GC - Free Content Schiaparelli .jpg

หัวนม และความเซอร์เรียล Schiaparelli แบรนด์แฟชั่นที่เคยร่วมงานกับ Salvador Dalí

Post on 14 July

ชุดเกาะอกรูปซิกซ์แพคแน่นปั๋งสีเขียวของ คิม คาร์เดเชียน (Kim Kardashian), สร้อยทองรูปปอดบนอกของ เบลลา ฮาดิด (Bella Hadid), หน้ากากทองชวนฉงนของ คาร์ดี บี (Cardi B), ชุดแดง-ดำพร้อมเข็มกลัดทองรูปนกพิราบของ เลดี้ กาก้า (Lady Gaga)ในวันพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของ โจ ไบเดน (Joe Biden) หรือแม้แต่ชุดเดรสหัวนมของ ฮันเตอร์ เชเฟอร์ (Hunter Schafer) …ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นผลงานของ Schiaparelli ห้องเสื้อระดับโอต์กูตูร์ที่มาแรงที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

Schiaparelli ถูกก่อตั้งในปี 1927 (นึกง่าย ๆ คือเป็นช่วงระยะเวลากึ่งกลางระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 พอดี) โดย เอลซ่า สเคียปาเรลลี่ (Elsa Schiaparelli) แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวอิตาเลียนจากครอบครัวมีอันจะกินที่ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานมาเปิดห้องเสื้อในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ในเวลานั้น มีอีกหนึ่งแฟชั่นดีไซเนอร์สาวมาแรงกำลังเปิดห้องเสื้ออยู่ด้วยเช่นกัน คน ๆ นั้นคือ โกโก ชาแนล (Coco Chanel) จากแบรนด์ Chanel ที่โด่งดังนั่นเอง

แม้จะเป็นคู่แข่งในสนามแฟชั่นจนไม่ค่อยจะลงรอยกันเท่าไหร่ แต่ถ้าจะว่ากันตามตรงแล้ว ผลงานการออกแบบของทั้งคู่กลับมีสไตล์ต่างกันสุดขั้น หากเสื้อผ้าของชาแนลเป็นการเพิ่มความกระฉับกระเฉงและความมั่นใจให้กับผู้หญิงผ่านชุดสูทผ้าทวีดสีเรียบหรู และชุด Little Black Dress สีดำสุดสง่า เสื้อผ้าของสเคียปาเรลลี่กลับดูขี้เล่น ชวนฝัน จากอิทธิพลของศิลปะลัทธิเหนือจริง (Surrealism) อย่างชัดเจน (เห็นแบบนี้ก็ไม่แปลกใจว่า ทำไมชาแนลถึงไม่ยอมเรียกสเคียปาเรลลี่ด้วยชื่อจริง แต่กลับเรียกว่า ‘ศิลปินที่ทำเสื้อผ้า’ แทน)

นอกจากลายเซ็นอย่างการใช้สีชมพูช็อกกิ้งพิงค์ และองค์ประกอบแห่ง ‘ความล้น’ แบบเฉพาะตัวของกระดุมและลวดลายประดับบนเสื้อผ้าและเครื่องประดับ (ที่น่าจะต้องเรียกว่าเป็น ‘ศิลปะที่สวมใส่ได้ (Wearable Art)’ มากกว่า) สุดเซอร์เรียลแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นของห้องเสื้อ Schiaparelli อยู่ที่การไปร่วมจับมือคอลแลบกับเหล่าศิลปินดังทั่วฟ้าเมืองปารีส ไม่ว่าจะเป็น ฌอง กอกโต (Jean Cocteau), แมน เรย์ (Man Ray), อัลเบร์โต จีอาโกเมตติ (Alberto Giacometti) และ มาร์เซล เวอร์เตส (Marcel Vertès) แต่ที่คนทั่วไปน่าจะจดจำได้มากที่สุดเห็นจะเป็นผลงานที่สเคียปาเรลลี่ทำร่วมกับหัวหอกแห่งเซอร์เรียลลิสม์อย่าง ซัลบาโด ดาลี (Salvador Dalí)

ผลงานการสร้างสรรค์ของสเคียปาเรลลี่และดาลีมีมากมายตั้งแต่ Shoe Hat หมวกรูปรองเท้าสุดแปลกตา, Skeleton Dress เดรสดำพร้อมโครงกระดูกนูนเด่นบนพื้นผิวชุด, Tear Dress เดรสขาวพิมพ์ลายที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพจิตรกรรมของดาลี ไปจนถึง Lobster Dress เดรสขาวพิมพ์ลายรูปกุ้งล็อบสเตอร์จากผลงาน Lobster Telephone อันโด่งดัง ที่ครั้งหนึ่ง ​​วอลลิส ซิมป์สัน (Wallis Simpson) หรือต่อมาคือ ดัสเชสแห่งวินด์เซอร์ เคยสวมใส่ และผลงานอื่น ๆ อีกมากมาย

แม้กิจการของห้องเสื้อ Schiaparelli จะดำเนินไปได้ดี แต่การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ทำให้ตัวสเคียปาเรลลี่ตัดสินใจหนีภัยสงครามมายังดินแดนแห่งความเสรีอย่างสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเธอกลับปารีสไปดำเนินธุรกิจห้องเสื้ออีกครั้งหลังสงครามสิ้นสุด ความนิยมของ Schiaparelli กลับไม่เฟื่องฟูเหมือนเก่า นอกจากพิษสงครามแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการมาถึงของดีไซเนอร์หนุ่มไฟแรงคนใหม่อย่าง คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) ที่นำพาความงามรูปแบบใหม่มาให้สาว ๆ ปารีเซียงคลั่งไคล้แทนที่ความแปลกแหวกแนวของเธอ ในที่สุด ห้องเสื้อ Schiaparelli ก็ต้องปิดตำนานความยิ่งใหญ่ลงในปี 1954 ในขณะที่คู่ปรับตลอดกาลอย่าง Chanel สามารถรอดพ้นวิกฤตในครั้งนั้นมาได้ และยังคงมีชื่อเสียงโด่งดังมาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากปิดตัวลงไปนานหลายทศวรรษ ในปี 2014 ก็มีความพยายามหลายที่จะนำ Schiaparelli กลับมาดำเนินธุรกิจแฟชั่นอีกครั้ง แต่ก็เป็นปี 2019 หรือ 3 ปีที่ผ่านมานี้เองที่แบรนด์ Schiaparelli เพิ่งจะเริ่มกลับมาทวงคืนสนามแฟชั่นโอต์กูตูร์ได้อย่างสง่างามอีกครั้งจากการมาถึงของผู้อำนวยการสร้างสรรค์คนใหม่อย่าง แดเนียล โรสเบอร์รี่ (Daniel Roseberry) ดีไซเนอร์หนุ่มชาวอเมริกันที่นำมรดกทางความคิดของสเคียปาเรลลี่กลับมาปัดฝุ่นใหม่ ด้วยไอเดียง่าย ๆ ที่ว่า หากสเคียปาเรลลี่ยังมีชีวิตอยู่ เสื้อผ้าของเธอจะเป็นยังไง? ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า แบรนด์ Schiaparelli ภายใต้บังเหียนของโรสเบอร์รี่คือการกลับไปค้นหาเสน่ห์แบบดั้งเดิมของห้องเสื้อ และนำมาปรุงแต่งให้เข้ากับบริบทของโลกแฟชั่นในยุคใหม่แทน

นอกจากภาพจำอย่างความเวอร์วังและสีทองสะดุดตาแล้ว Schiaparelli ของเขาเน้นนำเสนอการออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องประดับหน้าตาแปลกประหลาด แต่กลับดูน่าค้นหา จากการนำอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมาสลับที่ทางและบริบทจนดูน่าสับสน  ไม่ว่าจะเป็น ตา จมูก ปาก มือ เท้า หรือแม้แต่การใช้หัวนมของเพศหญิงมาใช้ในการออกแบบอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งในแง่หนึ่งก็อาจจะต้องเรียกว่าเป็นการเซ็นเซอร์แบบไม่เซ็นเซอร์ ที่นอกจากจะดูเก๋ไก๋ตามแบบฉบับศิลปะแบบเซอร์เรียลลิสม์แล้ว ยังส่งสารบางอย่างถึงพื้นที่ในการแสดงออกของเพศหญิงออกไปสู่สายตาของชาวโลกด้วย

อ้างอิง:
https://www.schiaparelli.com/en/21-place-vendome/the-story-of-the-house/
https://www.lofficielusa.com/fashion/history-of-maison-schiaparelli-elsa-schiaparelli-shocking-pink-daniel-roseberry
https://wwd.com/fashion-news/fashion-scoops/celebrities-in-schiaparelli-2021-1234970536/
https://www.vanityfair.com/style/photos/2013/08/schiaparelli-fashion-photos-couture
https://www.vogue.com/article/everything-you-need-to-know-about-elsa-schiaparelli-ahead-of-the-shocking-exhibition-in-paris
https://www.dailyartmagazine.com/elsa-schiaparelli-art/
https://www.vogue.fr/fashion/fashion-inspiration/diaporama/elsa-schiaparelli-life-and-designs-in-pictures/51740