‘บ้าน’ ในนิยามของนักเขียน สำรวจความหมายของ ‘บ้าน’ ผ่าน 12 วรรณกรรมและงานศิลปะเลือกสรรโดย 12 นักเขียนเรื่องบ้านแห่งโปรเจกต์ Related Storeys

Post on 4 April

Secret Window Chiang Mai คือบ้านพักตากอากาศริมน้ำกลางหุบเขาของอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ซึ่งผู้กำกับภาพยนตร์ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ (ร่วมกับ จ๊ะจ๋า - แพรว พูนพิริยะ, แมน - อมร นิลเทพ และ แมวน้ำ - ศิลปี กอบกิจวัฒนา) ตั้งใจออกแบบด้วยแนวคิด Writer’s Cabin หรือที่พักแรมสำหรับเขียนต้นฉบับของนักเขียน โดยนำแรงบันดาลใจมาจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกัน (Secret Window) ของ สตีเฟน คิง (Stephen King)

ซึ่งแน่ล่ะ เมื่อคอนเซปต์นักเขียนมาเต็มขนาดนี้ ภายในบ้านที่มีดีไซน์รับกับธรรมชาติโดยรอบหลังนี้จึงไม่ได้มีเพียงคอลเลกชั่นของหนังสือวรรณกรรมร่วมสมัยและคลาสสิกทั้งไทยและต่างประเทศ หรือบรรยากาศแสนชิลและเงียบสงบที่เหมาะแก่การอ่าน-เขียน แต่เจ้าของบ้านยังสถาปนาความเป็น ‘บ้านนักเขียน’ ผ่านการชักชวนนักเขียนจริงๆ อย่าง จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, อุทิศ เหมะมูล, วีรพร นิติประภา และท่านอื่น ๆ สลับกันมาเข้าพัก เพื่อเขียนเรื่องสั้นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านหลังนี้ออกมา

‘Related Storeys: บ้าน ชั้น เธอ เรื่องเล่าในพำนัก’ จึงเป็นผลลัพธ์ของกระบวนการดังกล่าว นี่คือหนังสือรวมเรื่องสั้นจากโครงการ Writer in Residence ของ 12 นักเขียนชั้นนำของไทยที่ได้เข้าพักในบ้านหลังนี้ ก่อนจะนำบรรยากาศ ความทรงจำ หรือความประทับใจระหว่างเข้าพักกลับมาเขียนเรื่องสั้นในแบบฉบับของตัวเองคนละหนึ่งเรื่อง ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องรักรสขมและหวาน บ้านผีสิง ความเรียงเชิงปรัชญา ไปจนถึงเรื่องราวไซไฟหลุดโลก เป็นอาทิ

เพราะเริ่มต้นจากบ้านที่ได้แรงบันดาลใจมาจากงานเขียน จนนำมาสู่งานเขียนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบ้าน Ground Control จึงอยากรู้ว่าแล้วถ้านิยามของบ้านจริงๆ ที่ไม่ใช่ Secret Window หลังนี้ จะมีงานวรรณกรรมหรืองานศิลปะแบบไหนที่กระทบใจนักเขียนแห่งบ้าน Related Storeys นี้บ้าง เราจึงชวนนักเขียนเลือกผลงานที่จะมานิยามความเป็น ‘บ้าน’ ของพวกเขามาคนละหนึ่งชิ้น พร้อมเหตุผลสั้น ๆ เบื้องหลังความประทับใจนั้น

นั่นล่ะ จะสุข หรือเศร้า อบอุ่น เงียบเหงา หรือร้าวราน เหล่านี้คือ ‘บ้าน’ ในความทรงจำของนักเขียน

บ้านที่ถูกแบกไปทุกแห่งหนใน Transit
เลือกโดย วีรพร นิติประภา

“หนังเรื่องที่ชอบที่สุดคือหนังเมื่อปี 2018 ของผู้กำกับคริสเตียน เพ็ทซอลต์ (Christian Petzold) ทำจากนิยายชื่อเดี่ยวกัน ชื่อ Transit (1944) ของ แอนนา เซเกอร์ส (Anna Seghers) ว่าด้วยชาวยิวในยุโรปที่หนีการกวาดล้างของนาซีไปสุมอยู่กันในเมืองท่ามาร์แซย์เพื่อรอขอวีซ่าลี้ภัยไปเม็กซิโก ท่ามกลางสภาวะไม่ไปไม่มา มีตัวตนอยู่และไม่มีตัวตนอยู่ที่ไหนเลย มีบ้านที่ไม่อาจลืมกับบ้านที่ไม่มีวันมี

"ตอนที่ตราตรึงที่สุดคือตอนพระเอกซ่อมวิทยุให้ลูกชายของเพื่อนที่ตายระหว่างทางกลับมาหาครอบครัว ทันทีที่วิทยุทำงานได้ เขาก็ได้ยินเพลงที่แม่เคยร้องให้ฟังตอนยังเล็ก และร้องเพลงภาษาเยอรมันเพลงนั้นให้เด็กที่ฟังภาษาเยอรมันออกกระท่อนกระแท่นกับแม่ที่หูหนวกฟัง

"เนื้อเพลงเรียบง่ายไม่ซับซ้อน แค่บอกว่าช้าง ผีเสื้อ ปลา สัตว์ต่างๆ ตัวนั้นตัวนี้กลับบ้านของมันในตอนเย็นไล่ทีละตัวไปเรื่อยๆ เป็นฉากที่เล็กและเรียบง่าย แต่กลับเป็นฉากที่แสนทรงพลังมาก กระทั่งจำเรื่องที่เหลือของหนังแทบไม่ได้ก็ยังจำตอนนี้ได้

"แค่ไม่กี่วินาทีนั่นบอกความหมายของบ้าน… พื้นที่ที่ไม่สำคัญว่าโออ่าหรือซอมซ่อที่เราจะหวนหากลับคืนไปเสมอในความคิดคะนึง ที่ที่มีแม่… ผู้หญิงที่ครั้งหนึ่งคือคนที่เรารักที่สุด การเติบโต ความทรงจำไม่ว่าจะดีหรือร้าย ความโหยหาอาวรณ์แปลกประหลาดที่จะอยู่ตรงนั้นโดยที่เราไม่รู้สึก
เราจะแบกบ้านของเราไปกับเราทุกหนทุกแห่ง…ชั่วชีวิต กระทั่งในวันที่โลกล่มสลาย และบ้านหลังนั้นไม่มีอยู่อีกแล้ว

"เรานึกถึงฉากนี้ในหนังเรื่องนี้บ่อยอย่างน่าเศร้า แค่ไม่กี่สิบปีให้หลัง ชาวยิวที่รอดผ่านสงครามล้างเผ่าพันธ์กลับกลายมาเป็นผู้เข่นฆ่าสังหาร และกระทำเช่นต่อประชาชนปาเลสไตน์ในกาซา… ไม่ต่างจากที่นาซีเคยกระทำต่อเผ่าพันธุ์ของพวกตน”

บ้านเปลือยใน Playtime ของ Jacques Tati
เลือกโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา

"เมื่อนั่งอยู่ในห้องนั่งเล่นของบ้าน Secret Window ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรที่เป็นความลับตามชื่อบ้าน ทุกๆ อย่างโปร่งใส เปิดตัวเองให้กับคนภายนอกเห็น แม้ว่าคนอยู่นอกบ้านจะไม่ได้มาจ้องมองคนในบ้าน แต่ก็ไม่ได้แปลกอะไรถ้าจะมีคนมาส่องดูว่ามีอะไรหรือใครในห้องนั่งเล่น ห้องนั่งเล่นที่มีกระจกบานใหญ่ก็พร้อมจะทำให้คนนอกบ้านดูอะไรต่างๆ ภายในบ้านได้ ห้องนั่งเล่นที่เปรียบประหนึ่งพื้นที่มีกระจกกั้นเพื่อแสดงสินค้าหน้าห้างสรรพสินค้า คนในห้องนั่งเล่นคือหุ่นที่มีชีวิตให้คนบนถนนดู

"บ้านที่ดูราวกับว่าเชื้อเชิญให้คนข้างนอกจ้องมองหรือเชื้อเชิญให้เข้ามาเยี่ยมเยือน บ้านของคนชนบทในอดีตที่ไม่ได้ปิดประตูหรืออาจจะไม่มีประตู ทุกอย่างเปิดโล่ง แต่บ้านหลังนี้ไม่ได้มีลักษณะแบบบ้านชนบท เพราะยังมีกระจกกั้น การรักษาความลับและความเป็นส่วนตัวยังมีอยู่

"ตัวละคร มงซิเออร์อูโลต์ (Monsieur Hulot) ในภาพยนตร์ Playtime (1967) ของ จาร์ค ตาติ (Jacques Tati) คืออะไรที่ข้ามแดนมา อูโลต์จ้องมองคนในห้องนั่งเล่นของบ้าน Secret Window ฉากของ Playtime ที่ผู้ชมและตัวละครเห็นห้องพักที่มีหน้าต่างบานใหญ่ให้ผู้คนบนท้องถนนเห็น คนบนท้องถนนเห็นโลกส่วนตัวของคนในห้องนั่งดูโทรทัศน์ ใครบางคนดูเพดาน แต่ก็เห็นได้แค่กริยาท่าทาง คนนอกไม่รู้ว่าสนทนาอะไรกัน เพราะคงไม่มีใครจะอ่านปากว่าคนในห้องนั่งเล่นคุยอะไรกัน ห้องนั่งเล่นที่ดูจะเปิดเผยแต่ไม่เปิดเผย เมื่อเลื่อนฉากกั้นทุกอย่างจะเป็นความลับ ห้องนั่งเล่นที่ยังทำหน้าที่เป็นหน้าต่างที่พร้อมจะให้จ้องมองจากภายนอกจึงมีความลับได้เสมอ แต่ก็พร้อมที่จะเปิดให้ไม่ลับ"

เสียงที่ทำให้คิดถึงบ้านของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
เลือกโดย นัทธมน เปรมสำราญ (ปอ เปรมสำราญ)

“สำหรับงานที่สะท้อนนิยามของบ้าน ปอขอเลือกสองงานที่เกี่ยวกับพี่เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล งานแรกเป็นงานเสียงที่พี่เจ้ยบันทึกให้ ริวอิจิ ซากาโมโตะ (Ryuichi Sakamoto) อยู่ในนิทรรศการของ Dumb Type (2022) คือแผ่นเสียงเล่นอยู่บนโต๊ะ แต่ละแผ่นเสียงบันทึกเสียงจากเมืองต่างๆ รู้สึกตัวเองถูกดึงดูดให้เดินตามเสียงนกร้องไปโดยอัตโนมัติตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าเสียงนั้นมาจากที่ไหน ตามมาจนถึงแผ่นเสียง แล้วก็เห็นว่าบันทึกที่ Chiang Mai, Thailand ตอนนั้นรู้สึกเหมือนร่างกายเรามันจำเสียงบ้านเกิดได้ มันเป็นไปโดยอัตโนมัติ

"ส่วนอีกงานคือ Night Colonies (2021. Video. 12 min. 35 sec) ในนิทรรศการ Our Ecology: Toward a Planetary Living ที่ Mori Art Museum เป็นการตั้งกล้องถ่ายเตียงสีขาวที่มีไฟฟลูออเรสเซนต์ยาวสีขาวอยู่รอบๆ ดึงดูดให้บรรดาแมลงมาเล่นไฟ แล้วก็จะมีเสียงบรรยายบางอย่างที่จำไม่ได้แล้ว แต่ดูแล้วคิดถึงบ้านมาก คิดถึงเสียงแมลงโดนไฟแล้วตกลงมาตาย คิดถึงจิ้งจกที่คอยกินบุฟเฟต์แมลงอยู่แถวไฟ พอดูจบ อดคิดไม่ได้ว่า จากลักษณะการฉาย ในห้องมืด เรายืนมองจอสว่าง ก็เหมือนเราเองนี่แหละที่เป็นแมลงที่โดนแสงดึงดูดเข้ามา

"อาจจะฟังดูตลก แต่ที่ญี่ปุ่นมันสะอาดมากจนบางครั้งสิ่งที่คิดถึงคือกลิ่นเหม็นและแมลงค่ะ ตอนนี้อยู่โตเกียวมาเกือบครบหนึ่งปี ผ่านมาทั้งสี่ฤดูแล้ว เจอแมลงแค่ช่วงฤดูร้อนเท่านั้น นอกจากนั้นไม่เห็นมดเลยสักตัว ซึ่งในแง่หนึ่งก็ดีมากๆ ไม่ต้องคอยหาวิธีฆ่ามดแบบที่ไทย ไม่ต้องหล่อน้ำที่ขาโต๊ะ แต่อีกแง่หนึ่ง บางทีก็คิดว่าแล้วพวกมันไปอยู่ไหนกันนะ เหมือนได้ตระหนักขึ้นมาว่าจริงๆ คนไทยอยู่และต้องดีลกับสิ่งมีชีวิตตลอดเวลานี่หว่า”

‘ต้องเนรเทศ’ บ้านที่ไม่ได้กลับของ วัฒน์ วรรลยางกูร
เลือกโดย อุทิศ เหมะมูล

“ด้านตรงข้ามของการมีบ้าน คือชีวิตที่จำต้องรอนแรมพเนจรไป และสุดขอบตรงข้ามของมันคือการถูกเนรเทศออกไปเสียจากบ้าน ดังนั้นถ้าจะมีนิยายที่พูดถึงบ้านได้จับใจ ชวนรู้สึกรู้สา สะเทือนสำนึกทางการอ่านของผมที่สุดในช่วงนี้ เรื่องนั้นคือ ต้องเนรเทศ (2022) ของ วัฒน์ วรรลยางกูร

"นักเขียนที่ถูกเนรเทศออกไปจากประเทศนี้ สร้างฟอร์มของบ้านขึ้นในความทรงจำรำลึก โมงยามแห่งความสุขสันต์ ลำนำความรัก และการปลูกบ้านสร้างครอบครัว ความคิดและอุดมการณ์มุ่งหวังเพื่ออยากให้ประเทศดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เป็นความทรงจำของพื้นที่ ไอดินกลิ่นแดด สัมผัสได้แม้แต่กลิ่นอาหาร กอปรสร้างสิ่งซึ่งบัดนี้ไกลห่างและรู้ตนว่าใกล้วางวายไป คนที่ห่างบ้านจะมองเห็นบ้านแจ่มชัดที่สุดเมื่อมองจากที่ไกล เช่นที่วัฒน์มองเห็น ‘บ้าน’ จากหัวใจอันล้าโรยของเขาผ่านการเดินทางลี้ภัยเลียบลำน้ำโขง หลายประเทศเพื่อนบ้าน ความคิดถึงบ้านลุกโชนอยู่เช่นนั้นในหัวใจ แม้ที่สุดท้ายของเขาคือบนเตียงในโรงพยาบาลที่ฝรั่งเศส

"ในแง่นิยายก็นับได้ว่ายิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่และน่านับถือหัวใจเหลือเกิน เป็นวรรณกรรมไทยเล่มสำคัญที่คนไทยควรอ่าน”

บ้านลอยน้ำของ Pat Hutchins
เลือกโดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

“ตั้งแต่เด็ก ลี้ชอบหนังสือหลายๆ เล่มที่บอกเล่าถึงสิ่งของในบ้าน เช่น เรื่องคนตัวจิ๋วที่คอยเอากล่องสบู่ของพวกเราไปทำอ่างน้ำ เอาสแตมป์ไปทำภาพวาดติดผนัง หรือ หนังสือที่มีแผนที่ตึก เช่น บันทึกลับของแอนแฟรงค์ ลี้เปิดหน้าที่มีแผนผังห้องลับซ้ำแล้วซ้ำอีก พออ่านหนังสือนักสืบที่มีห้องและทางลับ ก็ดีใจมาก คอยแต่เอากระดาษมาวาดบ้านที่มีห้องลับต่างๆ มากมาย

"พอโตขึ้นมา ตอนที่อ่าน คนนอก (L’Etranger, 1942) ของ อัลแบร์ การ์มูส์ (Albert Camus) แล้วตัวละครบอกว่า เขาไม่เบื่อที่ต้องมาติดคุกเลย เพราะนั่งคิดอย่างละเอียดถึงห้องเล็กๆ ของตัวเอง เราก็รู้สึกชอบใจ แค่ได้นั่งคิดว่าอะไรวางอยู่ตรงไหน ก็มีความสุขเหลือเกิน บางครั้งลี้ก็สร้างบ้านวอลเดนในจินตนาการของตัวเองเล่นจนหลับไปค่ะ

"เล่มหนึ่งที่ลี้ชอบในตอนเด็ก คือ ผจญภัยในบ้านลอยน้ำ (The House that Sailed Away, 1975) หนังสือของ แพต ฮัตชินส์ (Pat Hutchins) เป็นเรื่องที่จู่ๆ น้ำก็ท่วม แล้วบ้านก็ลอยออกไปในทะเล ฉากทั้งหมดอยู่ในบ้านหลังนั้น เพราะถ้าออกไปจะจมน้ำ แต่กลับมีเรื่องตลกๆ มากมาย ทั้งน้ำเข้าทางรูหน้าต่าง มีโจรสลัดมาปล้น ตอนเด็กๆ อ่านแล้วคิดตลอดเลยว่า น้ำก็ท่วมสมุทรปราการตั้งบ่อย เมื่อไหร่บ้านเราจะลอยไปบ้างน้า แต่แม่มาบอกว่า ไม่ดีหรอกถ้าบ้านลอยไป นั่นสินะ คงไม่ดีจริงๆ นั่นแหละ”

โลกของคนไร้บ้าน โดย บุญเลิศ วิเศษปรีชา
เลือกโดย วิภาส ศรีทอง

"บ้านที่ผมอยู่ทุกวันนี้คือห้องพักในคอนโดมิเนียมใกล้สถานีรถไฟสามเสน กิจกรรมที่ผมทำประจำเวลาว่างคือการเดินออกกำลังกายรอบๆ ที่พัก ที่ไปบ่อยคือแถวสถานีรถไฟที่เลิกใช้ไปแล้วนั่นแหละ ระหว่างที่เดินออกกำลังกาย ผมมักจะเห็นกลุ่มคนไร้บ้านที่จับจองพื้นที่สถานีรถไฟเก่าเป็นที่พำนัก ซึ่งผมสนใจวิธีการใช้ชีวิตในสถานที่ที่หลายคนคงจินตนาการไม่ออกว่าเราจะมองมันเป็นบ้านได้ยังไง

"เมื่อพูดถึงงานเขียนที่เกี่ยวกับบ้าน ผมจึงคิดถึงหนังสือ โลกของคนไร้บ้าน (2009) ของ บุญเลิศ วิเศษปรีชา ซึ่งเป็นหนังสือสารคดีที่เรียบเรียงมาจากงานวิจัยของผู้เขียน เป็นหนังสือที่ไม่ได้ใช้มุมมองแบบนกมองลงมา แต่เป็นการคลุกคลีเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนที่ไม่มีบ้านจริงๆ อยู่ หรือเลือกที่จะออกจากบ้านของตัวเองมาใช้ชีวิตแบบนี้

"มีวรรณกรรมอีกเล่มที่อ่านแล้วผมคิดถึงนิยามของบ้าน คือ Anna Karerina (1878) ของ เลโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) ซึ่งเล่าถึงตัวละครที่เปลี่ยนบ้านไปเรื่อยๆ เพื่อตามหาบ้านที่แท้จริงของตัวเอง นิยายเล่มนี้ทำให้ผมพบว่างานเขียนหลายๆ เล่ม รวมถึงชีวิตจริงของคนหลายคน ไม่ว่าระหว่างทางจะสุขหรือเศร้าอย่างไร ปลายทางท้ายที่สุดในชีวิตของพวกเขาก็คือการจะได้กลับบ้าน"

บ้านของความเป็นผู้หญิงในโลกศิลปะ Die Liebe im Ernstfall
เลือกโดย พวงสร้อย อักษรสว่าง

“เพราะความรักมิอาจเร่งร้อน (Die Liebe im Ernstfall, 2019) เป็นนวนิยายเยอรมัน (แปลโดย ปิยะกัลย์ สินประเสริฐ) ของ Daniela Krien ที่พูดถึงชีวิตของผู้หญิงห้าคน ผ่านเรื่องราวความเป็นหญิง ความเป็นแม่ เมีย พี่สาว เพื่อนสาว และลูกสาว ที่เชื่อมถึงกันด้วยเมืองไลป์ซิก (Leipzig) และเมืองอื่นๆ ในประเทศเยอรมนี

"นักเขียนชวนเราสำรวจบ้าน ทั้งที่เป็นบ้านจริงๆ และบ้านในความหมายนามธรรมที่เกี่ยวข้องกับบทบาททางเพศ ประวัติศาสตร์เยอรมันเรื่องบ้านและกำแพง ที่น่าสนใจคือฉากหลังของเรื่องราวที่เล่าผ่านสถาปัตยกรรมของบ้านที่มีผลต่อความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ การเก็บตัวในห้องนอน การออกเดทหาคู่แล้วจบลงที่ห้องนั่งเล่น โต๊ะอาหารที่ต้องทำงานและเลี้ยงลูกไปด้วย

"เรื่องนี้สะท้อนและตั้งคำถามกับความก้าวหน้าของผู้หญิงของการงานสายศิลปะ สังคม และวรรณกรรมได้อย่างน่าสนใจ เช่น เราจะเป็นเมียที่ดีไปพร้อมกับการเป็นศิลปินที่เก่งได้หรือเปล่า เราจะดำรงเกียรติความโสดอย่างอิสระ ที่ไม่ self doubt กับตัวเองได้หรือไม่ เราจะเป็นนักเขียน เป็นแม่ ที่ต้องดูแลทั้งลูกและ ‘บ้าน’ ในเวลาเดียวกันได้ไหม”

บ้านผีสิงในเรื่องสั้นของ เหม เวชกร
เลือกโดย อินทรชัย พาณิชกุล

"‘บ้าน’ ในวรรณกรรมที่ผมจดจำฝังใจมาจากเรื่องสั้น 2 เรื่องชื่อ ‘ผู้ที่กลับมา’ และ ‘เลขานุการผี’ จากหนังสือ ปีศาจของไทย (1933-1969) ซึ่งอยู่ในซีรีส์ชุด ภูติผีปีศาจไทย ของครูเหม เวชกร
เรื่องสั้นทั้งสองเรื่องมีเรื่องราวต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน เล่าผ่านตัวละครหลักคนเดียวกันคือ ‘นายทองคำ’ ชายหนุ่มคนซื่อและกลัวผีเป็นที่สุด เขาจับพลัดจับผลูได้มาทำงานเป็นเลขานุการกึ่งคนรับใช้ให้กับนายห้างผู้มีอันจะกิน ซึ่งไอ้ความใสซื่อและกลัวผีนี่เองทำให้บ้านตึกโบราณทั้งสองหลังนั้น ‘ข่ม’ เขาเสียจมดิน

"พูดง่าย ๆ คือในฐานะคนแปลกหน้ามาใหม่ การเข้ามาทำงานรับใช้เศรษฐีผู้สูงศักดิ์ ในบ้านตึกโบราณหลังใหญ่ ทำให้นายทองคำต้องทำตัวเล็กลีบ เจียมเนื้อเจียมตัวต่อเจ้าของบ้าน บวกกับความรู้สึกหวั่นอกหวั่นใจกับบรรยากาศโอ่อ่าน่าเกรงขามของตัวบ้าน ยิ่งเมื่อพบว่าตึกหลังนั้นมีภูติผีปีศาจสิงสถิตอยู่ คนขี้ขลาดตาขาวอย่างนายทองคำก็ยิ่งแบนแต๊ดแต๋ไปเลย

"‘บ้าน’ ในเรื่องสั้นทั้งสองเรื่องนี้ เป็นบ้านตึกโบราณแบบตำหนักเจ้านายซึ่งผู้มีอันจะกินในยุคนั้นนิยมอาศัยอยู่ (ช่วงหลังปี พ.ศ. 2475) มองจากข้างนอกดูใหญ่โตโอ่โถง ร่มครึ้มด้วยต้นไม้ ให้ความรู้สึกน่าเกรงขามในตอนกลางวันและน่าขนลุกในตอนกลางคืน ภายในตึกเต็มไปด้วยห้องหับ หน้าต่างทุกบานปิดตาย บรรยากาศเงียบเชียบวังเวง มืดสลัว และเยือกเย็นเหมือนอยู่ในโบสถ์

"ที่ผมคิดว่ามีเสน่ห์มาก ๆ คือบ้านตึกโบราณของครูเหมจะมีส่วนผสมระหว่างความหรูหรากับความเก่าแก่ทรุดโทรม ด้านหนึ่งประดับประดาด้วยเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง บ่งบอกรสนิยมชั้นสูง ตั้งแต่บานประตูไม้ติดห่วงทองเหลือง นาฬิกาโบราณตั้งพื้นเรือนใหญ่ในห้องโถง บันไดหินอ่อน โคมไฟระย้า โต๊ะเก้าอี้มุก จนถึงภาพเขียนสีน้ำมันรูปเจ้าของบ้าน อีกด้านหนึ่งก็เต็มไปด้วยคราบฝุ่นเขรอะ หยากไย่ รอยแตกร้าวบนผนัง เถาวัลย์ไม้เลื้อยที่ห่มคลุมตัวตึก ราวกับถูกปล่อยปะละเลยมานานจนกลายเป็นบ้านร้าง ทั้งหมดนี้เลยทำให้กลายเป็นฉากบ้านผีสิงแบบไทย ๆ ที่คลาสสิกมากครับ”

‘ไกลบ้าน’ ของ ปพนศักดิ์ ละออ
เลือกโดย จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

“ไกลบ้าน ในที่นี่ไม่ใช่งานพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 หรือยูทูปแชนแนลของคุณฟาโรส แต่เป็นชุดงานจิตรกรรมและหนังสือของ ปพนศักดิ์ ละออ ศิลปินที่ใช้ชีวิตและทำงานในเชียงใหม่

"ไกลบ้าน (Far From Home, 2017) ประกอบด้วยภาพจิตรกรรมทิวทัศน์ของภูเขาในต่างแดนทั้งหมด 29 ภาพ พร้อมชื่อประเทศที่ทิวทัศน์นั้นตั้งอยู่ และภาพใบหน้าบุคคลสัญชาติไทยจำนวน 29 คน ที่ศิลปินวาดขึ้นจากการรวบรวมอัตลักษณ์ของพวกเขาเข้าไว้ในภาพเดียว ศิลปินนำต้นแบบมาจากใบหน้าจริง ๆ ของผู้ลี้ภัยการเมืองที่ต้องคดี 112 จนทำให้พวกเขาตัดสินใจทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อไปใช้ชีวิตต่างแดน ซึ่งใช่ ภาพทิวทัศน์ภูเขาทั้งหมดนั่น คือสถานที่ที่ผู้ลี้ภัยเหล่านั้นได้เห็นระหว่างการเดินทางนั่นเอง

"นอกจากนี้ยังมีหนังสือปกแข็งสีเขียว ที่ศิลปินรวบรวมภาพจิตรกรรมทั้งหมด พร้อมข้อเขียนบันทึกชะตากรรมของผู้ลี้ภัยเหล่านั้น โดยจัดเรียงให้เหมือนกับเลย์เอาท์จริงของงานพระราชนิพนธ์ที่มีชื่อเดียวกัน ซึ่งนั่นล่ะขณะที่เรฟเฟอร์เรนซ์ของหนังสือคือบันทึกการเสด็จประพาสยุโรปในปี 1907 ของรัชกาลที่ 5 หนังสือเล่มนี้พูดถึงชีวิตประชาชนคนไทยจริง ๆ ที่จำต้องไกลห่างบ้านของตัวเองอย่างน่าเศร้า

"ไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก สะดวกสบายหรือลำบาก แต่บ้านสำหรับใครหลายคนไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย แต่เป็นที่พักใจและจิตวิญญาณ การได้กลับบ้านจึงเป็นความสุขที่ชีวิตมีสิ่งให้ยึดเหนี่ยว ในขณะที่มีนักการเมืองทรงอิทธิพลท่านหนึ่งยอมทำทุกวิถีทาง รวมถึงหักหลังประชาชนที่สนับสนุนเขาเพื่อจะได้กลับบ้าน ยังมีคนตัวเล็ก ๆ หลายคนต้องทำใจปรับตัวให้กับอยู่ในบ้านใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และไม่มีทางรู้ได้เลยว่าชีวิตนี้จะมีโอกาสได้กลับบ้านจริง ๆ ของตัวเองหรือไม่”

บ้านวรรณกรรมใน The Space of Literature
เลือกโดย กิตติพล สรัคคานนท์

“ถ้า ‘บ้าน’ คือที่ที่เราต้องกลับไป และรู้สึกว่าเป็น ‘ที่เดียว’ ที่เรารู้สึกผูกพันมีความเกี่ยวข้อง เป็นส่วนหนึ่ง หรือเคยคุ้น ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ‘งานเขียน’ หรือ ‘หนังสือ’ ที่เปรียบเสมือน ‘บ้าน’ สำหรับตัวผมเอง ก็คงจะมีอยู่ ‘หลายหลัง’ หรือพูดให้ง่ายก็คือมี ‘บ้านเล็กบ้านน้อย’ เต็มไปหมด

"แต่หากผมต้องพูดถึงบ้านสักหลังที่มีความสำคัญในฐานะของสถานที่ที่เราผูกพัน ก็คงหนีไม่พ้นหนังสือเล่มที่ชื่อว่า L'Espace littéraire (1955) หรือ The Space of Literature ของ โมริซ บล็องโชต์ (Maurice Blanchot) นักเขียน-นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ในงานเล่มนี้ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นความเรียงเชิงปรัชญา-วรรณกรรมทำให้ผมได้ขบคิดถึงความหมายในคำสามัญต่างๆ อย่างเช่น การเขียน นักเขียน หรือแม้แต่สิ่งที่เรียกกันว่า ‘วรรณกรรม’

"The Space of Literature ไม่ใช่หนังสือรวบรวม ‘คำสอน’ มากเท่า ‘คำถาม’ ซึ่งเราจะหาคำตอบได้ก็ผ่าน ‘การเขียน’ ไปจวบจนลมหายใจสุดท้าย และก็เป็นดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า หนังสือเล่มนี้คือ ‘บ้าน’ หลังสำคัญของผม ที่ยังคงต้องย้อนกลับไปเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ ๆ”

บ้าน สงคราม ความตายใน The Sacrifice
เลือกโดย ศิลปี กอบกิจวัฒนา

“หากให้พูดถึงบ้านในโมงยามนี้ บ้านที่นึกถึงคือบ้านในภาพยนตร์ของเรื่องสุดท้ายของ อังเดรย์ ทาร์คอฟสกี (Andrei Tarkovsky) ชื่อ The Sacrifice (Offret) (1986) เมื่อตัวละครหลัก ‘อเล็กซานเดอร์’ ค้นพบว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 กำลังก่อตัวขึ้น และสงครามนิวเคลียร์นี้จะล้างผลาญผู้คนและโลก เขาจึงต่อรองกับพระเจ้าด้วยการทำทุกวิถีทางเพื่อยุติสงครามนั่น

"ภาพยนตร์พูดถึงความตาย การต่อรองความตายต่อพระเจ้าเพื่อยุติการล้างผลาญนั่นเสีย ตั้งแต่นิเช่ บทพูดโมโนล็อคของตัวละคร เกาะพร้อมบ้านไม้เท้งเต้งหลังโตที่อยู่ห่างมากจากตัวเมือง

"อเล็กซานเดอร์ทำได้เพียงรอคอย ก่อนจะค่อย ๆ ละทิ้งแต่ละสิ่งอย่างรอบตัวจนไปถึงวินาทีสุดท้ายของภาพยนตร์ที่เขา ‘สละ’ บ้านหลังโตให้แก่พระเจ้าไปกับกองไฟ ทิ้งค้างเราให้ตั้งคำถามสงสัยว่า ที่แท้จริงแล้วสงครามนั้นจบลงด้วยเงื้อมือของเขาที่สละทุกอย่าง หรือในท้ายสุดหากสงครามกำลังคืบคลานมาหาพวกเขา สุดท้ายสงครามก็อาจจะทำหน้าที่สละและพรากทุกอย่างไปจากเขาอยู่ดีไม่ใช่หรือ

"จากหนึ่งไปสอง จากสองไปสาม ตัวเขาค่อยสละละทิ้งทุกอย่างต่อพระผู้เป็นเจ้า ก่อร่างสร้างสัมพันธ์กับพระเจ้าอีกหน เพื่อไม่ให้สงครามพรากผู้คนที่เขารักไปจากเขา หรืออาจจะเป็นสิ่งที่หนึ่งในตัวละครกล่าว “Every gift involves a sacrifice, if not, what kind of gift would it be?”

บ้านหลังสุดท้ายที่ชื่อลาสเวกัส ใน Leaving Las Vegas
เลือกโดย นัฐวุฒิ พูนพิริยะ

“บ้านหลังสุดท้ายของ เซน แอนเดอร์สัน (Sen Anderson) ที่แสดงโดย นิโคลัส เคจ (Nicholas Cage) ใน Leaving Las Vegas (1995) อาจไม่ใช่บ้านในเชิงรูปธรรมตรงตามความหมายนัก แต่เป็นเมืองทั้งเมืองอย่างลาสเวกัส

"Leaving Las Vegas กำกับโดย ไมค์ ฟิกกิส (Mike Figgis) เล่าถึงนักเขียนบทภาพยนตร์คนหนึ่งที่ชีวิตพังทลาย ติดเหล้า เมียหาย และลูกทิ้ง วันหนึ่งเขาถอนเงินทั้งหมดเพื่อขับรถไปลาสเวกัส ไปนอนในโมเต็ลเก่า ๆ ดื่มเหล้า และใช้เวลาราวกับเป็นวันสุดท้ายของชีวิตที่นั่น

"ผมดูหนังเรื่องนี้ตอนอายุ 13-14 ปี แล้วประทับใจมาก ในฐานะคนทำหนัง หนังที่นำเสนอบ้านสวยๆ มีให้เห็นมากมาย แต่หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ทำให้ผมเห็นว่าจริงๆ แล้วการทำหนังมันคือการสร้างบ้าน ไม่สิ สร้างโลกขึ้นมาหนึ่งใบ โลกที่ประกอบขึ้นจากเรื่องราว ผู้คน มวลความรู้สึก เสียง และดนตรีประกอบ รวมถึงกลิ่นที่เราไม่ได้กลิ่น แต่สัมผัสมันได้ เป็นมวลสารบางอย่างที่โลเคชั่นบ้านสวยๆ ให้ไม่ได้ ความงามในความทรามมันพิเศษมาก

"นอกจากหนังมันส่งอิทธิพลผมต่อมุมมองในการทำหนัง แต่มันยัง shape มุมมองของผมต่อชีวิตและความรัก ซึ่งหลังจากที่ดูเรื่องนี้หลายปี ผมมีโอกาสไปเรียนที่อเมริกา และระหว่างนั้นก็ทำงานพิเศษเก็บเงินไปด้วย จนมีเงินพอจะไปเที่ยวจำนวนหนึ่ง สถานที่แรกที่ผมไปคือลาสเวกัส”

‘Related Storeys: บ้าน ชั้น เธอ เรื่องเล่าในพำนัก’ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Secret Window Press บรรณาธิการโดย กิตติพล สรัคคานนท์ และจัดจำหน่ายโดยเคล็ดไทย สามารถสั่งซื้อได้ทาง Secret Window Chiang Mai