไม่มาก ยงค์ก็รู้ตัวว่าการรั้งหลานสาวเอาไว้ในสถานที่แบบนี้ต่อไปนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก การปล่อยให้เด็กสาวไปมีอนาคตอันสดใสจึงเป็นเรื่องดีมากกว่า และเขาพร้อมที่จะปล่อยวางภาระทุกอย่างบนโลกแล้ว
สุดท้ายเส้นเวลาแห่งช่วงวัยของสิ่งมีชีวิตทั้งสองจึงมาบรรจบกันที่สนามบิน การล่ำราและกอดกันอย่างอบอุ่นของตาหลานกลายเป็นเหมือนความพยายามที่จะเก็บเกี่ยวความสุข ณ ช่วงเวลานั้นให้ได้มากที่สุด เสียงของหลานที่พร่ำบอกตาว่าให้มีชีวิตต่อเพื่อที่จะได้พบกันอีก จึงเป็นเหมือนคำร่ำลาที่แสนทรมานหัวใจของทั้งยงค์และผู้ชม ที่ได้แต่หวังว่าเราจะได้พบกันอีกในอนาคตที่มีความสุขมากกว่านี้..
อรุณกาลจึงเป็นเหมือนแคปซูลแห่งกาลเวลาที่พาเราไปสำรวจอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอันจริงแท้ของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ ทั้งยังย้ำเตือนถึงชีวิตของเราว่าบางสิ่งก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หรือบางสิ่งมันช่างน่าเบื่อและต้องจมอยู่กับมันไปทั้งชีวิต แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีความสุขที่ยังคงเกิดขึ้นบ้าง ถึงแม้จะเล็กน้อยแต่ก็อยากให้เปิดรับความรู้สึกตรงนั้นให้ได้มากที่สุด เพราะเราไม่มีวันรู้ว่าเม็ดทรายในนาฬิกาทรายของเรามันเหลืออีกมากน้อยแค่ไหนกัน
อรุณกาล เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ฉายในวันเปิดเทศกาล World Film Festival of Bangkok ครั้งที่ 16 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะนำมาเข้าฉายอีกครั้งในโรงภาพยนตร์ประมาณช่วงปีหน้า