ทำความรู้จัก ‘Seadasamdao’ ศิลปินผู้เชื่อมคริสต์ พุทธ ไทย เทพ ให้เป็นจิตรกรรมใหม่

Post on 4 June

ลายไทย เทพกรีก สัญลักษณ์ในศาสนาคริสต์ ป๊อปคัลเจอร์ และเส้นเรื่องแบบศาสนาพุทธ คงเป็นคำอธิบายภาพรวมที่เรานึกถึงแว้บแรกระหว่างสำรวจผลงานของ ‘seadasamdao’ หรือ ‘สีดา-ศุภัชฌา โรจนวนิช’ เพราะนอกเหนือจากลายเส้นแบบจิตรกรรมไทยอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว เรายังเห็นการเล่าเรื่องที่เชื่อมโยงคติความเชื่อแบบพุทธ คริสต์ และปกรณัมเข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบันของโลกด้วย

แต่แม้ว่าเราจะเห็นการเล่าเรื่องที่เชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกันอย่างลงตัว แต่สีดาก็ได้บอกกับเราว่าจริง ๆ แล้วเธอเพิ่งเรียนรู้เกี่ยวกับงานศิลปะแบบไทยหรือเรื่องพุทธประวัติเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง

“จริง ๆ เราเพิ่งได้ลองเขียนลายไทยตอนอยู่มหาลัยนี่เอง เราเรียนเอกศิลปะไทย คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ก่อนหน้านั้นคือแทบจะไม่รู้จักศิลปะไทยเลย อาจเพราะเรานับถือศาสนาคริสต์ด้วย สำหรับเรา ศิลปะไทยเลยอาจจะอยู่ไกลตัวเราไปบ้าง หรือไม่ก็เป็นในส่วนของเนื้อหาที่เราไม่ค่อยคุ้นเคย อย่างเรื่องพุทธประวัติอะไรแบบนี้” สีดาเล่า

“พอเราได้มาลองเขียนลายไทยช่วงมหาลัยเลยรู้สึกชอบมาก ๆ มันเป็นไอเดียที่เราอยากเขียนงานศิลปะไทยในรูปแบบและเรื่องราวที่เราคุ้นเคยบ้าง เผื่อว่าคนที่มีพื้นฐานความเชื่อเหมือนกับเราจะเข้าถึงงานศิลปะไทยได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหลักคำสอนของศาสนาคริสต์ หรือย้อนกลับไปถึงเทพปกรณัมกรีก-โรมันซึ่งเป็นรากฐานความเชื่อที่ติดค้างอยู่ก่อนศาสนาคริสต์

“เรามองว่าความเชื่อเรื่องเทพเจ้ายุคกรีก-โรมันจะต่างจากเทพเจ้าในความเชื่ออื่น ๆ เพราะในขณะที่เทพอื่น ๆ ถูกผู้คนเคารพบูชาในฐานะที่เป็นต้นแบบในอุดมคติของสังคม เทพปกรณัมกรีกกลับเปรียบได้กับภาพสะท้อนพฤติกรรมและกิเลสของมนุษย์ที่ถูกแสดงออกอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา การที่เราหยิบยกเรื่องราวของเทพปกรณัมกรีกมาใช้ จึงทำให้เราได้พิจารณาถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่มีความเป็นมนุษย์ในฐานะของบุคคลที่สาม และเข้าใจเรื่องราวได้จากมุมมองที่ไกล และกว้างขึ้น

“เราเลยคิดว่าความแตกต่างในงานศิลปะไทยของเรา น่าจะอยู่ที่เราไม่ได้เรียนศิลปะไทยมาตั้งแต่แรก ทำให้เรามองงานศิลปะไทยจากมุมมองของผู้ชมมาโดยตลอด พอได้ทำเองจริง ๆ เราเลยสนุกกับการทดลองความเป็นไปได้ที่เราเคยอยากเห็นงานศิลปะไทยเป็นยังไงได้บ้าง” เธอสรุปคอนเซปต์ในการทำงานและที่มาของแรงบันดาลใจที่ผสมทุกอย่างเข้าด้วยกัน

ล่าสุดสีดายังได้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการกลุุ่ม ‘Identity’ ที่รวมผลงานจาก 26 ศิลปินที่ถ่ายทอดแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ที่มีความซับซ้อน ตั้งแต่ความหมายที่ตีความได้หลายรูปแบบ ซึ่งสีดาก็ได้เล่าให้เราฟังถึงผลงานของเธอในนิทรรศการนี้ รวมถึงที่มาที่ไปในการเข้าร่วมนิทรรศการด้วย

“นิทรรศการ ‘Identity’ เป็นนิทรรศการที่เราเตรียมตัวมานานมาก ๆ เรียกว่าตั้งแต่กำลังจะเรียนจบเลย เพราะ พี่หมู - ปกรณ์ชัย วรจิตชุติวัฒน์ (คิวเรเตอร์) ได้ติดต่อเรามาในช่วงนั้น บวกกับโจทย์ของนิทรรศการที่ค่อนข้างปลายเปิดมากเราเลยเริ่มหาไอเดียมาตลอดทั้งปีก่อนเริ่มงานเลย

“สำหรับคอนเซปต์งานชุดนี้ เราเริ่มจากการตั้งคำถามว่าทำไมตัวเรารู้สึกว่ารักธรรมชาติยากจัง จนได้คำตอบว่าบางทีอาจจะเป็นเพราะความเป็นอยู่ของคนยุคปัจจุบันที่ห่างไกลกับธรรมชาติมาก ต่างจากสมัยก่อนที่มนุษย์ต้องพึ่งพากับธรรมชาติเป็นหลัก ได้สัมผัสกับธรรมชาติโดยตรง เช่น สมัยกรีก-โรมัน เรื่องราวในปกรณัมเป็นดังตำราวิทยาศาสตร์ ที่ผู้คนเชื่อถือและใช้คำอธิบายเหล่านั้นเพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวในยุคแรก

“เราเลยอยากให้งานชุดนี้นำพาผู้คนย้อนกลับไปยังยุคสมัยนั้น เพื่อสัมผัสกับความยิ่งใหญ่และงดงามของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติผ่านการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลต่าง ๆ ในรอบปี ได้สัมผัสความรู้สึกของผู้คนในอดีตที่มีต่อธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ทั้งความงดงาม น่าเกรงขาม และน่าหวาดหวั่น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเห็นภาพการโอบอุ้มผู้คนของธรรมชาติด้วย นอกจากนี้เรายังอยากแสดงภาพความปรารถนาที่จะเชื่อมความสัมพันธ์ความผู้คนในเมืองกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่ผลัดกันแต่งเติมความสวยงามให้กับโลกใบนี้ไม่ต่างจากฉากบทละครที่รอผู้ชมเข้าไปชื่นชมและดูแลด้วย” สีดาสรุป

Tragic Romance No. 4

ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานที่เราวิพากษ์วิจารณ์มุมมองของสังคมที่มีต่อการถูกล่วงละเมิดอย่างตรงไปตรงมา

Her Insecure Self

ภาพนี้เป็นการเปรียบเปรยปมความรู้สึกของเราที่ก่อตัวมาตั้งแต่วัยเด็กกับตัวละครที่หลาย ๆ คนอาจจะชินตาอย่างราพันเซล

Fall into the Middle of Nothing

ภาพนี้เป็นผลงานเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า และความรู้สึกว่าไม่มีพื้นที่ใหนที่เรารู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ของเราเลยที่มักเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวกับตัวเรา

หลังจากอ่านบทสัมภาษณ์จบแล้ว ถ้าใครอยากรู้ว่าในแต่ละภาพของ ‘Seadasamdao’ เขาหยิบเอาเรื่องราวแบบไหนมาผสมกับอะไร ก็สามารถตามไปแกะรอยแนวคิดของเธอได้ที่ https://www.instagram.com/seadasamdao/