รัชดี อันวาร์ (Rushdi Anwar) ไม่ได้เป็นญาติกับ จอห์นนี่ อันวา และไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับ ซัลมาน รัชดี แต่เขาเป็นศิลปินร่วมสมัยชาวเคิร์ดที่อพยพมาใช้ชีวิตในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ออสเตรเลีย ก่อนย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปัจจุบัน
ชื่อ ‘เคอร์ดิสถาน’ อาจเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูสำหรับใครหลายคน และอาจเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการถึงตำแหน่งแห่งที่ของดินแดนแห่งนี้บนแผนที่โลกอันกว้างใหญ่ แต่บนพื้นที่เล็ก ๆ ซึ่งพร่าเลือนอยู่ระหว่างพรมแดนของประเทศตุรกี อิรัก อิหร่าน และซีเรีย แห่งนี้มี ‘ชีวิต’ มีชาวเคิร์ดผู้มีภาษาและศิลปวัฒนธรรมอันสง่างามเฉพาะตัว หากความโชคร้ายอยู่ตรงที่พวกเขาไม่เคยมีประเทศเป็นของตัวเอง และตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา พวกเขากลับไม่เพียงถูกคุกคามไปจนถึงกวาดล้างจากดินแดนเพื่อนบ้าน แต่ยังถูกหักอกด้วยสัญญาลม ๆ แล้ง ๆ ถึงเสรีภาพจากเหล่าประเทศมหาอำนาจซ้ำแล้วซ้ำเล่า
รัชดีเกิดและเติบโตในเมืองฮาลับจา (Halaja) ดินแดนที่อยู่ภายในเขตการปกครองของอิรัก เขาสนใจศิลปะมาตั้งแต่เด็ก หากแตกต่างจากเด็กผู้ชายและวัยรุ่นส่วนใหญ่ในมุมอื่นของโลก รัชดีเติบโตมาท่ามกลางการสูญเสียและความตาย ที่ซึ่งก่อนรัชดีจะตัดสินใจลี้ภัยในวัย 26 ปี เขาเอาชีวิตรอดจากสงครามมาถึง 5 ครั้ง หนึ่งในนั้นคือปฏิบัติการอันฟาล (Anfal Campaign) ที่อิรักใช้ระเบิดเคมีไล่ถล่มชาวเคิร์ดในเดือนมีนาคม ปี 1988 คร่าชีวิตชาวเคิร์ดไปกว่า 5,000 คน ในขณะนั้นเขามีอายุเพียง 17 ปี
รัชดีทำงานศิลปะด้วยสื่อที่หลากหลาย โดยทั้งหมดพูดถึงประวัติศาสตร์ในดินแดนเคอร์ดิสถาน ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง สงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การพลัดถิ่น และผลกระทบต่อคนตัวเล็ก ๆ จากลัทธิจักรวรรดินิยม ผลงานของเขาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีศิลปะชั้นนำมากมายทั่วโลก ซึ่งล่าสุด เขากำลังมีนิทรรศการเดี่ยวที่กรุงเทพฯ ณ หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน (The Jim Thompson Art Center) ในชื่อ A Hope and Peace to End All Hope and Peace
นี่เป็นนิทรรศการที่รวบรวมผลงานในระยะ 5 ปีหลังของรัชดี คัดสรรโดยภัณฑารักษ์ โซอี บัตต์ (Zoe Butt) และเป็นดังชื่องานอันแสนย้อนแย้งและแสบสัน นิทรรศการเล่าถึงประวัติศาสตร์ในดินแดนต้องสาป-บ้านเกิดของเขา ความหวังและสันติภาพที่ผู้มีอำนาจต่างนำมาใช้โฆษณาชวนเชื่อประชาชน ที่ซึ่งผ่านเวลามานับศตวรรษ มันยังคงเลือนราง และดูเหมือนไม่มีวันเกิดขึ้นจริง
ศิลปะจัดวางผ้าปูรองละหมาดของชาวเคิร์ดพร้อมภาพของนักการทูตชาวฝรั่งเศสและอังกฤษ (When you pray for black gold, you must deal with the burning smoke too, 2023), แผนที่ภูมิภาคตะวันออกกลางที่ถูกตัดแบ่งโดยชาติตะวันตกซึ่งทำจากสแตนเลสบนกระสุนทองเหลืองจำลอง (They filled our world full of shadow, and then they tell us to seek the light, 2023), วิดีโอสารคดีที่บอกเล่าถึงชีวิตของชายนักเก็บกู้ระเบิดไร้ขาชาวเคิร์ด (A man stronger than mine, 2023) หรือประติมากรรมทองเหลืองที่จำลองซากปรักของอนุสาวรีย์วีรบุรุษชาวยาซิดี (The Kingdom of dust, ruled by stones, 2023) รวมถึงโปสเตอร์ หนังสือ ภาพถ่าย และสื่อโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ ที่ถูกรวบรวมมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ฯลฯ เหล่านี้คือผลงานบางส่วนที่สะท้อนประวัติศาสตร์และความทรงจำของรัชดี ซึ่งได้รับการร้อยเรียงอย่างพิถีพิถันดังบทกวีที่มีน้ำเสียงหม่นเศร้า หากก็แฝงด้วยอารมณ์ขันร้าย กลืนไม่เข้า คายไม่ออก
นิทรรศการ A Hope and Peace to End All Hope and Peace บอกเล่าถึงชะตากรรมของชาวเคิร์ดและภูมิภาคตะวันออกกลาง กินระยะเวลาหลังการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อเนื่องมาถึงประวัติศาสตร์ยุคใกล้ รวมถึงผลกระทบที่ตกตามกันมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับการชักชวนคนอ่านไปชมภาพสะท้อนของประวัติศาสตร์ช้ำเลือด
เราถือโอกาสพูดคุยกับรัชดีถึงเบื้องหลังนิทรรศการ ชีวิตของผู้ลี้ภัย และความหมายของศิลปะ
ก่อนเข้าเรื่องนิทรรศการ ผมสงสัยเหลือเกินว่าในวัยเด็กคุณไปได้แรงบันดาลใจในศิลปะมาจากไหนในดินแดนที่เต็มไปด้วยสงครามและการสูญเสีย
คำตอบนี้ไม่ใช่สำหรับผมคนเดียว แต่ศิลปินเคอร์ดิสถานน่าจะเป็นเหมือนกันหมด เรามีรากทางศิลปวัฒนธรรมที่ดีและมันส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น อย่างไรก็ตาม ด้วยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ ศิลปะสำหรับชาวเคิร์ดจึงเป็นศิลปะของการต่อต้าน เราไม่เชื่อในความรุนแรง จึงใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการต่อต้านสงคราม เครื่องมือในการสะท้อนมนุษยธรรม การแสวงหาสันติภาพ ไปจนถึงการปลอบประโลมจากการสูญเสีย และความหมายของการมีชีวิตอยู่
ตั้งแต่จำความได้ ผมก็สนใจในการทำงานศิลปะมาตลอด เช่นเดียวกับศิลปินคนอื่น ๆ ที่ทำละคร ดนตรี หรืองานเขียนทั้งที่ดินแดนบ้านเกิดของผมแทบจะไม่มีอุตสาหกรรมเหล่านี้ ผมโตที่เมืองฮาลับจาในยุคที่อิรักปกครองเคอร์ดิสถาน ซึ่งสิ่งพิมพ์ทั้งหมดถูกแบน ผมวาดรูปเหมือนจากสิ่งที่เห็นและรู้สึก ศึกษาศิลปะจากนิตยสารจากโลกตะวันตกที่ลักลอบนำเข้ามา ซึ่งผมจำต้องรวมเงินกันซื้อกับเพื่อนและผลัดกันดู นักเขียนหลายคนเขียนบทกวีหรือนิยายโดยไม่คิดถึงการตีพิมพ์ผ่านสำนักพิมพ์ พวกเขาทำออกมาเป็นหนังสือทำมือและขายในราคาย่อมเยาเพื่อให้คนอื่นได้อ่าน ตอนผมได้อพยพไปอยู่ออสเตรเลีย ผมจึงแปลกใจมากที่ศิลปะมันถูกทำให้กลายเป็นสินค้าในโลกทุนนิยม ผมไม่ได้บอกว่าจะต่อต้านสิ่งนี้โดยสิ้นเชิงนะ แต่พื้นฐานศิลปะของผมและศิลปินชาวเคิร์ดส่วนใหญ่มันซื่อตรงมาก ๆ เหมือนคนเขียนภาพบนผนังถ้ำในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มันคือศิลปะที่สะท้อนมุมมอง ประสบการณ์ และช่วงเวลา
ผลงานส่วนใหญ่ของคุณบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์และความทรงจำอันขมขื่น เลยอยากรู้ถึงชีวิตในวัยเด็กที่ฮาลับจา คุณเคยมีความทรงจำที่ดีในบ้านเกิดบ้างไหม
มีสิ อันที่จริงความทรงจำของผมมันมีทั้งรสหวานและขม ผมมีครอบครัวที่อบอุ่น พ่อผมเป็นพนักงานบริษัท แม่เป็นแม่บ้าน เรามีชุมชนที่ดีและเพื่อนที่น่ารัก ผมจำได้ดีถึงกิจกรรมที่เราเคยทำร่วมกันที่โรงเรียน ความเอื้อเฟื้อของคนในหมู่บ้าน ความงามของธรรมชาติ ทั้งหมดล้วนสวยงาม จริงอยู่ที่ผมโตมาโดยไม่มีพริวิเลจใด ๆ นัก ไม่สามารถเข้าถึงหนังสือ ศิลปะ หรือเสียงเพลง แต่นั่นก็ปลุกความกระหายใคร่รู้ของผมและเพื่อน ๆ จนนำมาสู่การสร้างสรรค์
ในขณะที่ความทรงจำรสขมก็อย่างที่ทราบดี ผมเห็นสงครามและการสูญเสียจนคุ้นชิน ตอนเด็ก ๆ ผมเคยต้องหยุดเรียนและย้ายออกจากบ้านไปหลายปีเพื่อหนีภัยสงคราม ต้องพลัดพรากจากเพื่อนและญาติพี่น้อง และมันเศร้าที่ผมรู้จักว่าอะไรคือความตายตั้งแต่ยังเล็ก
คุณอยู่ที่เคอร์ดิสถานจนอายุ 26 ปี แล้วจึงตัดสินใจลี้ภัยไปออสเตรเลีย อะไรคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คุณตัดสินใจออกมา
ก่อนหน้านั้นผมเคยพยายามหนีออกมา 3 ครั้งแล้ว แต่ไม่สำเร็จ จนมาสำเร็จในปี 1997 ด้วยการใช้หนังสือเดินทางปลอมที่ซื้อจากตลาดมืด บินเข้าเมืองอังการา ประเทศตุรกี และทำเรื่องขอลี้ภัยที่นั่น จนสุดท้ายก็ได้ถูกส่งตัวไปยังออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้เป็นคนตัดสินใจเลือกประเทศ ตัวแทนจากสหประชาชาติเป็นฝ่ายเลือกให้ผม
ส่วนอะไรคือฟางเส้นสุดท้าย มันน่าจะเป็นเพราะผมไม่มีความหวังกับชีวิตที่นั่นแล้ว หลังจากการคุกคามจากอิรัก ดินแดนของผมยังมีสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคการเมืองของชาวเคิร์ดที่เคยมองว่าเป็นความหวังต่ออีก 4 ปี เราแทบไม่มีไฟฟ้าใช้ เศรษฐกิจพังทลาย และคนรุ่นใหม่ก็ล้วนตกงาน จริงอยู่ที่ผมทำงานศิลปะเพราะอยากสะท้อนความขัดแย้งและตั้งคำถามถึงเสรีภาพโดยไม่เคยคิดถึงแง่มุมเชิงพาณิชย์ แต่ลำพังแค่การหางานเพื่อประทังชีวิตยังทำไม่ได้เลย เคอร์ดิสถานตอนนั้นก็ไม่ต่างจากฉนวนกาซาในตอนนี้
ใน Curatorial Essay ที่เขียนโดยโซอี เธอเขียนไว้ว่าระหว่างที่คุณขอลี้ภัย เจ้าหน้าที่ยูเอ็นถามคุณว่าอยากให้รัฐจัดหาสิ่งของอะไรเป็นพิเศษให้คุณไหม ซึ่งคุณตอบว่า ‘กระดาษและหมึก’ ตอนที่คิดจะลี้ภัยไปประเทศที่สาม คุณคิดถึงการทำงานเป็นศิลปินตั้งแต่ตอนนั้นเลยไหม
ผมทำงานศิลปะตั้งแต่อยู่ที่เคอร์ดิสถานแล้วน่ะครับ เริ่มทำตั้งแต่อยู่ที่ฮาลับจา ก่อนจะย้ายมาเมืองสุเลมานิยาห์เพื่อเรียนในระดับมหาวิทยาลัย หลังเรียนจบ ผมเคยมีนิทรรศการกลุ่มจัดแสดงในหอศิลป์ของเมืองสุเลมานิยาห์ ขณะเดียวกันศิลปินชาวเคิร์ดที่อยู่ในยุโรปก็เคยนำผลงานของผมและเพื่อนศิลปินไปจัดแสดงในยุโรปบ้าง อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้คิดถึงการมีอาชีพเป็นศิลปินในประเทศใหม่ที่กำลังจะลี้ภัยไป จะทำงานอะไรก็ได้ แต่ขอแค่ได้ทำงานศิลปะบันทึกประสบการณ์ของตัวเอง ก่อนได้ลี้ภัย ผมต้องใช้ชีวิตในตุรกีถึงหนึ่งปีกับหกเดือน ผมจึงขอกระดาษและหมึกเพื่อจะได้เขียนรูป การเขียนรูปของผมในตอนนั้น ไม่ต่างอะไรจากการบันทึกไดอารี่
จนย้ายมาเมลเบิร์น ผมทำงานทุกอย่างเพื่อประทังชีวิต ทั้งล้างจานและทำงานในครัว อย่างไรก็ดี ผมโชคดีที่มีโอกาสได้เรียนต่อทางด้านศิลปะที่นั่น (ปริญญาโทวิจิตรศิลป์ และปริญญาเอกปรัชญาศิลปะที่ RMIT University) มีโอกาสเข้าถึงหนังสือและอาร์ทสเปซดี ๆ รวมถึงได้เรียนกับ อิสมาอิล คายัต (Ismail Kayat) จิตรกรชาวเคิร์ดที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Grandfather of Kurdish Art ที่นั่น ผมเรียนรู้จากเขาหลายเรื่องมาก เขาเพิ่งเสียชีวิตไปในปี 2022 นี้เอง สำหรับคำถามของคุณ ผมไม่คิดว่ามันเป็นการตัดสินใจ แต่มันเป็นเพราะผมสนใจในศิลปะ และมีโอกาสได้เรียนต่อทางด้านศิลปะ จึงทำให้ต่อมาผมจึงได้ทำงานในฐานะศิลปิน
นิทรรศการ A Hope and Peace to End All Hope and Peace เป็นนิทรรศการที่รวบรวมผลงานของคุณในรอบ 5 ปีหลังมานี้ โดยมีผลงานหลายชิ้นที่คุณเดินทางไปเก็บข้อมูลที่บ้านเกิดในเคอร์ดิสถาน ซึ่งนั่นทำให้ผมทราบว่าก่อนหน้านี้ คุณก็มีโอกาสเดินทางกลับไปที่นั่นอยู่หลายครั้ง จึงอยากทราบว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา คุณเห็นบ้านเกิดคุณเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
หลังลี้ภัย ผมกลับไปที่นั่นครั้งแรกในปี 2005 หลังจากที่ ซัดดัม ฮุสเซน ลงจากอำนาจ และก็ได้กลับไปอีกทุก ๆ 3 หรือ 5 ปี น่าสนใจที่ทุกครั้งที่กลับไป ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งทางด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ครั้งแรกที่กลับไป มันเป็นช่วงเวลาที่อิรักมีการเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ผมเห็นสัญญาณของความหวัง แต่หลังจากนั้นด้วยการลอบสังหารและการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความหวังที่ว่าก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง จากนั้นก็ยังมีสงครามระหว่างชีอะห์และซุนนีอีก หลังปี 2012 ความขัดแย้งลดลง เศรษฐกิจดูเหมือนจะดีขึ้น แต่สักพัก ISIS ก็เข้ามาเรืองอำนาจในภูมิภาคอีก
ล่าสุดผมกลับไปหลังจาก ISIS จากไปแล้ว ผมเห็นคนออกมาประท้วงบนท้องถนน เรียกร้องการเข้าถึงน้ำสะอาดและไฟฟ้า เพราะอิรักและดินแดนของผมต้องทุ่มทรัพยากรไปในอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน ประชาชนจึงมีไฟฟ้าใช้ได้เพียงวันละ 5 ชั่วโมงเท่านั้น นั่นล่ะครับ ทุกครั้งที่ผมกลับบ้าน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกครั้งที่ผมกลับบ้าน แต่สิ่งเดียวที่ไม่เคยเห็นคือความหวังและสันติภาพ
ทุกครั้งที่กลับบ้าน คุณเคยถามคนที่นั่นไหมว่าทำไมจึงยังเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อ ทั้งที่มันดูเหมือนไม่มีความหวังเท่าไหร่แล้ว
ข้อแรกคือคุณต้องเข้าใจก่อนว่าชาวเคิร์ดเป็นชนพื้นเมือง พวกเขาไม่พร้อมจะย้ายไปไหน และไม่มีแม้แต่หนังสือเดินทางด้วยซ้ำ และอีกข้อที่สำคัญคือ พวกเขาคิดว่าที่นั่นคือบ้าน ผมไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกนี้ยังไง แต่ผมมีญาติและเพื่อนหลายคนที่สามารถลี้ภัยไปยังหลายประเทศในยุโรปได้ในช่วงที่เกิดสงคราม พวกเขาย้ายไป แต่พอสงครามสงบ พวกเขาก็เลือกที่จะย้ายกลับมา จริงอยู่ที่การมีชีวิตอยู่ที่นั่นคือความเจ็บปวด แต่มันก็คือบ้านของพวกเขา
ผมชื่นชอบชื่อนิทรรศการของคุณ เข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นการต่อยอดจากชื่อหนังสือ A Peace to End All Peace ของ David Fromkin ที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางหลังการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันด้วย เลยอยากรู้ที่มาของชื่อนี้
ใช่ครับ ส่วนหนึ่งมาจากชื่อหนังสือเล่มนั้น ซึ่งผมนำมาจัดแสดงในฐานะ archive ของนิทรรศการนี้ด้วย แต่หลักใหญ่ใจความของชื่อนี้มาจากงานของผมที่ชื่อ I’m writing over and over two letters in Arabic ซึ่งเป็นวิดีโอความยาว 4.5 นาที ที่ผมทำในปี 2015 ในวิดีโอนั้นได้บันทึกตัวผมเองที่กำลังเขียนคำศัพท์สองคำในภาษาอาราบิกคือ ‘ความหวัง’ (hope) และ ‘สันติภาพ’ (peace) ผมเขียนสองคำนั้นซ้ำ ๆ กันบนกระดาษสีขาว ซ้อนกันเข้าไปเรื่อย ๆ จนกระดาษเป็นสีดำสนิทและอ่านไม่ออก
แรงบันดาลใจของงานชิ้นนี้เกิดจากตอนที่ผมกลับเคอร์ดิสถานครั้งแรกในปี 2005 อย่างที่บอกว่าช่วงนั้น ซัดดัมสิ้นอำนาจ อเมริกาเข้ามาจัดการภายในอิรัก และกำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ผมจำได้ว่าตอนกลับไป เห็นแต่ป้ายโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ทั่วทุกมุมเมือง และไม่ว่าจะมองไปที่ไหน คำว่า ‘ความหวัง’ และ ‘สันติภาพ’ ถูกใช้ในแคมเปญหาเสียงเต็มไปหมด ชาวเคิร์ดต่างเห็นสัญญาณของความหวัง แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีสงครามระหว่างนิกายทางศาสนา และความขัดแย้งต่าง ๆ เรื่อยมา ผมจึงสงสัยว่าคำว่า ‘ความหวัง’ และ ‘สันติภาพ’ เหล่านั้น จะเป็นรูปธรรมได้ยังไง
เช่นเดียวกับหนังสือของ เดวิด ฟรอมกิน (David Fromkin) ผมสนใจอารมณ์ขันร้ายในการตั้งชื่อ สันติภาพที่ลบล้างสันติภาพทั้งมวล มันสะท้อนภาพของตะวันออกกลางจนถึงทุกวันนี้ได้ดี
ประวัติศาสตร์ที่คุณใช้เป็นเนื้อหาในนิทรรศการ เริ่มต้นที่ช่วงการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน ทำไมจึงเลือกไทม์ไลน์นั้น
เพราะช่วงเวลานั้นคือหนึ่งในรากเหง้าของความขัดแย้งที่ส่งผลมาถึงทุกวันนี้ อย่างที่คุณเห็นในนิทรรศการส่วนแรก ผ่านงาน When you pray for black gold, you must deal with the burning smoke too ที่เป็นพรมสำหรับละหมาด และภาพของมาร์ก ไซกส์ และฟรองซัวส์ จอร์จ-ปิโกต์ นักการทูตจากอังกฤษและฝรั่งเศส ผู้ลงนามทำข้อตกลงลับแบ่งพื้นที่ตะวันออกกลางหลังออตโตมันล่มสลายลงในปี 1916 รวมถึงงาน They filled our world full of shadow, and then they tell us to seek the light ที่เป็นแผนที่วางอยู่บนขาตั้งกระสุนปืน การแบ่งพื้นที่ของมหาอำนาจสองประเทศเพื่อจะได้ดูดกลืนทรัพยากรของตะวันออกกลาง โดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของผู้คนในพื้นที่ ส่งผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่พวกเราอย่างมาก ผมไม่ได้บอกว่านี่คือต้นตอของทุกความขัดแย้งทั้งหมดที่มีในภูมิภาคนี้ แต่มันส่งผลกระทบมาถึงผู้คนที่นั่นโดยตรง
ทั้งนี้ รูปแบบของตัวแทนชาติมหาอำนาจที่มากางแผนที่ตกลงแบ่งดินแดนกัน มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในดินแดนบ้านเกิดของผมภูมิภาคเดียว เหล่าผู้คนในแอฟริกา ละตินอเมริกา อินเดียและปากีสถาน หรือกระทั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ก็ล้วนประสบความเจ็บปวดจากสิ่งนี้ด้วยกันทั้งนั้น
กำลังจะถามต่อเลยว่าสำหรับผู้ชมคนไทยอย่างเราที่อยู่ไกลห่างจากตะวันออกกลางมาก ๆ เราจะได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้
ผมมองว่ามันเป็นการชวนให้ทุกคนตั้งคำถามว่าเราแชร์อะไรร่วมกัน จริงอยู่ที่คนไทยส่วนใหญ่อาจแทบไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับตะวันออกกลาง แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์และภาพใหญ่ คนในภูมิภาคนี้ก็พบผลกระทบจากการแบ่งพื้นที่เพื่อจัดสรรทรัพยากรของจักรวรรดินิยมเหมือน ๆ กัน เช่นที่ฝรั่งเศสและอังกฤษเข้ามายึดครองหลายประเทศในอาเซียน การมีรัฐบาลเงา สงครามเวียดนาม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา ไปจนถึงสิ่งที่เกิดในอีสานหรือปัตตานีของไทย
และนั่นเป็นเหตุผลว่าเมื่อคุณเข้ามาชมนิทรรศการ คุณจะเห็นลักษณะร่วมของประวัติศาสตร์ที่มันอาจเป็นจุดเริ่มต้น อยู่ระหว่างกลาง หรือจุดจบของเหตุการณ์ บางเรื่องมันอาจเกิดในดินแดนนี้เมื่อ 10 ปีก่อน หรือบางเรื่องมันอาจจบลงไปแล้วที่บ้านเกิดของคุณ แต่มันก็อาจจะกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งในบริบทที่ต่างกัน
เหมือนสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรืออิสราเอล-กาซาที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้
ใช่ครับ เกมยังคงดำเนินอยู่ในรูปแบบที่ต่างออกไป ซึ่งมันก็เป็นผลพวงจากความอยุติธรรมที่ชาติตะวันตกฝังรากไว้ในอดีต โดยเฉพาะกับเรื่องในฉนวนกาซา หรือกระทั่งประเด็นจักรวรรดินิยม จริงอยู่ที่ทุกวันนี้ไม่มีชาติมหาอำนาจไหนถือปืนเข้าไปบุกยึดประเทศอื่นๆ ได้อย่างโจ่งแจ้งเหมือนก่อนแล้ว เพราะเรามีข้อตกลงระหว่างประเทศ มีสหประชาชาติ รวมไปถึงความตระหนักรู้ในสิทธิมนุษยชน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการคุกคามและความอยุติธรรมจะหมดไป เพราะอย่างที่รู้กัน เราเห็นถึงการเข้ามาสร้างอาณานิคมใหม่ผ่านเศรษฐกิจและการทำสัญญาการค้าที่ไม่เป็นธรรม เรายังพบสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายดินแดน และนั่นแหละ ทุกวันนี้การละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยังคงอยู่ การเหยียดชาติพันธุ์ยังคงอยู่ การใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ยังคงอยู่
แล้วเนื้อหาของนิทรรศการส่วนที่ 2 ที่คุณเลือกนำเสนอวีรบุรุษของชาวเคิร์ดมาเป็นหัวข้อหลักในการเล่าเรื่อง คุณมีเกณฑ์ในการเลือกอย่างไร
เนื้อหาของนิทรรศการส่วนนี้พูดถึงบุคคล 3 บุคคล คือ Sheikh Mahmud Barzanji อดีตหัวหน้าเขตอารักขาของอังกฤษ-เคิร์ด ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เป็นผู้นำการก่อกบฏของชาวเคิร์ดที่มีต่ออังกฤษ ซึ่งผมนำเสนอผ่านภาพถ่าย และ archive คนที่สองคือ Ezidi Mirza อดีตผู้นำชาวยาซิดี ชนพื้นเมืองในเคอร์ดิสถานที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการกดขี่ของออตโตมันในช่วงศตวรรษที่ 17 และคนที่สาม Hoshyar Byawelaiy นักเก็บกู้ระเบิดชาวเคิร์ดที่อาศัยในเมืองใกล้บ้านเกิดของผมในปัจจุบัน
ทั้งสามคนนี้เกี่ยวพันกับเคอร์ดิสถานและตะวันออกกลางในบริบทและความหมายที่ต่างกันไป ยกตัวอย่าง Ezidi Mirza ซึ่งผมเลือกนำเสนอผ่านอนุสาวรีย์ของเขาที่ผมพบจริง ๆ ในเมืองบาชิกา ทางตอนเหนือของอิรัก ซึ่งใช่ครับ คุณจะเห็นว่าผลงานชิ้นนี้ดูเหมือนรูปปั้นของทหารบนหลังม้าที่ดูไม่สมประกอบ เป็นเหมือนซากปรัก ซึ่งอนุสาวรีย์จริงๆ ที่นั่นก็มีสภาพไม่ต่างกัน
ผมพบอนุสาวรีย์นี้โดยบังเอิญตอนเดินทางไปเมืองบาชิกาเมื่อปี 2016 หลังจากที่ ISIS เข้ายึดเมืองนี้ และทำลายอนุสาวรีย์นี้ลงไป ก่อนที่พวกเขาจะถูกตีกลับและล่าถอยออกไป ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่า ISIS จะทำลายสัญลักษณ์ทุกอย่างที่ไม่ได้เป็นอิสลาม อนุสาวรีย์นี้เป็นตัวแทนของชาวยาซิดี กลุ่มชนที่นับถือศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดของโลก และนั่นคือเหตุผลให้ ISIS ใช้เครื่องยิงจรวด RPG ทำลายมันลง แต่ความที่รูปปั้นทำจากซีเมนต์ บางส่วนของมันจึงยังคงอยู่ ผมประทับใจรูปปั้นนี้ในฐานะของภาพสะท้อนของประวัติศาสตร์ สมัยก่อนชาวยาซิดีตกอยู่ใต้การคุกคามของออตโตมัน พวกเขาเคยถูกบังคับให้เข้ารีตอิสลาม แต่พวกเขาก็ปฏิเสธ และลุกขึ้นมาต่อต้าน พอมาในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ ISIS เข้ามากวาดล้างชาวยาซิดี จับผู้หญิงไปขาย และทำลายอนุสรณ์สถาน ทั้งนี้ ISIS ยังได้รับการสนับสนุนทางอ้อมจากอิรักด้วยเช่นกัน
จากต้นฉบับที่ทำจากปูนซีเมนต์ ผมกลับมารีเมกใหม่ด้วยทองเหลือง ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ทำอาวุธ คุณจะเห็นว่ารูปปั้นยังมีความสมบูรณ์ในรูปทรง แต่ไม่มีเค้าใบหน้า ไม่มีอัตลักษณ์ เปรียบเหมือนภูมิทัศน์ทางการเมืองของภูมิภาคตะวันออกกลางในทุกวันนี้ รวมถึงดินแดนอื่นๆ ที่ถูกผู้มีอำนาจเข้ามาดูดกินทรัพยากรจนขาดไร้ซึ่งตัวตน อย่างไรก็ดี การไม่มีตัวตน ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีรากเหง้า วัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์แต่อย่างใด
แล้วคนที่สาม Hoshyar Byawelaiy ล่ะ
ผมประทับใจในแง่ของสัญลักษณ์ทางมนุษยธรรม Hoshyar สูญเสียครอบครัวและเพื่อน ๆ รวมถึงขาของเขาเองทั้งสองข้างจากกับระเบิด เขาจึงอุทิศชีวิตที่เหลือในการเก็บกู้ระเบิดในดินแดนเคอร์ดิสถานโดยไม่ได้รับค่าจ้างจากหน่วยงานใดๆ เขาอาศัยอยู่ในเมืองที่ใกล้ฮาลับจาไม่ถึง 10 นาที ผมได้รู้จักเขาตอนกลับบ้านครั้งที่แล้ว จึงตัดสินใจขอถ่ายทำสารคดีเล่าถึงชีวิตประจำวันของเขา คุณรู้ไหม การเก็บกู้ระเบิดของเขาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ดินแดนของชาวเคิร์ดมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับสร้างสาธารณูปโภค สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ไปจนถึงความเชื่อมั่นที่ทำให้มีคนเข้ามาท่องเที่ยว สำหรับนิทรรศการชุดนี้ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของสงคราม เรื่องราวของเขามีความเป็นมนุษย์มากที่สุด
โอเค และพาร์ทสุดท้ายที่คุณโฟกัสประเด็นโฆษณาชวนเชื่อที่นำมาซึ่งความรุนแรงผ่าน archive ของสื่อโฆษณาชวนเชื่อในยุคต่าง ๆ รวมถึงชิ้นงานเครื่องเล่นกระบอกเสียงทองเหลืองที่คุณเปลี่ยนลวดลายของมันให้เป็นสัญลักษณ์ของสงครามและจักรวรรดินิยม (Listen again to the drum sound of rising in the air; the truth is treason in the empire of lies, 2023) เข้าใจว่านั่นคือการสะท้อนประวัติศาสตร์ แต่กับบริบทในยุคปัจจุบันที่ผู้คนสามารถสื่อสารได้สองทาง และข่าวสารทั่วโลกเชื่อมถึงกันหมดแล้ว คุณมองเรื่องนี้ยังไง
ใช่ครับ เครื่องเล่นกระบอกเสียงมันมีบทบาทสำคัญในอดีตมาก เพราะนอกจากหนังสือพิมพ์ นี่คือเครื่องมือเดียวที่ผู้คนจะได้รับข่าวสาร และพร้อมจะเชื่อในสิ่งที่ถูกประกาศ อย่างไรก็ดี กับยุคสมัยนี้ที่คุณเข้าถึงข่าวสาร แสดงความคิดเห็น หรือกระทั่งเป็นสื่อมวลชนได้ด้วยตัวคุณเองผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ผมมองว่าสภาวะของโฆษณาชวนเชื่อมันหนักหน่วงและซับซ้อนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ซับซ้อนอย่างไร เพราะอย่างน้อยที่สุด ถ้าคุณมีชีวิตในศตวรรษที่แล้ว หากเผด็จการคนไหนต้องการจะปิดกั้นข่าวสาร เขาก็แค่ยึดสถานีวิทยุและสั่งแบนสิ่งพิมพ์ หากคุณรู้เรื่องนี้ คุณก็สามารถตัดสินใจได้ง่ายว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อข้อมูลที่ถูกประกาศ แต่กับปัจจุบันมันไม่ใช่แบบนั้น ความจริงมันมีหลายระดับขึ้นอยู่กับมุมมองและพื้นเพของสื่อนั้น ๆ
ยกตัวอย่างแบบนี้ ถ้าคุณติดตามเรื่องของฉนวนกาซาที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้จากรายงานของ BBC, Voice of America, Aljazeera และอื่นๆ คุณจะพบว่าน้ำเสียงและรายละเอียดในรายงานล้วนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งนั่นล่ะครับ การเลือกข้างมันเกิดขึ้นเป็นปกติ และสื่อต่าง ๆ ก็รู้ว่าผู้ติดตามของเขาเป็นใคร มันจึงเป็นเรื่องง่ายเหลือเกินที่จะสร้างความชอบธรรมในการสร้างความรุนแรงให้ฝ่ายของตัวเอง แล้วไหนจะ fake news ที่ปรากฏขึ้นทุกวันอีก
คุณไม่เชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้ว บางทีเราอาจต้องใช้ความรุนแรงเพื่อยุติความรุนแรง
ผมเห็นความรุนแรงมามากพอแล้ว และผมไม่เคยเห็นว่าจะมีครั้งไหนที่ความรุนแรงจะสามารถยุติความรุนแรงได้จริง ๆ
คำถามสุดท้าย คุณพยายามพูดถึงสันติภาพและความหวังที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในตะวันออกกลางผ่านนิทรรศการชุดนี้ ถ้าสมมุติว่าความขัดแย้งทั้งหมดมันได้รับการแก้ไข ดินแดนคุณกลับมามีความหวังจริง ๆ อีกครั้ง คุณคิดถึงการกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่เคอร์ดิสถานอย่างถาวรไหม
นั่นสิ ชีวิตผมระหกระเหเร่ร่อนมาตลอดหลายสิบปี ซึ่งเมืองทุกเมืองที่ผมอาศัยก็ต่างหล่อหลอมทัศนคติและวิถีชีวิตของผม ขณะเดียวกัน ผมก็ยังเคารพในวัฒนธรรมเคิร์ดของตัวเองมาก ๆ อย่างไรก็ดี ผมย้ายมาสอนหนังสืออยู่เชียงใหม่มา 4 ปีแล้ว ผมชอบอาร์ทซีน ชอบสังคมที่นี่ และเพิ่งปลูกบ้านและทำสตูดิโอใหม่ไปด้วย ถ้าเคอร์ดิสถานมีสันติภาพจริง ผมก็คงจะดีใจมาก ๆ แต่ส่วนตัว ผมยังไม่รู้ถึงอนาคตเลย