“เราชอบภาพพิมพ์แนวเรโทรและกราฟิกจากยุคที่เทคโนโลยียังไม่ล้ำสมัย เราชอบความเออร์เรอร์และข้อจำกัดของการสร้างงานดิจิทัลจากคอมพิวเตอร์ในยุคนั้น มันมีความขาด ๆ เกิน ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราตื่นเต้นมาตั้งแต่เด็ก ๆ และเรามองว่ามันมีเสน่ห์เฉพาะตัว”
นี่คือสิ่งที่ ‘ปืน-ศาสตราวุธ ศิลปอนันต์’ หรือ 'stw.wts' ศิลปินอิสระ นักวาดภาพประกอบ และนักปั้นโมเดล 3D เล่าให้เราฟังเกี่ยวกับเอกลักษณ์ในผลงานของเขา ที่ให้ความรู้สึกทันสมัยสไตล์ยุคปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันก็ชวนให้นึกถึงสุนทรียะยุค 90s - ต้น 00s สมัยที่เทคโนโลยีกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และเต็มไปด้วยข้อบกพร่องในกราฟิกมากมาย โดยเฉพาะในวิดีโอเกม
“แรงบันดาลใจในการทำงานของเรามักจะมาจากวิดีโอเกมที่เราเคยเล่นในสมัยเด็ก ๆ เราเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้รับในวัยเด็กจะยังคงตกค้างอยู่ในตัวเรา เพียงแต่เราอาจจำมันได้หรือไม่ได้ และจำมันได้ดีแค่ไหน นั่นคือจุดเชื่อมโยงระหว่างเราและผู้ชม แต่ตัวคาแรกเตอร์ของเราไม่ได้เหมือนในเกมเป๊ะ ๆ หรอก มันจะแค่คล้าย ๆ เท่านั้น เพราะถูกบิดเบือนด้วยเวลา ทำให้เลือนราง และแปลกไปจากเดิมด้วยความตั้งใจของเรา” ปืนเล่าถึงที่มาการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ให้ฟังอย่างละเอียด
สำหรับคาแรกเตอร์ที่เขาออกแบบ ปืนเล่าว่า “มันคงยากที่จะเล่าถึงตัวละครแต่ละตัว เพราะงานของเรามักจะเน้นองค์รวม ไม่ได้โฟกัสแค่คาแรกเตอร์ตัวเดียว ไม่ว่าจะเป็นการใช้สี แสงเงา หรือสัดส่วนต่าง ๆ แต่บ่อยครั้งที่เราทำคาแรกเตอร์ออกมาเป็นลักษณะคล้ายเดิม เช่น นักรบ vs สัตว์ประหลาด สององค์ประกอบนี้มักจะสื่อถึงความกล้าหาญและการไม่ยอมแพ้”
“สิ่งที่โดดเด่นในงานของเรา คงเป็นเรื่องความหลากหลายของคาแรกเตอร์ และการใช้สีสไตล์ Fauvism และ Retro Pop พร้อมกับเพิ่มความมันวาวลงไป และถ้าจะพูดถึงเรื่องราว ชิ้นงานส่วนใหญ่ของเราจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึกนอลตัลเจียที่ชวนให้นึกถึงเกมและการ์ตูนที่เราชอบในวัยเด็ก บางครั้งก็เป็นความทรงจำหรือช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตของเราเอง”
นอกเหนือจากความชอบในการวาดรูปตั้งแต่เด็ก จากการหัดวาดกับหนังสือการ์ตูนและเกม พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ปืนก็ได้มีโอกาสลองใช้โปรแกรม 3D ที่เปลี่ยนมุมมองใหม่ต่อการทำงานศิลปะ และทำให้เขาตัดสินใจฝึกฝนศาสตร์นี้ต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งเขาก็ได้แชร์ความรู้สึกจากประสบการณ์นั้นให้เราฟังว่า “เราอยากทดลองดูว่า 3D สามารถทำให้ภาพประกอบมีความรู้สึกแบบ 3D และความเป็นภาพวาดไปพร้อมกันได้ไหม เราจะวาดแบบร่างไว้เสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าภาพที่ออกมาจะมีความรู้สึกเดียวกับที่เราตั้งใจไว้”
เมื่อทำงานแนวนี้สักระยะ ปืนค้นพบว่าในไทยยังไม่ค่อยมีศิลปินที่ทำงานลักษณะนี้มากนัก เขาจึงตัดสินใจพัฒนางานต่อมาเรื่อย ๆ “เราเริ่มจากไอเดียก่อน ว่างานชิ้นนี้จะเอาไปทำอะไร ขายไหม หรือทำเล่น ๆ จากนั้นก็เริ่มสเกตช์ไอเดีย อาจเริ่มจากดีไซน์คาแรกเตอร์หรือภาพรวม เมื่อพอใจแล้วเราจะเริ่มปั้นโมเดลสามมิติ ซึ่งเป็นส่วนที่กินเวลามากที่สุด แล้วจัดคอมโพสภาพ จัดแสงเงา ทำเทกเจอร์ด้วยคู่สีเฉพาะของเรา ขั้นตอนสุดท้ายคือเรนเดอร์และจบงานในโฟโตชอป บางครั้งเรนเดอร์อาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์”
ปืนยังได้เล่าถึงศิลปินที่เป็นแรงบันดาลใจของเขาว่า “เราได้รับอิทธิพลจากศิลปินญี่ปุ่นหลายคน เช่น ฮาจิเมะ โซรายามะ และ โยชิทากะ อามาโนะ ซึ่งงานของพวกเขาอยู่ระหว่างความป๊อปกับความร่วมสมัย เลยทำให้เราประทับใจทุกครั้งที่ได้เห็น"
Everyday Monsters
ชิ้นนี้เราคิดว่ามันบ่งบอกตัวเราได้เยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องความเป็นคนซน ๆ เพราะเราชอบวาดและออกแบบไปเรื่อย ๆ ทุกคาแรกเตอร์ที่เห็นอยู่จะเป็นตัวที่เราคัดมาแล้ว แล้วทำมันในเวอร์ชัน 3D และมีอีกมากที่ยังไม่ได้เป็น 3D ด้วยครับ (ทุกตัวมีชื่อนะ)
We are Survivors
งานชิ้นนี้เราผสมผสานสไตล์ของภาพประกอบ (illustration) กับกราฟิกแบบโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) แล้วนำมาดัดแปลงเป็นเวอร์ชันของเราเอง ซึ่งผลงานจริงจะเป็นแอนิเมชันด้วยครับ
Legend of Monsters
ตอนที่คิดไอเดียชิ้นนี้ เราคิดว่าเราอยากมีโปเกมอนในเวอร์ชันของตัวเอง แต่เป็นเหมือนไซด์คือมีความเกี่ยวกันเล็กน้อย คือเด็กที่อยู่ตรงกลางไม่ใช่ ซาโตชิ (ตัวเองในเรื่องโปเกมอน) แต่เป็นคุณปู่ศาสตราจารย์ในวัยเด็กต่างหาก
Ambush
สำหรับเรา เราคิดว่าชิ้นนี้แปลกกว่าชิ้นอื่น ๆ เลย เพราะเราใส่ฉากหลังลงไปด้วย แบบโดยปกติแล้วเราจะไม่ค่อยทำฉากหลังสไตล์นี้ แต่ชิ้นนี้จำเป็นต้องมี เพราะเราจำลองเหตุการณ์มาจากวิดีโอเกมที่ชอบ นั่นก็คือการมีกลุ่มผู้กล้าผจญภัยไปในป่าที่ไม่คุ้นเคย ป่านั้นงดงามดี แต่ก็แฝงไว้ด้วยความอันตรายที่มองไม่เห็นรอบด้าน ซึ่งจริง ๆ แรงบัลดาลใจหลักของงานชิ้นนี้มาจากโมเม้นหนึ่งของเราเองครับ
Metal Pad Thai
ชิ้นนี้ไม่มีอะไรมาก เราชอบกินผัดไทย และชอบหุ่นยนต์ด้วย เราเลยลองตั้งโจทย์ให้ตัวเอง ให้เอาสองสิ่งที่ไม่เกี่ยวกัน มารวมกันให้ได้ครับ
และเมื่อเราถามถึงงานในอนาคต ปืนก็ได้บอกกับเราว่า “น่าจะเป็นงานที่สามารถจับต้องได้มากขึ้น หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการพาคาแรกเตอร์ของเราออกมาในโลกความจริงบ้างแล้วกันครับ ทั้งในรูปแบบพริ้นต์ ไปจนถึงงานประติมากรรมเลย”
หากใครสนใจงานที่ชวนให้ย้อนนึกถึงโลกดิจิทัลในวัยเด็ก ก็สามารถติดตามผลงานของ Sattrawut Sinlapaanun ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/gunzt
Website: https://www.stwwts.com/?
Instragram: https://www.instagram.com/stw.wts/