ส่องโลกคอลลาจในระนาบจิตรกรรม ผ่านผลงานของ ‘Ruthorn’

Post on 3 November

ถ้าพูดถึงงานคอลลาจ เราก็มักจะนึกถึงภาพตัดแปะที่เกิดจากการนำหนังสือพิมพ์ นิตยสาร เศษผ้า กระดาษ รูปภาพ หรือสื่อต่าง ๆ อีกมากมายมาแปะลงบนกระดาษ เพื่อสร้างผลงานที่รวมเอาพื้นผิวที่แตกต่างกันของวัสดุหลายชนิด ให้มาอยู่บนพื้นที่เดียวกันได้อย่างลงตัว หรือในปัจจุบันที่การทำงานดิจิทัลอาร์ตได้รับความนิยมสูง ก็มีคนนำเทคนิคนี้มาใช้ในงานออกแบบภาพประกอบอย่างหลากหลายด้วยเช่นกัน ซึ่งจุดเด่นของงานสไตล์นี้ ก็คือความเป็นไปได้ทางสายตาที่ไม่มีที่สิ้นสุด

แต่ศิลปินที่เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักในคอลัมน์ Artist in our radar วันนี้ก็เป็นศิลปินที่ทำงาน ‘สไตล์คอลลาจ’ แต่แทนที่จะนำวัสดุจากต่างที่มาแปะปะเข้าด้วยกัน เขากลับสร้างชิ้นส่วนแต่ละชิ้นขึ้นมาด้วยตัวเองผ่านการ ‘วาด’

‘ทู รุธร’ หรือ ‘Ruthorn’ คือศิลปินผู้นิยามตัวเองว่าเป็นศิลปินแบบ ‘Self-Taught’ หรือ ‘เรียนรู้ด้วยตัวเอง’ มาโดยตลอด จนกระทั่งตัดสินใจไปเรียนต่อระดับปริญญาโท คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาทัศน์ศิลป์ เลยอยู่ในช่วงก้ำกึ่งระหว่างการหาคำนิยามที่เหมาะสมให้กับตัวเองอยู่ แต่ถึงแม้ว่าคำนิยามจะยังไม่ชัด ทว่าสไตล์การสร้างงานกลับชัดเจนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเขาได้เลือกนำเสนอมุมมองความเป็นคอลลาจในระนาบใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้การตัดแปะด้วยกรรไกร หรือโปรแกรมใด ๆ อีกต่อไป เพราะใช้ปลายพู่กันมาเป็นตัวสร้างงานแทน

**The dream**

The dream

“ตั้งแต่เด็กผมเป็นเด็กที่ชอบวาดรูปอยู่แล้ว และได้มีโอกาสไปเรียนวาดรูปกับ ครูโต (ม.ล.จิราธร จิรประวัติ) ซึ่งตอนนั้นผู้ช่วยสอนคือ ครูปาน (สมนึก คลังนอก) ในช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งทุกวันนี้วิธีการเลือกใช้สีของผมก็ยังติดมาจากการเรียนสมัยนั้นอยู่” ศิลปินเริ่มเล่า

“พอเข้าวัยมัธยมปลาย แม้ว่าจะยังชอบวาดรูปอยู่ แต่ผมไม่ได้คิดจะเป็นจิตรกรเลย ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะทุกคนรู้ว่าอาชีพศิลปิน นักร้อง นักดนตรี มันไม่มั่นคง อีกทั้งผมในตอนนั้นไม่รู้ว่าความสามารถในการวาดรูปของตัวเองจะสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้หรือเปล่า ทำให้ตั้งแต่เรียนเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยไปจนถึงสองปีแรกของการเป็นนิสิต ผมไม่ได้จับพู่กันเขียนรูปเลย”

“ต่อมาตอนเรียนปริญญาตรีช่วงเริ่มขึ้นปีสาม ผมก็จับพลัดจับผลูไปเช่าหออยู่ร่วมห้องกับเพื่อนสองคนที่เรียนคณะศิลปกรรมศาตร์ ทำให้ผมเริ่มกลับมาวาดรูปอีกครั้ง โดยอาศัยให้เพื่อนช่วยสอนพวกเรื่องพื้นฐานต่าง ๆ (เช่นวิธีการวาดสีน้ำมัน หรือ การแรเงา) ทำให้ผมเริ่มมีความมั่นใจในการทำงานศิลปะ ผมตัดสินใจทำงานวิจัยเรื่อง ‘ตลาดงานศิลปะในประเทศไทย’ ส่งเป็นเล่มจบให้คณะเศรษฐศาสตร์ และตั้งใจว่าจะเริ่มต้นเป็นจิตรกรอาชีพหลังเรียนจบ

“พอเรียนจบผมก็ตัดสินใจเดินไปทางไปนิวยอร์กเพราะอยากรู้ว่าตอนนั้นศิลปินในนิวยอร์กกำลังทำงานแบบไหนกัน อาศัยอยู่ประมาณปีครึ่ง ได้พบเจอศิลปินทั้งคนไทยและต่างชาติ เรียนรู้เรื่องศิลปะประมาณหนึ่งจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ และเริ่มเขียนรูปขาย

**sPINKtrum 60x80**

sPINKtrum 60x80

**21 120x80**

21 120x80

**24 120x80**

24 120x80

**The box II 60x80 cm.**

The box II 60x80 cm.

“สำหรับคอนเซปต์งานที่เป็นผมในปัจจุบันนี้ เป็นงานที่พัฒนาต่อมาจากงานคอลลาจแบบที่ทุกคนรู้จัก มันเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ผมกลับมาเมืองไทย พอผมเขียนรูปไปสักพักหนึ่ง ก็เริ่มเบื่อ จึงเปลี่ยนไปทำงานคอลลาจบนกระดาษแทน พอทำไปทำมากลายเป็นงานที่เริ่มมีคนสนใจ ได้รับรางวัลจากการประกวด และได้ร่วมจัดแสดงในระดับนานาชาติ จึงคิดว่าจะพัฒนาวิธีการทำงานแบบนี้มาเป็นงานจิตรกรรม เนื่องจากงานคอลลาจที่ตัดแปะบนกระดาษมันไม่คงทน” ศิลปินแชร์จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสร้างงานคอลลาจให้เป็นงานจิตรกรรม

หลังจากทราบถึงจุดเริ่มต้นแล้ว ศิลปินก็เริ่มอธิบายถึงเทคนิคที่เขาใช้ในการทำงานให้เราฟังทีละขั้นตอน ว่ากว่าจะสร้างงานจิตรกรรมให้คงเสน่ห์ของการเป็นภาพวาดไปพร้อม ๆ กับความสวยงามแบบงานคอลลาจนั้น เขามีวิธีการอย่างไร

“สิ่งที่อาจจะทำให้งานของผมแตกต่างจากคนอื่น คือการที่ผมแยกส่วน ‘ฉากหลัง’ กับ ‘ฉากหน้า’ ออกมาจากกันอย่างชัดเจน คือ ในงานของผม ฉากหน้า (เช่นรูปคน) จะอยู่กันคนละระนาบกับ ฉากหลัง (เช่นรูปห้อง) ซึ่งอาจจะมองไม่เห็นจากรูปถ่าย แต่จะเห็นได้ชัดเจนหากไปดูผลงานจริง

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราร่างแบบด้วยดินสอลงไปก่อน แล้วค่อย ๆ เอาสีใส่ลงไปตามช่องว่าง ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมทำกัน ในงานของเราทุกอย่างจะอยู่ในระนาบเดียวกัน แต่ถ้าเราวาดฉากหลังลงไปก่อนเช่นผนังห้อง แล้วค่อยวาดเก้าอี้ทับลงไป แล้วค่อยวาดคนนั่งบนเก้าอี้ ตัวคนจะอยู่คนละระนาบกับเก้าอี้และผนังห้อง (หนาออกมา) ซึ่งเป็นวิธีเหมือนกับการทำงานคอลลาจ (แปะผนังก่อน แล้วตัดแปะเก้าอี้ แล้วตัดแปะคนลงไป ทำให้ทุกอย่างอยู่คนละระนาบกัน) สรุปง่าย ๆ คือ พอทำแบบนี้แล้วงานเพนท์ติ้งของผม ก็จะดูเหมือนงานคอลลาจครับ

**the last judgement**

the last judgement

“ในส่วนของการใช้สี ผมจะใช้สีทับซ้อนกันแทนการผสมสีตรง ๆ กล่าวคือ หากผมจะใช้สีส้ม ผมจะไม่ผสมสีแดงกับสีเหลืองบนจานสี แล้วนำไปเขียน แต่ผมจะเขียนสีแดงลงไปก่อน รอให้สีแห้ง แล้วค่อยให้สีเหลืองที่โปร่งแสงซ้อนลงไปแทน

“ตอนนี้งานเกือบทั้งหมดจะเป็น Acrylic on canvas (มีบางชิ้นที่เป็น Oil and Acrylic on canvas) เพราะจากที่เป็นคนชอบลองใช้เทคนิคและวัสดุแปลก ๆ มาทำงานสองมิติแบบมิกซ์มีเดีย ปัจจุบันคิดว่าการใช้เทคนิคที่เรียบง่ายจะสามารถอธิบายตัวผลงานได้ถูกต้องและชัดเจนกว่า (เพราะการใช้เทคนิคหรือวัสดุที่แปลกหรือใหม่จะทำให้ผู้ชมมุ่งความไปสนใจไปตรงเหตุผลที่เลือกใช้)

“ส่วนเหตุผลที่เลือกใช้สีอะคริลิก เพราะการเขียนภาพเป็นชั้น ๆ (layer) ให้เหมือนงานคอลลาจ สีอะคริลิกจะทำได้ดีกว่าสีน้ำมัน เนื่องจากการเขียนสีน้ำมันจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่อง Fat over lean เพื่อไม่ให้สีแตก อีกทั้งยังใช้เวลาที่นานกว่าสีจะแห้ง และไม่เหมาะวิธีการทำงานแบบผมที่จะชอบสร้างฉากหลังขึ้นมาก่อน (ไม่ได้มีแบบสมบูรณ์ (sketch) ของงานทั้งหมด) อีกทั้งยังไม่สามารถทำ ‘สีที่ทับซ้อนกัน’ ได้”

“ซึ่งตามปกติแล้ว จิตรกรหลายท่านในอดีตมักจะทดลองและค้นหาวิธีเขียนรูปที่แตกต่างจาก Traditional oil painting techniques อยู่แล้ว (เช่น แจ็กสัน พอลล็อก หรือคนอื่น ๆ ในกลุ่ม) แต่ในเมื่อปัจจุบันมีสีอะคริลิก ซึ่งได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยม ผมจึงต้องการจะหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการทำงานที่เรียกว่า Acrylic on canvas”

“อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของมุมมองในการดูภาพวาดของผม เพราะสำหรับผมแล้ว ผมจะมองเพ้นท์ติ้งเป็นเหมือน ‘กล่อง’ ทำให้เวลามองงานแต่ละชิ้น จะต้องใช้การมองเข้ามาข้างในภาพ ซึ่งแตกต่างจากไอเดียการวาดเพ้นท์ติ้งแบบอื่น ที่เปรียบให้ภาพเป็นเหมือนหน้าต่าง ที่เสนอให้คนดูมอง ‘ออกไป’ ข้างนอกภาพแทน”

**20 120x80.**

20 120x80.

นอกจากเรื่องเทคนิคการสร้างงานคอลลาจในระนาบจิตรกรรมแล้ว งานของ ทู รุธร ยังโดดเด่นในเรื่องของคอนเซปต์ที่มีการสร้าง ‘ผี’ ลงไปในผลงาน เพื่อสื่อถึงความทรงจำที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังด้วย

“ขอออกตัวก่อนว่าเรื่องนี้เป็นมุมมองส่วนตัวของผม ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะคิดไม่เหมือนกัน จริง ๆ ผมอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากงานวรรณกรรมแบบ ‘Magical realism (สัจนิยมมหัศจรรย์)’ เช่น งานของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เก (Gabriel García Márque) เรื่อง ‘One Hundred Years of Solitude’ ซึ่งในหนังสือเมื่อดำเนินเรื่องไปเรื่อย ๆ จะมีผีของบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว อาศัยอยู่ในบ้านด้วย และเวลาอ่านเจอตัวผีในเรื่องมักจะทำให้ผมย้อนไปนึกถึงตอนที่ตัวละครตัวนั้นยังมีชีวิตอยู่ในช่วงต้นของหนังสือ”

“อีกตัวอย่างหนึ่ง ก็คืองานเขียนของ ฮารูกิ มุราคามิ (Haruki Murakami) เรื่อง ‘Kafka On the Shore’ ซึ่งในเรื่องจะมีตัวละครผู้หญิงที่อายุประมาณ 50-60 ปี แต่ก็มีผีเด็กสาวอายุประมาณ 15 ปี ของตัวละครนั้นปรากฏอยู่ในเรื่องด้วย ในกรณีนี้คือมีผีของตัวละครผู้หญิง (ซึ่งยังมีชีวิตอยู่) เป็นภาพสะท้อนของตัวละครในตอนเด็ก (ความทรงจำ) ปรากฏขึ้น เหมือนเป็นปมบางอย่างที่ถูกทิ้งเอาในข้างหลัง

“หมายความว่าในกรณีที่ผมพูดถึง ‘ผี’ ในงานของผม จะไม่ได้มีความหมายถึงเรื่องความเชื่อท้องถิ่น หรือ วิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่จะใช้แทนเหตุการณ์ในอดีตของเรา ซึ่งอาจจะลืมไปแล้วหรือเป็นความทรงจำที่ไม่ชัดเจน ส่วนในความเหมือนกันระหว่างผีและความทรงจำ จะเป็นที่ทั้งสองอย่างจะไม่ได้ปรากฏขึ้นในพื้นที่และเวลาปัจจุบัน และทั้งสองอย่างมีความคลุมเคลือ”

จะเห็นได้เลยว่า นอกเหนือจากการใช้เทคนิคการวาดเพื่อสร้างงานคอลลาจจากปลายพู่กันขึ้นมาแล้ว ศิลปินก็ยังมีการใส่คอนเซปต์ที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำในอดีต โดยมีภาพแทนเป็น ‘ผี’ เพื่อเปรียบเปรยให้คนดูได้ลองนึกตีความตามไปด้วย

**Stand**

Stand

**pillar10**

pillar10

**Panel: Number 24, 120x80cm, Acrylic on paper, pencil, cut and pasted, mounted on plastwood, 2021**

Panel: Number 24, 120x80cm, Acrylic on paper, pencil, cut and pasted, mounted on plastwood, 2021

“ชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานคอลลาจที่เคยทำเมื่อปี 2021 ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับฉากกั้นห้องสามบาน กับ ศิลปะการพับกระดาษญี่ปุ่น (Origami) ที่เลือกชิ้นนี้มาเพราะเป็นงานคอลลาจช่วงท้าย ๆ ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นงานเพ้นท์ติ้ง

**The Box, 90x70 cm, acrylic on canvas (2023)**

The Box, 90x70 cm, acrylic on canvas (2023)

ชิ้นนี้เป็นงานแรกที่เริ่มเขียนโดยลองให้เพ้นท์ติ้งนี้เป็นกล่องหนึ่งใบ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้ผมพัฒนาเรื่องการวางมุมมองของในภาพวัตถุกับคนดู

**The rooms, 60x100 cm, acrylic on canvas, 2023**

The rooms, 60x100 cm, acrylic on canvas, 2023

ชิ้นนี้เป็นการพยายามเขียนห้องสี่เหลี่ยม (หรือกล่อง) ให้มองเห็นครบทั้งสี่ด้าน โดยใช้วิธีการคลี่ห้องออกเป็นแนวยาว (คนละวิธีกับ Cubism) โดยสร้างฉากหลังของห้องแยกจากฉากหลังของภาพ (สีเหลือง) อีกที เพื่อให้ทุกวัตถุที่เป็นฉากหน้าในงานอยู่เฉพาะฉากหลังของตัวเอง (ทุกคนอยู่ในห้องของตัวเองไม่ได้ใช้พื้นที่ร่วมกัน)

**Close, 80x80 cm , acrylic on canvas 2023**

Close, 80x80 cm , acrylic on canvas 2023

ที่เลือกรูปนี้มา เพราะผมชอบวิธีที่ผมใช้ฉากหลังสองอัน (สีดำกับด้านในวงกลม) สร้างวงกลมขึ้นมา (แทนที่จะใช้เฟรมวงกลม) เนื่องจากมันเป็นงานเหมือนเรากำลัง Close-up เข้าไปข้างใน ซึ่งเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้คนดูมอง ‘เข้าไป’ ในงาน

**The brawl, 120x100cm , acrylic on canvas, 2023**

The brawl, 120x100cm , acrylic on canvas, 2023

รูปนี้เป็นงานที่เอางานเพ้นท์ติ้งสีน้ำมันสมัยก่อนของตัวเองที่ทำขึ้นช่วงปี 2017 มาเป็นแบบ แล้วเขียนขึ้นใหม่ ที่ชอบชิ้นนี้เพราะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในงานของตัวเอง

**lucid dream 80x80 cm.**

lucid dream 80x80 cm.

ถ้าใครชื่นชอบในสไตล์การทำงานของ ‘ทู รุธร’ หรือ ‘Ruthorn’ และเรื่องราวอันน่าค้นหาในภาพวาดของเขา ก็สามารถติดตามเขาได้ที่:
Facebook: https://www.facebook.com/rrtwo2/
Instragram: https://www.instagram.com/rrtwo2/
Website: https://www.ruthorn.com/