ความทรงจำและความตายในมุมมองของ ‘กานต์-ศิวโรจณ์’ กับสมุดบันทึกเล่มใหม่ที่ชื่อว่า ‘อรุณกาล’

Post on 1 October

ภาพของตัวละครยืนอยู่ท่ามกลางภูมิทัศน์อันกว้างใหญ่ ทำให้นึกถึงบรรยากาศของความเรียบง่ายและนิ่งสงบ แต่ยังคงแฝงไปด้วยพลังบางอย่างของความสัมพันธ์ในช่วงชีวิตระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่มักจะได้เห็นในงานของ ‘กานต์-ศิวโรจณ์ คงสกุล’ ตั้งแต่เรื่อง ‘ที่รัก Eternity’ มาจนถึงเรื่องล่าสุดอย่าง ‘อรุณกาล’

อรุณกาล บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของชายแก่ที่ชื่อ ‘ยงค์’ อดีตทหารผ่านศึกที่อาศัยอยู่นอกเมืองกรุง ผู้ใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายไปกับแผลเป็นทั้งกายและใจจากอดีตที่ผ่านมา ความฝันสุดท้ายของเขาคือการสร้างบ้านต้นไม้ด้วยมือของเขาเอง พร้อมใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับหลานสาวกำพร้า และเจ้าหมาสีดำที่ดวงตาของมันสามารถมองเห็นความลับของโลกหลังความตายได้

ในผลงานที่ผ่านมา กานต์มักจะใช้หนังเป็นดั่งเครื่องมือสำหรับใช้บันทึกความทรงจำของตัวเขาที่มีต่อสังคมรอบข้าง เช่น การพาผู้ชมย้อนเวลากลับไปในวันวานอันสวยงามที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วใน ‘ที่รัก’ หรือแม้แต่ ‘สืบสันดาน’ ที่พาเราดำดิ่งถึงสันดานของมนุษย์ที่มันกระทำต่อกันในมิติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในสังคมที่เรากำลังเผชิญ

ถึงแม้ผลงานเหล่านี้จะดูมีความเป็นส่วนตัวมาก ๆ แต่มันกลับแฝงความพิเศษบางอย่างที่ทำให้ผู้ชมอย่างเราสามารถเข้าใจถึงเรื่องราวชีวิต และเข้ามีส่วนร่วมในการเดินทางเพื่อสำรวจความทรงจำในอดีตที่ผ่านมา

หลังจากสืบสันดานจบลงไปไม่นาน กานต์ก็ได้พาเราไปเปิดอ่านสมุดบันทึกเล่มใหม่ชื่อว่าอรุณกาล ที่เป็นดั่งไดอารีพาเราย้อนกลับไปเฝ้ามองเรื่องราวชีวิตของคุณตาของเขา และแฝงด้วยเรื่องราวของความตายที่ไม่จีรังไปพร้อมกับการสำรวจความหมายของอดีตที่ยังคงตกค้าง กลายเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ส่วนตัวของกานต์ที่ชวนให้คิดถึงผลงานของเขาในอดีตอย่างที่รัก Eternity

ในขณะที่อรุณกาลกำลังเดินทางไปฉายในหลากหลายประเทศทั่วโลก GroundControl จึงได้ชักชวนกานต์มาพูดคุย เพื่อทำความรู้จักกับสมุดบันทึกเล่มใหม่ที่ชื่อว่าอรุณกาลมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องราวของชีวิตและการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อค้นหาความหมายของอดีตและความตายในมุมมองของกานต์-ศิวโรจน์

ช่วงเวลาของอรุณกาล กับการทำงานในฐานะผู้กำกับหนังอิสระ

“ที่รักเป็นหนังที่เป็นเรื่องส่วนตัวประมาณนึง เพราะพูดถึงเรื่องครอบครัว เรื่องพ่อแม่ หรือเรื่องจดหมายรักของเขาสองคน ส่วนอรุณกาลก็เป็นไอเดียที่คิดไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งก็หยิบเรื่องราวของตาที่เป็นทหารผ่านศึกในสงครามเกาหลีจริง ๆ กับหมาสีดำอีกหนึ่งตัว ที่ชื่อแรมโบ้ ซึ่งตัวจริงของมันก็ชื่อแรมโบ้เหมือนกัน เป็นเหมือนเพื่อนรักเราตอนเด็ก พอเราทำหนังเราก็อยากจะเก็บภาพนั้นเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ส่วนตัวเรา ก็เป็นเหมือนข้อดีของภาพยนตร์ ที่ว่าพอเราตายไปแล้ว คุณตาของเราเขาก็ยังอยู่ในหอภาพยนตร์ไปอีก 100 ปี ก็คือมันจะมีคนเก็บมันไว้ ‘ภาพยนตร์ไทยเรื่องอรุณกาล’ นะ แล้วก็มีหมาอีกหนึ่งวิ่งเล่นอยู่ในนั้น”

หากใครได้ติดตามผลงานของกานต์มานาน ก็จะพบว่าชื่อของอรุณกาลมักจะติดตัวอยู่ในบทสัมภาษณ์ หรือบทความที่เกี่ยวข้องกับกานต์มาอย่างยาวนาน แต่ถึงอย่างนั้นเรากลับไม่ได้เห็นหรือรับรู้เรื่องราวเพิ่มเติมของหนังเรื่องนี้เลย แต่ถึงอย่างนั้นเรากลับได้เห็นผลงานอื่น ๆ ของกานต์มาตลอดตั้งแต่โฆษณากับแบรนด์ต่าง ๆ, Autumn in My Heart (เวอร์ชันไทย, 2556), Remember You คือเธอ (เวอร์ชันไทย, 2564) และ 23:23 สัญญาสัญญาณ (2556) จนมาถึงซีรีส์เรื่องแรกกับ Netflix อย่างสืบสันดาน

“ตั้งแต่ต้นคือเราวางอรุณกาลไว้เป็นหนังยาวเรื่องที่สองในชีวิตต่อจากที่รัก แต่พอที่รักมันประสบความสำเร็จ ด้วยเส้นทางของการทำงานหรืออะไรต่าง ๆ มันก็มีอะไรเข้ามาในชีวิตหลังจากนั้นอีกเพียบเลย แม้กระทั่งงานโฆษณาหรือซีรีส์ เราเลยอยากเก็บสิทธิ์ที่จะทำหนังยาวไว้ให้อรุณกาล ก็เลยเก็บเกี่ยวขอทุนไปก่อน

“หลังจากนั้นเราก็เลยวางตัวเองไปเลือกทำซีรีส์ก่อน ซึ่งยุคแรก ๆ เลยก็คือ Autumn in My Heart (2012) ซึ่งมันเกิดจากการทดลองที่ว่า ถ้านำความรู้สึกของการทำหนังไปอยู่ในซีรีส์แล้วจะเป็นยังไง เผอิญว่ามันก็โอเค เลยทำต่อมา 7-8 เรื่อง จนมาถึงสืบสันดาน กลายเป็นว่ามันก็ไม่ได้หยุดเลยทุกปี อย่างงานโฆษณาที่ทำแล้วสะใจดีก็คือที่ทำกับ Louis Vuitton ที่นาน ๆ เราจะทำที ซึ่งอรุณกาลก็ยังถูกคงให้อยู่ในสถานะหนังเรื่องที่สองของเราเอาไว้”

ช่วงชีวิตของคุณตา ความทรงจำ และความตาย

“สำหรับคุณตา จริง ๆ เราก็ได้ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งกับแกนะ สอนเราขับรถบ้าง ทำอะไรบ้าง สำหรับแก สมบัติที่มีค่าในชีวิตของคนคือความรู้ ไม่ใช่สิ่งของหรืออะไรที่อยู่ข้างนอกทั้งหมด มันเป็นเรื่องความรู้กับตัวตนของเราที่มันจะติดตัวเราจนวันตาย เหมือนที่ใคร ๆ เขาก็บอกว่าคนหนึ่งคนเกิดมา แล้วก็ตายไปพร้อมกับหน้าที่และความรู้ของตัวเอง ซึ่งมันก็จะฝังอยู่ในตัวเราเอง ส่วนความประทับใจกับคุณตา มันก็คือช่วงท้าย ๆ ของชีวิตแก ซึ่งเราก็นำมาบันทึกไว้ในอรุณกาล”

เช่นเดียวกันกับการเลือก ‘หงา คาราวาน’ มารับบทเป็น ‘ยงค์’ ที่เป็นตัวแทนของคุณตาที่กานต์เคยใช้ชีวิตด้วยในช่วงวัยเยาว์ โดยเขาเล่าให้ฟังว่าบทนี้ใช้เวลาแคสติงค่อนข้างนาน ถึงแม้จะมีตัวเลือกที่แสดงดีกว่า บุคลิกดีกว่า หรือมีความเป็นทหารผ่านศึกมากกว่า แต่สำหรับกานต์แล้วสิ่งที่ต้องการคือคนที่แบกประวัติศาสตร์ในอดีตไว้บนบ่าตลอดเวลา

“ตัวละครนี้ชื่อว่ายงค์ ซึ่งเป็นตาเรา จริง ๆ แคสติ้งนานมากนะ คือทีมแคสติ้งก็เปิดรูปคุยกันเยอะมาก สุดท้ายมาลงที่น้าหงา เพราะเหมือนเขาเป็นคนที่ฝ่าฟัน บุกบั่น พร้อมแบกประวัติศาสตร์ไว้มากมาย คือต่อให้แกไม่พูดอะไรเลย เดินอยู่ในหนังเฉย ๆ ก็เท่มากแล้ว เพราะเราเชื่อว่าเป็นคนแก่คนนึงที่ผ่านอะไรมาโชกโชน”

สิ่งหนึ่งที่มักจะเห็นได้จากผลงานที่ผ่านมาของกานต์คือเรื่องราวของความทรงจำและความตาย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นจากความหมกมุ่นในคำถามที่เกิดขึ้นจากตัวเขาเอง “ตายแล้วไปไหน? เขากลับมาคุยกับเราได้ไหม? หรือเขาอยู่ที่ไหน?” คำถามเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นมาในใจของกานต์ ซึ่งสุดท้ายแล้วคำถามเหล่านี้ก็ยังคงวนเวียนอยู่รอบตัวเขา รวมถึงในหนังของเขาอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

“ตั้งแต่ที่รักแล้ว การจากลา ความตาย ไม่รู้ทำไมเราถึงสนใจ เหมือนเราใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ ทุกวัน ไม่ว่าจะทำงานศิลปะกับคอมเมอเชียล แต่เมื่อถึงเวลาว่าง ภาพหรือความรู้สึกพวกนี้มันชอบกลับมา โดยเฉพาะเรื่องของคนที่เรารัก ที่ชอบขึ้นมาสะกิดใจของเรา

“อรุณกาลจึงเป็นงานที่ยังเกี่ยวกับความตาย เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งจริงแท้ คือมันจะอยู่กับพวกเราแน่ ๆ แต่เราจะมีวิธีมองและรับมือกับความตายด้วยวิธีอย่างไร อรุณกาลก็จะประมาณอย่างนั้น เรื่องของการพลัดพราก และความตายที่มันวนรอบตัวละครและรอบตัวเรา พร้อมกับคำถามถึงสิ่งที่มันสวยงาม ความรักที่เราให้กับคนที่เรารัก หรือความทรงจำที่สวยงาม เวลาที่ไม่มีชีวิตหลงเหลืออยู่แล้ว สิ่งนั้นมันไปตกค้างอยู่ที่ไหน มันค้างอยู่ที่บ้านหลังนั้น มันค้างอยู่ที่ต้นไม้สักต้น หรือมันอยู่บนท้องฟ้า บนก้อนเมฆ หรือมันอยู่บนรถกระบะคันนั้นคันเก่าที่เขาใช้อยู่ ซึ่งมันไม่ได้พูดว่าเป็นวิญญาณ ไม่ใช่หนังผี แต่มันเป็นจิตวิญญาณ”

ครอบครัวและการทำงานในมิติที่เปลี่ยนไป

“ในเรื่องที่รัก เรามองเป็นความสวยงาม มีความหวานและความอบอุ่นเยอะอยู่ เพราะมันเป็นตัวเราเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้การมองโลก หรือการมองครอบครัว ก็มองเป็นความจริงในเรื่องของความตายที่ต้องพลัดพรากกัน ซึ่งสำหรับเรามันก็ยังเป็นความทรงจำที่สวยงามเสมอ มันก็ติดอยู่ในตัวเราที่ตราตรึงตลอด แต่พอเราแก่ขึ้นมันก็เปลี่ยนไปจริง ๆ มีคนที่หายไปจากชีวิต หรือมีการเตรียมใจไว้ว่าวันหนึ่งก็จะต้องไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว ไอ้พวกนั้นมันก็เริ่มเข้ามาแทรกภาพถ่ายที่แสนอบอุ่นโรแมนติก มันก็เริ่มเล่นแร่แปรธาตุเปลี่ยนไป

“แต่เรื่องครอบครัวในอรุณกาล ถามว่ายังมีความงามและความหวานอะไรไหม ก็ยังคงมีตัวตนเราอยู่ในนั้นอยู่ แม้กระทั่งคนตัดต่อเขาก็บอกว่า เรื่องนี้มันมีอะไรเยอะแยะให้วิเคราะห์ แล้วมันก็เศร้ากว่าที่รัก ซึ่งคำตอบมันก็มาจากจังหว่ะที่มันตรงกับช่วงชีวิตนั้นพอดี พอคนมันแก่ขึ้น ประสบการณ์ชีวิตที่สัมผัสแล้วมันก็ถูกใส่ลงไปในงานพอดี”

นอกจากแนวคิดในเรื่องครอบครัวจะเปลี่ยนไปตามช่วงวัยของกานต์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คอยตอกย้ำถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างรวดเร็ว คือการทำงานที่แปรเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

“มีสองมุม ก็คือความรู้มากและมีแม่นยำมากขึ้น อยากได้อะไรก็ต้องมีการเล็งไว้ และไม่นานนักมันก็จะได้ แต่ก็แลกกับความตื่นเต้นและความสดที่มันหายไป พูดตรง ๆ มันก็แอบคิดตอนขับรถไปกองถ่ายในทุก ๆ คิว ให้ตัวเองกลับไปทำเหมือนตอนเรื่องที่รัก ทำด้วยสัญชาตญาณในการเลือกอะไรที่ไม่ใช่สมองแล้วและทักษะ คือไม่ได้เอาความรู้มาครอบตัวเอง พยายามนะแต่เราคิดว่ามันไม่เพียวเท่ากับเรื่องที่รักจริง ๆ

“แต่พอโตมาแล้วมันเริ่มคิดว่า ผ่านแล้วเดี๋ยวไปตัดต่อแบบนี้นะ งั้นเดี๋ยวย้ายกล้องดีกว่าเพราะอย่างนี้จะเป็นอย่างนั้น ไม่เหมือนตอนทำเรื่องที่รัก ที่ในหัวมันมีแค่ชอบและไม่ชอบ ตอนนี้ความรู้มันเต็มหัวไปหมดเลย เพราะประสบการณ์การทำงานมานาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันกำลังทอนการใช้ชีวิตด้านอื่นไปด้วย

“เราเลยแก้ด้วยการไปเจอเพื่อน ไปคุยเรื่องอื่น ไปสนใจเรื่องการซื้อประกันสุขภาพหรืออะไรมากมาย แล้วเดี๋ยวค่อยย้อนกลับมาด้วยสายตาที่ยังสดชื่นในการผลิตและสร้างสรรค์งานภาพยนตร์ เพราะไม่งั้นมันเถื่อนไปหน่อย ตื่นมาบางทีมันเผลอตัวคิดอะไรหนักไปหมดเลย มันเข้มข้นเกินไป เราก็สั่งตัวเองว่าหยุดเถอะ หยุดมองทุกอย่างเป็นภาพยนตร์ได้แล้ว”

“ภาพยนตร์เป็นศาสนา เป็นภาษา ภาพยนตร์ทำให้เกิดปัญญา มันทำให้เราต่อยอดความคิดและชีวิตได้ หอภาพยนตร์พูดอย่างนั้น แล้วเราก็ชอบประโยคแบบนี้มาก แต่สำหรับคนผลิต เราจะทำยังไงให้หัวใจมันยังเต้นได้ดีอยู่ทุกครั้ง เพราะตรงนี้มันยากเหมือนกันนะ พอคุณเริ่มทำมันเป็นมืออาชีพเดี๋ยวคุณก็จะต้องมีความกังวลมากมาย จะค้าขายได้ไหม จะแข่งกับเกาหลีได้ไหม หรือจะติดอันดับ 1 ไหม ซึ่งพวกนั้นมันคงรกไปหมดเลย เราจะทำยังไงให้เรามีน้ำยาฆ่าเชื้อนั้น ล้างมันก่อนจะเข้ากระโดดสู่งานชิ้นใหม่ อันนั้นสำคัญเหมือนกัน ทำไมเราถึงหลงใหลในการทำภาพยนตร์ เพราะภาพยนตร์สร้างเมจิกโมเมนต์ให้ชีวิตเรา”