GC_Selected_Felipe Pantone.jpg

Felipe Pantone - Subtractive Variability Compact ประติมากรรมขยับได้ที่มีสีสันไม่สิ้นสุด!

Post on 17 March

ใครที่คุ้นเคยกับวงการสิ่งพิมพ์คงจะเคยได้ยินคำว่า CMYK ซึ่งเป็นตัวย่อหมายถึงสีฟ้าอมเขียว Cyan, สีแดงอมม่วง Magenta, สีเหลือง Yellow และสีดำ Key (ที่ไม่ได้ใช้คำว่า B-Black เพราะระบบอาจจะเข้าใจเป็น B-Blue แทน) กันอยู่บ่อย ๆ เพราะนี่คือ สีพื้นฐานที่ใช้ในการเนรมิตสรรพสีทั้งปวงในระบบการพิมพ์ทั่วไป

…แต่จะเป็นยังไง ถ้าเราสามารถนำสีในระบบ CMYK ที่เคยอยู่นิ่ง ๆ ในหน้ากระดาษมาพัฒนาเป็นประติมากรรม Kinetic ที่มีสีสันไม่สิ้นสุด?

ไอเดียจี๊ด ๆ แบบนี้จะมาจากใครได้ ถ้าไม่ใช่ Felipe Pantone ศิลปินชาวอาร์เจนติน่า-สเปนผู้ช่ำชองในการนำสีสันเจ็บ ๆ และลวดลายเรขาคณิตสไตล์ Op Art มาพัฒนาเป็นผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบที่มีตั้งแต่งานกราฟิตี้ ไปจนถึงงาน Kinetic Art ซึ่งผลงาน Subtractive Variability Compact ในครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของซีรี่ส์ Subtractive Variability ที่ Pantone สร้างสรรค์มาก่อนหน้านี้ โดยเขานำเอาแผ่นอะครีลิก PMMA รูปวงกลมมาพิมพ์ UV ตามระบบสี CMY จากนั้นจึงนำมาซ้อนและประกอบเข้าด้วยกัน เมื่อแผ่นอะครีลิกถูกหมุนจึงก่อให้เกิดสีสันสวยงามไม่จบสิ้น เพื่อเป็นการสะท้อนแนวคิดถึงการเสพข้อมูลในยุคดิจิทัลที่ผู้ชมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจในผลลัพธ์ของผลงาน

และด้วยความพิเศษสุดในแนวคิดและวิธีการผลิต Subtractive Variability Compact จึงถูกผลิตมาในจำนวนจำกัดสุด ๆ เพียง 200 ชิ้นเท่านั้น ใครที่กำลังอยากระบายเงินอั่งเปากับผลงานประติมากรรม Kinetic ที่ดูเก๋ไก๋มีสไตล์มาประดับผนังห้องธรรมดา ๆ ให้มีสีสันมากขึ้นก็คงจะรีบกันสักหน่อย เพราะเขาวางขายวันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2022) กันเป็นวันแรกที่ t.ly/HCJH ฮอตขนาดนี้ ช้าหมดอดชัวร์ ๆ

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม:
Instagram: Felipe Pantone
Instagram: Configurable Art

อ้างอิง:
Designboom
Hypebeast